news on October 02, 2017, 03:33:37 PM
“เพ็ทอินชัวร์” ประกันภัยสัตว์เลี้ยงออนไลน์ คว้ารางวัล SIA 2017 ในโครงการ “เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี” ต่อยอดเทคโนโลยีสู่ธุรกิจนวัตกรรมทำเงิน




ชนะเลิศ



รางวัลที่2



รางวัลที่3


ผู้สนับสนุนถ่ายรูปกับ ทีมที่ชนะอันดับ1-3


ผู้สนับสนุนถ่ายรูปกับ 20 ทีมที่ผ่านเข้ารอบการแข่งขัน



เผยโฉมสุดยอด 3 ผลงานที่คว้ารางวัลโครงการ Young Technopreneur 2017 ที่สามารถตอบโจทย์การนำแนวคิดด้านนวัตกรรมใหม่ๆ สู่การเป็นนักธุรกิจด้านเทคโนโลยีตัวจริงได้สำเร็จ ปีหน้า “กลุ่มสามารถ” และสวทช. ยังผนึกกำลังจัดโครงการ Young Technopreneur 2018 ต่อเนื่อง มุ่งมั่นเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ นำ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ตามยุทธศาสตร์ภาครัฐมาใช้เป็นประเภทการประกวดภายใต้หัวข้อ “การนำเทคโนโลยีมาช่วยเหลือเศรษฐกิจชุมชน”

(วันที่ 2 ตุลาคม 2560) ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมแกรนด์เซ็นเตอร์พอยต์ เทอร์มินัล 21: ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และบริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกันจัดโครงการเถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี ซึ่งเป็นการนำแนวคิดเทคโนโลยีสู่ธุรกิจทำเงิน เพื่อสร้างผู้ประกอบการเทคโนโลยีรุ่นใหม่ โดยการต่อยอดความคิดให้กับผลงานที่มีความพร้อมและผลักดันสู่ธุรกิจที่จับต้องได้ ซึ่งภายในงานได้จัดนิทรรศการแสดงผลงาน พร้อมประกาศผลรางวัล “Samart Innovation Award 2017” ในโครงการ Young Technopreneur 2017 ให้กับกลุ่มเยาวชนและสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมการแข่งขัน


ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 6 ปีของการดำเนิน “โครงการ Young Technopreneur หรือ “เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี” มีเยาวชนสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ กว่า 700 ทีม ร่วมอบรมความรู้ด้านพื้นฐานธุรกิจเพื่อพัฒนาความรู้ในการนำเทคโนโลยีออกสู่ตลาด และมีการจัดตั้งเป็นธุรกิจแล้วกว่า 40 ราย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีให้กับนักธุรกิจเทคโนโลยีรุ่นใหม่ของประเทศไทยในอนาคต สำหรับปี 2561 โครงการฯ ยังคงความเข้มข้นทั้งหลักสูตรอบรมและให้ความรู้ที่มีการปรับเนื้อหาให้เหมาะกับนักธุรกิจรุ่นใหม่มากขึ้น กิจกรรม “เถ้าแก่น้อย Meet Investors” ได้เชิญกลุ่มนักลงทุนและลูกค้ากลุ่มเป้าหมายรายใหญ่เข้าร่วมงาน และกิจกรรม Idea To Market Boot Camp ยังเน้นให้ผู้เข้าร่วมโครงการฯ จะได้ลงมือสำรวจตลาด เก็บ วิเคราะห์ และวางแผนการทำธุรกิจจำลอง ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างโอกาสให้น้องๆ เยาวชน ได้เป็นเจ้าของธุรกิจตัวจริงให้ได้ ภายใต้หัวข้อการประกวดที่มีการปรับให้เข้ากับยุทธศาตร์ภาครัฐที่ให้ความสำคัญกับ “การนำเทคโนโลยีมาสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน” โดยมุ่งเน้นที่ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ อุตสาหกรรมการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์, อุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร, อุตสาหกรรมเพื่อประหยัดพลังงาน เป็นต้น

