news on September 15, 2017, 08:04:27 AM
“วิทย์-อุตฯ-ดีอี” 3 กระทรวง เฟ้น “นวัตกรรมสำหรับบ้านผู้สูงวัย” ทีม Space Walker คว้าแชมป์ “ITCi Award 2017” ตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุ
รางวัลชนะเลิศ ขึ้นรับรางวัล
รางวัลที่สอง ขึ้นรับรางวัล
รางวัลที่สาม ขึ้นรับรางวัลทีม “Space Walker” คว้าแชมป์ ITCi Award 2017 ไอเดียออกแบบ “นวัตกรรมสำหรับบ้านผู้สูงอายุ” ภายหลังจาก 3 กระทรวง “วิทย์-อุตฯ-ดีอี” ประกาศเฟ้นหาไอเดียเยาวชนไทย กระทั่งได้ 16 ทีมผลงานนำเสนอไอเดียที่เป็นไปได้จริง พร้อมได้สิทธิ์อบรมใช้เครื่องจักรแบบครบวงจร ที่ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต หรือ ITC ตลอด 1 เดือนเต็ม เหล่าเยาวชนสามารถเปลี่ยนไอเดียสุดเจ๋ง เป็น นวัตกรรมสุดล้ำ ได้ไม่แพ้กัน คณะกรรมการตัดสินให้ “ทีม Space Walker” คว้าชัย นวัตกรรมตอบโจทย์สังคมผู้สูงวัย พร้อมสิทธิ์ดูงานประเทศญี่ปุ่นปลายกันยายนนี้
ผู้ชนะทั้ง 3อันดับ ถ่ายรูปกับคณะกรรมการและผู้จัดงาน
บรรยากาศงาน ITCi Award 2017
(วันที่ 15 กันยายน 2560) ที่ ชั้นแอลจี ศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน กรุงเทพฯ: กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ร่วมกับ สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน และสถาบันพลาสติก กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ Autodesk Thailand ร่วมแถลงข่าวและประกาศผลโครงการประกวด “ITCi Award 2017” ในหัวข้อ “นวัตกรรมสำหรับบ้านผู้สูงวัย” ภายใต้โจทย์อุปกรณ์ช่วยภายในบ้านเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระและสะดวกสบาย (Independent living) ชิงเงินรางวัลมูลค่ารวมกว่า 1,000,000 บาท พร้อมสิทธิพิเศษในการใช้พื้นที่ทำงานและเครื่องมือเครื่องจักรพร้อมใช้ครบครันที่มารวมตัวกันใน “ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (Industry Transformation Center, ITC)” แห่งใหม่ ย่านกล้วยน้ำไท ที่ก่อตั้งขึ้นโดย 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
นายพรชัย ตระกูลวรานนท์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เล็งเห็นความสำคัญเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่จะมาช่วยตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งในอนาคตอันใกล้ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่ต้องได้รับการดูแล ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. จึงได้ร่วมกับ สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน และสถาบันพลาสติก กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ Autodesk Thailand จัดโครงการประกวด “ITCi Award 2017” ในหัวข้อ “นวัตกรรมสำหรับบ้านผู้สูงวัย” เพื่อเปิดโอกาสเวทีส่งเสริมให้เยาวชน โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ ได้แสดงความรู้ความสามารถอย่างสร้างสรรค์ พร้อมทั้งแสดงศักยภาพในการผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้สูงวัย รวมทั้งเป็นการผลักดันให้เกิดการสร้างเครือข่ายและกิจกรรมภายในศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (ITC) เพื่อให้เป็น Co-Working Space โดยเฉพาะในส่วนของ ITC-innovate ที่รวบรวมเครื่องจักรอุปกรณ์สำหรับการผลิตชิ้นงานต้นแบบเชิงอุตสาหกรรมเพื่อให้บริการแก่ผู้ประกอบการและ กระตุ้นให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมผลักดันอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ผลักดันประเทศไทยให้เกิดโอกาสทางธุรกิจทั้งในประเทศและตลาดโลก ซึ่งกิจกรรมการประกวดครั้งนี้จะเป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อนำเสนอสู่ตลาดและทดสอบความต้องการของตลาดเบื้องต้นก่อน ทำให้ช่วยประหยัดเวลา ค่าแรง และต้นทุนการผลิต ตลอดจนได้ต้นแบบที่เหมาะสมกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภคที่เป็นผู้สูงอายุซึ่งเริ่มมีมากขึ้นในสังคมไทย
ดร.จุลเทพ ขจรไชยกุล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. กล่าวว่า สำหรับผู้ที่ผ่านเข้ารอบทั้ง 16 ทีมนี้ คณะกรรมการได้เปิดให้ส่งข้อเสนอโครงการและแนวคิดการทำนวัตกรรมในเบื้องต้น เพื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ ซึ่งทีมที่คณะกรรมการได้คัดเลือกมาแข่งขันล้วนแต่มีไอเดียที่แตกต่างและใช้นวัตกรรมที่มอบความสะดวกสบายให้แก่ผู้สูงวัยได้ใช้ในชีวิตประจำวัน ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด อาทิ เตียงอัจฉริยะสำหรับผู้ป่วยติดเตียงป้องกันแผลกดทับ หุ่นยนต์แบบเคลื่อนที่ได้สำหรับเป็นเพื่อนผู้สูงอายุ หรือเครื่องอาบน้ำอเนกประสงค์ เป็นต้น โดยทั้ง 16 ทีมนี้จะได้รับสิทธิพิเศษเข้าร่วมอบรมการใช้โปรแกรม ใช้พื้นที่ทำงานด้วยเครื่องมือเครื่องจักรที่ครบครันและสร้างผลงานต้นแบบโดยใช้เครื่อง 3D Printing ที่ “ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต” ( ITC: Industry Transformation Center ) ซึ่งเป็นศูนย์ที่เปิดให้ภาคอุตสาหกรรม กลุ่มเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ ที่มีความต้องการเปลี่ยนความคิดเป็นผลงานเชิงธุรกิจและต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์ เข้ามาใช้เครื่องมือที่ทันสมัยพร้อมทีมงานผู้เชี่ยวชาญที่จะให้คำปรึกษาให้ธุรกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของ 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
“ทั้งนี้คณะกรรมการได้คัดเลือกผลงานสร้างสรรค์ที่ส่งเข้ามาทั้งสิ้น 46 ทีม เหลือ 16 ทีม ซึ่งผลงานทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของผลงานที่ส่งเข้าร่วมโครงการ จะต้องเป็นผลงานที่จัดทำขึ้นใหม่ หรือไม่เคยผ่านการนำเสนอที่ใดมาก่อน รวมไปถึงจะต้องไม่มีการลอกเลียนแบบ หรือละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานอื่นใดเด็ดขาด ทั้งนี้ผลงานที่ส่งเข้าประกวดในโครงการถือเป็นสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาของเจ้าของผลงานที่ส่งเข้าประกวด” ดร.จุลเทพ กล่าว
รางวัลชนะเลิศ
ผู้อำนวยการ เอ็มเทค กล่าวว่า ทั้งนี้สำหรับทีมที่ชนะเลิศ โครงการประกวด “ITCi Award 2017” ได้แก่ ทีม“Space Walker” โดย นายวรัตถ์ สิทธิ์เหล่าถาวร, นายรมณ์ พานิชกุล และนายเมธาสิทธิ์ เกียรติ์ชัยภา” มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากผลงานนวัตกรรม “Space Walker” เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เดินด้วยตัวเองได้อย่างลำบาก หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง ช่วยในการฝึกเดินทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง โดยจะช่วยพยุงน้ำหนักของผู้สูงอายุ และช่วยในการเดิน และยังป้องกันการหกล้ม หากเกิดกรณีหกล้ม Space Walker จะป้องกันเข่าและศีรษะของผู้ใช้งานไม่ให้กระแทกพื้น ซึ่งออกแบบมาเพื่อให้ใช้งานง่ายสะดวกในการพกพา ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 200,000 บาท พร้อมโล่รางวัล เกียรติบัตร และได้รับสิทธิ์เดินทางไปทัศนศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น
ผลงาน ของรางวัลที่2
ส่วนทีมที่คว้ารางวัลที่ 2 ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 100,000 บาท พร้อมโล่รางวัล และเกียรติบัตร ได้แก่ ทีม “Stand by Me” โดย “นางสายรัก สอาดไพร, นายบารมี บุญมี” และ “นายชัยพัฒน์ ศรีขจรลาภ” มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากผลงานนวัตกรรม “Sit to Stand Trainer with Assessment of Balance Ability : An Apparatus for Rehabilitation and Exercise for Elderly at Home” เป็นเครื่องออกกำลังกายและกายภาพบำบัดสำหรับการฝึกลุกยืน