MSN on September 29, 2017, 07:33:34 AM
ทีเส็บเผยแคมเปญสื่อสารการตลาดธุรกิจไมซ์ปีหน้าตอกย้ำ 3 เสน่ห์ไทย “จุดหมายปลายทาง-ธุรกิจ-บุคลากร”รองรับกิจกรรมแบบ Bleisure ระดับภูมิภาค

27 กันยายน 2560 กรุงเทพฯ: สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ หรือ ทีเส็บ เปิดตัวแคมเปญสื่อสารการตลาดธุรกิจไมซ์ประเทศไทยปี 2561 “THAILAND CONNECT Your Vibrant Journey to Business Success, decoded with chapters of possibilities” ต่อยอดความสำเร็จจากแคมเปญปีที่ผ่านมา ในการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางเพื่อธุรกิจและการพักผ่อนของภูมิภาค เดินหน้าชู 3 จุดขาย “จุดหมายปลายทางระดับโลก โอกาสทางธุรกิจ และบุคลากรมืออาชีพ” ให้โดดเด่นและแข็งแกร่งขึ้น ตั้งเป้าดึงนักเดินทางกลุ่มไมซ์ทั่วโลก 1,192,000 คน สร้างรายได้ 112,000 ล้านบาท


นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการสายงานกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ ทีเส็บ เปิดเผยว่า “ทีเส็บ ได้พัฒนากลยุทธ์การดำเนินงานให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาประเทศในภาพรวม มุ่งหวังให้กิจกรรมไมซ์เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยการใช้กลยุทธ์สื่อสารการตลาดเพื่อสร้างจุดเด่นให้กับไมซ์ไทย เป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่ง และจากแคมเปญสื่อสารประเทศไทยในปี 2560 “THAILAND CONNECT Your Vibrant Journey to Business Success” ทีเส็บได้นำเสนอจุดเด่นของประเทศไทยใน 3 ด้าน ได้แก่ ความหลากหลายของสถานที่และจุดหมายในการจัดกิจกรรมไมซ์ (destination) โอกาสทางธุรกิจที่เปิดกว้าง (business) รวมถึงความมีเอกลักษณ์และความเป็นมืออาชีพของบุคลากรของไทย (People) ที่สามารถรองรับการจัดงานไมซ์ระดับโลก ซึ่งแคมเปญดังกล่าวได้เสริมสร้างภาพลักษณ์ของไทยในการเป็น Bleisure Destination (Business and Leisure) หรือ จุดหมายของการจัดงานที่ความโดดเด่นทั้งการทำธุรกิจและการพักผ่อนระดับภูมิภาคได้อย่างดี

ด้วยความสำเร็จของแคมเปญ THAILAND CONNECT Your Vibrant Journey to Business Success ทำให้ ปี 2561 ทีเส็บ จึงต่อยอดแคมเปญดังกล่าวให้ชัดเจน เพิ่มความเข้มข้นด้วยการดึงจุดขายของไทยที่มีความสอดคล้องกับนโยบายขับเคลื่อนไมซ์ของรัฐบาลตามไทยแลนด์ 4.0  โดยพัฒนาเป็น “THAILAND CONNECT Your Vibrant Journey To Business Success, decoded with chapters of possibilities” หรือ “ไทยแลนด์ คอนเน็กต์ สีสันของการเดินทางสู่ความสำเร็จทางธุรกิจ ถอดรหัสความสำเร็จด้วยพลังแห่งสีสันของโอกาสที่ไม่รู้จบ” เน้นทั้ง 3 เสาหลักของประเทศไทย ทั้งด้าน destination, business และ people” 

1.   ด้านมนต์เสน่ห์ของจุดหมายปลายทาง (Fascinating Destinations) นำเสนอการผสมผสานเอกลักษณ์อันโดดเด่นของพื้นที่จัดงานที่รองรับกิจกรรมแบบ Bleisure โดยมี 3 องค์ประกอบหลัก
 