ทั้งนี้ สวทช. ยังพร้อมสนับสนุนให้ Startup โตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการให้คำปรึกษาแนะนำด้านธุรกิจการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการให้บริการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การลดภาษีสำหรับงานวิจัยและพัฒนาได้ถึง 300% มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริม Startup พร้อมสร้างโอกาสในการพบนักลงทุน คู่ค้า และเข้าร่วมการจับคู่ธุรกิจซึ่งเป็นกิจกรรมที่ สวทช. จัดขึ้นเป็นประจำด้วย

นายเจริญรัฐ วิไลลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ. สามารถคอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า สำหรับปีนี้มีผลงานส่งเข้าร่วมประกวดกว่า 130 ผลงาน ซึ่งคณะกรรมการจากทั้งภาครัฐและเอกชนได้ร่วมพิจารณาตัดสินทีมที่มีความคิดสร้างสรรค์ด้านนวัตกรรมที่มีความต่างและสร้างมูลค่าสอดรับกับแผนธุรกิจที่โดดเด่นเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ตั้งไว้ จำนวน 3 ทีม โดยรางวัลชนะเลิศ คว้ารางวัลสุดยอด Samart Innovation Award พร้อมรับเงินรางวัล 200,000 บาท คือ ผลงาน “เพ็ทอินชัวร์ ประกันภัยภัยสัตว์เลี้ยงออนไลน์” เป็นโบรกเกอร์ประกันภัยสัตว์เลี้ยงออนไลน์แบบครบวงจรเจ้าแรกในประเทศไทย, รองชนะเลิศอันดับ 1 เรือเติมอากาศ (Smart Boat O2 Improvement) เป็นอุปกรณ์เพิ่มออกซิเจนในน้ำที่มีขนาดเล็กและมีความเร็วสูง และช่วยประหยัดพลังงานกว่าระบบเดิมถึง 10 เท่า และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ “ชาวไร่” เป็นระบบดูแลพืชอัตโนมัติมีระบบบริหารจัดการฟาร์มให้ผู้ใช้งานวางแผนการปลูกพืชได้และติดตั้งได้ด้วยตัวเอง

“ผลงานในปีนี้สะท้อนให้เห็นว่าน้องๆ ผู้ที่เข้าประกวดไม่ได้เน้นแค่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความแตกต่างเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการศึกษาความต้องการของตลาด แล้วนำผลลัพธ์ที่ได้มาพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองความต้องการผู้บริโภคเป็นสำคัญ สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้จริง สร้างประโยชน์ให้สังคม ชุมชน และประเทศชาติ เช่น ช่วยลดการใช้ทรัพยากรและพลังงาน พัฒนาคุณภาพเกษตรกรรมเพื่อเพิ่มผลผลิต เป็นต้น”

นายเจริญรัฐ กล่าวด้วยว่า สำหรับในปี 2018 กลุ่มบริษัทสามารถและ สวทช. ยังคงมุ่งมั่นผสานความร่วมมือในการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมร่วมกัน ด้วยการสนับสนุนให้เกิดเจ้าของธุรกิจด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่อเนื่องภายใต้ “โครงการ Young Technopreneur 2018” และมอบรางวัล “สุดยอดนักคิด นักพัฒนานวัตกรรมต้นแบบ” หรือรางวัล Samart Innovation Award ต่อเนื่องเป็นปีที่ 16 ทั้งนี้กลุ่มบริษัทสามารถนับเป็นภาคเอกชนรายเดียวที่สนับสนุนด้านความคิดสร้างสรรค์ยาวนานที่สุด ซึ่งโครงการฯ ยังคงเน้นพัฒนาทักษะความรู้ด้านธุรกิจและเทคโนโลยี ทั้งเนื้อหาการลงมือปฏิบัติจริง และการพบปะนักลงทุนเพื่อสร้างโอกาสให้เกิดนักธุรกิจตัวจริง โดยปีนี้เพื่อให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ของภาครัฐจึงนำ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายมาใช้เป็นประเภทการประกวด ภายใต้หัวข้อ “การนำเทคโนโลยีมาช่วยเหลือเศรษฐกิจและชุมชน” โดยผลงานที่ผ่านเข้ารอบ 20 ทีมนั้น ยังได้รับทุนพัฒนาผลงานจำนวน 30,000 บาท สำหรับรางวัลชนะเลิศ Samart Innovation Award รับเงินรางวัล 200,000 บาท เพื่อเป็นกำลังใจและใช้ในการพัฒนาผลงานสร้างโอกาสในการต่อยอดทางธุรกิจต่อไป
« Last Edit: October 02, 2017, 03:41:03 PM by news »

