MSN on August 07, 2017, 08:09:04 AM
BRRGIF ปลื้มเข้าเทรดวันแรก นักลงทุนให้การตอบรับดี เหตุมั่นใจธุรกิจโรงไฟฟ้า



BRRGIF เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์วันแรกคึกคัก นักลงทุนให้ความสนใจหน่วยลงทุนเพียบ เหตุเชื่อมั่นศักยภาพการดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวล เพราะสามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงจากการทำสัญญาซื้อขายพลังงานระยะยาวกับ กฟภ. และมีการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอปีละ 2 ครั้ง ผู้บริหารชี้พื้นฐานแกร่ง อนาคตสดใส แย้มแผนงานอยู่ระหว่างศึกษาลงทุนโรงไฟฟ้าแห่งใหม่

นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เปิดเผยว่า การเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ (BRRGIF) ในวันแรกได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี เนื่องจากนักลงทุนเชื่อมั่นในศักยภาพการดำเนินธุรกิจของกองทุน ที่สามารถสร้างรายได้อย่างมั่นคง และให้ผลตอบแทนการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ

ทั้งนี้ BRRGIF จะเข้าไปลงทุนในสิทธิรายได้สุทธิจากการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าของบริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จํากัด (BEC) และบริษัท บุรีรัมย์เพาเวอร์ จํากัด (BPC) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กมาก (VSPP) ประเภทพลังงานความร้อนร่วม ที่ใช้กากอ้อยเป็นเชื้อเพลิงหลัก เป็นโรงไฟฟ้าสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในกลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ มีกําลังการผลิตไฟฟ้าโรงละประมาณ 9.9 เมกะวัตต์ รวม 19.8 เมกะวัตต์ โดย BEC และ BPC ได้เข้าทําสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มีอัตรารับซื้อไฟฟ้า แบบ Feed in Tariff (“FiT”) ในปริมาณพลังไฟฟ้าสูงสุดโรงละ 8 เมกะวัตต์ รวม 16 เมกะวัตต์ และมีกำลังการผลิตไอน้ำในส่วนของ BEC 85 ตันต่อชั่วโมง และ BPC มีกำลังการผลิตไอน้ำ 100 ตันต่อชั่วโมง

สำหรับรายได้จากโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งนั้น ปี 2559 อยู่ที่ 523 ล้านบาท มีอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ย 68% อย่างไรก็ตามตัวเลขดังกล่าวยังไม่สะท้อนถึงผลการดำเนินงานในอนาคตภายใต้โครงสร้างกองทุนได้ เนื่องจาก ปริมาณอ้อยเข้าหีบของโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ยังอยู่ช่วงการพัฒนา โดยคาดว่าปีฤดูกาลหีบอ้อย 2559/2560 นี้จะมีอ้อยเข้าหีบ 2.2 ล้านตัน และเพิ่มเป็น 3 ล้านตันในปี 2560/2561 ซึ่งจะมีปริมาณกากอ้อยสำหรับเป็นเชื้อเพลิงให้โรงไฟฟ้าทั้ง 2 โรงได้เพียงพอกับช่วงการดำเนินงานของกองทุนเต็มปี ซึ่งจากการเตรียมความพร้อมด้านเชื้อเพลิงชีวมวล การปรับโครงสร้างการบริหาร การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการกำหนดสัญญาในการประกอบกิจการที่เหมาะสม ดังนั้นภายหลังการจัดตั้งกองทุนฯ  โรงไฟฟ้าจะมีผลการดำเนินงานที่ต่างจากที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันบริษัทน้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าต่อเนื่อง โดยจะนำเม็ดเงินที่ได้มาจากการขายสิทธิรายได้สุทธิฯ จากโรงไฟฟ้าทั้ง  2 แห่ง มาใช้ต่อยอดธุรกิจน้ำตาลทรายและธุรกิจต่อเนื่อง โดยจะมีการพิจารณาก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มเติมด้วย