•   ความพร้อมระดับมาตรฐานและหลากหลายของสถานที่จัดงานไมซ์ไทย ที่รองรับกิจกรรมแบบ Bleisure การันตีจากการจัดอันดับในฐานะจุดหมายปลายทางยอดนิยมระดับโลก อาทิ ไทยได้อันดับที่ 24 ของโลก รวมทั้งกรุงเทพฯ ภูเก็ต พัทยา และเชียงใหม่ ก็ติดอันดับต้น ในฐานะเมืองแห่งการประชุม โดยสมาคมส่งเสริมการจัดประชุมนานาชาติ (ICCA) ด้านการทำธุรกิจไทย ติดอันดับที่ 46 ในฐานะเมืองที่เหมาะสำหรับการทำธุรกิจ โดย World Bank ด้านท่องเที่ยวภูเก็ตติดอันดับที่ 25 ของโลกในฐานะเมืองที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวโดย Tripadvisor
•   การขยายตัวด้านโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการจัดงานไมซ์ อาทิ การขยายความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของสนามบินนานาชาติในประเทศไทย การยกระดับสนามบินอู่ตะเภาและท่าเรือแหลมฉบัง โครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูง โครงการพัฒนาโครงข่ายด้านคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐาน
•   การเติมสีสันแบบ Real Experience (การสัมผัสประสบการณ์แบบจริง) ด้วยกิจกรรมที่เน้นลงมือทำ และแปลกใหม่ตอกย้ำเอกลักษณ์แบบไทย อาทิ กิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) อย่าง การปลูกป่าทางไกล กิจกรรมทำอาหารสไตล์ไทย (Culinary) รวมถึงได้สัมผัสภูมิปัญญาด้านวัฒนธรรม ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจตลอดการจัดกิจกรรม

2. ด้านอำนาจทางธุรกิจ (Business Empowerment) นำเสนอความพร้อม ด้านปัจจัยพื้นฐานและความร่วมมือ เพื่อโอกาสการเติบโตอย่างก้าวกระโดดใน 3 องค์ประกอบหลัก
•   โอกาสการเติบโตของแพลทฟอร์มธุรกิจใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และภายใต้อุตสาหกรรมเป้าหมายต่างๆ ของภาครัฐ (New S Curve) รวมไปถึงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ อาทิ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี พื้นที่ยุทธศาสตร์การลงทุนในภูมิภาคอาเซียน
•   การใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการติดต่อและเชื่อมต่อทางธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการส่งเสริมการจัดงานแบบ SMART MICE ทั้งการพัฒนาแคมเปญส่งเสริมการตลาดออนไลน์ และการสร้างแพลทฟอร์มเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้จัดงานไมซ์ในไทย
•   จุดเด่นแบบ “ศูนย์กลางของพลังความร่วมมือ” ทั้ง ระหว่างประเทศ หรือ ในประเทศ ของภาครัฐและเอกชนที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้การจัดงานไมซ์เป็นไปอย่างคล่องตัว อาทิ ความร่วมมือระหว่างทีเส็บกับหน่วยงานไทยทีม / หน่วยงานด้านประชุมนานาชาติ อย่าง Professional Convention Management Association (PCMA) / International Congress and Convention Association เป็นต้น

3. ด้านบุคลากรที่เต็มเปี่ยมด้วยความมุ่งมั่น (Professional Passion) นำเสนอบุคลากรไมซ์ไทยที่มีทักษะในการทำงานระดับมาตรฐานนานาชาติใน 2 องค์ประกอบหลัก
•   ความพร้อมของบุคลากรรัฐและเอกชน ที่ประสานควรร่วมมือในการให้บริการที่เปี่ยมเสน่ห์ที่ได้มาตรฐานไมซ์ไทย อาทิ การต้อนรับด้วยบริการ MICE LANE / การจัดทำ Welcome Package ที่ช่วยให้การจัดงานในไทยสะดวกสบายยิ่งขึ้น
•   บุคลากรไมซ์คุณภาพที่พร้อมรองรับการให้บริการ การันตีด้วยมาตรฐานพัฒนาบุคลากรขององค์กรระดับนานาชาติ อาทิ Certified Exhibitions Management (CEM), Certified Meeting Professional (CMP)



ทั้งนี้ ทีเส็บได้ใช้โอกาสในการเป็นเจ้าภาพจัดงาน Incentive Travel & Conventions, Meetings Asia (IT&CM Asia) ครั้งที่ 25 และ งาน Corporate Travel World Asia-Pacific (CTW Asia-Pacific) ครั้งที่ 20 เปิดตัวแคมเปญสื่อสารการตลาดประจำปี 2561 ดังกล่าว สำหรับงาน IT&CMA นั้นเป็นงานเทรดโชว์ด้านไมซ์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดงานอย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 16 ระหว่างวันที่ 26-28 กันยายน 2560 ณ บางกอกคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ พร้อมกันนี้ยังได้รับสิทธิ์เป็นเจ้าภาพจัดงานอย่างต่อเนื่องจนถึงปี พ.ศ.2563 ด้วย และในปีนี้คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 2,900 คน จาก 50 ประเทศทั่วโลก

