news on October 30, 2017, 03:17:10 PM
พนัส แอสเซมบลีย์ ร่วมกับ ศูนย์บ่มเพาะฯ สวทช. ประกาศผลสุดยอดสตาร์ทอัพด้านธุรกิจโลจิสติกส์ หรือ LogTech พร้อมเปิดตัวกองทุนนวัตกรรมโลจิสติกส์


ภาพรวมทีมเข้าร่วมประกวดโครงการ Panus Thailand LogTech Award 2017


ทีม 360 Truck ชนะเลิศประเภทนิสิตนักศึกษาระดับอุดมศึกษา


ทีมชนะรางวัลประเภทประเภทนิสิตนักศึกษาระดับอุดมศึกษา


ทีมอินเท็นติก ชนะเลิศประเภทนิติบุคคลและบุคคลทั่วไป


ทีมชนะรางวัลประเภทนิติบุคคลและบุคคลทั่วไป


พนัส แอสเซมบลีย์ ร่วมกับ ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี สวทช. ประกาศผลการประกวดโครงการ Panus Thailand LogTech Award 2017 โครงการเพื่อเฟ้นหาสตาร์ทอัพด้านธุรกิจโลจิสติกส์ (LogTech) รายแรกของประเทศไทย ผลทีมอินเท็นติก จากผลงาน SILICA FOR LOGISTIC - Retail Inventory Software  ชนะเลิศประเภทนิติบุคคลและบุคคลทั่วไป รับเงินรางวัลจำนวน 100,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตร และโอกาสไปดูงานโลจิสติกส์โลกที่ประเทศเยอรมนี ขณะที่ทีม 360 Truck จากผลงาน 360 Truck, an online-logistics marketplace สำหรับบริษัทรถบรรทุกขนส่งในประเทศ ชนะเลิศประเภทนิสิตนักศึกษาระดับอุดมศึกษา รับเงินรางวัลจำนวน 30,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตร โอกาสนี้ยังได้เปิดตัวกองทุนนวัตกรรมโลจิสติกส์หนุนส่งผู้ประกอบการ LogTech ไทยให้แจ้งเกิด และร่วมลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพอย่างจริงจังด้วย


ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
กล่าวว่า โครงการ Panus Thailand LogTech Award 2017 ริเริ่มดำเนินการโดยบริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด ผู้นำตลาดในภาคธุรกิจขนส่ง และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) เพื่อเฟ้นหาสตาร์ทอัพด้านธุรกิจโลจิสติกส์ (LogTech) เป็นรายแรกของประเทศไทย ซึ่งปรากฏว่ามีผู้สนใจสมัครร่วมส่งผลงานเข้าประกวดเป็นจำนวนมาก ทั้งประเภทนิสิตนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา และประเภทนิติบุคคลและบุคคลทั่วไปที่ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ ซึ่งทางคณะกรรมการได้คัดเลือกทีมที่ผ่านเข้ารอบเพื่อเข้าร่วมกิจกรรม LogTech Boot Camp พร้อมมอบคำแนะนำเพื่อให้ทุกทีมนำไปปรับปรุงผลงานและแผนธุรกิจเพื่อมานำเสนอผลงานแข่งขันในรอบพิชชิ่งเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา ผลการประกวดปรากฎว่า ทีมอินเท็นติก จากผลงาน SILICA FOR LOGISTIC - Retail Inventory Software ชนะเลิศประเภทนิติบุคคลและบุคคลทั่วไป ได้รับเงินรางวัลจำนวน 100,000 บาท ที่สอง คือ ทีม Jump up จากผลงาน KK Smart Bus ระบบการจัดการการเดินทางโดยรถขนส่งมวลชน ได้รับเงินรางวัลจำนวน 50,000 บาท และที่สาม คือ ทีม HexSense จากผลงาน HexSense - Cold Chain สำหรับการจัดเก็บและขนส่งวัคซีนในอุณหภูมิที่เหมาะสม ได้รับเงินรางวัลจำนวน 30,000 บาท โดยทั้ง 3 ทีมจะได้รับโอกาสไปดูงานโลจิสติกส์โลกที่ประเทศเยอรมนีด้วย

