MSN on August 18, 2017, 01:40:01 PM
PwC เผยโอกาสทางธุรกิจจากโครงการ ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ รายงานล่าสุดโดย ศูนย์ตลาดเติบโตสูงของ PwC กรุงเทพฯ, 18 สิงหาคม 2560 — PwC เปิดเผยรายงานล่าสุดภายใต้ชื่อ ‘ปูทางสู่เส้นทางสายไหมใหม่’ หรือ ‘Repaving the ancient Silk Routes’ ซึ่งทำการศึกษานโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ One Belt, One Road (B&R) initiative ภายใต้การผลักดันของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ได้ประกาศไว้เมื่อปี 2556 โดยมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาเส้นทางการค้าอันเก่าแก่ในอดีตของจีนที่รู้จักกันดีในชื่อ ‘เส้นทางสายไหม’ โดยเชื่อมต่อจีนกับทวีปยุโรปผ่านเอเชียกลางและภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งถือเป็นเส้นทางเศรษฐกิจ การค้าและวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่ง
ทั้งนี้ โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ครอบคลุมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบคมนาคมขนส่ง ได้แก่ รถไฟฟ้า ท่าอากาศยาน ไปจนถึงเส้นทางเดินเรือ โดยทำให้ภูมิภาคเอเชียสามารถเชื่อมต่อกับภูมิภาคอื่นๆ ของโลกได้ และไม่เพียงถูกใช้ให้เป็นประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจเท่านั้น หากแต่เส้นทางนี้ยังถูกใช้เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ทางการค้า แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และ การรวมกลุ่มกันทางสังคม นอกจากนี้ กิจกรรมต่างๆ จะเกิดขึ้นตาม 6 ระเบียงเศรษฐกิจของโลกที่ตัดผ่านประเทศกำลังพัฒนามากกว่า 65 ประเทศ โดยคาดว่า นโยบายนี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อประชากรโลกกว่า 4.4 พันล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลก
รายงาน ‘Repaving the ancient Silk Routes’ ทำการวิเคราะห์ถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของธุรกิจต่างชาติ และนำเสนอมุมมองเกี่ยวกับความซับซ้อนเฉพาะตัวของโครงการดังกล่าว นอกจากนี้ ยังชี้ให้บริษัทต่างๆ เห็นถึงปัจจัยที่จะช่วยในการประเมินโครงการที่น่าสนใจ และบ่งชี้ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้บริษัทสามารถดำเนินงานได้อย่างประสบความสำเร็จ
ความจำเป็นของการมีพันธมิตรต่างชาติ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของธุรกิจอย่างแท้จริง
โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ถือได้ว่าเป็นอภิมหาโครงการลงทุนระดับยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลกที่จีนต้องหาพันธมิตรและอาศัยความร่วมมือกับบรรดาธุรกิจต่างชาติ แม้จะมีทรัพยากร ประชากร และ แหล่งเงินทุนก็ตาม โดยการมีพันธมิตรดังกล่าว สามารถเอื้อประโยชน์ให้กับหุ้นส่วนทั้งสองฝ่าย โดยการได้รับความรู้อย่างถูกต้องผ่านการเป็นพันธมิตรบริษัทต่างชาติจะช่วยให้บริษัทจีนสามารถต่อยอดและพัฒนาความชำนาญในด้านต่างๆ รวมทั้งสร้างความน่าเชื่อถือในเวทีโลกในด้านกลุ่มอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐาน ในขณะเดียวกัน บริษัทต่างชาติก็สามารถเข้าถึงตลาดใหม่ผ่านความร่วมมือกับบริษัทจีนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่ 3 ได้ อีกทั้งยังเป็นการปูทางสู่การเข้าถึงตลาดจีนได้เช่นกัน นอกจากนี้ บรรดาธุรกิจต่างชาติเหล่านี้ ยังเคยมีประสบการณ์ในการทำงานโครงการขนาดใหญ่ในประเทศกำลังพัฒนาที่อาจมีความท้าทายและสลับซับซ้อนในบางประการ ซึ่งจะเป็นประโยชน์มหาศาลในการลดความเสี่ยงด้านการดำเนินงานอีกด้วย
ข้อควรพิจารณาที่สำคัญ
แม้โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางจะก่อให้เกิดโอกาสในการดำเนินธุรกิจต่างๆ มากมาย แต่บริษัทต่างชาติต้องพิจารณาว่าจะสามารถรับมือกับความเสี่ยงของโครงการซึ่งมีลักษณะพิเศษและมีความซับซ้อนได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในแง่ภูมิศาสตร์การเมือง เงินทุน และการปฏิบัติการ
ความเสี่ยงด้านภูมิศาสตร์การเมือง: ความเสี่ยงในด้านนี้มักเกิดขึ้นบ่อยครั้งในหลายๆ ประเทศ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี
ความเสี่ยงด้านเงินทุน: นอกเหนือจากแหล่งเงินทุนจากจีนแล้ว บริษัทต่างๆ ยังจำเป็นต้องพิจารณาว่า ตลาดเติบโตสูงที่เข้าร่วมโครงการภายใต้นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางนั้น มีความสามารถในการชำระเงินกู้แตกต่างกัน
ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ: บริษัทที่สนใจเข้าร่วมโครงการต้องมีความระมัดระวังในการวางแผนการปฏิบัติการ แม้กระทั่งองค์กรรัฐวิสาหกิจจากทั้งจีนและประเทศเจ้าบ้านที่กำลังสั่งสมประสบการณ์การทำงานในระดับประเทศ รวมทั้งต้องสามารถระบุได้ถึงช่องว่างประสบการณ์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และความซับซ้อนของโครงการ การขาดประสบการณ์ในการบริหารจัดการโครงการระดับประเทศจะส่งผลให้เกิดความล่าช้า หรือมีค่าใช้จ่ายเกินกว่าที่ได้ตกลงกันไว้ ทั้งนี้ แม้โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางจะนำมาซึ่งความร่วมมือและพันธสัญญาในด้านต่างๆ แต่ความเสี่ยงเหล่านี้ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญและมีลักษณะเฉพาะ
กลยุทธ์ในการประเมินและคัดเลือกโครงการ
นอกเหนือไปจากการประเมินความเสี่ยงในการเลือกเข้าร่วมโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางแล้ว นักลงทุนต้องมีความสามารถในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ได้ว่า โครงการใดที่ควรเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย โดยมีข้อควรพิจารณาด้วยกัน 3 แนวทาง ได้แก่
1. ประเมินความสามารถในเชิงพาณิชย์: บริษัทต้องมีการพัฒนากรณีธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งควรระบุถึงอุปสงค์และอุปทานของตลาด รวมไปถึงขอบเขตที่บริษัทจะสามารถดำเนินกิจการได้อย่างเหมาะสม
2. พิจารณาความสมบูรณ์ของระบบนิเวศโครงสร้างพื้นฐาน: บริษัทต้องประเมินความเหมาะสม ความพร้อมของระบบนิเวศ และ แผนงานในอนาคตที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานนั้นๆ รวมถึงต้องพิจารณาด้วยว่า บริษัทมีพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ที่เอื้อต่อการพัฒนานโยบาย การเชื่อมต่อในหลายๆ รูปแบบ และ สิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นหรือไม่
3. สร้างพอร์ตโฟลิโอที่ใช่: บริษัทต้องหาสมดุลระหว่างโอกาสในการทำธุรกิจที่จะได้รับ กับความเสี่ยงเดิมที่อาจเกิดขึ้นอีกจากโครงการที่มีอยู่ ยกตัวอย่าง เช่น บริษัทที่มีการดำเนินโครงการในคาซัคสถานอยู่แล้ว อาจจะต้องประเมินอีกครั้งว่า สนใจที่จะขยายโครงการเพิ่มเติมในประเทศเดิมอีกหรือไม่อย่างไร
กำหนดจุดยืนเพื่อความสำเร็จ
หลังจากที่บริษัทได้ทำการวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงแล้วว่า อยากจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับโครงการใดภายใต้นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ผู้บริหารควรเพิ่มโอกาสในการดำเนินธุรกิจไปสู่ความสำเร็จ โดยพิจารณาปัจจัยดังต่อไปนี้
กำหนดกลยุทธ์ฉุกเฉิน: สำหรับโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่ดึงดูดความสนใจทั้งในแง่ภูมิศาสตร์การเมือง และครอบคลุมการดำเนินการในหลายๆ ประเทศ บริษัทจำเป็นต้องมีการวางแผนในการรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันไว้ล่วงหน้า นอกจากนี้ ในการเจรจาสัญญา ยังควรต้องระบุปัญหาที่ค้างคา หรืออาจยังไม่ได้รับการแก้ไขไว้เป็นข้อกำหนดฉุกเฉิน พร้อมระบุทางออกของปัญหาไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น
ทำงานคู่ไปกับรัฐบาลท้องถิ่น: การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและน่าเคารพนับถือกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหน่วยงานภาครัฐจะช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญๆ รวมถึงระบบการกำกับดูแลในหลายๆ ประเทศที่อาจกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา
หาพันธมิตรท้องถิ่นที่ไว้ใจได้: การจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทที่มีประสบการณ์ในการทำงานกับรัฐบาลท้องถิ่นคือสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง เพราะพันธมิตรที่ใช่ เข้าใจถึงลำดับขั้นตอนของเหตุการณ์ สิ่งที่ต้องพึงระวัง และปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้โครงการสามารถเดินหน้าไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความคล่องตัวในการทำธุรกิจ
แบ่งปันความเสี่ยง: การประยุกต์ใช้แนวทางในการแบ่งปันความเสี่ยงเป็นการกระจายหรือถ่ายโอนความเสี่ยงให้ผู้อื่นร่วมกันรับผิดชอบเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากความเสี่ยง สร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นระหว่างผู้มีส่วนได้เสียและยังนำไปสู่การลดต้นทุนได้ในที่สุด
นาย เดวิด วิเจอร์ราตน่า หัวหน้าสายงานศูนย์วิจัยตลาดเติบโตสูง บริษัท PwC ประเทศสิงคโปร์ และผู้จัดทำรายงาน กล่าวว่า “นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางได้ก่อให้เกิดเรื่องราวของความสำเร็จจากการจับมือเป็นพันธมิตร ซึ่งนำไปสู่ผลประโยชน์ร่วมกันและความต้องการของการมีพันธมิตรต่างชาติ รวมถึงการมีส่วนร่วมในโครงการต่างๆ ที่มีมากขึ้น ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ยืนยันถึงโอกาสทางพาณิชย์ของโครงการทั่วทั้งห่วงโซ่อุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐาน
“อย่างไรก็ตาม บริษัทต่างๆ ต้องมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลักษณะเฉพาะของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เพื่อเตรียมความพร้อมไปสู่ความสำเร็จ การตระหนักว่า โครงการต่างๆ มีความแตกต่างหลากหลายจะช่วยให้บริษัทดำเนินงานได้อย่างเหมาะสม นี่ยังรวมไปถึงการต้องมีแผนฉุกเฉินในการจัดการปัญหาจากภาวะชะงักงันในระยะสั้น ในขณะเดียวกัน ก็ต้องมีการวางแผนสำหรับโครงการในระยะยาว นอกเหนือจากการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อให้สามารถบริหารจัดการเรื่องดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ถือได้ว่าเป็นโครงการขนาดใหญ่ และอาจเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ใหญ่ที่สุดที่ครอบคลุมพื้นที่หลากหลายทวีปเท่าที่โลกเคยมีมา แต่นี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น” เขา กล่าว
ด้านนาย ศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร และหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า “แม้ว่าโครงการดังกล่าวจะอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนา แต่เราเชื่อว่านโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน น่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญในระยะยาว โดยนโยบายดังกล่าว ยังจะช่วยสนับสนุนโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกของรัฐบาล อีกทั้ง การก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา ระยะที่ 1 มูลค่ากว่า 1.79 แสนล้านบาท ที่ได้มีการอนุมัติไปหลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการล่าช้า ซึ่งน่าจะก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ตามมา และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน
“ในระยะต่อไป เรามองว่าจีนและประเทศที่สนใจเข้าร่วมโครงการดังกล่าว คงต้องทำงานร่วมกันในหลายๆ มิติ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า โครงการนี้จะเกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่าย แต่เราคาดว่า โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางจะช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดการสร้างงาน และเปิดโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการในหลายอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มธุรกิจก่อสร้าง บริการทางการเงิน ขนส่ง ค้าปลีกและเครือข่ายศูนย์กระจายสินค้า ท่องเที่ยว การบริหารซัพพลายเชน และอื่นๆ อย่างไรก็ดี ธุรกิจไทยที่ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการนี้ คงต้องศึกษาทั้งโอกาสและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นทั้งในแง่ของภูมิศาสตร์การเมือง แหล่งเงินทุน และการวางแผนการปฏิบัติงานที่ชัดเจน เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้รับผลตอบแทนที่คาดหวังจากโครงการนี้อย่างแท้จริง”
ศูนย์ตลาดเติบโตสูงของ PwC เป็นทีมระดับโลกที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือบริษัทที่ต้องการก้าวผ่านความสลับซับซ้อนและความท้าทายของการเข้าไปลงทุนและขยายโอกาสทางธุรกิจในตลาดที่กำลังพัฒนา ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติม กรุณา คลิก www.pwc.com/gmc
เกี่ยวกับ PwC
ที่ PwC เป้าประสงค์ของเรา คือ การสร้างความไว้วางใจในสังคมและช่วยแก้ปัญหาสำคัญให้กับลูกค้า เราเป็นหนึ่งในบริษัทเครือข่าย 157 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานมากกว่า 223,000 คนที่ยึดมั่นในการส่งมอบบริการคุณภาพด้านการตรวจสอบบัญชี ที่ปรึกษาทางธุรกิจ กฎหมายและภาษี สำหรับประเทศไทย บริษัทถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2502 โดยมีบทบาทในการช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจไทยมานานกว่า 58 ปี PwC ผสมผสานประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถในการทำงานกับลูกค้าข้ามชาติ ผนวกกับความเข้าใจตลาดภายในประเทศเป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ชื่อเสียงของ PwC เป็นที่ยอมรับและได้รับความไว้วางใจจากภาคธุรกิจต่างๆ โดยปัจจุบัน มีบุคลากรกว่า 1,800 คนในประเทศไทย
PwC refers to the PwC network and/or one or more of its member firms, each of which is a separate legal entity. Please see www.pwc.com/structure for further details.
© 2017 PwC. All rights reserved.
« Last Edit: August 18, 2017, 01:43:10 PM by MSN »
Logged