ทีเส็บได้นำเสนอความพร้อมและศักยภาพการจัดงานไมซ์ของประเทศไทยผ่านไทยแลนด์พาวิลเลียนที่บูธหมายเลข B1 ถือเป็นบูธนิทรรศการที่ใหญ่ที่สุด รวมผู้ประกอบการไมซ์กว่า 63 รายที่นำเสนอสินค้าและบริการทางด้านไมซ์ และเข้าร่วมเจรจาธุรกิจกับผู้ซื้อ นอกจากนี้ทีเส็บยังสนับสนุนพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ และงานเลี้ยงต้อนรับผู้เข้าร่วมงานทั้งหมดภายใต้แนวคิด “Still on my mind”ที่สื่อถึงความประทับใจที่ได้รับจากประเทศไทยที่ยังตราตรึงจึงทำให้กลับมาเยือนอีกครั้ง และยังสนับสนุนการจัดกิจกรรม Pre Tour ณ โรงแรมสวนสามพรานริเวอร์ไซด์ เพื่อให้ผู้ร่วมงานได้สัมผัสการจัดงานไมซ์แบบ Real Experience ที่เน้นศาสตร์การเกษตรของชาวไทย ผสานการทำกิจกรรมแบบการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล และ Post Tour ในสองเส้นทาง คือ จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดตรัง เพื่อนำเสนอสถานที่จัดงานและจังหวัดที่มีความพร้อมในการต้อนรับกลุ่มลูกค้ากลุ่มองค์กร (Corporate)

“จากแคมเปญสื่อสารการตลาดปีหน้านี้ ทีเส็บประมาณการว่าประเทศไทยจะมีโอกาสต้อนรับนักเดินทางกลุ่มไมซ์จากต่างประเทศทั้งสิ้น 1,192,000 คน สร้างรายได้ 112,000 ล้านบาท โดยมีงานไมซ์สำคัญ อาทิ งาน 2018 MDRT Experience and Global Conference ระหว่างวันที่ 1-8 กุมภาพันธ์, งาน Bangkok Entertainment Fest ระหว่างเดือนมีนาคม – มิถุนายน, งาน Sport Accord Convention 2018 ระหว่างวันที่ 15-20 เมษายน, งาน ASEAN Sustainable Energy Week 2018 ระหว่างวันที่ 6 - 9 มิถุนายน, งาน ProPak Asia 2018 ระหว่างวันที่ 13-16 มิถุนายน, งาน 45th International Council for Traditional Music (ICTM2019) ระหว่างวันที่ 7-14 กรกฎาคม, งาน APACRS 2018 (31st Congress of Asia-Pacific Association of Cataract & Refractive Surgeon) ระหว่างวันที่ 19-21 กรกฎาคม, งาน Beyond Beauty Asean Bangkok 2018 ระหว่างวันที่ 20-22 กันยายน และงาน Metalex 2018 ระหว่างวันที่ 21 – 24 พฤศจิกายน เป็นต้น”  นางศุภวรรณ กล่าวโดยสรุป

เกี่ยวกับทีเส็บ
สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เป็นหน่วยงานภาครัฐชั้นนำที่มีบทบาทในการพัฒนาและเชื่อมโยงความสำเร็จของการจัดงานเชิงธุรกิจ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ภายใต้กระบวนทัศน์ผู้ขับเคลื่อนความสำเร็จ (Growth Driver) มุ่งเน้นสู่การเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่จุดประกายความคิดสร้างสรรค์ สร้างแรงบันดาลใจสู่การจัดงานเชิงธุรกิจครอบคลุมทุกความต้องการที่แตกต่าง สู่ความสำเร็จที่เป็นหนึ่งเดียว นอกจากนี้ ทีเส็บยังมุ่งเน้นการพัฒนาประสานเครือข่ายความร่วมมือ เปิดศักราชใหม่ในการต่อยอดและสร้างโอกาสทางธุรกิจ เพื่อวางรากฐานการเติบโตในระยะยาว อันจะนำไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน ตั้งแต่ระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก
« Last Edit: October 02, 2017, 05:15:28 PM by happy »

MSN on October 02, 2017, 08:03:17 AM
ข้อมูลประกอบ แคมเปญสื่อสารการตลาดธุรกิจไมซ์ประเทศไทยปี 2561 

THAILAND CONNECT YOUR VIBRANT JOURNEY TO BUSINESS SUCCESS, DECODED WITH CHAPTERS OF POSSIBILITIES “ไทยแลนด์ คอนเน็กต์ สีสันของการเดินทางสู่ความสำเร็จทางธุรกิจ ถอดรหัสความสำเร็จด้วยพลังแห่งสีสันของโอกาสที่ไม่รู้จบ”

ในปี 2560 ทีเส็บได้นำเสนอแคมเปญสื่อสารการตลาดประเทศไทย “THAILAND CONNECT Your Vibrant Journey to Business Success” โดยชูจุดเด่นของประเทศไทยใน 3 ด้าน ได้แก่ ความหลากหลายของสถานที่และจุดหมายในการจัดกิจกรรมไมซ์ (destination) โอกาสทางธุรกิจที่เปิดกว้าง (business) รวมถึงความมีเอกลักษณ์และความเป็นมืออาชีพของบุคลากรของไทย (People) ที่สามารถรองรับการจัดงานไมซ์ระดับโลก ซึ่งแคมเปญดังกล่าวได้เสริมสร้างภาพลักษณ์ของไทยในการเป็น Bleisure Destination (Business and Leisure) หรือ จุดหมายของการจัดงานที่ความโดดเด่นทั้งการทำธุรกิจและการพักผ่อนระดับภูมิภาคได้อย่างดี

