happy on November 13, 2017, 04:54:12 PM
กทปส. ผลักดันพลิกฟื้นศูนย์กลางชุมชน “วัด” ร่วมกับอาศรมศิลป์คืนสู่สังคมไทยด้วยระบบ ICT


                        หากจะกล่าวถึงศูนย์กลางของชุมชนเมื่ออดีตที่ผ่านมา “วัด” คือแหล่งเรียนรู้ วัฒนธรรม บ่มเพาะทางจิตใจของคนไทยเสมอมา ดังเช่นอดีตที่มักกล่าวว่า “บวร” บ้าน วัด โรงเรียน อันเป็นแหล่งที่เชื่อมโยงทั้งองค์ความรู้ ศาสนา และชุมชนเข้าถึงกัน ดังที่ท่านเจ้าคุณพระสุธีรัตนบัณฑิเจ้าอาวาส วัดสุทธิวราราม กรุงเทพมหานคร ได้กล่าวว่า อดีตที่ผ่านมาชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนเก่าที่มีเรื่องราวมากมาย มีศิลปวัฒนธรรม เป็นแหล่งความรู้ สถานปฏิบัติธรรม ที่ปัจจุบันยังคงปฏิบัติการอยู่ และยังรอให้ทุกคนเดินเข้ามาเสมือนเช่นอดีตที่ผ่านมา

                        หากแต่วันนี้วันเวลาเดินหน้า ยุคสมัยปรับเปลี่ยน การเข้าถึงอาจต้องปรับเปลี่ยนตามกาลเวลา การนำเอาระบบการเชื่อมต่อด้านเทคโนโลยี ICT เข้ามามีส่วนในการขับเคลื่อนผลักดันให้ “วัด” กลับฟื้นคืนชีพอีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันกลุ่มคนที่ก้าวเท้าเข้ามาในวัดอาจลดน้อยลง หากไม่เปรียบกับวัดดังที่ผู้คนเข้าไปเพราะจิตศรัทธา แต่จะมีสักกี่คนที่เข้าไปเพราะดื่มด่ำกับวัฒนธรรม ภาพวาดจิตกรรมฝาผนัง เรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา องค์ความรู้ที่แต่ละวัดมีให้ รากลึกของพระพุทธศาสนาในสังคมไทย การบ่มเพาะกลัดเกลาจิตใจให้สังคมปัจจุบันดีขึ้น 

                        สถาบันอาศรมศิลป์ ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาที่เน้นการทางานพัฒนาสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ โดยเชื่อมโยงกับมิติทางสังคม เศรษฐกิจ และมิติทางจิตปัญญา ได้เดินหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่วัดให้เป็นศูนย์เรียนรู้สุขภาวะของเมืองเพื่อพลิกฟื้นความสัปปายะ และการเป็นศูนย์รวมจิตวิญญาณให้กับวัด ร่วมกับ กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. หน่วยงานในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของศูนย์กลางด้านพระพุทธศาสนาของไทย และต้องการให้ “วัด” ยังคงเป็นศูนย์กลางดังเช่นอดีตที่ผ่านมา โดยการพัฒนาระบบการเชื่อมต่อระบบด้าน ICT เทคโนโลยีด้านอินเทอร์เน็ต หรือแม้กระทั่งระบบด้าน QR Code เข้ามาใช้ในวัดจึงเป็นส่วนสำคัญในการทำให้ข้อมูล การเชื่อมโยงเข้าถึงง่ายมากยิ่งขึ้น






                        “โครงการติดตั้งระบบ ICT และการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงด้วยเทคโนโลยี Wi-Fi ในเขตพื้นที่สาธารณะของวัด” ถือเป็นการเดินหน้าพัฒนาการติดตั้งระบบ ICT อย่างบูรณาการ ด้วยมีการวางแผนและมีการศึกษาอย่างเป็นระบบ ศึกษาถึงความต้องการสำหรับผู้ที่ต้องการเข้าวัด และวัดต้องการอะไรกลับสู่ประชาชน ซึ่งขาดการเชื่อมโยง การเข้าถึงด้านสังคม การเดินทางที่ไม่สะดวก พร้อมทั้งการสร้างคุณค่าของ “วัด” ไม่ให้คนไทยห่างไกลวัด การให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงด้วยเทคโนโลยี Wi-Fi ซึ่งมีผลต่อการเข้าถึงเป็นอย่างมาก ดังที่ นายนิพนธ์ จงวิชิต รักษาการผู้จัดการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณ ให้ข้อสังเกตถึงเทคโนโลยีที่จะมีการเชื่อมต่อเข้าถึงภาคประชาชน อาทิ ระบบอินเทอร์เน็ตความสูงจะช่วยย่อสังคมไทยให้แคบลง ไม่ว่าจะเป็นการ Live สดหากมีกรณีเทศนาในวันสำคัญ บทสวด ธรรมมะที่สามารถค้นหาได้ในวัด การค้นหาข้อมูลในกรณีที่เดินเที่ยวชมภายในวัดถึงประวัติความเป็นมา หรือ แม้กระทั่งระบบ QR Cord หากมีการนำมาใช้ หรือ ติดตั้งในภาพวาด หรือ จิตรกรรมฝาผนัง ที่สามารถหาข้อมูล ประวัติ ความหมายได้

