sianbun on December 27, 2009, 03:11:31 PM
ข่าวประชาสัมพันธ์  ตำรวจไทยจับละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ส่งท้ายปลายปี 2552



ตำรวจไทยจับละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ส่งท้ายปลายปี 2552
เดือนธันวาคม จับซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์มูลค่ากว่า 27 ล้านบาท
พบบริษัทด้านเทคโนโลยีใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ในการดำเนินกิจการ
เดินหน้าสืบสวนการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในองค์กรธุรกิจ 1,000 แห่ง
ย้ำจะดำเนินการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ต่อไปในปี 2553

   กรุงเทพฯ (28 ธันวาคม 2552) – เหลืออีกเพียงไม่กี่วันจะหมดปี 2552 แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงเดินหน้าปฎิบัติหน้าที่อย่างต่อเนื่อง ด้วยความพยายามที่จะลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในองค์กรธุรกิจ 
ตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมป็นต้นมา  กองบังคับการการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก. ปอศ.) ได้เข้าตรวจค้นจับกุมบริษัทที่ทำธุรกิจด้านโทรคมนาคม ยานยนต์ ออกแบบ สิ่งพิมพ์ ก่อสร้าง และผลิตสินค้า ที่พบว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ คิดเป็นมูลค่ากว่า 27 ล้านบาท เจ้าหน้าที่ตำรวจยังตรวจพบซอฟต์แวร์เถื่อนของอโดบี ออโต้เดสค์         แดสเซิลท์ ซิสเต็มส์ โซลิดเวิร์คส์ ไมโครซอฟท์ และไทยซอฟท์แวร์เอ็นเตอร์ไพรส์ ติดตั้งอยู่บนเครื่องคอมพิวเตอร์เกือบ 300 เครื่อง 
ในการเข้าตรวจค้นจับกุมโรงงานผลิตสินค้าขนาดใหญ่ในจังหวัดสมุทรสาครครั้งหนึ่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจพบเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวนถึง 131 เครื่อง ที่มีซอฟต์แวร์เถื่อนติดตั้งอยู่
“ความสำเร็จในครั้งนี้ถือเป็นการปิดท้ายปี 2552 ที่การปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในองค์กรธุรกิจดำเนินไปอย่างเข้มข้น” พ.ต.อ.ศรายุทธ พูลธัญญะ รองผู้บังคับการ      บก. ปอศ. กล่าว "เราได้รับแจ้งเบาะแสและหลักฐานเกี่ยวกับองค์กรธุรกิจที่กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เราคาดการณ์ได้ว่าการลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในองค์กรธุรกิจในประเทศไทยจะประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้นในปี 2553 ตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาลที่ตั้งให้การลดอัตราการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเป็นวาระแห่งชาติ”
ขอบเขตของการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในครั้งนี้ ครอบคลุมองค์กรธุรกิจในวงกว้างในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม บริษัทไม่ว่าจะมีขนาดใหญ่หรือเล็ก ทั้งที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ต่างต้องเร่งดำเนินการให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
   หนึ่งในบริษัทที่ตำรวจเข้าตรวจค้นจับกุมเมื่อเร็วๆ นี้ คือบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านเทคโนโลยี ในจังหวัดนนทบุรี บริษัทแห่งนี้ถูกพบว่าติดตั้งซอฟต์แวร์เถื่อนบนเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 34 เครื่อง บริษัทอีกแห่งหนึ่งเป็นบริษัทผลิตอะไหล่รถยนต์และชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ในจังหวัดชลบุรี บริษัทแห่งนี้ถูกพบว่าติดตั้งซอฟต์แวร์เถื่อนสำหรับออกแบบ มูลค่าเกือบ 11.5 ล้าน บนเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 45 เครื่อง บริษัทดังกล่าวยังมีชื่ออยู่ในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศเกาหลี และมีหน่วยงานวิจัยและพัฒนาที่มีชื่อเสียงและเคยได้รับรางวัลมาแล้ว นอกจากนี้ตำรวจยังตรวจพบซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์มูลค่า 9 ล้านบาทในบริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาครที่มีสินทรัพย์เกือบ 4,000 ล้านบาทและมีผลกำไรประจำปีเกือบ 200 ล้านบาท บริษัทแห่งนี้ยังเป็นผู้ถือสิทธิบัตรด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์หลายรายการ
   เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งข้อสังเกตว่า แม้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์มูลค่าสูงที่พบจะเป็นซอฟต์แวร์ของต่างประเทศ แต่ซอฟต์แวร์ที่พบว่าถูกละเมิดบ่อยที่สุดกลับเป็นซอฟต์แวร์ของไทย โดยกว่า 90%
ของการเข้าตรวจค้นจับกุมพบซอฟต์แวร์ที่พัฒนาโดยคนไทย และมีคนไทยเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วยทุกครั้ง
   “เนื่องจากอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในไทยสูงถึง 76% จึงไม่แปลกที่พบบริษัทหลายต่อหลายแห่งละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์หลายตัว ซึ่งรวมถึงซอฟต์แวร์ที่พัฒนาโดยคนไทยด้วย" พ.ต.อ.ศรายุทธกล่าว "ความพยายามบังคับใช้กฏหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลให้ความสำคัญการสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) โดยใช้การพัฒนาด้านทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเครื่องมือ"
   ผู้ที่รายงานการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ผ่านทางสายด่วนโทร. 02-714-1010 หรือทางเว็บไซต์ มีสิทธิ์ได้รับเงินรางวัลสูงสุดถึง 250,000 บาท ข้อมูลของผู้รายงานจะถูกเก็บไว้เป็นความลับ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.stop.in.th
« Last Edit: December 30, 2009, 09:56:57 AM by sianbun »