ในปี 2561 เส็บ จึงต่อยอดแคมเปญดังกล่าวให้ชัดเจน  เพิ่มความเข้มข้นด้วยการดึงจุดขายของไทยที่มีความสอดคล้องกับนโยบายขับเคลื่อนไมซ์ของรัฐบาลตามไทยแลนด์ 4.0  โดยพัฒนาเป็น “THAILAND CONNECT Your Vibrant Journey To Business Success, decoded with chapters of possibilities”

โดยยังคงเน้นที่ 3 เสาหลักอันเป็นเสน่ห์ของประเทศไทย ซึ่งเป็นการผสมผสานกันอย่างสมบูรณ์แบบ สู่ความสำเร็จเต็มเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ 
•   มนต์เสน่ห์ของจุดหมายปลายทาง (Fascinating Destinations)
•   อำนาจทางธุรกิจ (Business Empowerment)
•   บุคลากรที่เต็มเปี่ยมด้วยความมุ่งมั่น (Professional Passion)

1. ด้านมนต์เสน่ห์ของจุดหมายปลายทาง (Fascinating Destinations) ร่วมสำรวจจุดหมายปลายทางที่มีสีสัน เต็มเปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจไม่รู้จบ
•   ความพร้อมระดับมาตรฐานและหลากหลายของสถานที่จัดงานไมซ์ไทย ที่รองรับกิจกรรมแบบ Bleisure การันตีจากการจัดอันดับในฐานะจุดหมายปลายทางยอดนิยมระดับโลก
   ระหว่างปี 2016-2026 ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 10 ประเทศที่มีการเติบโตรวดเร็วที่สุดด้านตัวเลขค่าใช้จ่ายจากการเดินทางเพื่อผักผ่อน  (ที่มา: The Travel & Tourism Competitiveness Report 2017, World Economic Forum)
   จากการจัดอันดับของ ICCA ASEAN Rankings 2016 ไทยติดอันดับที่ 24 ของจุดหมายปลายทางยอดนิยมระดับโลกสำหรับการจัดประชุม (ขึ้นจากอันดับที่ 27)
   ความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ - ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่มีความสะดวกต่อการดำเนินธุรกิจ (อันดับที่ 46) ด้วยการลดปัญหาด้านระบบบัญชีให้สอดคล้องกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ที่มา: Doing Business 2017 database, Economy Profile, A World Bank Group Flagship Report)
   ในปี 2017 ประเทศไทยเป็น หนึ่ง ในสิบประเทศในเอเชียที่คนนิยมมาพักผ่อน โดยเชียงใหม่เป็นอันดับ 1 และกรุงเทพฯ เป็นอันดับ 8 (ที่มา:  Travel + Leisure magazine)
   จ.ภูเก็ตเป็นหนึ่งใน 25 จุดหมายปลายทางยอดนิยมของโลก (ที่มา: TripAdvisor) 
•   การขยายตัวด้านโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการจัดงานไมซ์ ทั้งทางอากาศ ทางทะเล และทางบก ทำให้การเดินทางเพื่อกิจกรรมทางธุรกิจในประเทศไทยมีความเพลิดเพลิน และหลากหลายมากยิ่งขึ้น
   เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางท่าอากาศยานแห่งภูมิภาค ท่าอากาศยานไทยได้วางแผนในการพัฒนาท่าอากาศยานทั้ง 39 แห่งของประเทศไทยเพื่อรองรับผู้โดยสารจากนานาประเทศทั่วโลกซึ่งจะเพิ่มขึ้นถึง 277 ล้านคนต่อปี ในอีก 10 ปีข้างหน้า
   แผนการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกภายในเขต Eastern Economic Corridor ได้แก่ แหลมฉบัง, ศรัทธาทิพย์ และมาบตาพุด ซึ่งจะเชื่อมต่อด้วยรถไฟรางคู่เพื่อการขนส่งสินค้าที่ไร้ขีดจำกัดยิ่งขึ้น
   เมกะโปรเจ็คท์ในปี 2560 อย่างโครงการรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูงนั้น เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้ประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางของการขนส่งในภูมิภาค และใช้รถไฟเพื่อเชื่อมต่อระบบการคมนาคมต่างๆ
   โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ซึ่งเป็นแผนการพัฒนาในอนาคต เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศไทยในการเชื่อมต่อทางเศรษฐกิจแบบคลัสเตอร์ 
•   โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ - จ.ระยอง – งบลงทุน 4,471 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ
•   โครงการท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง – งบลงทุน 1,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ
•   สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา เพื่อรองรับผู้โดยสาร 3 ล้านคนต่อปี
•   โครงการรถไฟรางคู่ (ท่าเรือมาบตาพุด) – งบลงทุน 1,822 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ
•   การพัฒนาทางด่วนมอเตอร์เวย์สู่ท่าเรือมาบตาพุด – งบลงทุน 580 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ
•   การขยายนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด – งบลงทุน 290 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ
•   การเติมสีสันให้การเดินทางเพื่อธุรกิจจากเสน่ห์ของความหลากหลาย ด้วยการลงทุนพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก มาตรฐานของสถานที่จัดงาน รวมไปถึงความเชี่ยวชาญด้านอาหารและการจัดเลี้ยง ทำให้งานกิจกรรมเชิงธุรกิจที่จัดขึ้นในประเทศไทย เป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำ
   สถานที่จัดงานที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต
•   กรุงเทพฯ – ICON Siam
•   ขอนแก่น – ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติขอนแก่น (KICE) ซึ่งจะสร้างเสร็จในปี 2560 และเปิดให้บริการได้ในปี 2561 ด้วยพื้นที่กว่า 26 ไร่ ประมาณ 41,600 ตารางเมตร สามารถรองรับได้ 8,000 คน ที่จอดรถ 500 คัน และอยู่ห่างจากสนามบินเพียง 12 กิโลเมตร
   มาตรฐานสถานที่จัดงาน
•   ทีเส็บได้พัฒนามาตรฐานสถานที่จัดงาน Thailand MICE Venue Standard (TMVS)  ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และปัจจุบันถูกนำไปใช้เพื่อกำหนดมาตรฐานสถานที่จัดงานในภูมิภาคอาเซียน ยิ่งไปกว่านั้น TMVS ได้ใช้การประเมินคุณภาพตามมาตรฐาน ISO ซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่มีตัวชี้วัดและมาตรฐานซึ่งได้รับการยอมรับในระดับสากล (ที่มา: Thailand MICE Venue Standard book by MICE Capabilities Development Department)
   THAI CULINARY
•   ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศที่มีความเป็นเลิศด้านอาหาร (ที่มา: Best Countries Rankings, US News, https://www.usnews.com/news/best-countries/articles/2016-04-15/the-10-countries-with-the-best-food-ranked-by-perception)

