ประเทศไทยเจ้าภาพ การประชุมทางวิชาการระดับภูมิภาค “2017 IFLA ASIA – PACIFIC REGIONAL CONGRESS”
สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย ได้รับเกียรติให้จัดงานการประชุมทางวิชาการระดับภูมิภาค “2017 IFLA ASIA – PACIFIC REGIONAL CONGRESS” ขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งที่ 2 ภายใต้แนวความคิด “BLUE, GREEN, AND CULTURE” เพื่อสะท้อนถึงความความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องกันระหว่างสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม สังคมและวิถีชีวิต ในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การประชุมครั้งนี้เป็นความร่วมมือกันในระดับนานาชาติกับองค์กรวิชาชีพภูมิสถาปัตยกรรมในกลุ่มภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค โดยจัดขึ้นเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมการพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ พัฒนาองค์ความรู้ โดยเน้นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับน้ำ สภาพแวดล้อม และภูมิทัศน์วัฒนธรรมทั้งในเอเชียแปซิฟิกและทั่วโลก
นางวรรณพร พรประภา ประธานจัดงานการประชุมทางวิชาการระดับภูมิภาค “2017 IFLA ASIA-PACIFIC REGIONAL CONGRESS” กล่าวว่า “ภูมิสถาปนิกเป็นหนึ่งในวิชาชีพที่ความสำคัญต่อสังคม เนื่องจากเป็นวิชาชีพที่สามารถช่วยคิดค้น วิเคราะห์ พิจารณา และค้นหาทางออกในการแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อมอันเป็นปัญหาที่สั่งสมมายาวนานได้ เช่น ภาวะโลกร้อน การสูญเสียสมดุลในระบบนิเวศ เพื่อพัฒนาเมืองให้น่าอยู่และจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น นับเป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทย ที่ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพอีกครั้ง ในการจัดกิจกรรมการประชุมทางวิชาการระดับภูมิภาค “2017 IFLA ASIA-PACIFIC REGIONAL CONGRESS” ครั้งที่ 2 ภายใต้แนวความคิด “BLUE, GREEN, AND CULTURE” อันจะสะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องกันระหว่างสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม สังคมและวิถีชีวิต เพื่อเตรียมรับมือกับยุคโลกาภิวัตน์ ที่ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ นายเดเมียน ถัง นายกสมาพันธ์ภูมิสถาปนิกนานาชาติ ภาคพื้นเอเซียแปซิฟิค (IFLA APR) อธิบายถึงสมาพันธ์ว่า “IFLA Asia-Pacific Region (IFLA APR) เป็นกลุ่มย่อยของ International Federation of Landscape Architects (IFLA) โดยมีตัวแทนภูมิสถาปนิกจากทั่วโลก มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมมือกันทำกิจกรรมของสมาคมที่เป็นสมาชิก ในคราวที่ต้องเกี่ยวข้องกับปัญหาในระดับโลก และเพื่อให้แน่ใจว่า การประกอบอาชีพด้านภูมิสถาปัตยกรรมจะเจริญรุ่งเรืองไปอย่างต่อเนื่องพร้อมๆ กับที่ยังคงส่งผลต่อการออกแบบและการจัดการสภาพแวดล้อมของโลกของเรา”
“กลุ่ม IFLA APR ประกอบด้วยตัวแทนที่ได้รับการเสนอชื่อโดยองค์กรวิชาชีพภูมิสถาปัตยกรรมแต่ละแห่งที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นสมาชิกของ IFLA ปัจจุบันมี 76 สมาพันธ์ที่เข้าร่วมจากหลากหลายประเทศ ผู้เข้าร่วมประชุมตัวแทนประเทศใน IFLA จะทำงานร่วมกันในฐานะกลุ่มความร่วมมือเพื่อสนับสนุนประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะด้านที่มีผลต่อโลกของเรา และโครงการที่เกี่ยวกับภูมิสถาปัตย์ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก”