โดยเครื่องมือจะช่วยประคองตัวในขณะลุกขึ้นยืนจากท่านั่ง ทั้งยังสามารถประเมินสมรรถภาพการทรงตัวของผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยได้ มีระบบการใช้งานถึง 3 โหมด ได้แก่ Exercise Mode ช่วยฝึกรยางค์ส่วนล่างของผู้ป่วยให้แข็งแรง, Games Mode ออกแบบเพื่อช่วยฝึกสมองของผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกสนุก ไม่น่าเบื่อในการฝึกออกกำลังกายและกายภาพบำบัด เช่น นั่ง ยืนขาเดียว และ Fall Screening Test Mode เป็นโปรแกรมเพื่อช่วยคัดกรองสมรรถภาพการทรงตัวของผู้สูงอายุ เพื่อเป็นการลดขั้นตอนในการพบแพทย์ ลดภาระการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในการคัดกรองผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการทรงตัว เครื่องมือนี้ออกแบบตามหลักวิศวกรรมการแพทย์ ถูกต้องตามหลักการยศาสตร์และชีวกลศาสตร์ โดยผู้ใช้งานสามารถปรับแรงช่วยได้หลายระดับ ตั้งแต่ 25-70% ของน้ำหนักตัว เก้าอี้เปลี่ยนได้ตามสรีระของผู้ใช้เหมาะกับผู้สูงอายุที่สูงตั้งแต่ 145-190 เซนติเมตร เครื่องมือนี้ช่วยในการเสริมสร้างกล้ามเนื้อเพิ่มความแข็งแรงทั้งรยางค์ส่วนบนและส่วนล่างของร่างกาย เพิ่มความทนทานของระบบหัวใจและไหลเวียนโลหิต เพิ่มความยืดหยุ่นอ่อนตัว และช่วยพัฒนาสมรรถภาพการทรงตัวของร่างกาย ปลอดภัย ใช้งานและดูแลรักษาง่าย ส่งผลให้ผู้สูงอายุและผู้ป่วยมีสมรรถภาพทางกาย และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ดร.จุลเทพ กล่าวต่อว่า สำหรับรางวัลที่ 3 ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 50,000 บาท พร้อมโล่รางวัล และเกียรติบัตร ได้แก่ ทีม“BotTherapist” โดย “นายสุจิรัชย์ อัฏฐะวิบูลย์กุล นางสาวเพ็ญพิชชา หวังลาวัลย์ และนายก้องเกียรติ รสหอมภิวัฒน์” มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จากผลงาน นวัตกรรม “หุ่นยนต์แบบเคลื่อนที่สำหรับอยู่เป็นเพื่อนผู้สูงอายุ” พัฒนามาจากหุ่นยนต์ส่งเสริมพัฒนาการเด็กออทิสติก โดยออกแบบเพื่อให้เป็นเพื่อนคลายเหงาให้กับผู้สูงอายุ และช่วยอำนวยความสะดวกในการดูแลผู้สูงอายุให้กับบุตรหลาน หุ่นยนต์มีรูปลักษณ์เป็นมิตรน่ารัก สามารถรับคำสั่งด้วยเสียง พูดคุยกับผู้สูงอายุได้ ควบคุมการเปิดปิดไฟในบ้านได้ ภายในหุ่นยนต์มีเกมเพื่อส่งเสริมกิจกรรมต่าง ๆ ให้ผู้สูงอายุสามารถเล่นเกมร่วมกับเด็กหรือคนในบ้านได้ ซึ่งยังมีส่วนช่วยฝึกสมองเพื่อป้องกันโรคสมองเสื่อมอีกด้วย หุ่นยนต์ทำงานร่วมกับระบบคลาวด์ในการแจ้งเตือนกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ทานยา นัดพบแพทย์ เป็นต้น แจ้งเหตุไปยังบุตรหลานเมื่อผู้สูงอายุหกล้มหรือต้องการความช่วยเหลือ และยังเป็นสื่อกลางให้แพทย์สามารถติดตามตรวจจับความผิดปกติทางสุขภาพจากข้อมูลที่หุ่นยนต์บันทึกในแต่ละวัน เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยง และแจ้งเตือนให้บุตรหลานเฝ้าดูแลได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ ระบบสามารถเรียนรู้ที่จะตรวจจับได้โดยอัตโนมัติด้วย Machine Learning ในอนาคต นอกจากนี้ บุตรหลานสามารถควบคุมหุ่นยนต์ผ่านระบบสำหรับตรวจสอบความเป็นไปภายในบ้านได้ เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตในบ้านได้อย่างมีความสุขและให้บุตรหลานคลายกังวลเมื่อผู้สูงอายุอยู่บ้านคนเดียว
ทั้งนี้ผลงานนวัตกรรม “Space Walker” ที่ชนะเลิศ คณะกรรมการลงความเห็นเป็นเอกฉันท์เนื่องจากมีความโดดเด่นของผลงาน สามารถนำไปใช้ได้จริง เพราะผลงานต้นแบบมีความสมบูรณ์มาก พร้อมนำไปประยุกต์ใช้ต่อได้ทันที ดังนั้นผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีปัญหาการเดิน อุปกรณ์ดังกล่าวช่วยตอบสนองได้เป็นอย่างดี โดยทีมผู้ชนะเลิศจะได้รับสิทธิ์ไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นในปลายเดือนกันยายนนี้ด้วย
« Last Edit: September 16, 2017, 01:01:15 PM by news »
Logged