2. ด้านอำนาจทางธุรกิจ (Business Empowerment) เพราะประเทศไทยมีความพร้อมในด้านปัจจัยพื้นฐาน และมีการนำเสนอความร่วมมือเพื่อสร้างโอกาสที่เติบโตแบบก้าวกระโดดในระดับนานาชาติต่างๆ มากมาย
•   แพลตฟอร์มอันล้ำสมัยสำหรับการทำธุรกิจ ภายใต้การดำเนินตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของภาครัฐ และสร้างแพลตฟอร์มที่ยั่งยืนสำหรับกลยุทธ์ด้าน SMART MICE ของทีเส็บ
   นโยบายไทยแลนด์ 4.0 – การเปลี่ยนผ่านของประเทศไทยในศตวรรษที่ 21 เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”
   โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ให้เป็นพื้นที่เชิงกลยุทธ์ การเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และองค์ประกอบโดยรอบที่เพียบพร้อมทุกด้าน
   กลยุทธ์ SMART MICE ซึ่งถูกพัฒนาเพื่อยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกิจกรรมไมซ์ ที่นำเอาเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์มาใช้ในการจัดงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยในการเป็นจุดหมายปลายทางไมซ์ที่เหนือระดับยิ่งขึ้น ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม
•   การใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการติดต่อและเชื่อมต่อทางธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ โดยการที่รัฐบาลไทยเดินหน้าสู่การใช้ระบบดิจิตอลอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยมีความน่าสนใจในฐานะการเป็นจุดหมายปลายทางของไมซ์  ที่สามารถนำเสนอประสบการณ์ระดับเฟิร์สคลาสให้กับผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมเชิงธุรกิจ
   แผนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล 2560 – 2564 - ยกระดับสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลที่มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน มีการทำงานแบบอัจฉริยะ ให้บริการโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ภายใน 5 ปี โดยรัฐบาลมีเป้าหมายในการพัฒนาขีดความสามารถด้านดิจิทัลในทุกภาคส่วน ได้แก่ การเกษตร การท่องเที่ยว ด้านการแพทย์ การลงทุน การป้องกันภัยพิบัติ และการบริหารงานสาธารณะเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมให้ก้าวหน้า และเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวเทคโนโลยีดิจิทัลจำเป็นต้องควบรวมเข้ากับบริการสาธารณะที่อยู่บนพื้นฐานสำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ การบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลและการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน (Government Integration) การนำเทคโนโลยีและอุปกรณ์ดิจิทัลมาสนับสนุนการปฏิบัติงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสม (Smart Operations) ประหยัด และคุ้มค่า การยกระดับงานบริการภาครัฐให้ตรงกับความต้องการของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา(Citizen-centric Services) และการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสู่รัฐบาลดิจิทัลในทุกระดับของบุคลากรภาครัฐ ซึ่งรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงองค์กรในขั้นตอนการทำงาน เทคโนโลยี และกฎระเบียบ (Driven Transformation)
   STAY CONNECTED, WITH DIGITAL MICE หรือ แคมเปญออนไลน์ต่างๆ ของทีเส็บ ไม่ว่าจะเป็น SPICE UP, แอพพลิเคชั่น Biz Thailand ทางสมาร์ทโฟน และเวบไซต์  www.businesseventsthailand.com
•   ศูนย์กลางของพลังความร่วมมือ
        ความร่วมมือระหว่างประเทศ และในประเทศ สำหรับกิจกรรมเชิงธุรกิจนั้น จะช่วยตอกย้ำบทบาทของประเทศไทยในการเป็นจุดหมายปลายทางแห่ง MICE ในภูมิภาคเอเชีย อาทิ ความร่วมมือระหว่าง ทีเส็บ และองค์กรไมซ์ระดับนานาชาติอย่าง Professional Convention Management Association (PCMA) และ International Congress and Convention Association, ความร่วมมือของทีเส็บและไมซ์ซิตี้อย่างภูเก็ต และความร่วมมือระหว่างทีเส็บกับ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อดำเนินการ MICE  LANE เป็นต้น

