MSN on September 28, 2017, 03:17:12 PM
บทความประชาสัมพันธ์ จากเจนเนอราลี่ ไทยแลนด์

เคล็ดลับปรับพฤติกรรม เลี่ยงความดันโลหิตสูง




เห็นข่าวที่แชร์ทางโซเชียลมีเดียอยู่บ่อยครั้งเกี่ยวกับ เรื่องโรคความดันโลหิตสูงที่เหมือนจะไม่น่ากลัวแต่เป็นภัยเงียบซึ่งร้ายแรงไม่น้อย เพราะคนจำนวนมากมักจะไม่รู้ว่าตัวเองมีอาการความดันโลหิตสูงแฝงอยู่ในร่างกาย เพราะหากยังไม่เป็นหนักถึงขั้นทำให้เกิดอาการต่อเนื่องอื่น ๆ หรือโรคแทรกซ้อน ความดันโลหิตสูงมักจะซ่อนตัวอยู่อย่างเงียบเชียบโดยไม่แสดงอาการให้ทราบ นอกจากต้องเข้ารับการตรวจโดยแพทย์เท่านั้นถึงจะรู้

นายแพทย์ไพบูลย์ อัศวเลิศแสง อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคความดันโลหิตสูง อธิบายให้ฟังว่า ความดันโลหิตสูง หรือ Hypertension หรือ High Blood Pressure เป็นภาวะที่ความดันเลือดภายในหลอดเลือดแดงสูงกว่าปกติ อันสามารถก่อให้เกิดอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาได้ หากไม่ได้รับการรักษาซึ่งจากสถิติพบว่า สถานการณ์ของโรคความดันโลหิตสูงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นทุกปี โดยข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า จำนวนผู้ป่วยและอัตราการเสียชีวิตจากโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากในปี 2550 พบอัตราผู้ป่วยต่อประชากรแสนคนที่เข้ารับการรักษาด้วยโรคความดันโลหิตสูง 1,025.44 คน เพิ่มขึ้นเป็น 1,561.42 คนในปี 2557 และมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้ต่อประชากรแสนคน จาก 3.64 ราย ในปี 2550 เพิ่มขึ้นเป็น 10.95 รายในปี 2557 ดังนั้น ความดันโลหิตสูงจึงน่ากลัวไม่น้อย

หากกล่าวตามจริงแล้ว โรคความดันโลหิตสูงไม่มีอาการบ่งชี้ภายนอก หรือพูดง่าย ๆ คือไม่ค่อยแสดงอาการให้เห็น   ยกเว้นผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ในระยะรุนแรงจนเส้นเลือดตีบหรือแตก อาจจะปวดศีรษะอย่างรุนแรง หายใจสั้น เลือดกำเดาไหล แต่อาการเหล่านี้ก็ไม่สามารถฟันธงได้ว่าเกิดจากโรคความดันโลหิตสูง จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์เท่านั้นจึงจะสามารถบอกได้ว่าคุณเป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือไม่

ส่วนสาเหตุของโรคแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุของโรคชัดเจน ซึ่งมักจะเกิดกับกลุ่มคนที่มีญาติพี่น้องเป็นโรคนี้มาก่อน และกลุ่มวัยกลางคนขึ้นไป ซึ่งตามสถิติแล้วผู้ชายเป็นเยอะกว่าผู้หญิง และชนิดที่ทราบสาเหตุโดยอาจจะเกิดจากการตั้งครรภ์ การกินยาบางชนิด การได้รับฮอร์โมนบางชนิด ผู้ที่เป็นโรคไต ผู้ที่เป็นเนื้องอกที่ต่อมหมวกไต ฯลฯ ซึ่งในรายที่เกิดด้วยสาเหตุเหล่านี้ อาการความดันโลหิตสูงจะหายไปเอง เมื่อได้รับการรักษาโรคต้นเหตุให้หาย หรือหยุดการกินยาและฮอร์โมนดังกล่าว
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่อาจจะกระตุ้นให้เกิดอาการความดันโลหิตสูงได้ เช่น ความเครียด อารมณ์ที่แกว่งและเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว เช่น ตกใจมาก ๆ ดีใจมาก ๆ โกรธมาก ๆ หรือหากต้องใช้แรงหนัก ๆ ก็ทำให้ความดันขึ้นได้ รวมไปถึงการกินอาหารรสจัด โดยเฉพาะรสเค็ม ดื่มแอลกอฮอล์ และน้ำหนักตัวที่เพิ่มสูงขึ้น

ความน่ากลัวของโรคนี้คือ เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดอาการและโรคต่าง ๆ เช่น เส้นเลือดตีบ แข็ง แตก ทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจ เพราะเมื่อมีอาการความดันโลหิตสูงนาน ๆ หัวใจต้องทำงานหนักจนอาจเป็นโรคหัวใจโตได้นอกจากนี้ โรคไตเสื่อม ไตวาย ก็เป็นผลมาจากความดันได้เช่นกัน รวมถึงอาการที่เส้นเลือดตามแขนขาตีบ ขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง ทำให้เนื้อตายจนต้องตัดอวัยวะทิ้ง และความดันโลหิตสูงยังทำให้จอประสาทตาเสื่อมได้อีกด้วย

น่ากลัวขนาดนี้หากไม่อยากให้เกิดขึ้นกับตัวเอง ต้องรีบไปรับการตรวจวินิจฉัย โดยเฉพาะในกลุ่มวัยกลางคนเพราะอย่างที่บอก โรคความดันโลหิตสูงไม่แสดงอาการภายนอก อันตรายของโรคเกิดจากโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่เป็นผลกระทบจากความดันที่สูงขึ้น หากรู้เร็วก็จะสามารถป้องกันโรคแทรกซ้อนเหล่านั้นได้เร็ว และโรคความดันโลหิตสูงเป็นแล้วเป็นเลย รักษาไม่หาย ต้องกินยาคุมอาการไปเรื่อย ๆ เพื่อไม่ให้มีโรคแทรกซ้อนตามมา

ทั้งนี้ต้องควบคู่ไปกับการดูแลตัวเองด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ลดของเค็ม งดแอลกอฮอล์ พยายามอย่าเครียด ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เกินมาตรฐาน และรับการตรวจวัดค่าระดับความดันโลหิตเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ซึ่งหากสร้างวินัยตรงนี้ได้ก็จะช่วยควบคุมอาการความดันโลหิตสูงได้อย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น

ที่มา: บริษัท เจนเนอราลี่ ไทยแลนด์ และ โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน