MSN on November 30, 2017, 08:04:34 AM
วิพากษ์กฎหมายป.ป.ช.ใหม่ ปมการเปิดข้อมูลบัญชีทรัพย์สินปกปิด 14 ข้อมูลส่วนตัว-ป.ป.ช. พร้อมรับข้อคิดเห็นไปทบทวน

ACT จัดเวทีสื่อมวลชนถกประเด็นกฎหมายใหม่ป.ป.ช. กรณีการเปิดเผยข้อมูลบัญชีทรัพย์สินโดยสรุปและปิดข้อมูลส่วนบุคคล 14 รายการ ด้าน “วรวิทย์” รักษาการเลขาธิการป.ป.ช.พร้อมรับไปทบทวนเพิ่มเติม



วิทยากรร่วมบันทึกภาพร่วมกันบนเวทีเสวนา


วิทยากรร่วมให้ข้อมูลกับผู้ร่วมงาน


เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2560  องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้จัดงานเสวนาโต๊ะกลม เรื่อง การเปิดเผยทรัพย์สินและบทบาทหน้าที่ของปปช. ตามพระราชบัญญัติ ปปช.ใหม่


นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ในฐานะองค์กรภาคประชาชนมีความสนใจในหลายประเด็นที่จะต่อต้านการคอร์รัปชันในไทย และได้จัดสัมมนามาเป็นระยะๆในหัวข้อที่น่าสนใจ โดยในวันนี้ได้จัดงานเสวนาโต๊ะกลมหัวข้อ “การเปิดเผยทรัพย์สินและบทบาทหน้าที่ป.ป.ช.ตามพระราชบัญญัติป.ป.ช.ใหม่” เนื่องจากขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติฉบับใหม่ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภา มีหลายประเด็นที่นำสู่การแสดงความเห็นที่หลากหลาย ทั้งความไม่เข้มแข็งของกฎหมายต่างจากฉบับเดิมที่มีความเข้มแข็ง ความรวดเร็ว ความมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมไปถึงหน้าที่ของปปช.ในด้านการป้องกันและการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งเชื่อว่าการสัมมนาในวันนี้จะได้รับฟังข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากหลายฝ่าย


นายมานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ปมใหญ่ขอกฏหมายใหม่จะไม่เปิดบัญชีทรัพย์สินตามที่ยื่นมา แต่จะเปิดผลการตรวจสอบ ขณะที่ระเบียบป.ป.ช.เดิมซึ่งออกเมื่อกลางปีนี้ การเปิดเผยข้อมูลจะยกเว้นหรือปกปิด 14 รายการ จากเดิม 4 รายการ

“เราเป็นห่วงว่า วันข้างหน้าอาจปกปิดเพิ่มอีก” เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันกล่าวห


นายวรวิทย์ สุขบุญ รองเลขาธิการ คณะกรรมการป.ป.ช. รักษาการเลขาธิการ ให้ข้อมูลว่า การกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อองค์กรใดองค์กรหนึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติกันทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันที่ 161 กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน เพื่อสร้างความโปร่งใส่ป้องกันการทุจริต ถือเป็นมาตรการเสริมในการป้องกันการทุจริต

การเปิดเผยข้อมูลทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของไทยมีการพัฒนามาเป็นระยะ โดยรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 234(3)บัญญัติไว้ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดให้ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และเจ้าหน้าที่ของรัฐยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมทั้งตรวจสอบและเปิดเผยการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้ของบุคคลดังกล่าว
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าตำแหน่งที่ต้องเปิดเผยข้อมูลทรัพย์สินและหนี้สินเพิ่มมากขึ้น และขณะนี้กำลังมีการพิจารณาที่จะเพิ่มตำแหน่งที่จะเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น คือ ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงสุด และผู้ดำรงตำแหน่งการปกครองท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นเรื่องดี เมื่อเทียบกับตำแหน่งที่ต้องเปิดเผยข้อมูลตามรัฐธรรมนูญปี 2517 ที่กำหนดให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินเป็นครั้งแรก ซึ่งผลกับผู้ประพฤติผิดในวงราชการ

ส่วนรัฐธรรมนูญปี 2518 ได้มีการปฏิรูปให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องแสดงรายการทรัพย์สินและการเปลี่ยนแปลงทรัพย์สิน เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ว่าในช่วงที่ดำรงตำแหน่งมีการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบหรือไม่ ซึ่งกำหนดให้มีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของนักการเมืองในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กับรัฐมนตรี จนรัฐธรรมนูญปี  2550 ได้เพิ่มตำแหน่งทางการเมืองที่ต้องเปิดเผนรายการทรัพย์อีก 2 ตำแหน่ง คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกรัฐสภา

สำหรับประเด็นที่มีการถกเถียงในขณะนี้คือ การเปิดเผยข้อมูล ซึ่งในมาตรการ 104 แห่งร่างพ.ร.บ. กำหนดให้คณะกรรมการป.ป.ช. เปิดเผยข้อมูลรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของนักการเมืองต่อสาธารณได้โดยสรุปเท่านั้น  ห้ามเปิดเผยในรายละเอียด  โดยเฉพาะรายการที่จะไม่เปิดเผยซึ่งเพิ่มเป็น 14 รายการจากเดิมมีเพียง 4 รายการเท่านั้น เพราะอาจขัดต่อหลักการที่จะให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ

ในเรื่องนี้ นายวรวิทย์ รายการข้อมูลที่ไม่เปิดเผยที่เพิ่มขึ้น 14 รายการเป็นรายละเอียดที่อาจจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิต หรืออาจจะถูกคุกคาม เช่น ข้อมูลหมายเลขบัตรประชาชน อีเมลล์ ซึ่งเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่อาจจะมีผลต่อความปลอดภัยจากการบริการดิจิทัลที่มีการใช้กันมากขึ้นในปัจจุบัน หรือ เลขที่บัญชีธนาคารสถาบันการเงิน เลขที่โรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง เลขที่บ้าน เป็นต้น

คณะกรรมการป.ป.ช.เห็นการปกปิดข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้ทำให้ประชาชนไม่สามารถมีส่วนร่วมในการตรวจสอบได้ เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า ประชาชนไม่ต้องการข้อมูลเชิงลึก ไม่ว่า เลขที่บัญชีธนาคาร เลขที่โฉนด อย่างไรก็ตามการปกปิดรายการใดยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งคณะกรรมการป.ป.ช. พร้อมที่จะรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน และยังต้องการพลังการสนับสนุนจากภาคประชาชน เพราะการป้องกันและการราบปรามทุจริตคอร์รัปชันเป็นหัวใจหลัก เพื่อนำไป ทบทวนและแก้ไขกฎหมายให้สะท้อนความเห็นจากประชาชน และสื่อมวลชนอย่างแท้จริง


นายภัทระ คำพิทักษ์ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การเปิดเผยทรัพย์สินและหนี้สินเป็นมาตรการเชิงจริยธรรมที่พึงกระทำของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งระดับสูง นักการเมือง ผู้ที่มีตำแหน่งสำคัญของประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญทั้งโลก บางประเทศอาจจะมีโทษทางอาญา บางประเทศอาจจะไม่มีโทษทางอาญา แต่ใช้ข้อมูลนั้นเป็นฐานในการตรวจสอบเพิ่มเติมด้านอื่น เช่น ร่ำรวยผิดปกติ  สำหรับประเทศไทยระยะแรกไม่มีโทษทางอาญา แต่มีการลงโทษทางอาญาโดยศาลในภายหลัง

การเขียนการเปิดเผยข้อมูลทรัพย์สินและหนี้สินในรัฐธรรมนูญ 2560  ได้คำนึงถึงความเป็นจริงของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ยึดหลักความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่ายและปัญหาที่เกิดขึ้นกับทุกฝ่าย  และยังคงไว้ซึ่งหลักการที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบทรัพย์สิน การป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญปี  2540 และปี 2550  เป็นการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำให้สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

ส่วนการเปิดเผยข้อมูลโดยสรุปหลังจากที่คณะกรรมการป.ป.ช.ได้ตรวจสอบแล้วนั้น หมายถึงว่า ตรวจได้ผลอย่างไรให้เปิดเผยตามนั้น เพียงแต่ต้องไม่ระบุถึงรายละเอียดทางทะเบียนของทรัพย์ หรือข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่จำเป็น หรือข้อมูลที่อาจจะมีอันตรายของบุคคลได้  เพราะปัจจุบันระบบเทคโนโลยี่ดิจิทัลแบงกิ้งเติบโตมากขึ้น  การเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวบางรายการอาจจะมีการนำข้อมูลนั้นไปใช้ประโยชน์ได้

