นิทรรศการ “ความท๙งจำ” ร่วมรำลึก “พระมหากรุณาธิคุณ” ผ่านหนังสือใน 7 ทศวรรษ
“ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นที่รักของคนไทย และจะอยู่ในความทรงจำของคนไทยตลอดไป นิทรรศการทำให้เรารู้ว่าพระองค์ทรงทำงานหนักขนาดไหน และเราซึ่งเป็นคนที่เกิดในรัชสมัยของพระองค์ก็น่าจะทำอะไรเพื่อประเทศชาติได้มากกว่านี้ เพราะตลอดเวลา 70 ปีที่ทรงครองราชย์ ทรงทำเพื่อคนไทยมามากมาย เนื้อหาในนิทรรศการนี้ทำให้เราทราบถึงพระราชกรณียกิจของพระองค์มากขึ้น ผ่านหนังสือและสิ่งพิมพ์ต่างๆที่ตีพิมพ์ในช่วงที่ทรงครองราชย์ บางอย่างไม่เคยรู้ก่อนเลยว่าเป็นโครงการในพระราชดำริของพระองค์” “อารีรัตน์ ลิ้นจี่” ให้สัมภาษณ์ระหว่างการชม “นิทรรศการความท๙งจำ” ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 22 ซึ่งกำลังจัดอยู่จนถึงวันที่ 29 ตุลาคมนี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ไม่ใช่เพียงอารีรัตน์เท่านั้น ที่รู้สึกเช่นนี้ เพราะหลังจากที่ “กรพัฒ รุดดิษฐ์” ซึ่งตั้งใจว่าการมางานมหกรรมหนังสือครั้งนี้ นอกจากจะเพื่อซื้อหนังสือเล่มโปรดกลับไปอ่านแล้ว นิทรรศการหลักของงานอย่าง “ความท๙งจำ” ก็คือสิ่งที่พลาดไม่ได้“หลังจากได้ดูนิทรรศการก็ได้เห็นว่าที่ผ่านมาพระองค์ท่านทำอะไรเพื่อประชาชน เพื่อประเทศชาติมากขนาดไหน ได้ข้อคิดหลายๆ อย่างจากการอ่านข้อมูลที่จัดแสดง คำหรือประโยคที่คัดเลือกมาก็เป็นแรงบันดาลใจในการทำความดีต่อไป และยังได้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ ที่นำเสนอเป็นไทม์ไลน์ ทำให้รู้ว่าแต่ละช่วงเวลามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก” กรพัฒกล่าวด้วยรอยยิ้มกรพัฒ รุดดิษฐ์ อารีรัตน์ ลิ้นจี่ “นิทรรศการความท๙งจำ” ซึ่งมีผู้ชมอย่างอุ่นหนาฝาคั่งในทุกวันนั้น นำเสนอพระราชกรณียกิจของ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร” ผ่านหนังสือที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์กว่า 7 ทศวรรษ โดยนิทรรศการความท๙งจำ เกิดขึ้นเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ด้วยความตระหนักว่า หนังสือเป็น “สิ่งที่จะทำให้มนุษย์ก้าวหน้าได้โดยแท้” สมดังพระบรมราชวาทที่ได้พระราชทานแก่คณะสมาชิกห้องสมุดทั่วประเทศเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 ว่า “...หนังสือเป็นการสะสมความรู้ และทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์ได้สร้างมา ทำมา คิดมา แต่โบราณกาลจนทุกวันนี้ หนังสือจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นคล้าย ๆธนาคารความรู้และเป็นออมสิน เป็นสิ่งที่จะทำให้มนุษย์ก้าวหน้าได้โดยแท้..." ตลอด 7 ทศวรรษที่ทรงครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงให้ความสำคัญกับหนังสือในฐานะเครื่องมือในการส่งต่อและสร้างสรรค์ความรู้แก่มวลมนุษยชาติ ดังที่ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ได้ผูกพันกับหนังสือเป็นอย่างมาก มีข้อเขียนในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งหนังสือ บทความ แต่งเพลงพระราชนิพนธ์ การแปล และการสร้างสรรค์อื่น เช่น ภาพถ่าย จิตรกรรม การประดิษฐ์ตัวพิมพ์ ตลอดจนการสนับสนุนให้มีการการทำหนังสือการสร้างสรรค์ความรู้ในรูปแบบต่างๆ เช่น การจัดทำสารานุกรมสำหรับเยาวชน การแปลคัมภีร์ทางศาสนา เช่น พระไตรปิฎก มหาคัมภีร์อัลกุรอาน การสนับสนุนการศึกษาทางไกลผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ สุชาดา สหัสกุล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ เล่าว่าในนิทรรศการดังกล่าวได้มีการนำพระราชนิพนธ์เรื่อง “เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์” ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์เรื่องแรกเมื่อทรงขึ้นครองราชย์ โดยตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร วงวรรณคดี ฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ.2490 เป็นตอนแรก โดยพระบรมราชานุญาตพิเศษเฉพาะหนังสือเล่มนี้มาจัดแสดง ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากไพศาลย์ เปี่ยมเมตตาวัฒน์ นักสะสมหนังสือและภาพโบราณ เจ้าของนิตยสาร “วงวรรณคดี” ฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2490 โดยแสดงร่วมกับหนังสือพระราชนิพนธ์เล่มอื่นๆ หนังสือที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอด 7 ทศวรรษในรัชสมัยของพระองค์ นอกจากนี้ยังมีสิ่งพิมพ์และของที่ระลึกต่างๆที่จัดทำขึ้นหลังวันสวรรคต 13ตุลาคม พ.ศ.2559 จึงถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งนิทรรศการที่รวบรวมหนังสือและสิ่งพิมพ์ที่เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาแสดงให้ชมมากที่สุด ในเนื้อหาของนิทรรศการแต่ละทศวรรษ จะแสดงได้ถึงประวัติศาสตร์โดยรวมของสังคมไทย ผ่านความทรงจำของเรื่องเล่าในตัวอักษร ทั้งจากผลงานพระราชนิพนธ์ และหนังสืออื่นๆ อาทิ ทศวรรษที่ 1 คือพ.ศ. 2489- พ.ศ.2498 ซึ่งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เริ่มวันที่ 9 มิถุนายน 2489 พระชนมายุเพียง 19 พรรษา หลังจากขึ้นครองราชย์ไม่นานพระองค์จึงต้อง “จากสยามสู่สวิทเซอร์แลนด์” เพื่อศึกษาต่อ, ทศวรรษที่ 3 คือ พ.ศ. 2509- พ.ศ.2518 เป็นช่วงที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจใกล้ชิดประชาชนมากที่สุดช่วงหนึ่ง และหนังสือที่สำคัญคือการเริ่มสารานุกรมสำหรับเยาวชน และคัมภีรอัลกุรอานที่มีพระราชดำริให้แปลจากภาษาอาหรับก็ออกมาในทศวรรษนี้ด้วยเช่นกัน โดยทรงมีพระบรมราโชวาทความว่า “สารานุกรมนี้จุดประสงค์อันแรกอันสำคัญที่สุดก็คือ ให้ผู้ที่ใช้สารานุกรมนี้ให้เกิดความรู้สึกว่า โลกนี้มันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โลกหมายถึงโลกความรู้ โลกกลมโลกของวิทยาศาสตร์ และโลกของวิชาต่าง ๆ อันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน…แล้วก็ในเวลาเดียวกันก็ทำให้เห็นว่าในชาติบ้านเมืองหรือในเมืองอื่น ๆ ก็ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน”
(พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่คณะกรรมการสโมสรไลออนส์สากล ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2512) ในทศวรรษที่ 5 คือพ.ศ. 2529 –พ.ศ. 2538 สงครามเย็นที่เริ่มต้นมาในทศวรรษแรก มาสิ้นสุดในทศวรรษที่ 5 ของการครองราชย์ แต่ก็ใช่ว่าภารกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจะสิ้นสุดลง เพราะสิ่งที่พระองค์ต่อสู้คือความยากจนของคนไทย พระองค์ มีพระราชดำริให้จัดตั้ง "มูลนิธิชัยพัฒนา" เพื่องานพัฒนาต่างๆ และในทศวรรษนี้เองที่ พระราชนิพนธ์ของพระองค์ได้ออกมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากงานแปล นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ (พ.ศ.2536) ติโต (พ.ศ.2537) และท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจในทศวรรษที่ 6 คือ พ.ศ.2539 - พ.ศ. 2548 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงในฐานะหนึ่งในทางออกจากวิกฤต ขณะที่สถานะนักเขียนของพระองค์เด่นชัดขึ้นเมื่อมีการตีพิมพ์หนังสือ พระมหาชนก (พ.ศ.2539) เรื่องทองแดง (พ.ศ. 2545) นอกจากนี้ในนิทรรศการยังได้หนังสือที่พระองค์ท่านทรงพระราชนิพนธ์ไว้มาให้พสกนิกรได้ชมครบทุกเล่ม พร้อมกับนำนิตยสารหลายฉบับที่จัดพิมพ์บันทึกประวัติศาสตร์วันเสด็จสวรรคตของพระองค์ท่านมาให้ชมเช่นกัน เป็นความทรงจำอันงดงาม ที่จะสถิตในใจตราบนิรันดร์