“นโยบายสนับสนุนการพัฒนาพลังงานชีวมวลของภาครัฐน่าจะส่งเสริมการขยายธุรกิจโรงไฟฟ้าในอนาคต โดย BRR มีแผนจะศึกษาสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในอนาคตเพิ่มเติมและมีโอกาสนำเข้ากองทุน BRRGIF ด้วย” นายอนันต์ กล่าว

นายพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.บัวหลวง เปิดเผยว่า กองทุนนี้เป็นกองทุนที่น่าสนใจเนื่องจาก เป็นกองทุนที่ลงทุนในสิทธิรายได้สุทธิฯ ที่จะเกิดขึ้นจากการประกอบกิจการของโรงไฟฟ้าชีวมวลในกลุ่มบุรีรัมย์ ที่มีความมั่นคงทั้งในด้านของรายได้จากสัญญาการขายไฟฟ้าให้กับ กฟภ. แบบ FiT  โดย  BEC  มีสัญญาขายไฟฟ้าถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2571 ขณะที่ BPC มีสัญญาขายไฟฟ้าถึงวันที่ 6 เมษายน 2578

ขณะเดียวกันยังมีความมั่นคงทางด้านวัตถุดิบที่เป็นเชื้อเพลิงอย่างกากอ้อย ที่เป็นผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาล และไม่มีต้นทุนค่าขนส่งเนื่องจากซื้อจากโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับโรงไฟฟ้าทั้งสอง นอกจากนี้ โรงไฟฟ้ายังมีการทำสัญญาซื้อวัตถุดิบระยะยาวกับโรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ ในลักษณะช่วยป้องกันความเสี่ยงในความผันผวนของราคาและปริมาณที่ได้รับด้วย อนึ่ง กองทุนฯ ยังมีโอกาสเติบโตจากการเข้าลงทุนในทรัพย์สินโรงไฟฟ้าใหม่ของกลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ที่มีแผนการขยายต่อเนื่อง ดังนั้นกองทุนฯนี้จึงเหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนสม่ำเสมอในระยะยาว

ขณะที่กองทุนมีนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่าปีละ 2 ครั้ง โดยการจ่ายเงินผู้ถือหน่วยนั้นได้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เงินปันผลจากกำไรสุทธิของกองทุน และเงินจ่ายคืนจากการลดเงินลงทุนในรายได้สุทธิ (ลดทุน) ซึ่งผู้สอบบัญชีได้จัดทำประมาณการกำไรขาดทุน และการปันส่วนกำไรในรอบ 12 เดือน ประมาณการเงินปันผลของกองทุนไว้ที่ประมาณ 6.5% และเงินจ่ายคืนจากการลดทุนประมาณ 4.7% รวมเป็นเงินจ่ายให้แก่ผู้ถือหน่วยประมาณ 11.2% โดยเป็นการคำนวณจากขนาดกองทุนที่ 3,717 ล้านบาท (ขนาดกองทุนจากการระดมทุนจริงอยู่ที่ 3,605 ล้านบาท)

นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุน เปิดเผยว่า กองทุนฯ จะได้รับรายได้สุทธิฯ ตามสูตรการคํานวณภายใต้สัญญาโอนสิทธิรายได้สุทธิฯ  ซึ่งประกอบด้วย (1) รายได้ค่าซื้อขายไฟฟ้า (2) รายได้ค่าซื้อขายไอน้ำ (3) รายได้อื่นที่ได้รับจากการประกอบกิจการ โรงไฟฟ้า หักด้วย (4) ค่าใช้จ่ายของโรงไฟฟ้า

“จุดเด่นของกองทุน BRRGIF คือ รายได้ที่มั่นคงจากการทำสัญญาซื้อขายเชื้อเพลิงชีวมวลที่แน่นอนในระยะยาวและครอบคลุมระยะเวลาลงทุนของกองทุน และการจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ กองทุน BRRGIF จึงเหมาะสำหรับนักลงทุนต้องการลงทุนระยะยาว ไม่ชอบความผันผวน และชื่นชอบการจ่ายเงินปันผลที่สม่ำเสมอและสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก รวมไปถึงยังได้รับยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย เป็นระยะเวลา 10 ปี”
« Last Edit: August 07, 2017, 02:48:49 PM by MSN »