จุดมุ่งหมายของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญคือ รายการใดที่อันตรายต่อเจ้าของบัญชีทรัพย์สิน ก็ไม่ควรเปิดเผย ไมได้มีเจตนาปกปิด  เช่น หมายเลขบัตรประชาชน วันเดือนปีเกิด หมายเลขโทรศัพท์ที่บ้าน โทรศัพท์มือถือ เลขที่บัญชีหุ้น เลขที่บัญชีเงินใหกู้ยืม โรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง เลขที่บ้าน เลขบัตรเครดิต  ดังนั้นการ
เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินยังคงหลักการเดิม โดยกำหนดให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ ส่วนวิธีการเปิดเผยข้อมูลขึ้นอยู่กับการกำหนดระเบียบวิธีปฏิบัติของคณะกรรมการป.ป.ช.

นายภัทระกล่าวปิดท้ายว่า กฎหมายมีความก้าวหน้าในการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน รวมทั้งการปราบปรามคอร์รัปชันเพราะครอบคลุมเจ้าหน้าที่ของรัฐตั้งแต่เริ่มรับราชการ มีหน้าที่ในการยื่นบัญชีทรัพย์สิน ตามมาตรามา 103(2) และยื่นทุก 3 ปี ระหว่างการดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งข้อมูลนี้จัดเก็บ 2 ที่คือหน่วยนงานต้นสังกัดกับหน่วยงานกลาง


รศ.ดร.เจิมศักดิ์  ปิ่นทอง อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติและนักจัดรายการวิทยุ โทรทัศน์ กล่าวว่า  การเปิดเผยข้อมูลบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่มั่นใจว่าในการปฏิบัติงานคณะกรรมการป.ป.ช. สามารถตรวจสอบได้ถี่ถ้วนหรือไม่ รวมทั้งมีการตีความการเปิดเผยข้อมูลตามกฎหมายอย่างไร และจะมีการอ้างความเป็นส่วนตัวมากขึ้นหรือไม่

ประเด็นอยู่ที่การพิจารณาเรื่องสิทธิส่วนบุคคลกับผลประโยชน์ต่อสาธารณะ เพราะเมื่ออาสาเข้ามาทำงานเพื่อสาธารณะแล้ว ความเป็นส่วนตัวย่อมลดลง สิทธิส่วนบุคคลควรจะน้อยลง แต่รัฐธรรมนูญ 2560 เขียนไว้คลุมเครือทำให้เกิดความกังวลในประเด็นเปิดเผยโดยสรุป ซึ่งไม่มั่นใจว่าคณะกรรมการป.ป.ช.จะสรุปมากน้อยแค่ไหนเพราะตีความได้ นอกจากนี้ผลการตรวจสอบนั้นครอบคลุมถึงรายการที่ยื่นมาตั้งแต่ต้นหรือไม่ 

นอกจากนี้ยังกังวลประเด็นถึงบุคคลที่เป็นกรรมการ ป.ป.ช. ที่มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามกฎหมายใหม่ ซึ่งอาจจะไม่แน่ใจว่าจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการทั้งชุด หรือเปลี่ยนแปลงในรายบุคคล


พลอากาศเอก วีรวิท คงศักดิ์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กล่าวว่า ความแตกต่างของรัฐธรรมนูญปี 2540 ปี 2550 และปี 2560 คือ การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินในปี 2540 กำหนดเป็นหมวดหนึ่งเฉพาะ ส่วนปี 2550 มีรายละเอียดเฉพาะวิธีการปฏิบัติ แต่ปี 2560 ไม่ได้เขียนไว้ กลับเขียนไว้ในอำนาจของป.ป.ช.ในมาตรา 234 อนุ 3 ที่เป็นประเด็นปัญหาอยู่

ประเด็นที่ถกเถียงว่า ใครควรจะยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน แม้รัฐธรรมนูญ 2560 ได้เพิ่มคู่สมรสที่ไม่ได้จดทะเบียนด้วย แต่ไม่เหมือนกับต่างประเทศที่นัยยะของกฎหมายเจาะจงให้เกิดผลมากกว่า เพราะระบุว่า ตัวเองคือเจ้าหน้าที่รัฐ คู่สมรสและบุคคลในอุปการะ แต่กฎหมายไทยเขียนว่าคู่สมรส บุตรบุญธรรม  ข้อเท็จจริงบุตรที่โตแล้วก็อาจจะอุปการะด้วย

