Factsheet เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติการออกแบบโครงสร้างในอาคารสูง บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)
วัตถุประสงค์หลัก
เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานให้แก่วิศวกรที่ได้รับการว่าจ้างจากบริษัท ในการออกแบบวิศวกรรมโครงสร้างและการตรวจสอบการคำนวณงานออกแบบดังกล่าวให้มีแนวทางในการปฏิบัติงาน เป็นที่ยอมรับร่วมกัน
เนื้อหาส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ผลของแรงแผ่นดินไหว แรงลม และการออกแบบฐานรากสำหรับอาคารสูง โดยเน้นประเด็นที่แต่เดิมมีการปฏิบัติไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน หรือที่วิศวกรทั่วไปอาจจะมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไป รวมถึงทำการขยายความที่ระบุอยู่ในมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือที่ยังขาดความชัดเจนในมาตรฐานที่มีอยู่ในประเทศไทย โดยได้นำข้อมูลจากมาตรฐานในต่างประเทศมาอ้างอิงเพิ่มเติมด้วย โดยเป็นการสร้างแนวทางสู่ความปลอดภัยของอาคารสูงที่ได้มาตรฐานมากขึ้นในอนาคต อันเกิดจากการปฏิบัติงานที่แม่นยำจากความเข้าใจที่ถูกต้องและชัดเจน ตลอดจน ลดข้อผิดพลาดและประหยัดเวลาในการทำงาน
บทที่ 1
กล่าวถึงการสร้างแบบจำลองคณิตศาสตร์ของโครงสร้าง เช่น การจำลองแผ่นพื้นไร้คาน ค่าสติฟเนสประสิทธิผลของชิ้นส่วนโครงสร้าง และข้อพิจารณาที่ไม่ควรละเลย เช่น การใส่น้ำหนักบรรทุกจรที่ไม่สม่ำเสมอ การพิจารณาผลของ P-delta และการตรวจสอบผลวิเคราะห์ที่ได้จากคอมพิวเตอร์
บทที่ 2
เน้นหลักการออกแบบโครงสร้างให้สามารถต้านทานแผ่นดินไหว โดยอธิบายและเน้นประเด็นที่วิศวกรไทยไม่ค่อยคุ้นเคย และอาจไม่ให้ความสำคัญเช่น การใช้ค่าตัวประกอบกำลังส่วนเกิน ข้อกำหนดเพิ่มเติมเมื่อโครงสร้างมีความไม่สม่ำเสมอของรูปทรงและการกระจายมวลกับสติฟเนส การคำนึงถึงผลของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นจากหลายทิศทางพร้อมกัน การบิดโดยบังเอิญ ตอนท้ายได้นำข้อมูลจากมาตรฐาน ACI 318 เกี่ยวกับการให้รายละเอียดการเสริมเหล็กให้โครงข้อแข็งและกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กมีความเหล็กแบบพิเศษมาสรุปไว้ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ในกรณีที่อาคารตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีโอกาสได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวค่อนข้างรุนแรง แต่ยังไม่มีอยู่ในมาตรฐานของประเทศไทย
บทที่ 3
เกี่ยวกับการคำนวณแรงลมและการตอบสนองของอาคาร สำหรับออกแบบโครงสร้างหลักต้านทานแรงลม และโครงสร้างรอง เช่น ผนังรอบอาคาร โดยได้อธิบายเกณฑ์มาตรฐานสำหรับการคำนวณแรงลมและการตอบสนองของอาคาร ทั้งวิธีการคำนวณตามมาตรฐาน และการทดสอบแบบจำลองในอุโมงค์ลม รวมทั้งได้แนะนำวิธีการพิจารณาอาคารที่ต้องมีการทดสอบต้านทานแรงลม นอกจากนี้ ได้จัดทำตัวอย่างการคำนวณไว้ในภาคผนวกได้แนะนำการเลือกใช้อัตราส่วนความหน่วงสำหรับออกแบบด้านกำลังและสำหรับออกแบบด้านการใช้งาน รวมทั้งวิธีการพิจารณาอัตราเร่งสูงสุดในแนวราบ ทั้งในทิศทางลม ทิศตั้งฉากกับทิศทางลม และทิศทางการบิด แต่เนื่องจากแรงลมที่กระทำกับอาคารใน 3 ทิศทางจะถึงค่าสูงสุดไม่พร้อมกัน ดังนั้น จะพิจารณาการรวมผลของอัตราเร่งสูงสุดใน 3 ทิศทาง โดยใช้หลักความน่าจะเป็นที่เหมาะสม
บทที่ 4
การออกแบบฐานรากอาคาร โดยเอกสารฉบับนี้ ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเจาะสำรวจและการแปลผลข้อมูลดินที่เหมาะสม เช่น ประเภทและวิธีการทดสอบที่ควรดำเนินการ จำนวนและความลึกของหลุมเจาะสำหรับโครงการขนาดต่างๆ นอกจากนี้ยังแนะนำสิ่งต่างๆ ที่ควรคำนึงถึงในการออกแบบฐานราก เช่น ความคลาดเคลื่อนที่ยอมให้ในการก่อสร้าง การกำหนดขั้นตอนการทำงาน อิทธิพลของระยะห่างเสาเข็มที่มีต่อกำลังรับน้ำหนักของเสาเข็มกลุ่ม อิทธิพลของระดับน้ำใต้ดินต่อกำลังของเสาเข็ม การออกแบบจุดต่อระหว่างหัวเสาเข็มกับแป้นฐานราก การเสริมเหล็กในเสาเข็ม และการคำนวณการทรุดตัวของเสาเข็ม เป็นต้น
บทที่ 5
กล่าวถึงการเสริมเหล็กป้องกันการถล่มของแผ่นพื้นไร้คาน และได้จัดทำตัวอย่างการคำนวณไว้ ในภาคผนวกด้วยเพื่อเสริมความเข้าใจในการนำเอกสารนี้ไปประยุกต์ใช้ต่อไป