news on October 02, 2017, 03:35:55 PM
รางวัล SAMART Innovation Award 2017

ชื่อโครงการ      เพ็ทอินชัวร์ ประกันภัยภัยสัตว์เลี้ยงออนไลน์ (PetInsure - First Online Pet Insurance Brokerage Services Platform in Thailand)
ชื่อบริษัท      บริษัท ดอง ซุง กิ อินโนเวชั่น จำกัด
ชื่อสมาชิกในทีม      นายชลณัฏฐ์ พูนชัฏกาญจน์ , นางสาวพลอยพิชชา บุญทวีพิทักษ์
ประเภทการแข่งขัน   กลุ่มดิจิทัล เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับ อุปกรณ์ต่างๆ      
รายละเอียดผลิตภัณฑ์
เพ็ทอินชัวร์ คือ ออนไลน์ แพลตฟอร์ม โบรกเกอร์ประกันภัยสัตว์เลี้ยงออนไลน์เจ้าแรกในไทย เป็นประกันภัยสำหรับสุนัขและแมว เป็นแพลตฟอร์มสำหรับประกันภัยสัตว์เลี้ยงครบวงจร โดยเจ้าของสัตว์เลี้ยงสามารถเลือกและสมัครทำประกันภัยสัตว์เลี้ยงได้ทางออนไลน์ ซึ่งช่วยให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงทุกคนสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงทางการเงิน โดยสามารถเบิกเคลมค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลจากการเจ็บป่วย อุบัติเหตุ วัคซีน เสียชีวิต รวมถึงรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอก และกรณีสัตว์เลี้ยงสูญหายด้วย

จุดเด่นของผลิตภัณฑ์
•   บริการประกัยสัตว์เลี้ยงผ่านช่องทางออนไลน์ครบวงจร
•   บริการตรวจสุขภาพสัตว์เลี้ยงที่บ้านของลูกค้า
•   แชทบอท บริการข้อมูลและตอบคำถามลูกค้าอัตโนมัติตลอด 24 ชั่วโมง

ประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ 
•   เจ้าของสัตว์เลี้ยงทุกคนสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงทางการเงิน
•   คุ้มครองความเสี่ยงของสัตว์เลี้ยงในหลายๆด้าน
•   คุ้มครองความเสี่ยงต่อบุคคลภายนอกกรณีโดนสัตว์เลี้ยงทำร้ายร่างกายหรือทรัพย์สินเสียหาย

รางวัลที่เคยได้รับ
•   รางวัล Finalists จากการประกวด Thailand Women Entrepreneur 2016
•   รางวัล Certificate of Recognition – Financial Industry Application จากการประกวด Thailand ICT Awards 2016
•   รางวัล Finalists จากการประกวด FinTech Challenge 2016
•   รางวัล Top Finalists & DVA b0 Graduate จากการประกวด Digital Ventures Accelerator Batch 0 by SCB
•   รางวัล Finalists จากการประกวด Digital Startup – Angel in The City 2016

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1

ชื่อโครงการ      เรือเติมอากาศ  (Smart Boat O2 Improvement)
ชื่อสมาชิกในทีม      นางสาวจุติมา อินธิชิต      นางสาวสินีวรรณ แหลมคม
นายวีรภัทร สันติภาภรณ์      นายอภินันธ์ ศรีพรวัฒนา
ประเภทการแข่งขัน   กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้อิเล็กทรอนิกส์ควบคุม   

รายละเอียดผลิตภัณฑ์ 
เรือเติมอากาศที่สามารถผลิตฟองอากาศขนาดเล็กและมีความเร็วสูง เพิ่มการไหลเวียนของน้ำในบ่อพักน้ำ และยังสามารถเติมอากาศได้ตั้งแต่บริเวณใต้น้ำ ไปจนถึงระดับผิวน้ำ ทำให้อากาศในน้ำเพิ่มขึ้น เกิดกระบวนการบำบัดน้ำด้วยธรรมชาติ น้ำไม่เน่าเสีย คุณภาพน้ำดีขึ้น สิ่งมีชีวิตสามารถเจริญเติบโตได้ดี เห็นผลไว และประหยัดพลังงานกว่าระบบเดิมถึง 10 เท่า