จุดอ่อนในกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2560 คือการยื่นบัญชีทรัพย์สินที่เป็นหัวใจในการปราบคอร์รัปชันคือ 1.การยกเลิกยื่นบัญชี 1 ปีหลังพ้นตำแหน่ง ที่ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบที่มาของทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นได้เมื่อพ้นตำแหน่ง ขณะที่กฎหมายป.ป.ช. มาตรา 103 ห้ามรับของขวัญอันสืบเนื่องจากหน้าที่ที่ทำงาน 2 ปี หลังเกษียณ 2.ขยายกลุ่มผู้ที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน คือเพิ่มข้าราชการระดับสูงทั้งหมด และผู้บริหารท้องถิ่น   3.การให้ความสำคัญข้อมูลความลับ ข้อมูลส่วนตัวและอาจจะเกิดอันตราย 

นอกจากนี้ข้อมูลที่เป็นความลับ ต้องกำหนดให้ชัดว่าข้อมูลที่เป็นความลับส่วนตัวคืออะไร เพราะ ข้อมูลที่ห้ามในหลักการเดิมคือ เลขบัตรประชาชน  เลขบัญชีธนาคาร เลขบัตรเครดิต  แต่บางอย่างที่ห้ามในปัจจุบันนั้น ส่วนใหญ่ในนามบัตรมีไว้อยู่แล้วทั้งบ้านเลขที่ อีเมล์ หมายเลขโทรศัพท์ จึงไม่ควรห้าม 

ส่วนการกำหนดให้ข้าราชการยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สินไว้กับหัวหน้าส่วนราชการและหัวหน้าส่วนราชการจะเอาไปเก็บไว้กับสมุดประวัติ โดยไม่ต้องเปิดเผยตามมาตรา 127 ซึ่งป.ป.ช.ต้องการให้ยื่นทุก 3 ปี โดยให้ฝ่ายบริหารของป.ป.ช. เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์การจัดเก็บข้อมูล คณะกรรมการปฏิรูปมีความกังวล เพราะเคยมีบทเรียนมาแล้ว


นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าวว่า โดยส่วนตัวได้กรอกแบบฟอร์มแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินส่งป.ป.ช.เมื่อเร็วๆนี้ และไม่รู้สึกลำบากใจต่อการเปิดเผยข้อมูลทั้งข้อมูลที่อยู่ ดังนั้นเห็นว่าการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลไม่น่าจะมีการปกปิดอะไร เพราะเป็นข้อมูลที่มีการรับรู้กันทั่วไป ที่ผ่านมาสื่อมวลชนมีข้อมูลเจาะลึกกว่าที่ป.ป.ช.เผยแพร่เสียอีก รวมทั้งการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลสาธารณะ ก็ต้องยอมรับการเปิดเผย
ส่วนการตรวจสอบนั้นมีความเห็นว่า ควรมีผลตรวจสอบที่ให้หน่วยงานอื่นสามารถตรวจสอบเพิ่มเติมได้ ไม่ใช่เป็นการตรวจสอบฐานะว่า รวยเป็นปกติหรือผิดปกติ โดยควรสรุปงการแสดงบัญชีทรัพย์สินมีคุณค่ามีประโยชน์ไปถึงการตรวจสอบภาษีว่าถูกต้องครบถ้วนเป็นธรรมด้วย อยากฝากให้ป.ป.ช.ดูด้วย

ทางด้านข้อกังวลเรื่องบทบัญญัติมีการเพิ่มขั้นตอนขึ้นมามาก รวมทั้งร่างกฎหมายที่มีบทบัญญัติให้เลขาธิการป.ป.ช.ต้องรับผิดชอบด้วย กรณีข้อมูลรั่วไหลและสงสัยว่ามาจากการทำงานของป.ป.ช. ถือว่าไม่เป็นธรรมเพราะ ปัจจุบันนี้การสืบหาข้อมูลเลขที่บ้าน สื่อมวลชนหาได้ไม่ยาก  รวมไปถึงยังกังวลขั้นตอนการไต่สวนที่เลขาธิการต้องเสนอคณะกรรมการป.ป.ช.ทุกเรื่อง  เพราะเห็นว่าหน่วยงานธุรการของป.ป.ช.น่าจะมีอิสระในการตัดสินใจได้ลงมือปฏิบัติงาน แสวงหาข้อเท็จจริงได้

ส่วนมาตรา 41,42,43 ให้คณะกรรมการคตง.มีอำนาจตรวจสอบคณะกรรมการป.ป.ช. ต้องพิจารณาว่าซ้ำซ้อน และขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่


