สภาวิศวกรเผยความเสี่ยงของแผงกั้นรถยนต์ 4 ประเภท
พร้อมเสนอ 3 มาตรการเร่งแก้ปัญหารีบด่วน
จากเหตุรถยนต์ประสบอุบัติเหตุตกลงมาจากอาคารจอดรถภายในซอยไผ่สิงโต ถ.พระราม 4 จนมีผู้บาดเจ็บ 1 รายนั้น ศ.ดร.อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร ได้นำคณะผู้ชำนาญการสาขาโยธาสภาวิศวกร ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบความแข็งแรงของแผงกั้นรถยนต์เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ผลการลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า โครงสร้างแผนกั้นรถยนต์มีลักษณะเป็นโครงสร้างยื่น (Cantilever wall) ทำจากคอนกรีตเสริมเหล็ก มีความหนา 10 ซม. เสริมด้วยเหล็กตะแกรงชั้นเดียว เป็นเหล็กเส้นกลมขนาด 9 มม. วัดกำลังอัดของคอนกรีตได้ประมาณ 240-280 กิโลกรัมต่อตารางเซ็นติเมตร และมีความสูงของแผงประมาณ 1.0 ม. สาเหตุที่เกิดอุบัติเหตุเนื่องจาก แผงกั้นไม่สามารถต้านแรงกระแทกได้ ซึ่งอาจะเกิดจาก 1. แรงกระแทกมากเกินไปซึ่งเกิดจากการเร่งเครื่องยนต์ของผู้ขับขี่เอง และ 2. แผงกั้นอาจไม่ได้มาตรฐานในด้านความแข็งแรงต่อแรงกระแทก ซึ่งจากข้อมูลทางโครงสร้างและภาพเคลื่อนไหวที่บันทึกได้จากกล้องวงจรปิด จะทำให้ทราบความเร็วที่รถวิ่งเข้าปะทะ และคำนวณแรงกระแทกได้ ศ.ดร. อมร พิมานมาศ เปิดเผยว่าปัจจุบันกฎหมายควบคุมอาคารยังไม่ได้กำหนดค่าแรงกระแทกที่ใช้ในการออกแบบแผงกั้นรถยนต์ จึงทำให้อาคารจอดรถยนต์จำนวนมากในประเทศไทยไม่มีมาตรฐานและอาจไม่แข็งแรงพอ โดยสำหรับอาคารจอดรถในประเทศไทย สามารถจัดกลุ่มแผงกั้นรถยนต์ที่มีความเสี่ยงอันตรายไว้ 4 ประเภทได้แก่ 1.แผงกั้นรถยนต์ที่ทำจากคอนกรีตเสริมเหล็กที่ออกแบบไม่ได้มาตรฐาน เช่น ผนังบางเกินไป หรือ เหล็กเสริมน้อยเกินไป 2. แผงกั้นรถยนต์ที่ทำจากผนังอิฐมอญ หรือ อิฐบล็อก หรืออิฐมวลเบาที่ไม่ได้เสริมเหล็ก 3. แผงกั้นรถยนต์ที่ทำจากผนังคอนกรีตสำเร็จรูป ที่ใช้จุดยึดเชื่อมต่อเพียงแค่ 2-3 ตำแหน่ง และ 4. แผงกั้นรถยนต์ชนิดเส้นหรือตาข่ายโลหะที่ไม่ได้มาตรฐานตามที่ผู้ผลิตกำหนดหรือไม่ผ่านการทดสอบ ศ.ดร.อมร พิมานมาศ เปิดเผยต่อว่าในต่างประเทศ เช่นประเทศออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ ได้มีการออกมาตรฐานมาตรฐาน AS/NZS2890.1 ซึ่งกำหนดว่าแผงกั้นรถยนต์ต้องมีความสูงไม่น้อยกว่า 1.3 ม. และต้องออกแบบให้ทนต่อแรงกระแทกได้อย่างน้อยเท่ากับ 3 ตันสำหรับแผงกั้นทั่วไป และ 24 ตันสำหรับแผงกั้นที่ปลายทางวิ่งที่มีระยะทางเกิน 20 ม. และที่มีการเคลื่อนที่ของยานพาหนะภายในอาคาร สำหรับปัญหารถยนต์ตกอาคารเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก เนื่องจากกระทบต่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่รถยนต์ภายในอาคาร ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน จึงเสนอให้ภาครัฐดำเนินการ 3 มาตรการดังนี้ 1. กรมโยธาธิการและผังเมือง ออกกฎกระทรวงหรือกฎหมายอื่นภายใต้ พรบ. ควบคุมอาคาร ระบุให้อาคารต้องออกแบบแผงกั้นรถยนต์รับแรงกระแทกจากรถยนต์ (โดยระบุค่าแรงกระแทกที่ใช้ออกแบบ) 2. สภาวิชาชีพ/สมาคมวิชาชีพ/หน่วยงานรัฐ เร่งออกมาตรฐานการออกแบบและก่อสร้างแผงกั้นรถยนต์ตกตามมาตรฐานในต่างประเทศ 3. หน่วยงานท้องถิ่น เช่น กทม. สุ่มตรวจความแข็งแรงของแผงกั้นรถยนต์ในอาคารต่างๆที่อยู่ภายในท้องที่ของตัวเอง