3.   บุคลากรที่เต็มเปี่ยมด้วยความมุ่งมั่น (Professional Passion) โดยบุคลากรไมซ์ไทยนั้นมีทักษะในการทำงานระดับมาตรฐานนานาชาติใน 2 องค์ประกอบหลัก 
•   ความพร้อมของบุคลากรรัฐและเอกชน ที่ประสานควรร่วมมือในการให้บริการที่เปี่ยมเสน่ห์ที่ได้มาตรฐานไมซ์ไทย นับตั้งแต่การต้อนรับที่เป็นมิตรด้วยบริการ MICE LANCE ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และการจัดทำ Welcome Package เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกเมื่อต้องจัดกิจกรรมไมซ์ในประเทศไทย โดยในแพคเกจนั้นประกอบไปด้วย ภาษาไทยที่จำเป็น แผนที่สถานที่จัดงานสำคัญต่างๆ บัตรโดยสารรถไฟฟ้า แฮนดี้ไดรว์ และข้อเสนอพิเศษต่างๆ จากพันธมิตรของแพคเกจนั้นๆ 
•   ทักษะในระดับสูงและมีประสิทธิภาพ ซึ่งการันตีด้วยมาตรฐานพัฒนาบุคลากรขององค์กรระดับนานาชาติ โดยทีเส็บตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาบุคคลากรและผู้เชี่ยวชาญด้านไมซ์ผ่านโครงการอบรมทางวิชาการและมาตรฐานสากล อาทิ Trade Education, MICE Academy, MICE Standards and MICE Sustainability
 
« Last Edit: October 02, 2017, 08:04:55 AM by MSN »

MSN on October 02, 2017, 08:05:30 AM
ข้อมูลงาน งาน IT&CMA ครั้งที่ 25 และ CTW Asia-Pacific ครั้งที่ 20 (Year2017)

งาน Incentive Travel & Conventions, Meetings Asia (IT&CMA) ครั้งที่ 25 และ งาน Corporate Travel World Asia-Pacific (CTW Asia-Pacific) ครั้งที่ 20 เป็นสุดยอดงานเทรดโชว์ด้านการจัดประชุมและท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดงานอย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 16 สำหรับปีนี้กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 กันยายน 2560 ณ บางกอกคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์, เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. ,บริษัท ทีทีจี เอเชีย มีเดีย จำกัด, และหน่วยงานไทยทีม ได้แก่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) หรือ ทิก้า บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กรุงเทพมหานคร บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสมาคมโรงแรมไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นเวทีและศูนย์รวมให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไมซ์จากทั่วโลกได้มาพบปะสังสรรค์กันในเอเชีย สำหรับแลกเปลี่ยน เรียนรู้นวัตกรรมต่างๆ ของอุตสาหกรรมไมซ์ สร้างเครือข่ายและที่สำคัญคือเป็นเวทีเจรจาธุรกิจระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายจากอุตสาหกรรมไมซ์ทั่วโลกโดยตรง