นายเสนาะ สุขเจริญ บรรณาธิการข่าว สำนักข่าวอิศรา กล่าวว่า ในฐานะสื่อให้ความสำคัญเป็นพิเศษ คือมาตรา 104 ที่ปกปิดทั้งหมด 14 รายการ มองว่าเป็นการตัดทางการทำงานขององค์กรภาคประชาชนเพราะที่ผ่านมาบัญชีทรัพย์สินเป็นเครื่องมือสำคัญในการตรวจสอบร่องรอยที่มาของทรัพย์สิน ความร่ำรวยของนักการเมือง อย่างเช่น คดีซุกหุ้น คดีเงินกู้ 45 ล้านบาท ของพลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ คดีปกปิดบัญชีทรัพย์สินของอดีตส.ส.ก็มาจากการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน ในสมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ มีรัฐมนตรี 7-8 คน ถือครองหุ้นเกิน 5% ซึ่งนำไปสู่การสิ้นสุดของความเป็นรัฐมนตรี ก็มาจากการทำหน้าที่ของสื่อและภาคประชาชน เข้าไปตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน การสิ้นสุดการเป็นรัฐมนตรี  กรณีนายไชยา สะสมทรัพย์,นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ เป็นต้น
การตัดการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินทั้งหมด 14 รายการ แทบจะไม่เห็นร่องรอยอะไร อย่างเช่น กรณีโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอล มีบริษัทของนักการเมืองเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐได้รับงานก่อสร้างสนามฟุตซอลรวมเป็นมูลค่า 30 ล้านบาท แต่เมื่อตรวจสอบบัญชีผู้ถือหุ้นแล้ว  ปรากฏว่าไม่มีรายชื่อนักการเมืองรายนั้นถือหุ้น แต่มีผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สื่อไปตรวจสอบที่อยู่ของผู้ถือหุ้นใหญ่รายนี้ เปรียบเทียบกับที่อยู่อาศัยของนักการเมืองที่แจ้งต่อป.ป.ช. ปรากฏว่าใช้ที่อยู่เดียวกัน นี่คือร่องรอย ของการทำหน้าที่ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน 

การปกปิดที่อยู่อาศัยของบุคคลสาธารณกลุ่มนี้ อาจจะกลายเป็นว่ากฎหมายฉบับนี้ให้ความสำคัญและให้น้ำหนักบุคคลสาธารณเหล่านี้มากกว่าการให้น้ำหนักการทำหน้าที่ตรวจสอบของภาคประชาชน .
« Last Edit: November 30, 2017, 08:12:12 AM by MSN »

MSN on November 30, 2017, 08:12:57 AM
เอกสารประกอบเวทีเสวนาโต๊ะกลม

หัวข้อ “การเปิดเผยทรัพย์สิน และบทบาทหน้าที่ของ ป.ป.ช. ตาม พระราชบัญญัติ ป.ป.ช. ใหม่” จัดโดย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) วันที่ 29 พฤศจิกายน 2560

สรุปประเด็นความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ….


หลังจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ…. (พ.ร.ป. ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีหลายประเด็นยังเป็นที่ถกเถียงกันในแวดวงนักวิชาการและต้องชี้แจงทำความเข้าใจต่อสาธารณชนดังนี้

1.   เรื่องการเปิดเผยข้อมูลบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของนักการเมือง คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ตาม มาตรา 104 (https://thaipublica.org/2017/11/varakorn-232/) แห่งร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยข้อมูลรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของนักการเมืองต่อสาธารณชนได้โดยสรุปเท่านั้น ห้ามเปิดเผยในรายละเอียด ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบัน กำหนดให้เผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวต่อสาธารณชนอย่างละเอียด การกำหนดถ้อยคำดังกล่าวไว้ในร่างกฎหมายฉบับนี้ถือเป็นการถอยหลังเข้าคลอง และถ้าพิจารณาให้ดี ถ้อยคำดังกล่าวที่กำหนดในมาตรา 104 มีความขัดแย้งกันเองตั้งแต่บรรทัดแรก กรณีที่ระบุว่า “เพื่อประโยชน์ในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน” หากเปิดเผยข้อมูลบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินได้เฉพาะสรุปย่อตามที่บัญญัติไว้ในร่างกฎหมายฉบับนี้ ไม่เปิดเผยรายละเอียด ทั้งประชาชนหรือสื่อมวลชนจะมีส่วนร่วมในการตรวจสอบได้อย่างไร ทรัพย์สินรายการไหนเพิ่มขึ้น หนี้สินรายการไหนลดลงจะรู้กันเฉพาะภายใน ป.ป.ช.

