ยุทธศาสตร์ 20 ปีของไทย อยู่ตรงไหนในอาเซียน 4.0
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังจะเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด จากประเทศไทย 3.0 ที่เน้นอุตสาหกรรมหนัก แต่ต้องเผชิญกับดักรายได้ปานกลางที่ไม่อาจนำพาประเทศก้าวไปได้มากกว่านี้ ไปสู่ ประเทศไทย 4.0 โดยมีเป้าหมายก้าวเป็นประเทศมีรายได้สูงหรือประเทศพัฒนาแล้วในอนาคต ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ที่ต้องเพิ่มศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรม ดังนั้น การขับเคลื่อนประเทศไทยจาก 3.0 ไปสู่ 4.0 สิ่งที่ต้องใส่เข้าไปคือ นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคงจะต้องเป็นการขับเคลื่อนแนวทางนี้ไปพร้อมๆกันระหว่าง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน ตามแผนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 หรือ AEC Blueprint 2025 ที่ได้กำหนดไว้ว่า นวัตกรรมในอาเซียน จะเป็นเสาหลักหนึ่งของพลวัตอาเซียน
ประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศเดียวในกลุ่มอาเซียนที่กำลังใช้แนวทางนี้ หลายประเทศในอาเซียนต่างก็เลือกแนวทางนี้เช่นกัน ทั้งนี้ นวัตกรรมจะช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าและต่อยอดห่วงโซ่อุปทานในตลาดโลก (Global Supply Chain) ได้ หากคัดเฉพาะประเทศที่นโยบายน่าสนใจ และเป็นคู่แข่งขันของไทย ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย มีนโยบายโดยสรุป ดังนี้
ประเทศไทย 4.0 เป็นการกำหนดโมเดลเศรษฐกิจใหม่ เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ ไปสู่ “Value–Based Economy” หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน 3 มิติ คือ 1) เปลี่ยนจากการผลิตสินค้า “เกษตรหรือโภคภัณฑ์ดั้งเดิม” ไปสู่สินค้าเชิง “นวัตกรรม” 2) เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรม ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม และ 3) เปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้า ไปสู่การเน้นภาคบริการมากขึ้น โดยได้วางเป้าหมายไปที่ 10 อุตสาหกรรมให้เป็นกลไกขับเคลื่อน ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่, อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ, การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ, การแปรรูปอาหาร, หุ่นยนต์, การบินและโลจิสติกส์, เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ, ดิจิตอล และการแพทย์ครบวงจร
สิงคโปร์ Smart Nation สิงคโปร์ได้เริ่มแผนนี้มาตั้งแต่ปี 2557 โดยจะอาศัยระบบคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีต่างๆ มาดำเนินการ และอำนวยความสะดวกให้กับกิจการของรัฐ และชีวิตประจำวันของประชาชน ตัวอย่างเช่น Smart Urban จะติดตั้งกล่องเซ็นเซอร์ตามพื้นที่ต่างๆ เช่น เสาไฟบนถนน หรือป้ายรอรถประจำทาง ซึ่งจะสามารถตรวจวัดมลพิษในอากาศ ปริมาณน้ำฝน และระบุพื้นที่ที่มีการจราจรติดขัดได้ นอกจากนี้ ยังมีระบบตรวจสอบว่าถังขยะที่ใดเต็มและระบบเตือนให้ผู้คนที่ทิ้งขยะเรี่ยราดนำขยะไปทิ้งลงถัง Smart Healthcare จะมีการนำเซ็นเซอร์ขนาดเล็กมาแปะไว้ที่ผิวหนังเพื่อคอยตรวจดูชีพจร อุณหภูมิของร่ายกาย ความดันโลหิต แล้วส่งข้อมูลกลับมายังโรงพยาบาลเพื่อให้ทีมแพทย์คอยเฝ้าระวังสุขภาพให้ รวมถึงมีระบบเฝ้าระวังผู้สูงอายุ สำหรับแจ้งเตือนเมื่อมีเหตุผิดปกติเกิดขึ้นกับญาติผู้ใหญ่ Smart Nation Platform จะมีการจัดโปรแกรมเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนชาวสิงคโปร์เรียนรู้เทคโนโลยีด้าน IT ตั้งแต่เด็ก โดยสอนเนื้อหาตั้งแต่การพัฒนาซอฟต์แวร์ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก และความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