ความเป็นมาของงาน

งาน IT&CMA เริ่มจัดขึ้นครั้งแรกที่ฮ่องกงในปี พ.ศ. 2536 จนถึงปี พ.ศ. 2539 ต่อมาได้เปลี่ยนไปจัดที่ประเทศมาเล-เชียในระหว่างปี พ.ศ. 2540 – พ.ศ. 2544 และมาจัดในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 จนถึงปัจจุบัน สำหรับปี 2560 นี้ จะเป็นการครบรอบปีที่ 16 ที่มีการจัดงานในประเทศไทย โดยประเทศไทยยังได้รับสิทธิ์การจัดงาน IT&CMA ต่อเนื่องจนถึงปี พ.ศ. 2563

วัตถุประสงค์
1. เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสทางการตลาดและทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทยในการนำเสนอสินค้าและบริการใหม่ๆ ให้แก่กลุ่มผู้ซื้อ
2. เพื่อเป็นการส่งเสริมการขายให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไมซ์ในการนำเสนอศักยภาพความพร้อม รวมถึงสินค้าและบริการใหม่ๆ สำหรับการจัดประชุม สัมมนา และการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลที่มีความโดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของประเทศไทยให้แก่ผู้เดินทางธุรกิจ ผู้วางแผนและผู้จัดการประชุมที่มีศักยภาพจากนานาประเทศ
3. เพื่อให้เกิดการเข้าถึงกลุ่มผู้ซื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นจากการนัดหมายและพบปะโดยตรงระหว่างผู้ประกอบการและกลุ่มผู้ซื้อ

สถิติผู้เข้าร่วมงาน ปีพ.ศ. 2549-2559
ปี   จำนวนผู้เข้าร่วมงาน (ราย)
2549   1,311
2550   1,872
2551   2,062
2552   2,190
2553   2,340
2554    2,457
2555   2,579
2556   2,657
2557   2,524
2558   2,701
2559   2,604

สถิติผู้เข้าร่วมงาน IT&CMA ครั้งที่ 25 และ CTW Asia-Pacific ครั้งที่ 20 ในปี 2560 นี้ คาดการณ์จำนวนผู้เข้าร่วมทั้งหมดประมาณ 2,900 คน จาก 50 ประเทศทั่วโลก ประกอบด้วย ผู้ร่วมแสดงสินค้าและนิทรรศการ (Exhibitors) จำนวนประมาณกว่า 290 องค์กร ประมาณกว่า 900 ราย และผู้ซื้อ (Buyers) จำนวนประมาณกว่า 500 ราย จาก 50 ประเทศทั่วโลก และสื่อมวลชนจากในประเทศและต่างประเทศ จำนวนประมาณกว่า 170 ราย จาก 25 ประเทศทั่วโลก รวมถึงผู้สนใจในอุตสาหกรรมไมซ์ที่เข้าเยี่ยมชมงานศึกษางาน เช่น คณะอาจารย์และนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาของประเทศไทย เป็นต้น

การจัดงาน IT&CMA and CTW Asia-Pacific 2017 มีพื้นที่จัดแสดงสินค้าและนิทรรศการคาดว่าจะมีพื้นที่รวมกว่า 6,000 ตารางเมตรโดยมีผู้ประกอบการไมซ์ที่เข้าร่วมแสดงสินค้าและบริการจากประเทศต่างๆ อาทิ  Country/City Pavilion ได้แก่ Dubai Business Events, Taipei City Government, Malaysia Convention & Exhibition Bureau, Taiwan Convention & Exhibition Association, Ministry of Tourism, Republic of Indonesia, Tourism Promotion Board Philippines, Macao Trade and Investment Promotion Institute, Korea Tourism Organisation, Fukuoka Convention & Exhibitor Bureau เป็นต้น และมีรายใหม่ได้แก่  Perth Convention and Exhibition Bureau, Gyeonggi Tourism Organization, Osaka Convention Tourism Bureau, TAITRA (Kaohsiung Office)

รวมถึงคูหานิทรรศการที่เป็นด้านการให้บริการทั้งในและต่างประเทศ เช่น ธุรกิจสายการบิน ธุรกิจการเดินเรือ และเครือโรงแรมต่างๆ  รายใหม่ ได้แก่ Silversea Cruises, Bangkok Marriott Marquis Queen’s Park, Show DC, Pullman Putrajaya Lakeside, Pan Pacific Hotels Group, Dream Cruises, Frasers Hospitality ทีเส็บได้มีการลงนามในข้อตกลงการสนับสนุนการจัดงาน IT&CMA and CTW Asia-Pacific ในประเทศไทย ต่อไปอีก 3 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2561-2563

