happy on September 04, 2017, 05:55:20 PM
พอช. จับมือภาคีและชุมชน ร่วมสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากชุมชนอีสานใต้ตามนโยบายประชารัฐ

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และ ภาคีเครือข่าย เร่งหนุนเสริมเศรษฐกิจฐานรากในเขตอารยธรรมอีสานใต้ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ และบุรีรัมย์ให้เข้มแข็ง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ประชาชนมีความสุข มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยยึดหลักการพึ่งตนเอง ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีคุณธรรม และเป็นระบบเศรษฐกิจที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาด้านต่างๆ ไปพร้อมกัน 


                     เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ร่วมกับสภาองค์กรชุมชน, บริษัทประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด, และสมาคมไทยท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (สสรท.) ได้เดินทางไปพร้อมสื่อมวลชนทั้งส่วนกลางและภูมิภาค เยี่ยมชมการท่องเที่ยวชุมชนที่ ต.กู่กาสิงห์ จ.ร้อยเอ็ด เส้นทางสายไหมสุรินทร์ และสวายโมเดล ที่ ต.สวาย จ.สุรินทร์ และการท่องเที่ยวโดยชุมชน ต.สนวนนอก จ.บุรีรัมย์ ซึ่งทั้ง 3 ตำบลดังกล่าว เป็นเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของ พอช. ให้เข้มแข็งจากจำนวนทั้งสิ้น 500 ตำบล ซึ่งดำเนินการตามนโยบาย “ประชารัฐ” ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน วิชาการ ประชาสังคม และประชาชน โดยหนุนเสริมให้ระบบเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นพึ่งตนเองได้ ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน มีคุณธรรม และเป็นระบบเศรษฐกิจที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาด้านต่างๆ ทั้งวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติที่เข้มแข็ง ยั่งยืน นอกจากนี้ต้องมีการพัฒนาและการจัดการโดยชุมชนท้องถิ่นให้ครบวงจรมากที่สุด มีการสร้างทุนและกองทุนที่เข้มแข็ง มีการผลิตพื้นฐาน การแปรรูป การบริการ การตลาด การผลิตอาหาร และความจำเป็นต่างๆ สำหรับคนในพื้นที่อย่างพอเพียง และพัฒนาเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือเป็นธุรกิจของชุมชนต่อไปได้ 

                     ดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ ผู้จัดการสำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสัมมาชีพชุมชน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กล่าวถึงพื้นที่ที่เยี่ยมชมทั้ง 3 แห่ง ว่าเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งมาก คนในชุมชนมีความตั้งใจ และมีส่วนร่วมในกระบวนการเพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง แต่บริหารจัดการอย่างเป็นระบบเพิ่งเริ่มต้น ดังนั้นหลายๆ ฝ่ายจึงยื่นมือเข้ามาช่วยกันสนับสนุนเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเอง ลดต้นทุนการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ในชุมชน นำเทคโนโลยีมาช่วย ทำให้ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ทั้ง 3 ชุมชนนี้สามารถพัฒนาเศรษฐกิจได้เร็วมาก ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น และสามารถขยายฐานการทำงานไปในด้านอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด

                     “หนึ่งในแผนการพัฒนาชุมชนตามแนวทางเศรษฐกิจฐานรากที่โดดเด่นคือ ตำบลสวาย จ.สุรินทร์ ที่มีการชูเรื่องทอผ้าไหมใต้ถุนเรือนให้เป็นประเด็นนำ ตามด้วยการท่องเที่ยวโดยชุมชน ปิดท้ายด้วยเกษตรอินทรีย์และผลิตภัณฑ์แปรูปต่างๆ เพื่อดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวเข้ามาดื่มด่ำตามวิถีชาวบ้านตำบลสวาย เรียนรู้วัฒนธรรมเขมรโบราณและไทยอีสานใต้ จากการชูอัตลักษณ์วิถีผ้าไหม ร่วมบูรณาการวัฒนธรรมและภาษา นำมาสู่การท่องเที่ยวโดยชุมชน และวิถีเกษตรอินทรีย์ตามคำสอนของพ่อหลวง ทำให้ตำบลสวาย จ.สุรินทร์ กลายเป็นโมเดลแบบอย่างที่ทำให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถจัดการกับเศรษฐกิจและทุนชุมชนได้เอง เอื้อต่อคุณภาพชีวิตที่มั่นคง มุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ดร.อนุรักษ์กล่าวเพิ่มเติม






                     ปัจจุบันมากกว่า 1700 ครัวเรือนในตำบลสวาย ที่ดำรงชีพด้วยการทอผ้าไหม และยังมีประมาณ 50 ครัวเรือน ที่ยังคงอนุรักษ์การทอผ้าไหมใต้ถุนเรือนเอาไว้ นอกจากนี้ใน ต.สวายยังมีการจัดการตั้งแต่ปลูกหม่อนเพื่อเลี้ยงไหม ย้อมสีเคมีและสีธรรมชาติ ทอผ้า ไปจนถึงการจัดการเพื่อส่งออกสู่ตลาดผ้าอย่างเป็นระบบ อีกทั้งเกิดการรวมกลุ่มผู้ทอผ้าไหมในตำบลสวายได้เปลี่ยนพื้นที่ในชุมชนเป็นศูนย์การเรียนรู้ทอผ้าพื้นเมือง และกลายมาเป็นตำบลหนึ่งที่ผลิตผ้าไหมพื้นเมืองสีเคมีและสีธรรมชาติรายใหญ่ของประเทศไทย

                     ส่วนการท่องเที่ยวชุมชนที่ ต.สนวนนอก จ.บุรีรัมย์ ผู้นำชุมชนมีความเข้มแข็ง และสามารถรวมกลุ่มชาวบ้านมาร่วมทำงานได้เกือบทั้งตำบล  จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีวัฒนธรรมโดยชุมชน ที่บริหารงานโดยชุมชนแท้ๆ ทำให้นักท่องเที่ยว ผู้ที่เข้ามาดูงานเข้าใจวัฒนธรรมความเป็นอยู่ การดำรงชีวิตภาษา ประเพณี วิถีวัฒนธรรมของอีสานใต้ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ สำหรับการเที่ยวชมในชุมชนนั้นจะแบ่งเป็นฐานต่างๆ ให้นักท่องเที่ยวเยี่ยมชม มีบริการอาหารและที่พักแบบโฮมสเตย์ไว้รองรับนักท่องเที่ยวด้วย ในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมาบริษัทประชารัฐรักสามัคคี จ.บุรีรัมย์ และผู้แทนองค์กรชุมชนเข้ามาสนับสนุนให้มีการบริหารจัดการภายในที่ดีขึ้น ทำให้คนในชุมชนมีรายได้กระจายไปทุกครัวเรือนจากการท่องเที่ยวที่จัดการด้วยตนเอง

                     “โดยภาพรวม ร้อยเอ็ด-สุรินทร์-บุรีรัมย์ พอช.พยายามสื่อสารกับทุกๆฝ่าย เพื่อให้เห็นกระบวนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากที่คนในชุมชนได้มีโอกาสลุกขึ้นมามีส่วนร่วม และได้ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง แม้ว่ากระบวนการบางพื้นที่อาจจะยังไม่ชัดเจน แต่ ณ วันนี้ เรามีแกนนำแต่ละพื้นที่ได้จับมือกับประชารัฐรักสามัคคี และทีมงานท่องเที่ยวในเขตอารยธรรมอีสานใต้ อนาคตอันใกล้ กระบวนการตรงนี้จะเชื่อมโยงและเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น” ดร.อนุรักษ์กล่าว