happy on September 13, 2017, 03:03:37 PM
สคช. จัดงานสัมมนา “ยกระดับการรับรองสมรรถนะของบุคลากรไทยสู่สากล” เพื่อพัฒนาระบบงานการรับรองสมรรถนะของบุคคลขององค์กร
ที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพเป้าหมาย ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ISO/IEC 17024



นายวีระชัย ศรีขจร ผู้อำนวยการ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช.

                       นายวีระชัย ศรีขจร ผู้อำนวยการ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. เปิดเผยว่า สคช. จัดสัมมนาเรื่อง “ยกระดับการรับรองสมรรถนะของบุคลากรไทยสู่สากล” ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการพัฒนาองค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพเข้าสู่มาตรฐานสากล (ISO/IEC 17024) ซึ่ง สคช. ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา จนกระทั่งปัจจุบัน โดยมอบหมายให้สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ เป็นผู้ดำเนินโครงการ  เพื่อพัฒนาบุคลากรขององค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ ให้มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับข้อกำหนดสำหรับหน่วยรับรองบุคลากรตามมาตรฐาน ISO/IEC 17024 และมีความสามารถในการพัฒนาระบบเอกสารตามมาตรฐาน ISO/IEC 17024  ในการพัฒนาระบบงานการรับรองสมรรถนะของบุคคลขององค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพเป้าหมาย ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ISO/IEC 17024 และพร้อมต่อการขอรับรองจากหน่วยรับรองระบบงาน  เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับองค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพเป้าหมายในการนำเอกสารระบบงานที่จัดทำขึ้นไปปฏิบัติอย่างถูกต้อง  ตลอดจนเพื่อพัฒนาผู้ตรวจประเมินภายใน (Internal Auditor) มาตรฐานสากล ISO/IEC 17024 ขององค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคล  เจ้าหน้าที่สอบ (Examiner) ซึ่งเป็นผู้มีความสามารถในการดำเนินการทดสอบและประเมินขององค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพเป้าหมายให้เป็นไปตามสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) กำหนด

                       สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ได้ดำเนินการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพและมาตรฐานอาชีพ  โดยมุ่งเน้นให้คุณวุฒิวิชาชีพของประเทศไทย สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของภาคอุตสาหกรรมตอบสนองต่อนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลที่ต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทย ไปสู่ “Value–Based Economy” โดยปรับเปลี่ยนจากเศรษฐกิจยุคเก่าที่ใช้ปัจจัยการผลิตดั้งเดิม ได้แก่ ที่ดิน แรงงาน และทุน เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ไปสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ที่ใช้ทรัพย์สินทางปัญญา และการสร้างสรรค์มูลค่าเป็นปัจจัยขับเคลื่อนใหม่ โดยใช้จุดแข็งของประเทศไทย คือ ความหลากหลายเชิงชีวภาพ และความหลากหลายเชิงวัฒนธรรม 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย  กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ  กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์   กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม กลุ่มดิจิตอล เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่างๆ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว และกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง โดยจะเห็นได้ว่า ปัจจุบัน สคช. ได้เดินหน้าพัฒนามาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพที่สำคัญ เช่น มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม บริการสุขภาพ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ การท่องเที่ยว เป็นต้น 

                       สำหรับความร่วมมือกับต่างประเทศนั้น  สคช. ได้บูรณาการความร่วมมือกับต่างประเทศ ทั้งประเทศเยอรมนี ออสเตรเลียและประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งมุ่งผลักดันให้ระบบการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ ได้รับการยอมรับในระดับสากล

                       การสร้างการยอมรับในระดับสากลเป็นภารกิจหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อที่จะสร้างความเชื่อมั่นว่า การทดสอบและรับรองสมรรถนะของบุคคล เป็นไปด้วยความเป็นกลาง เป็นธรรม และเป็นระบบ ตามมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับ และสคช. ให้ความสำคัญกับภารกิจนี้ จึงได้สนับสนุนการดำเนินโครงการพัฒนาองค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพเข้าสู่มาตรฐานสากล (ISO/IEC 17024) ตั้งแต่ปี 2557 จนกระทั่งปัจจุบัน




                       โครงการนี้ จะสัมฤทธิ์ผลได้ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากผู้ดำเนินโครงการ และองค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพที่ร่วมโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์กรฯ ที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับให้คำปรึกษาในการพัฒนาระบบการรับรองสมรรถนะฯ จำนวน 23 แห่ง ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการนำระบบการรับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานสากลไปปฏิบัติให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล     

                       การดำเนินกิจกรรมโครงการฯ ได้มุ่งเน้นการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐาน ISO/IEC 17024 ให้แก่องค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ ทั่วประเทศ การพัฒนาบุคลากรขององค์กรฯ เจ้าหน้าที่สอบ และผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้ง การพัฒนาองค์กรฯ ต้นแบบให้สามารถนำระบบการรับรองสมรรถนะฯ ตามมาตรฐานสากลไปปฏิบัติ ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล

                       โดยผลการดำเนินโครงการที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน สคช. สามารถพัฒนาผู้บริหาร เจ้าหน้าที่สอบ และเจ้าหน้าที่สนับสนุนขององค์กรที่มีหน้าที่รับรอง ศูนย์ทดสอบภายใต้องค์กรฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 98 องค์กร รวมทั้งสิ้น 1,189 ท่าน ด้วยการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ทั้งในกรุงเทพมหานคร และทุกภูมิภาค

                       สคช. ยังได้คัดเลือกองค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ จำนวน 23 แห่ง ใน 14 สาขาวิชาชีพ เพื่อพัฒนาเข้าสู่มาตรฐาน ISO/IEC 17024 ซึ่งพิจารณาจากศักยภาพและความพร้อมขององค์กรฯ ทั้งในด้านบุคลากร สถานที่ และความสำคัญของสาขาอาชีพที่เปิดให้การรับรอง โดยเป็นองค์กรฯ ที่ได้รับการพัฒนาระบบการรับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ ในปี 2557 จำนวน 5 องค์กร ในปี 2558 จำนวน 10 องค์กร  และองค์กรฯ ที่ได้เข้าร่วมการพัฒนาระบบงานในปีงบประมาณ 2559 จำนวน 8 องค์กร ได้แก่

1.   สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย ในสาขาวิชาชีพบริหารงานบุคคล
2.   สมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย ในสาขาวิชาชีพโลจิสติกส์
3.   วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (สยามเทค) ในสาขาวิชาชีพบริการยานยนต์
4.   สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ใน สาขาวิชาชีพบริการสุขภาพ
5.   สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) ในสาขาวิชาชีพมาตรวิทยา
6.   บริษัท วินเนอร์ เอสเตท จำกัด ในสาขาวิชาชีพธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
7.   วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม ในสาขาวิชาชีพอุตสาหกรรมการผลิตแม่พิมพ์
8.   มหาวิทยาลัยศรีปทุม (วิทยาลัยการท่องเที่ยวและการบริการ) ในสาขาวิชาชีพการบิน