มาเลเซีย One Malaysia มาเลเซียยังมุ่งมั่นเป็นประเทศพัฒนาแล้วในปี 2020 หรือ พ.ศ.2563 จึงประกาศปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่อีกครั้งในปี 2553 หรือการปฏิรูปรอบที่ 2 เรียกว่า “One Malaysia” โดยหนึ่งในเป้าหมายหลักของมาเลเซียก็คือ การเสริมสร้างความเป็นอยู่ของประชาชนในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งการดำเนินงานทางเศรษฐกิจที่เห็นได้ชัดของมาเลเซีย คือ การปฏิรูปเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมการผลิตที่พึ่งพาแรงงานต่างชาติเป็นหลัก มาเป็นอุตสาหกรรมฐานความรู้ที่เน้นการสร้างนวัตกรรมและเน้นการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงแทน สร้างเมืองไซเบอร์ตามโครงการ "Multimedia Super Corridor” เพื่อพัฒนาความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องและเพื่อส่งเสริมการลงทุน การทำธุรกิจ การค้นคว้าและวิจัย มีการติดตั้งโครงข่ายโทรคมนาคมที่ทันสมัยระดับโลก เพื่อให้บริการที่มีคุณภาพและเพียงพอกับความต้องการของธุรกิจ อุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
อินโดนีเซีย MP3EI อินโดนีเซียได้วางเป้าหมายที่จะพัฒนาเศรษฐกิจให้กลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปีพ.ศ.2568 ผ่าน “แผนแม่บทพัฒนาเศรษฐกิจอินโดนีเซียพ.ศ.2554-2568” (Master Plan for Acceleration and Expansion of Indonesia Economic Development 2011-2025) หรือที่มีชื่อย่อว่าแผน “MP3EI” ขึ้นในปี 2554 เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศ
1. การพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจในภูมิภาคใน 6 เขตเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ เขตเศรษฐกิจสุมาตรา, เขตเศรษฐกิจชวา, เขตเศรษฐกิจกาลิมันตัน, เขตเศรษฐกิจสุลาเวสี, เขตเศรษฐกิจบาหลี และเขตเศรษฐกิจปาปัว โดยการสร้างและพัฒนาให้เกิดกลุ่มอุตสาหกรรมในพื้นที่ และเน้นธุรกิจสาขาที่มีศักยภาพ
2. สร้างความเข้มแข็งให้กับการเชื่อมต่อภายในประเทศและต่างประเทศ ภายใต้แนวคิด “Locally Integrated, Globally Connected” โดยมีนโยบายที่จะทำให้เกิดการเชื่อมต่อเขตเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศใน 4 ระบบเข้าด้วยกัน คือ ระบบโลจิสติกส์ ระบบขนส่ง ระบบการพัฒนาพื้นที่ระดับภูมิภาค และระบบ ICT
3. สร้างความเข้มแข็งให้กับทรัพยากรมนุษย์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยรัฐบาลจะสนับสนุนให้มีการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ในการผลิต เพื่อทำให้สินค้าเกิดมูลค่าเพิ่ม
นายอมรเทพ กล่าวว่า หากดูตัวเลขภาพรวมโดยใช้เกณฑ์การจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ประเทศไทยจะอยู่ที่ลำดับ 3 จาก 10 ประเทศอาเซียน รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย แต่มีคะแนนขยับขึ้นมาใกล้เคียงกับมาเลเซียมากขึ้น แต่ประเทศไทยยังคงต้องเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อดึงดูดเอกชนให้ลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่จะมาพร้อมเทคโนโลยี เพราะหากประเทศไทยไม่พร้อมหรือมีความล่าช้า ประเทศอื่นในอาเซียนที่พร้อมเดินหน้าในรูปแบบ 4.0 ก็เตรียมแย่งชิงนักลงทุนกลุ่มนี้เช่นกัน
กล่าวโดยสรุป การเปลี่ยนผ่านของไทยไปสู่ ประเทศไทย 4.0 จะต้องเกิดขึ้นคู่ขนานไปกับ การเปลี่ยนผ่านไปสู่อาเซียน 4.0 ซึ่งต้องอาศัยการเติบโตไปด้วยกันและจะต้องมีการรวมตัวกันอย่างลึกซึ้งมากขึ้น เพื่อต่อยอดการพัฒนาไปเป็นประชาคมที่มีความสามารถทั้งในด้านการแข่งขัน นวัตกรรม และพลวัต โดยมุ่งเน้นการขับเคลื่อนการเติบโตด้วยประสิทธิภาพการผลิต นวัตกรรม การวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคธุรกิจ รวมทั้งเพื่อส่งเสริมบทบาทของอาเซียนภายใต้วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 