ขณะที่ประเภทนิสิตนักศึกษาระดับอุดมศึกษา ทีมชนะเลิศ ได้แก่ ทีม 360 Truck โดยนิสิตปริญญาโททางการตลาด (MIM) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากผลงาน 360 Truck, an online-logistics marketplace สำหรับบริษัทรถบรรทุกขนส่งในประเทศ รับเงินรางวัลจำนวน 30,000 บาท ที่สอง คือ ทีม Smart Wheel โดยนักศึกษาปริญญาตรีมหาวิทยาลัยรามคำแหงและมหาวิทยาลัยเกริก จากผลงาน Smart Wheel แนวคิดนวัตกรรมล้อรถที่ออกแบบมาเพื่อทุกสภาพพื้นผิวบนท้องถนน โดยยางของล้อรถแบบอัตโนมัติ โดยนำเทคโนโลยีนาโน และ ใช้ระบบสั่งการในรูปแบบของ IOT รับเงินรางวัลจำนวน 20,000 บาท และที่สาม คือ ทีม BPT โดยนักศึกษาปริญญาตรีมหาวิทยาลัยบูรพา จากผลงาน BPT อุปกรณ์จัดเก็บและการเคลื่อนย้ายสินค้าในคลังสินค้า รับเงินรางวัลจำนวน 10,000 บาท โดยทุกทีมทุกประเภทที่ชนะรางวัลจะได้รับโล่และเกียรติบัตรการเข้าร่วมแข่งขันด้วย


นายพนัส วัฒนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด กล่าวว่า จากการดำเนินโครงการ Panus Thailand LogTech Award 2017 ซึ่งเป็นเวทีประกวดแนวคิดธุรกิจและโครงการด้านธุรกิจโลจิสติกส์เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ทำให้ได้เห็นถึงศักยภาพของคนไทยในการสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ และการพัฒนานวัตกรรมธุรกิจด้านโลจิสติกส์ที่หลากหลาย ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดใช้งานได้จริงในอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ เช่น หุ่นยนต์ลำเลียงสินค้า ซอฟต์แวร์บริหารระบบสินค้าคงคลัง อากาศยานไร้คนขับสำหรับขนส่งสินค้า ระบบบริหารการขนส่งและเก็บรักษาสินค้าแบบ Cold Chain เป็นต้น
 


บรรยากาศการแข่งขันในรอบพิชชิ่ง


“สิ่งที่เราภูมิใจคือ นิสิตนักศึกษาไทย รวมทั้งกลุ่มผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ที่เข้าร่วมประกวด ล้วนมีแนวคิดที่ล้ำหน้า ทันสมัย ไม่แพ้ต่างประเทศ แต่ละทีมต่างเลือกใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะมาช่วยแก้ปัญหาด้านโลจิสติกส์ให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจ โดยทุกทีมที่เข้าร่วมการประกวดมีโอกาสที่จะได้เจรจา ร่วมทุนทางธุรกิจด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งถือเป็นเจตนารมณ์ของบริษัทในการสร้างสตาร์ทอัพพันธุ์ใหม่ที่จะมาช่วยกันผลักดันนวัตกรรมด้านโลจิสติกส์ให้เป็นไปได้จริงในเชิงธุรกิจ รวมทั้งพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น เพื่อยกระดับอุตสาหกรรม ภาคการขนส่งของประเทศให้แข็งแกร่ง พร้อมกันนี้ เพื่อวางรากฐานอนาคตของสตาร์ทอัพด้านธุรกิจโลจิสติกส์ พนัส แอสเซมบลีย์ฯ จึงได้เปิดตัวโครงการ PANUS Logistics Innovation Fund หรือ กองทุนนวัตกรรมโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นกองทุนประเภท Corporate Venture Capital (CVC) เพื่อพิจารณาร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการด้าน LogTech ทั้งที่มาจากเวทีการประกวดและผู้ประกอบการภายนอกในวันดังกล่าวด้วย”นายพนัส วัฒนชัย กล่าว
« Last Edit: October 30, 2017, 03:24:05 PM by news »