happy on October 03, 2017, 08:54:37 PM
ศธ.-บริติช เคานซิลสนับสนุนหลักสูตรร่วมไทย-อังกฤษ
เตรียมความพร้อมไทยสู่ศูนย์กลางการศึกษาระดับอาเซียน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมงานสัมมนา “New higher education opportunities in Thailand” ณ สหราชอาณาจักร จัดโดย บริติช เคานซิล พร้อมพูดคุยกับ 30 มหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรถึงการสนับสนุนของรัฐบาลในการเปิดรับมหาวิทยาลัยต่างชาติ พร้อมต่อยอดความร่วมมือทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาในการจัดตั้งวิทยาเขตในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อกระตุ้นการแข่งขันและเตรียมความพร้อมประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาของภูมิภาคอาเซียนในอนาคตอย่างเป็นรูปธรรม

1.   มร.แอนดรูว์ กลาส ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย
2.   นายพิษณุ สุวรรณะชฎ เอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน
3.   คุณรีเบคก้า ฮิวจ์  หัวหน้าฝ่ายการศึกษา บริติช เคานซิล
4.   ดร.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
5.   นายชูวงศ์ ตั้งคุณสมบัติ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส


นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้เดินทางเข้าร่วมงานสัมมนา “New higher education opportunities in Thailand” จัดโดย บริติช เคานซิล ณ โรงแรมพาร์ค พลาซ่า กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2560 เพื่อร่วมหารือกับมหาวิทยาลัยที่ให้ความสนใจในการสร้างหลักสูตรร่วมระหว่างไทยและอังกฤษกว่า 30 มหาวิทยาลัย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้สรุปประเด็นสำคัญเกี่ยวกับกฏหมายใหม่ที่จะช่วยส่งเสริมการลงทุน การจัดตั้งมหาวิทยาลัยต่างประเทศในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในสาขาวิชา ที่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาประเทศตามโมเดลการพัฒนาประเทศไทย 4.0 (Thailand 4.0) การยกเว้นกฎเกณฑ์เกี่ยวกับสถาบันอุดมศึกษาของไทยรวมถึงการสนับสนุนจากภาคเอกชนของไทย  นอกจากนี้ นายชูวงศ์ ตั้งคุณสมบัติ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้กล่าวเสริมถึงสิทธิประโยชน์การลงทุนที่จะได้รับครอบคลุมทั้งการลดหย่อนทางภาษีและทุนสนับสนุนการลงทุนสำหรับมหาวิทยาลัยต่างชาติที่มีความสนใจในการตั้งวิทยาเขตในประเทศไทยตามกลุ่มวิชาที่เป็นที่ต้องการและสอดคล้องกับโมเดลการพัฒนาประเทศไทย 4.0 (Thailand 4.0) ได้แก่ สาขาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ, ปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ, อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร, อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม, อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร, อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์,  อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ และอุตสาหกรรมดิจิทัล


ดร.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า “คงไม่มีเวลาใดจะเหมาะสมไปกับการลงทุนด้านการศึกษาในประเทศไทยได้มากกว่าช่วงเวลานี้ กฎหมายใหม่นี้จะช่วยให้มหาวิทยาลัยต่างชาติได้พัฒนาธุรกิจและสร้างความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยไทยได้สะดวกยิ่งขึ้น เราต้องการหลักสูตรคุณภาพระดับโลกที่ประเทศไทยยังขาดความพร้อมและประเทศเพื่อนบ้านยังขาดแคลน และมีเพียงหลักสูตรเฉพาะของสหราชอาณาจักรเท่านั้นที่ทำได้ กฎหมายใหม่นี้จะช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดตั้งวิทยาเขตในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พร้อมกับสิทธิประโยชน์ด้านการลดหย่อนภาษีการสนับสนุนทางธุรกิจจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน”


มร.แอนดรูว์ กลาส ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย

มร. แอนดรูว์ กลาส ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิลประเทศไทย กล่าวว่า “บริติช เคานซิล ดำเนินงานด้านต่าง ๆ กับองค์กรพันธมิตรทั่วโลก เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้และความเชี่ยวชาญในระดับนานาชาติ เราใช้ความเชี่ยวชาญของสหราชอาณาจักรในการพัฒนางานทั้ง 3 ด้านในประเทศไทย คือ การพัฒนาความรู้และทักษะภาษาอังกฤษ การสนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการพัฒนางานด้านอุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์สู่ความเป็นนานาชาติ หลักสูตรการศึกษาร่วมคือแนวทางการส่งเสริมความสัมพันธ์ของสถาบันอุดมศึกษาระหว่างประเทศไทยและสหราชอาณาจักรในการแลกเปลี่ยนความรู้ความเชี่ยวชาญระหว่างสองประเทศ และยังเป็นการขยายโอกาสสำหรับนักเรียนให้ได้รับคุณวุฒินานาชาติในประเทศของตัวเอง”

ในปี 2558 ที่ผ่านมา บริติช เคานซิล ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสกอ. และ 9 มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งประเทศไทยพัฒนา “โครงการสนับสนุนหลักสูตรการศึกษาร่วมระหว่างประเทศไทยและสหราชอาณาจักร” เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ทางการศึกษาในระดับสถาบัน ซึ่งนำไปสู่การสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ ความร่วมมือด้านงานวิจัย และการขยายโอกาสและสร้างความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการเรียนรู้ของนักศึกษาในระดับนานาชาติ ในปีนี้จะมีหลักสูตรใหม่เกิดขึ้นขึ้นทั้งหมด 10 หลักสูตรซึ่งพร้อมเปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่ในต้นปีการศึกษา 2560 เป็นต้นไป จากผลงานดังกล่าว

โครงการในปีที่สองมีการขยายผลจาก 9 มหาวิทยาลัยวิจัยสู่มหาวิทยาลัยทั่วประเทศไทยเพื่อสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรเพื่อพัฒนาหลักสูตรร่วมที่มีความสอดคล้องกับนโยบายแผนพัฒนาเศรษฐกิจไทยแลนด์ 4.0 โดยทุนสนับสนุนในโครงการปีที่ 2 ได้เปิดให้มหาวิทยาลัยทั่วประเทศส่งใบสมัครได้แล้ววันนี้ – 25 ตุลาคม 2560 ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการฯ  http://bit.ly/2dKMFeL


ดร.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ


นายชูวงศ์ ตั้งคุณสมบัติ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส (1)