SACICT SMART CRAFT พัฒนาทักษะและศักยภาพเชิงลึกผู้ประกอบการงานศิลปหัตถกรรมไทยสู่สากล
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT จัดทำโครงการ SACICT SMART CRAFT พัฒนาทักษะและศักยภาพเชิงลึกผู้ประกอบการงานศิลปหัตถกรรม ยกระดับองค์ความรู้ แนวคิด ทักษะ เทคนิค ในการทำธุรกิจ พร้อมส่งเสริมการทำเครือข่ายหัตถกรรม แลกเปลี่ยน เชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่า ดึงนักคิด นักโฆษณา ดีไซเนอร์ ผู้เชี่ยวชาญเอสเอ็มอี การตลาดออนไลน์ มืออาชีพด้านแบรนด์ การสื่อสารชั้นนำของเมืองไทย ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ องค์ความรู้ แนวคิดการทำงาน ให้นักหัตถกรรมรุ่นใหม่ เสริมสร้างความแข็งแกร่ง บุคลากรงานศิลปหัตถกรรมไทย ผงาดในตลาดสากลอย่างยั่งยืนต่อไป
นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า การพัฒนาทักษะและศักยภาพเชิงลึกผู้ประกอบการงานศิลปหัตถกรรม หรือ SACICT SMART CRAFT เป็นหนึ่งในภารกิจการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนางานศิลปหัตถกรรม สู่การต่อยอดในเชิงพาณิชย์ การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ ตลอดจนการเชื่อมโยงเครือข่ายหน่วยงาน และ Value Chain จึงได้กำหนดจัดกิจกรรมการพัฒนาทักษะและศักยภาพเชิงลึกให้กับผู้ประกอบการงานศิลปหัตถกรรมใน 3 กลุ่มงาน ได้แก่ กลุ่มงานจักสาน กลุ่มงานเซรามิค และกลุ่มพัฒนาตราสินค้า เพื่อเพิ่มสมรรถนะการทำธุรกิจการค้าให้กับสมาชิกผู้ประกอบการงานหัตถกรรมของ ศ.ศ.ป. มีความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจ การพัฒนาสู่เครือข่ายผู้ประกอบการทั้ง Value Chain ที่เข้มแข็ง มีช่องทางในการตลาดที่หลากหลาย และสามารถนำมาพัฒนาองค์ความรู้ไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพการดาเนินธุรกิจของตนเอง เป็นการสร้างรากฐานผู้ประกอบการศิลปหัตถกรรมให้เติบโตอย่างเข้มแข็งและมีความยั่งยืนต่อไป
SACICT SMART CRAFT ในปีนี้ มุ่งหวังจะเพิ่มสมรรถนะการทำธุรกิจการค้า องค์ความรู้ แนวคิด ทักษะ เทคนิค ในการดำเนินธุรกิจแก่ผู้ประกอบการงานหัตถกรรมให้มีความเข้มแข็งและสามารถแข่งขันได้ในตลาดสากล อีกทั้งยังส่งเสริมการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายหัตถกรรมที่เข้มแข็ง เกิดเครือข่ายการค้า การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่า โดยเรียนเชิญดีไซเนอร์รุ่นใหม่ นักวิชาการ นักการตลาด นักสร้างแบรนด์ชั้นนำของเมืองไทย เป็นผู้ถ่ายทอดในการอบรมเชิงปฏิบัติการแก่นักหัตถกรรมรุ่นใหม่ โดยได้เชิญนักสร้างสรรค์และบุคคลในแวดวงศิลปหัตถกรรมไทยมาบรรยายให้ความรู้มากมาย อาทิ คุณกรกต อารมณ์ดี ผู้อำนวยการ ฝ่ายออกแบบผลิตภัณฑ์ บริษัท กรกต อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด คุณทศพล ศุภเมธีกูลวัฒน์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท New Arriva จำกัด คุณวีระยุทธ เชื้อไทย รองผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอี (ตลาดออนไลน์) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ดร.รพีรัฐ ธัญวัฒน์พรกุล ที่ปรึกษาทางธุรกิจและอาจารย์พิเศษทางด้านการจัดการกลยุทธ์ ผศ.ดร.ศศิประภา พันธนาเสวี รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ดร.พีรชัย เกิดสินธุ์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผศ.เสริมยศ ธรรมรักษ์ หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารแบรนด์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
คุณโอลิเวอร์ กิตติพงษ์ วีระเตชะ ประธานอานวยการ Y&R ประเทศไทย และคุณดลชัย บุณยะรัตเวช ประธานกรรมการ บริษัท เดนท์สุ วัน (กรุงเทพฯ)
นางอัมพวัน กล่าวต่อว่า ผู้เข้าอบรมในโครงการ SACICT SMART CRAFT จะสามารถสร้างแนวคิดในการดำเนินธุรกิจใหม่ มีความพร้อมในการแข่งขันและมีการเติบโตผ่านการเรียนรู้แนวคิดทางด้านแผนธุรกิจ การต่อยอดผลิตภัณฑ์ การนำเสนอและการเล่าเรื่องราวคุณค่าผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการสร้างและพัฒนาตราสินค้าของตนเองได้ อีกทั้งสามารถพัฒนาศักยภาพและเพิ่มสมรรถนะในการทำธุรกิจผ่านการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ แนวคิด ทักษะ และเทคนิคทางด้านการบริหารธุรกิจ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและสามารถแข่งขัน ในตลาดสากลได้อย่างยั่งยืน และเกิดการสร้างคุณค่าทางธุรกิจผ่านการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายหัตถกรรมที่เข้มแข็ง เกิดเครือข่ายการค้า การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการเชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่า ซึ่งจะทำให้สามารถแข่งขันในตลาดสากลได้อย่างยั่งยืนต่อไป