news on November 22, 2017, 02:14:13 PM
ข่าวประชาสัมพันธ์ ETDA ชูยุทธศาสตร์การพัฒนาบุคลากรความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระยะ 3 ปี



กรุงเทพฯ – 22 พฤศจิกายน 2560 - ETDA เผยผลการดำเนินโครงการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระยะ 3 ปี เพื่อ พัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ผนึก 5 มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการพัฒนาบุคลากร ตั้งเป้าสร้างกำลังพลไซเบอร์รุ่นใหม่เพิ่ม 12,000 คน ภายในปี 2564 พร้อมโชว์ศักยภาพ เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน Cyber SEA Game 2017 เฟ้นหาสุดยอดทีม Cybersecurity ระดับอาเซียน



ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า ETDA ได้ดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ ซึ่งครอบคลุมถึงการจัดทำหลักสูตรเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระยะเวลา 3 ปี โดยร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของไทย โดยตั้งเป้าหมายไว้ 12,000 คน ภายในปี 2564 

สำหรับหลักสูตรเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระยะ 3 ปี ได้ใช้แนวทาง 3 ประสาน คือ 1. อุปสงค์ 2. อุปทาน 3. ค่าตอบแทนพิเศษและใบรับรอง เรียกว่าโมเดล Cybersecurity Capacity Building Ecosystem ในการพัฒนาบุคลากรดังกล่าวเพื่อให้เกิดห่วงโซอุปทานที่สอดคล้องกับอุป-สงค์ และสร้างแรงจูงใจจากค่าตอบแทนพิเศษที่จะได้รับเพิ่มจากการมีใบรับรองต่างๆ ในแต่ละบุคคล โดยการพัฒนาโมเดลนี้ในช่วงเริ่มต้นอาจจะสร้างบุคลากรได้จำนวนจำกัด แต่ในระยะยาวจะทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนด้วยกลไกตลาด ทำให้การพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์มีความยั่งยืน

นอกจากนี้ ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อร่วมมือด้านวิชาการและการจัดทำหลักสูตรอบรมที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาดังกล่าว ในการพัฒนาความรู้ ความสามารถ และทักษะของบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ กับสถาบันการศึกษาชั้นนำ 5 แห่งของไทย ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และมหาวิทยาลัยรังสิต

“ปัญหาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Security) กำลังเป็นเรื่องท้าทายของทุกประเทศ เนื่องจากการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ทุกรูปแบบเพื่อการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิต เกิดความเสียหายมหาศาลจากอาชญากรรมไซเบอร์ ซึ่งมีตัวเลขประมาณการจาก Forbes ว่า แนวโน้มความเสี่ยง

ด้านภัยคุกคามไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้การจ้างงานทั่วโลกในด้าน Cyber Security จะทะยานถึง 3.5 ล้านตำแหน่งงาน ในปี 2564 ขณะที่ บริษัท การ์ทเนอร์ ระบุว่าเมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา ทั่วโลกมีการใช้จ่ายด้านนี้ทั้งในส่วนผลิตภัณฑ์และบริการสูงถึงกว่า 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ”
ดร.ชัยชนะ กล่าว

สำหรับอาชีพทางไซเบอร์ซึ่งตลาดมีความต้องการสูง ประกอบด้วย 7 สมรรถนะ ได้แก่  การพัฒนาและออกแบบระบบ, การดูแลระบบ, การบริหารและผู้ตรวจสอบระบบ, การรับมือภัยคุกคาม, การวิเคราะห์ข้อมูล, การเก็บพยานหลักฐาน และการดำเนินการสืบสวนสอบสวน ดังนั้นหลักสูตรความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ตามโครงการความร่วมมือครั้งนี้  ได้วางเป้าหมายการพัฒนาบุคลากรของสถาบันการศึกษา ได้แก่ อาชีวะ มหาวิทยาลัยราชภัฎ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และมหาวิทยาลัย, การฝึกอบรม ได้แก่ ศูนย์ฝึกอบรม สถาบันวิชาการ สถาบันใบรับรองในประเทศ และสถาบันใบรับรองต่างประเทศ, สายอาชีพ ได้แก่ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน, และออนไลน์ ได้แก่ สื่อสังคมออนไลน์ หลักสูตรออนไลน์ และ Crowdsourcing
ในส่วนของระยะเวลาการอบรมอยู่ที่ 1-3 ปี ตามระดับของหลักสูตร ซึ่งแบ่งออกเป็น หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ หลักสูตรประกาศนียบัตรระยะสั้น หลักสูตรอนุปริญญา และหลักสูตรปริญญาตรี โดยหลักสูตรอบรมที่มุ่งเน้น ได้แก่ Secure Software Engineering, System Administration, Systems Development, Enterprise Network Defense (END) Analysis , Systems Security Architecture, Incident Response, Customer Service and Technical Support เป็นต้น ขณะที่ ระดับหลักสูตรออนไลน์ จะเป็นรูปแบบของ O2O (Online to Offline) เพื่อเปิดโอกาสให้มีการเข้าถึงหลักสูตรอย่างเท่าเทียม

ที่ผ่านมา ETDA ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์มาโดยตลอด และจัดการอบรมพัฒนาศักยภาพให้กับบุคลากรของทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในหลักสูตรต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ หลักสูตรการฝึกปฏิบัติด้านไซเบอร์ (CYDER) ตั้งแต่ระดับ CYDER 1, 2 และ 3 ซึ่งเป็นระดับภูมิภาค (Reginal) นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตร iSEC, TRANSITS, SANS504, FOR508, IT Security for Management และ Advanced Computer Forensic Investigation ทั้งนี้แต่ละหลักสูตรเป็นการบ่มเพาะความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง โดยรวมมีผู้เชี่ยวชาญผ่านการอบรมกว่า 300 คน ล่าสุด ETDA ได้จัดอบรมฝึกซ้อมแผนบนโต๊ะ (Table Top Exercise: TTX) มีเนื้อหาเกี่ยวกับการรับมือภัยคุกคามในระดับบริหารภาคส่วนบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขเมื่อกลางเดือนพฤศิกายนที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมอบรมกว่า 100 คน 

ดร. ชัยชนะ กล่าวอีกว่า ปีนี้ ETDA ได้รับเกียรติจากประเทศญี่ปุ่น ในการมอบให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน Cyber SEA Game 2017 ซึ่งเป็นการจัดงานระดับอาเซียน โดยมีตัวแทนจาก 10 ประเทศอาเซียนเข้าร่วมแข่งขัน ประเทศละ 1 ทีมๆ ละ 4 คน โดยจัดการแข่งขันในรูปแบบ CTF (Capture the Flag) แต่ละทีมต้องแข่งกันตอบโจทย์เฉพาะทางที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และตัดสินโดยทีมที่สามารถทำคะแนนได้สูงสุดภายในเวลาที่กำหนดจะเป็นผู้ชนะ เพื่อเฟ้นหาสุดยอดทีม Cybersecurity ระดับอาเซียน ไปแข่งขันระดับโลกต่อไป
« Last Edit: November 22, 2017, 02:17:49 PM by news »