                        “โครงการติดตั้งระบบ ICT และการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงด้วยเทคโนโลยี Wi-Fi ในเขตพื้นที่สาธารณะของวัด” ถือเป็นการส่งเสริมสนับสนุนเพิ่มศักยภาพการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้กับ “วัด” สู่กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เด็ก เยาวชน นักท่องเที่ยว ชุมชนรอบวัด และพระภิกษุ สามเณรให้เข้าถึงบริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้อย่างทั่วถึง เพิ่มความรู้ ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลทางด้านดิจิตอลในปัจจุบัน โดยวัดสุทธิวราราม ถือเป็นโครงการตั้งต้นย่านเจริญกรุงศูนย์รวมด้านธุรกิจ การค้า การท่องเที่ยว ซึ่งสามารถเป็นพัฒนาต่อยอดเข้าถึงประชาชน นักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี โดยทางวัดมีแนวคิดโครงการที่ต้องการพัฒนาศูนย์ ICT ของวัดทั้งสิ้น 3ประการด้วยกัน คือ

1)   พัฒนาศูนย์ ICT ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้แห่งใหม่ของวัด เพื่อสนับสนุนให้วัดเป็นพื้นที่สำหรับเด็กนักเรียน สามารถเข้ามาใช้งาน อ่านหนังสือเป็นเสมือนห้องสมุดก่อนกลับบ้าน หรือช่วงรอรถติดหลังเลิกเรียน พร้อมทั้งเป็นศูนย์ ICT ให้กับชุมชนในพื้นที่เขตเจริญกรุง เจริญนคร

2)   มุ่งพัฒนาระบบด้าน IT เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ในทันยุคสมัย เช่น มีการพัฒนาเนื้อหาของภาพพุทธศิลป์ที่อยู่ภายในพระอุโบสถให้เกิดเป็นนิทรรศการ สมบัติที่สืบทอดของย่านเจริญกรุง เจริญนคร

3)   เป็นการสร้างช่องทางให้นักเรียน นักท่องเที่ยว ชุมชนเมืองในพื้นที่ได้เข้าถึงข้อมูล เนื้อหาของธรรมะ และพระพุทธศาสนาได้มากยิ่งขึ้น


                        การดำเนินงานพัฒนาวัดนำร่องเกิดขึ้นทั้งสิ้น 9 วัดทั่วประเทศ ต้องการทำงานครอบคลุมทั้งด้านกายภาพและภูมิทัศน์ภายในวัด ควบคู่ไปกับการส่งเสริมกิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรม ประกอบด้วย 9 วัดบันดาลใจ ได้แก่
 
1) วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร จ. นครพนม
2) วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จ. เชียงใหม่
3) วัดนางชี กรุงเทพมหานคร
4) วัดภูเขาทอง จ. พระนครศรีอยุธยา
5) วัดชลประทานรังสฤษดิ์ (พระอารามหลวง) จ.นนทบุรี
6) วัดสุทธิวราราม กรุงเทพมหานคร
7) วัดศรีทวี จ. นครศรีธรรมราช
8 ) วัดป่าโนนกุดหล่ม จ. ศรีสะเกษ
9) วัดมหาจุฬาลงกรณราชูทิศ (มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย) จ.พระนครศรีอยุธยา


                        การพลิกฟื้น ความเชื่อมั่น ศรัทธาในพระพุทธศาสนาอันเป็นรากเหง้าของวัฒนาธรรม คุณธรรมทางจิตใจต้องอาศัยหลาย ๆ ภาคส่วนในการเดินหน้า ซึ่ง กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. นั้น ถือเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่คอยส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรสื่อสารการเชื่อมต่อด้านระบบ ICT จึงได้ผนึกกำลังกับ สถาบันอาศรมศิลป์ ต้องการรักษาศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม พฤติกรรมการปฏิบัติของวิถีพุทธ หากแต่ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย นำเทคโนโลยีเข้ามีบทบาท ส่วนช่วยในการเข้าถึงที่ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น และอนาคตยังมีแผนในการขยายวัดนำร่องไปทั่วประเทศอีกกว่า 60 วัด พร้อมทั้งต้องการให้เกิดการตื่นตัว เกิดกลุ่มจิตอาสาเพื่อการพัฒนาวัด ประกอบด้วย กลุ่มวิชาชีพด้านการออกแบบ สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดกลุ่มวิชาชีพด้านอื่นๆ ที่สนใจเข้าร่วมพัฒนา “วัด” ไทยอีกด้วย