news on August 07, 2017, 08:22:02 AM











ดีป้า ชง 3 มาตรการ ช่วยผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ เพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษี สร้างมาตรฐานไอเอสโอ และตั้งสถาบันไอโอที เชื่อสามารถกระตุ้นอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังซบเซาในยุคการแข่งขันของเศรษฐกิจใหม่



ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์


รศ.ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์


คุณจำรัส สว่างสมุทร


คุณปฐม  อินทโรดม



กรุงเทพ 7 สิงหาคม 2560 - ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ปี 2559 พบมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ไทย ไม่รวมซอฟต์แวร์เกมและแอนิเมชั่น ปี 2559 มีมูลค่าการผลิต 50,129 ล้านบาท ลดลงจากปี 2558 ร้อยละ 4.63 โดยมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์นำเข้าประเทศไทยลดลงจากปี 2558 ราวร้อยละ 5.42 สวนทางมูลค่าซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์เพื่อการพัฒนาในองค์กรที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.25  ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าว สะท้อนถึงอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์วันนี้ที่กำลังเปลี่ยนรูปแบบต่อเนื่องจากปีที่แล้ว แทนที่จะขายไลเซนส์ซอฟต์แวร์ แต่บริษัทซอฟต์แวร์ต้องนำซอฟต์แวร์มาสร้างเป็นบริการ ทั้งหมดนี้เป็นไปตามทิศทางการปรับตัวของธุรกิจในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

ดร.ณัฐพล กล่าวว่า เศรษฐกิจดิจิทัลจะอยู่ได้เพราะองค์กรธุรกิจนำข้อมูลมาวิเคราะห์ด้วยซอฟต์แวร์ ธุรกิจแบบเดิมจะไม่โตหากไม่ปรับตัว ดังนั้นบริษัทซอฟต์แวร์จึงต้องตอบโจทย์องค์กรธุรกิจด้วยบริการในรูปแบบการนำซอฟต์แวร์มาสร้างบริการ เพราะหากบริษัทซอฟต์แวร์ยังเดินธุรกิจรูปแบบเดิมจะเห็นทิศทางที่ถดถอยชัดเจน และเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ในการพัฒนารูปแบบในการให้บริการ ดีป้าจึงได้ผลักดัน 3 มาตรการสำคัญได้แก่ 1. มาตรการสร้างตลาด  โดยการเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี นำผลิตภัณฑ์หรือบริการด้านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายมาเป็นเครื่องมือในการดำเนินงานและบริหารจัดการธุรกิจเพิ่มมากขึ้น โดยขณะนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ที่ผ่านมา 2. มาตรการสร้างความเชื่อมั่น โดยการส่งเสริมผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ ให้ได้รับมาตรฐาน ISO 29110 โดยจะสานร่วมมือกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย NECTEC และกระทรวงอุตสาหกรรม โดย MASCI ทั้งนี้เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์มีการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพ สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล และ 3. มาตรการการสร้างขีดความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัล (Digital Innovation) ซึ่ง “คน” เป็นปัจจัยหนึ่ง   โดยจะจัดตั้งสถาบันไอโอที โดยในสถาบันจะประกอบไปด้วยพื้นที่สำหรับ IoT co-working space, Cloud innovation center, Maker space ทั้งในส่วนของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์  รวมถึงมีพื้นที่จับคู่ธุรกิจ โดยสถาบันจะไม่เน้นวิชาการแต่อยู่บนพื้นฐานและสภาพแวดล้อมของการดำเนินธุรกิจจริง เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มต้นที่ จ.ชลบุรี โดยทั้ง 3 มาตรการดังกล่าวเชื่อว่าจะสามารถกระตุ้นให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์กลับมาคึกคักอีกครั้ง

รศ.ดร. ธนชาติ นุ่มนนท์ จากสถาบัน IMC กล่าวว่า ต้องพัฒนาบุคลากร โดยรัฐควรมีนโยบายระดับชาติด้านการพัฒนาบุคลากรซอฟต์แวร์อย่างเร่งด่วนและจริงจัง เพื่อให้เกิดผลโดยเร็ว รวมทั้งควรมีแผนพัฒนาบุคลากรทั้งในระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีปัญหาในขั้นวิกฤติด้านการขาดแคลนบุคลากรซอฟต์แวร์ รวมทั้งควรปรับหลักสูตรการเรียนการสอนด้านซอฟต์แวร์ให้ทันสมัย ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี บทสรุปของการสำรวจนี้คือรัฐควรต้องส่งเสริมให้เกิดการใช้ซอฟต์แวร์ในกลุ่มผู้ประกอบการระดับ SME ให้มากขึ้น เพื่อช่วยให้เกิดผลประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในระยะยาว

หนึ่งในบทสรุปของการสำรวจครั้งนี้คือ คณะผู้วิจัยได้ขอเสนอแนะให้สำรวจส่วน Software-Enable Service ด้วย เนื่องจากเป็นแนวโน้มของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่กำลังเกิดขึ้น และมีโอกาสที่จะสร้างมูลค่าอีกมาก โดยไม่ได้จำกัดอยู่ในวงอุตสาหกรรมใดๆ เท่านั้น แต่จะขยายไปยังกลุ่มผู้บริโภคโดยตรงอีกด้วย
« Last Edit: August 07, 2017, 02:35:40 PM by news »

news on August 07, 2017, 02:29:17 PM
Factsheet

การสำรวจตลาดซอฟต์แวร์ไทยครั้งล่าสุดเป็นโครงการที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA: Digital Economy Promotion Agency) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มอบหมายให้สถาบันไอเอ็มซี (IMC) เป็นคณะผู้วิจัยต่อเนื่องเป็นปีที่สอง พันธกิจหลักคือ การนำข้อมูลที่สำรวจได้ไปใช้ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และดิจิทัลคอนเทนต์ โดยตรง ซึ่งในทุกปีที่ผ่านมา สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (SIPA) ได้ทำสำรวจตลาดเป็นประจำ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลไปใช้วางแผนกลยุทธ์ของหน่วยงาน แต่เนื่องด้วย พ.ร.บ. การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ประกาศใช้แล้ว ทำให้มีการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ซึ่งมีผลให้ SIPA ถูกยุบและโอนย้ายภาระงานต่างๆที่ยังผูกพันไปยัง DEPA งานสำรวจข้อมูลนี้จึงเป็นการทำงานต่อเนื่องภายใต้หน่วยงานใหม่ คือ DEPA

แม้การสำรวจข้อมูลอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ภายใต้โครงการนี้ จะทำการสำรวจเฉพาะรายได้ของซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ ไม่รวม Software-enable Service อย่าง Agoda, Ookbee, Netbay, Grab, Line Man เป็นต้น แต่ตัวเลขภาพรวมตลาดซอฟต์แวร์ไทยปี 2559 ก็ยังมีจุดน่าสนใจ ได้แก่

•   มูลค่าการผลิตซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ 50,129 ล้านบาท โดยมีมูลค่าลดลงจากปี 2558 ร้อยละ 4.63
•   มูลค่าดังกล่าวแบ่งเป็นซอฟต์แวร์สำเร็จรูป มูลค่า 12,730 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 9.51 และบริการซอฟต์แวร์ 37,399 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.84
•   ภาคการเงินยังคงเป็นสาขาที่มีการใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์และบริการมากที่สุด รองลงมา คือ หน่วยงานราชการและท่องเที่ยว
•   การผลิตซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัว (Embedded Software) ในปี 2559 มีมูลค่า 5,277 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 12.62 จากปี  2558
•   ด้านการส่งออก ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ในประเทศไทยส่งออกซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์มีมูลค่ารวม 3,714 ล้านบาท ขณะที่มีการส่งออกซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัว 2,478 ล้านบาท รวมมูลค่าการส่งออกซอฟต์แวร์ในปี 2559 ทั้งสิ้น 6,192 ล้านบาท
•   คาดการณ์ว่าปี 2560 และ 2561 ตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ของไทยจะมีการหดตัวลงราว 4-5% ต่อปี หรือมีมูลค่าการผลิตในประเทศราว 47,623 - 48,124 ล้านบาท
•   มูลค่าการผลิตซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัวในปี 2560 และ 2561 ประมาณการว่ามีอัตราการเติบโตกลับขึ้นมาจากปี 2559 ปีละราวร้อยละ 5 คิดเป็นมูลค่า 5,541 ล้านบาท และ 5,818 ล้านบาท ตามลำดับ
•   ปี 2559 ประเทศไทย มีมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์นำเข้า 31,158 ล้านบาท ลดลงจากปี 2558 ราวร้อยละ 5.42 (มูลค่าปี 2558 อยู่ที่ 32,944 ล้านบาท) ส่วนมูลค่าซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์เพื่อการพัฒนาในองค์กร (In-House) อยู่ที่ 15,834  ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 6.25 (มูลค่าปีก่อน 14,903 ล้านบาท) และมีจำนวนบุคลากรที่เป็นฐานการผลิตซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ 56,083 คน
•   หนึ่งในบทสรุปของการสำรวจครั้งนี้คือ คณะผู้วิจัยได้ขอเสนอแนะให้เปลี่ยนวิธีการสำรวจตลาด โดยควรทำการสำรวจส่วน Software-Enable Service ด้วย เนื่องจากเป็นแนวโน้มของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่กำลังเกิดขึ้น และมีโอกาสที่จะสร้างมูลค่าอีกมาก โดยไม่ได้จำกัดอยู่ในวงอุตสาหกรรมใดๆ เท่านั้น แต่จะขยายไปยังกลุ่มผู้บริโภคโดยตรงอีกด้วย
« Last Edit: August 07, 2017, 02:36:43 PM by news »

news on August 08, 2017, 03:36:09 PM
ดีป้า เผยมาตรการช่วยผู้ประกอบการซอฟต์แวร์



ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ (ที่สามจากซ้าย) ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ดร.กษิติธร ภูภราดัย (ที่สองจากขวา) รองประธานคณะทำงานเพื่อพัฒนาแผนส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล รศ.ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ (ซ้าย) หัวหน้าโครงการ จากสถาบันไอเอ็มซี จำรัส สว่างสมุทร (ที่สองจากซ้าย) ผู้อำนวยการใหญ่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ปฐม อินทโรดม (ที่สามจากขวา) กรรมการ Creative Digital Economy, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ กษมา กองสมัคร (ขวา) คณะทำงานเพื่อพัฒนาแผนส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล จัดงานแถลงผลการสำรวจตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ประจำปี 2559 และคาดการณ์ปี 2560 และ 2561 เชื่อสามารถกระตุ้นอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังซบเซาในยุคการแข่งขันของเศรษฐกิจใหม่ ณ โรงแรมเรอเนสซองซ์ กรุงเทพ ราชประสงค์ เมื่อเร็ว ๆ นี้