ทั้งนี้ อนาคตประเทศไทยภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนั้นเป็นเรื่องที่คนไทยจะหันหลังกลับหรือนิ่งเฉยไม่ได้ เพราะหากเราไม่เดินหน้าไปพร้อมกับชาติอาเซียนอื่น ประเทศไทยจะค่อยๆ ถูกลดบทบาทและถูกผลักออกจากห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค ในวันนี้ เราคงมีทางเลือกเพียง 2 ทาง คือ จะอยู่และเติบโตไปกับอาเซียน 4.0 หรือค่อยๆ ถูกลดความสำคัญและตัดออกไปจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในอีก 10 ปีข้างหน้า ไม่ว่าจะไปทางไหน เราต้องเตรียมรับมือการเปลี่ยนแปลงทั้ง 2 ทางให้ดี
BOX : กลไกของอาเซียนในอีก 10 ปีข้างหน้า
อาเซียนเป็นกลไกทางภูมิภาคที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศสมาชิกสู่ความเป็นประเทศเศรษฐกิจที่เจริญรุ่งเรืองด้วยพลวัตสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก อาเซียนมีประชากรที่มีความเป็นมาและมีวัฒนธรรมต่างๆที่หลากหลาย การเกิดการค้าเสรีในทุกรูปแบบตาม “วิถีของเซียน” ย่อมต้องใช้เวลาและความอดทนสูง อาเซียนจึงจำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนค.ศ.2025 ซึ่งระบุภาพรวมและทิศทางของอาเซียนในอีก 10 ปีข้างหน้าที่จะต้องมีการรวมตัวกันอย่างลึกซึ้งมากขึ้นและมีแผนงานฉบับใหม่เพื่อขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นต่อไป ทั้งนี้ สำนักเลขาธิการอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา ได้กำหนดวิสัยทัศน์ในส่วนของแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยมีองค์ประกอบหลัก 5 ด้าน ดังนี้
องค์ประกอบหลักที่ 1: มีการรวมตัวสูง (An Integrated and Highly Cohesive Economy) ประกอบด้วย การเปิดเสรีสินค้า โดยมุ่งเน้นการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการบริการ การเปิดเสรีบริการด้านการเงินและการพัฒนาตลาดทุน การอำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีฝีมือและนักธุรกิจ และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประเทศสมาชิกอาเซียนในห่วงโซ่มูลค่าโลก
องค์ประกอบหลักที่ 2: ความสามารถการแข่งขัน นวัตกรรม และพลวัต (Competitive, Innovative and Dynamic ASEAN) โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน การคุ้มครองผู้บริโภค การเสริมสร้างความร่วมมือทางทรัพย์สินทางปัญญา การขับเคลื่อนการเติบโตด้วยประสิทธิภาพการผลิต นวัตกรรม การวิจัยและพัฒนา การยึดหลักธรรมาภิบาล โดยคำนึงถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก (global mega trends)
องค์ประกอบหลักที่ 3: ขยายการเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจและการรวมตัวรายสาขา (Enhancing Economic Connectivity and Sector Integration): โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมและบูรณาการด้านการขนส่งในภูมิภาค เพื่อสนับสนุนการเคลื่อนย้ายสินค้าและประชาชนอย่างไร้พรมแดน รวมทั้งมุ่งเน้นการรวมตัวรายสาขาต่าง ๆ ได้แก่ อาหาร เกษตรและป่าไม้ การท่องเที่ยว สุขภาพ และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
องค์ประกอบหลักที่ 4: ครอบคลุมทุกภาคส่วน ยืดหยุ่น และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (Resilient, Inclusive and People - Centered ASEAN) โดยมุ่งสร้างความเข้มเข็งให้แก่ SMEs การเพิ่มบทบาทของภาคเอกชน ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน การลดช่องว่างด้านการพัฒนา และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
องค์ประกอบหลักที่ 5: เป็นส่วนสำคัญของประชาคมโลก (Global ASEAN) โดยการทบทวนและปรับปรุงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาและประเทศพันธมิตรภายนอกภูมิภาค รวมทั้งส่งเสริมบทบาทของอาเซียนในเวทีเศรษฐกิจระหว่างประเทศ