ด้านคุณพงษ์ศักดิ์ เหล่ามานะเจริญ นายกสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมถึงการจัดงานครั้งนี้ว่า “การรวมตัวกันของวงการภูมิสถาปนิกโลกจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกๆ ปี เพื่อกระชับความสัมพันธไมตรีและต่อยอดแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างประเทศสมาชิก โดยจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพในแต่ละปี สำหรับประเทศไทย โดยสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย ได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมระดับโลก IFLA World Congress และ ระดับภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก IFLA APR Congress อยู่หลายครั้ง และในการจัดงานประชุมฯ ครั้งนี้ ทางประเทศไทยโดยสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย ได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพต้อนรับภูมิสถาปนิกจากกว่า 14 ประเทศ ทั่วภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกและทั่วโลก ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้มีความสำคัญกับวงการภูมิสถาปนิกไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะได้มีโอกาสแสดงมิตรภาพและความมีน้ำใจไมตรีของคนไทยแล้ว ยังมีโอกาสที่จะได้เผยแพร่ผลงานของภูมิสถาปนิกไทยที่ได้รังสรรค์ไว้อย่างสวยงามทั่วประเทศ และยังเป็นการต่อยอดองค์ความรู้ทางการพัฒนาพื้นที่ทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับการพัฒนาเมืองให้มีความยั่งยืนและรุ่งเรืองสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศในอนาคตภายใต้หัวข้อ BLUE, GREEN, AND CULTURE
โดยผลสำเร็จของการจัดประชุมภูมิสถาปนิกระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนี้ ไม่เพียงแต่จะตอกย้ำถึงความสำคัญของงานภูมิสถาปัตยกรรมในการพัฒนาประเทศให้ก้าวสู่ระดับผู้นำในเอเชียแล้ว การที่ได้มีโอกาสต้อนรับภูมิสถาปนิกระดับแนวหน้าของโลก ให้ได้มาเห็นผลงานของภูมิสถาปนิกไทยและเห็นถึงแนวคิด จิตวิญญาณของการพัฒนาเมืองให้สอดคล้องกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสร้างสรรค์ น่าอัศจรรย์ และยั่งยืน ตามแนวพระราชดำริขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 อีกด้วย”
“ประชุมทางวิชาการระดับภูมิภาคในครั้งนี้ นับเป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้ภูมิสถาปนิกจากหลากหลายประเทศได้ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้เชิงวิชาการ ร่วมกันพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เมืองมีความน่าอยู่และคุณภาพชีวิตของคนทั่วโลกที่ดีขึ้น ภายในงานจะมีกิจกรรมการเสวนาอภิปรายในหัวข้อเรื่อง “Building a Better Future for Bangkok” อันประกอบด้วยผู้มีส่วนร่วมในการวางแผนและกำหนดนโยบายจากภาครัฐ และนักพัฒนาจากภาคเอกชน เพื่อแบ่งปันความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ดีต่อการพัฒนากรุงเทพฯ ในอนาคตให้ดียิ่งขึ้น ต่อเนื่องด้วยกิจกรรมการเสวนาทางวิชาการโดยผู้เข้าร่วมที่มาจากสถาบันการศึกษาชั้นนำ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, Harvard University’s Graduate School of Design, ภูมิสถาปนิกผู้ออกแบบ PTT Metro Park และภูมิสถาปนิกผู้ออกแบบ Yanghwa Riverfront Park in Seoul เป็นต้น อีกทั้งผู้ที่เข้าร่วมการประชุมยังมีโอกาสได้ท่องเที่ยวไปกับผู้เชี่ยวชาญที่จะให้ความรู้เชิงลึก ในงานออกแบบและประวัติศาสตร์ของสถานที่ท่องเที่ยวของไทย อาทิ แม่น้ำเจ้าพระยา เกาะรัตนโกสินทร์ และพื้นที่มรดกโลกของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยการประชุมฯ ครั้งนี้จะจัดขึ้นในระหว่างวันที 2 – 5 พฤศจิกายน 2560” คุณวรรณพร กล่าวเพิ่มเติม