จุดเด่นของผลิตภัณฑ์
•   เห็นผลไวกว่าระบบเติมอากาศแบบเดิม
•   สามารถเพิ่ม Option ติด Sensor วัดคุณภาพน้ำแบบ Real Time
•   ประหยัดพลังงานกว่าระบบเดิม 10 เท่า
•   ลดค่าไฟได้ถึง 1 ล้านบาท/ปี

ประโยชน์ของผลิตภัณฑ์
•   เพิ่มออกซิเจนในน้ำ ทำให้เกิดการบำบัดน้ำแบบเติมอากาศ
•   นำน้ำในบ่อมาสัมผัสกับอากาศ ทำให้ไล่สารระเหยง่ายถูกพัดออก คุณภาพน้ำดีขึ้น
•   ใช้วิธีการเติมอากาศจากใต้น้ำ ทำให้ออกซิเจนทั่วถึงทั้งบ่อ ไม่เกิด Death Zone บริเวณใต้น้ำ
•   สิ่งมีชีวิตในน้ำเติบโตดีขึ้นเนื่องจากได้รับออกซิเจนที่เพียงพอ

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2

ชื่อโครงการ          ระบบดูแลพืชอัตโนมัติ ชาวไร่ (Chao-Raii)
ชื่อสมาชิกในทีม         นายธนพล ทะปาละ    นายวาสุเทพ ศรีโคกกรวด
นายรฐพงศ์ รักษาสุข   นายเจตนัตว์ นภาวรรณ
นายติณห์ สิทธิยศ
ประเภทการแข่งขัน      กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ   

รายละเอียดผลิตภัณฑ์
ธุรกิจของเรามุ่งเน้นที่จะผลิตระบบดูแลพืชอัตโนมัติ โดยอาศัยความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี การวางระบบ และการออกแบบผลิตภัณฑ์เข้ามาผสมผสาน นอกจากนี้ยังมีความโดดเด่นเรื่องความง่ายในการใช้งาน ผู้ใช้สามารถติดตั้งด้วยตนเองอย่างง่ายดาย ในรูปแบบ Plug & Play และการใช้งานระบบที่สอดคล้องกับระบบการใช้เดิมของผู้ใช้งาน รวมไปถึงมีการนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อสร้างโอกาสในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของเกษตรให้ดียิ่งขึ้น   

จุดเด่นของผลิตภัณฑ์
•   Modular รองรับการปรับเปลี่ยนเพิ่ม-ลดกล่องควบคุมได้ตามต้องความเหมาะสม สามารถเพิ่มได้สูงสุด 200 กล่อง
•   Customize ปรับแต่งให้รองรับกิจกรรมการเกษตรได้หลากหลาย
•   Management System มีระบบบริหารจัดการฟาร์มให้ผู้ใช้งานวางแผนการปลูกพืชได้
•   Plug & Play ติดตั้งได้ด้วยตัวเอง

ประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ 
•   ใช้งานง่าย โดยผ่าน Application บน Smartphone ซึ่งผู้ใช้จะสามารถเลือกเมนูการตั้งค่าต่างๆได้ตามความเหมาะสม
•   งบประมาณที่ใช้ในการลงทุนต่ำ เนื่องจากพัฒนาจากระบบ open-source ทำให้ Hardware มีราคาถูกกว่าอุปกรณ์ที่มีในปัจจุบัน
•   ลดทรัพยากรแรงงานในการทำงาน เป็นการนำความรู้ด้านเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้บริหารจัดการ สร้างงาน สร้างรายได้  ก้าวสู่ Thailand 4.0
•   ระบบดูแลพืชอัตโนมัติรองรับการขยายตัวในอนาคตได้ ถ้าผู้ใช้ต้องการเพิ่มกล่องควบคุมอุปกรณ์ก็สามารถนำมาติดตั้งและใช้งานได้เลย

รางวัลที่เคยได้รับ
   ทุนพัฒนาจากการประกวด Startup Thailand League 2017