2.   มาตรา 35 ห้ามไม่ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. และพนักงานเจ้าหน้าที่เปิดเผยข้อมูลเฉพาะบุคคล เอกสารความลับราชการที่ได้มาจากการปฏิบัติหน้าที่ เช่น ข้อมูลรายละเอียดของผู้ถูกกล่าวหา ผู้แจ้งเบาะแส และพยาน วรรค 2 ห้ามเปิดเผยสำนวนการสอบสวน สำนวนไต่สวน หากมีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว ในมาตรา 36 ให้เลขาธิการ ป.ป.ช. ตรวจสอบหาตัวผู้เปิดเผยข้อมูล และถ้าตรวจพบมีโทษไล่ออกจากราชการ โดยไม่ต้องดำเนินการสอบสวนใหม่ แต่ถ้าหาตัวผู้ที่เปิดเผยข้อมูลไม่ได้ ถือเป็นความบกพร่องของเลขาธิการ ป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับสำนวนไต่สวน โดยให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงโทษ


3.   กระบวนการไต่สวน มีการสร้างรูปแบบและขั้นตอนที่ไม่จําเป็น โดยต้องนําเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาก่อน เช่น มาตรา 49 วรรค 3 หรือ มาตรา 51 กําหนดให้มีคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่น้อยกว่า 3  คน เป็นคณะกรรมการไต่สวน ไม่ยืดหยุ่น และไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง อาจมีปัญหา กรณีที่มีเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องพิจารณาเป็นจํานวนมาก

4.   ตามมาตรา 63 กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้รับและพิจารณาข้อกล่าวหาทุกเรื่องว่าเป็นเรื่องที่มีความผิดร้ายแรงหรือไม่ และถ้าไม่ร้ายแรงให้ส่งเรื่องไปให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหาดำเนินการทางวินัย ตรงนี้เท่ากับว่าเป็นการกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการเฉพาะเรื่องใหญ่ๆ ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการ จึงควรแก้ไขให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนข้อกล่าวหาไว้ก่อนจากนั้น จึงส่งให้ ป.ป.ช. พิจารณา

5.   ตามมาตรา 41,42 และ 43  ให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีอํานาจ ตรวจสอบคณะกรรมการการ ป.ป.ช. อาจถือเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ และซ้ำซ้อน เนื่องจากคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน มีอำนาจตรวจสอบการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน ไม่มีอำนาจตรวจสอบเพื่อดำเนินคดีอาญา และในรัฐธรรมนูญมาตรา 236 ระบุว่า หากมีการกล่าวหาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ศาลฎีกาแต่งตั้งผู้ไต่สวนอิสระมาตรวจสอบคณะกรรมการ ป.ป.ช.

6.   หลังจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. สั่งคำวินิจฉัยให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหาลงโทษทางวินัย ในมาตรา 97 ได้กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหา สามารถโต้แย้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ และบังคับให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องกลับมาทบทวนภายใน 30 วัน ตรงนี้จึงทำให้คําวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีความศักดิ์สิทธิ์และเป็นเพียงความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยเท่านั้น (ขัดหลักการตามคําวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 2/2556)

ทั้งนี้ การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ใช้อํานาจชี้มูลความผิดทางวินัย เป็นการใช้อํานาจตามรัฐธรรมนูญ และเป็นกรณีที่กฎหมายกําหนดไว้เป็นการเฉพาะ เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทางวินัยแล้ว ผู้บังคับบัญชาต้องถือเอารายงานเอกสาร และความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสํานวนการสอบสวนทางวินัย โดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก ขณะที่ มาตรา 97 ได้เปลี่ยนหลักการดังกล่าว โดยกําหนดให้การพิจารณาลงโทษทางวินัยตามคําวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หากผู้บังคับบัญชา หรือ ผู้มีอํานาจแต่งตั้งถอดถอน มีพยานหลักฐานอันแสดงได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทําความผิด ให้ผู้บังคับบัญชาหรือ ผู้มีอํานาจแต่งตั้งถอดถอน ทำหนังสือพร้อม เอกสารและพยานหลักฐานถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาทบทวนมตินั้นได้ ซึ่งหลักการนี้อาจขัดต่อหลักการตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัยไว้ ในคําวินิจฉัยที่ 2/2556เช่นกัน