ภารกิจของ ทีเส็บ ในฐานะเจ้าภาพ
ในฐานะประเทศเจ้าภาพ ทีเส็บ มีภารกิจหลักที่ต้องดำเนินการ ดังนี้
1. เป็นแกนนำในการจัดงาน นำเสนอภาพลักษณ์ของประเทศไทยในอุตสาหกรรมไมซ์ แสดงศักยภาพและความพร้อมในการรองรับการจัดกิจกรรม MICE รวมถึงความหลากหลายของสินค้าและบริการ สำหรับการประชุมและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลของประเทศไทยในภาพรวม
2. จัดทำคูหานิทรรศการประเทศไทย (Thailand Pavilion) เพื่อผู้ประกอบการไมซ์ไทยจำนวน 63 ราย เข้าร่วมเจรจาธุรกิจกับผู้ซื้อ โดยมีธุรกิจด้านการโรงแรมระดับชั้นนำของประเทศไทยและของโลก ธุรกิจบริการด้านการประชุมและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล ศูนย์ประชุม เป็นต้น พื้นที่ในการจัดทำคูหาประมาณ 375 ตารางเมตร
3. จัดพิธีเปิดอย่างเป็นทางการและงานเลี้ยงต้อนรับผู้เข้าร่วมงานทั้งหมด (Opening Ceremony & Welcome Reception) ภายใต้แนวคิด “Still on my mind” ในวันที่ 26 กันยายน 2560 ณ ห้องนภาลัย บอลลรูม โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ เพื่อเป็นการแสดงศักยภาพในการจัดงานไมซ์ของประเทศไทยให้กับกลุ่มผู้ซื้อต่างประเทศ
4. สนับสนุนการเดินทาง ที่พัก การจัดกิจกรรม Pre Tour และ Post Tour

วันที่ 25 กันยายน 2560 ณ โรงแรมสวนสามพรานริเวอร์ไซด์ มุ่งเน้นศาสตร์การเกษตรของชาวไทย เรียนรู้วิถีชีวิตชาวสวนผสมผสานการทำกิจกรรมแบบการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล และโครงการ Farm to Functions ที่ทีเส็บสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไมซ์ไทยได้จัดซื้อผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์โดยตรงจากเกษตรกร ส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไมซ์ไทย เพื่อให้เกษตรกรหรือชุมชนมีรายได้
วันที่ 29 กันยายน –1 ตุลาคม 2560 ในสองเส้นทาง คือ จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดตรัง เพื่อนำเสนอสถานที่การจัดงานและจังหวัดที่มีความพร้อมในการต้อนรับนักเดินทางกลุ่มไมซ์ในกลุ่มลูกค้ากลุ่มองค์กร (Corporate)

ข้อมูลงานครบรอบ 25 ปี ของการจัดงาน IT&CMA
•   ในปีนี้ งาน IT&CMA and CTW Asia-Pacific ฉลองครบรอบการจัดงานเป็นปีที่ 25 และ ปีที่ 20 ตามลำดับ  โดยในการนับถอยหลังสู่การจัดงาน ทางผู้จัดฯ ได้เตรียมกิจกรรมที่ถือเป็นเซอร์ไพรส์สำหรับการฉลองวาระครบรอบของทั้งสองงานดังกล่าว  ทั้งนี้ ได้เชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมงาน ร่วมเขียนข้อความอวยพร  รวมถึงข้อความเกี่ยวกับความสำเร็จของอุตสาหกรรม หรือความทรงจำเกี่ยวกับงาน  IT&CMA และ CTW Asia-Pacific ลงบนกำแพงภาพที่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษที่จะจัดแสดงอยู่บริเวณด้านนอกของห้องจัดงาน โดยเป็นการบอกเล่าเหตุการณ์สำคัญและเรื่องราวความสำเร็จนับจากอดีต สู่ปัจจุบัน พร้อมวิสัยทัศน์แห่งการก้าวสู่อนาคต สำหรับทางผู้ร่วมออกบูทในงาน ยังได้เตรียมจัดกิจกรรมพิเศษต่างๆ อาทิ กิจกรรมการทำงานฝีมือด้วยตัวเองแบบดีไอวาย (DIY) การแสดงต่างๆ การจับฉลาก การชิมอาหารพื้นบ้าน ซึ่งจะช่วยสร้างบรรยากาศภายในงานให้คึกคักด้วย
•   นอกจากนี้ ทางผู้จัดฯ ยังจะเปิดตัววิดีโอชุดพิเศษ เพื่อฉลองวาระการครบรอบในปีนี้ โดยนำเสนอการย้อนเวลากลับไปตั้งแต่ยุคที่เริ่มการจัดงาน เรื่องราวเหตุการณ์สำคัญที่ผ่านมา ตลอดจนช่วงเวลาแห่งความทรงจำอันดี นับตั้งแต่งาน IT&CMA ได้รับการจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2536 และ งาน CTW Asia-Pacific ที่จัดขึ้นเมื่อปี 2541
« Last Edit: October 02, 2017, 08:07:01 AM by MSN »