ทรีนีตี้ชี้หุ้นไทยเหนือระดับ 1,600 จุดไม่ถูก แนะตุนเงินสด-ลงทุนหุ้น Laggard เช่นกลุ่มส่งออก
ทรีนีตี้ส่องหุ้นไทยเดือนกันยายน หลังชนเป้าหมายของปีที่ 1,620 จุด ชี้หุ้นไทยแพงเกินปัจจัยพื้นฐาน แต่มีโอกาสยืนอยู่ในระดับสูงอีกระยะ เนื่องจากทั้งปียังขึ้นน้อยกว่าภูมิภาค แนะทยอยลดพอร์ตถือเงินสด หรือหันลงทุนหุ้น Laggard เช่นกลุ่มส่งออก หลังราคาสะท้อนเงินบาทแข็งค่าแล้ว ระบุ CPF, HANA, TU น่าสนใจ
นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ ประเมินทิศทางดัชนีหุ้นไทยในเดือนกันยายนจะแกว่งตัวอยู่ในกรอบ 1,570-1,640 จุด แม้ว่าดัชนีหุ้นไทยทะยานขึ้นเกินระดับ 1,600 จุด แต่มองเป็นระดับที่เปราะบาง เนื่องจากสูงเกินกว่าระดับที่กำไรของบริษัทจดทะเบียนจะรองรับ จนทำให้ Downside risk เริ่มเปิดกว้างมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มองว่าดัชนีมีโอกาสยืนเหนือระดับ 1,590 จุดได้ในระยะสั้น จากโมเมนตัมทางจิตวิทยาเชิงบวกที่เกิดขึ้น รวมถึงการที่ดัชนียังคงปรับตัวขึ้นน้อยกว่าภูมิภาคในปีนี้ (Laggard)
สำหรับปัจจัยที่ต้องจับตาในเดือนกันยายน ประกอบด้วย การปรับลดประมาณการกำไร (EPS) ของบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะกลุ่มที่อิงกับอุปสงค์ภายในประเทศ เช่น กลุ่มก่อสร้าง อสังหาฯ สื่อและสิ่งพิมพ์ ว่าจะมีสัญญาณหยุดแล้วหรือไม่ หากยังไม่หยุด มองจะเป็นปัจจัยจำกัดการปรับตัวขึ้นของดัชนีที่สำคัญ ล่าสุด ประมาณการกำไรต่อหุ้น (EPS) ปี 2560 และ 2561 ของ Consensus อยู่ที่ระดับ 100.5 และ 111.0 บาทตามลำดับ เทียบเคียงเป็นระดับ Forward PE ที่ 16.1 และ 14.6 เท่าตามลำดับ ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่สูงแล้วเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยระยะยาว
ส่วนปัจจัยต่างประเทศแรกที่ต้องจับตามองคือ ตัวเลขภาคการผลิตทั่วโลกประจำเดือนสิงหาคมของประเทศสำคัญ อาทิ จีน ยุโรป สหรัฐฯ หากยังอยู่ในเกณฑ์ดี ประเมินจะเป็นปัจจัยเชิงบวกต่อราคาโภคภัณฑ์ในกลุ่มโลหะอุตสาหกรรม ตลาดหุ้นเกิดใหม่ และราคาหุ้นในกลุ่มวงจรเศรษฐกิจ (Cyclical) เช่น พลังงาน ปิโตรเคมี และเดินเรือ ซึ่งล่าสุด ประเทศจีนได้รายงานตัวเลขดังกล่าวออกมาแล้ว พบว่าดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และถือเป็นเดือนที่ 13 ติดต่อกันที่อยู่ในระดับขยายตัว
ปัจจัยถัดไปได้แก่การประชุมของธนาคารกลางสำคัญทั่วโลก ทั้งการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันที่ 7 กันยายน ซึ่งตลาดคาดว่าอาจมีการให้รายละเอียดเกี่ยวกับแผนการลดวงเงิน QE ในช่วงถัดไป การประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ในวันที่ 19-20 กันยายน ซึ่งตลาดมองว่ามีโอกาสที่ Fed จะเริ่มต้นกระบวนการลดขนาดงบดุลแต่ยังไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ย ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย (กนง.) ในวันที่ 27 กันยายนนั้น คาดว่าจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ 1.5% ต่อไป
นอกจากนั้นต้องติดตามพัฒนาการทางด้านการเมืองสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเข้าใกล้การประชุมสภาฯนัดสำคัญ ทั้งการอนุมัติแผนงบประมาณประจำปี การพิจารณาเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะ และการอนุมัติแผนปฏิรูปภาษี หากยังคงมีความวุ่นวายเกิดขึ้น มองจะเป็นปัจจัยกดดันค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และทำให้สกุลเงินเกิดใหม่ปรับตัวแข็งค่าต่อไป แต่หากผ่านพ้นไปได้ด้วยดี จะเป็นปัจจัยบวกต่อเงินดอลลาร์ฯที่สำคัญ
สำหรับปัจจัยสุดท้ายได้แก่ปัจจัยรบกวนที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกขณะ นั่นก็คือข้อพิพาทระหว่างเกาหลีเหนือและชาติตะวันตกเกี่ยวกับประเด็นการทดสอบขีปนาวุธ รวมถึงการก่อการร้าย ที่อาจทำให้นักลงทุนมีการโยกย้ายเม็ดเงินเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในเดือนกันยายน แนะนำลดพอร์ทการลงทุนหลังจากที่ดัชนีปรับตัวสูงขึ้นชนเป้าหมายของปีนี้ที่ 1,620 จุด โดยควรหันมาถือเงินสดมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนระยะยาว อย่างไรก็ดีหากจำเป็นต้องลงทุน มองอาจต้องเลือกหุ้นพื้นฐานดีที่ราคายังปรับตัวขึ้นไม่มากหรือปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา (Laggard) ซึ่งกลุ่มส่งออกถือเป็นกลุ่มที่น่าสนใจ เนื่องจากราคาหุ้นช่วงที่ผ่านมาสะท้อนประเด็นเงินบาทแข็งค่าไปพอสมควรแล้ว และที่สำคัญ นักลงทุนทั่วโลกกำลังชะล่าใจต่อการประชุม Fed ที่กำลังจะเกิดขึ้น สะท้อนจากความน่าจะเป็นของการขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธันวาคมที่ตอนนี้อยู่เพียง 33% เท่านั้น หากในที่ประชุม Fed กลางเดือนกันยายนนี้ มีการส่งสัญญาณในเชิง Hawkish ออกมา หรือ Dot plots ยังคงยืนกรานถึงการขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง เชื่อว่านักลงทุนในตลาดจะเริ่มให้น้ำหนักต่อการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงปลายปีนี้มากขึ้น จนทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯกลับมาแข็งค่า และสกุลเงินประเทศเกิดใหม่กลับมาอ่อนค่าได้ ซึ่งอาจเป็น Sentiment เชิงบวกต่อกลุ่มส่งออกในท้ายที่สุด
สำหรับหุ้นส่งออกที่น่าสนใจในเดือนกันยายนประกอบด้วย CPF (ราคาเป้าหมาย 28 บาท), HANA (ราคาเป้าหมาย 50 บาท), และ TU (ราคาเป้าหมาย 24 บาท) โดยหากย้อนดูผลตอบแทนเฉลี่ยในช่วงเดือนกันยายน 5 ปีหลังสุด พบว่าทั้ง 3 บริษัทนี้ให้ผลตอบแทนอยู่ในเกณฑ์อีกดีด้วย