MSN on July 18, 2017, 03:59:11 PM
โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติเปิดโอกาสให้เยาวชนจาก 21 ประเทศได้เข้าร่วมประสบการณ์การพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย



วันที่ 18 กรกฎาคม 2560 กรุงเทพฯ - เยาวชนกว่า 200 คนจาก 21 ประเทศได้เดินทางมายังกรุงเทพมหานคร เพื่อเข้าร่วมโครงการเยาวชนแลกเปลี่ยนเอเชียแปซิฟิกครั้งที่ 4 (Asia-Pacific Youth Exchange; APYE) โดยโครงการนี้เป็นการรวมตัวกันของตัวแทนเยาวชนไทยจากทั่วประเทศ และเยาวชนจากประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพื่อเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมทางสังคมซึ่งจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยื่น (the Sustainable Development Goals; SDGs)

ปัจจุบันเยาวชนประมาณ700ล้านคนซึ่งคิดเป็นจำนวนเกินกว่าครึ่งหนึ่งของเยาวชนทั่วโลกนั้นพำนักอาศัยอยู่ในเขตเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเยาวชนเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยื่นต่อไปในอนาคต บทบาทของเยาวชนไทยที่มีความรู้ ความสามารถ และความคิดใหม่ๆจึงทวีความสำคัญขึ้นตามไปด้วยด้วยเหตุนี้โครงการAPYEจึงเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยร่วมเรียนรู้กับเยาวชนจากประเทศอื่นๆในการเสริมสร้างศักยภาพที่สำคัญ เช่น การเป็นผู้นำ กระบวนการคิดเชิงออกแบบ การร่วมมือข้ามวัฒนธรรม และการทำงานเป็นทีม

โดยกิจกรรมของโครงการนี้ประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่
1. การอบรมเพื่อพัฒนาการเป็นผู้นำ2.การเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างลึกซึ้ง และ3. การประชุมเยาวชนนานาชาติซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ ได้ถูกออกแบบมาเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของเยาวชนเพื่อการนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน(SDGs) ในอนาคต

โครงการ APYE ในระยะเวลาสองอาทิตย์นี้ได้รับการสนับสนุนหลักจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP Thailand)ในการรวบรวมตัวแทนจากองค์กรต่างๆไม่ว่าจะเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม ภาคประชาสังคม หรือ หน่วยงานพหุภาคีอื่นๆ เช่น คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก(UNESCAP) รวมถึงตัวแทนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ
อาทิเช่น มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เพื่อมาเป็นวิทยากรให้คำแนะนำและพัฒนาเยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการ

นายมาร์ตินฮาร์ท-ฮานเซน (Mr. Martin Hart-Hansen) รองผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทยได้ให้สัมภาษณ์ว่า“พวกเราในฐานะตัวแทนของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทยรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดงานโครงการเยาวชนแลกเปลี่ยนเอเชียแปซิฟิกที่ได้เชื่อมโยงเยาวชนจากประเทศต่างๆ ให้ได้มีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมทางสังคมและการประกอบการสังคมเพื่อที่จะจุดประกายให้พวกเขานำวิธีการและแนวคิดใหม่ๆมาพัฒนาให้ประเทศและโลกดีขึ้นอย่างยั่งยืน” และนายมาร์ตินยังกล่าวต่อไปอีกว่า “การที่เยาวชนจากทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมารวมตัวกันที่ประเทศไทยนั้นเป็นสิ่งที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง และพวกเราก็ตั้งตารอที่จะฟังเรื่องราวที่น่าสนใจจากตัวแทนเยาวชนเหล่านั้นหลังจากที่พวกเขาได้เข้าไปเรียนรู้ถึงชุมชนและสังคมไทยในช่วงสองอาทิตย์ที่จะถึงนี้”

เยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการจะถูกแบ่งออกเป็น28กลุ่มตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และจะมีการไปลงพื้นที่ชุมชนทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด เช่นใน อ.คลองใหญ่ จังหวัดตราดซึ่งจะเป็นการทำงานเพื่อสนับสนุนเป้าหมายที่5 ความเท่าเทียมทางเพศ เป้าหมายที่10 ลดความเหลื่อมล้ำเป้าหมายที่14 การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล และเป้าหมายที่16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก เป็นต้น เพื่อให้เยาวชนเกิดความเข้าใจถึงปัญหาอย่างลึกซึ้ง โดยแต่ละกลุ่มจะเข้าไปเรียนรู้ความต้องการของแต่ละชุมชนตามความสนใจและหัวข้อที่ได้รับและเตรียมคิดนำเสนอถึงวิธีรับมือและการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น

เยาวชนจากประเทศทั้ง 21 ประเทศที่มาเข้าร่วมโครงการได้แก่ 1.ออสเตรเลีย 2.บังกลาเทศ 3.ภูฏาน 4.จีน 5.เยอรมัน 6.อินเดีย 7.อินโดนีเซีย 8.เม็กซิโก9.เมียนมาร์ 10.เนปาล 11.นิวซีแลนด์ 12.ปากีสถาน 13.ปาเลสไตน์ 14.โรมาเนีย 15.รัสเซีย 16.แอฟริกาใต้ 17.เกาหลีใต้ 18.ศรีลังกา19.ฟิลิปปินส์ 20.เวียดนาม และ 21.ไทย

โครงการเยาวชนแลกเปลี่ยนเอเชียแปซิฟิก(APYE) นี้ได้ร่วมมือกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ภายใต้แพลตฟอร์มนวัตกรรมเพื่อสังคมแห่งประเทศไทย(Thailand Social Innovation Platform; TSIP) โดยมีเป้าหมายที่จะเสริมสร้างศักยภาพให้กับเยาวชนบนพื้นฐานของนวัตกรรมทางสังคมเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างมีประสิทธิภาพ

ยุทธศาสตร์ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติเพื่อเยาวชน(UNDP’s Youth Strategy) ตั้งแต่ปีคศ. 2014 ไปจนถึงปี 2017 ได้ตอบรับกระแสในปัจจุบันที่เยาวชนได้มีการเรียกร้องการมีส่วนร่วมทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมโดยเปิดโอกาสให้เยาวชนทุกคนมีส่วนร่วมที่สำคัญในกระบวนการตัดสินใจและการพัฒนาเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

เป้าหมายที่ 1 การขจัดความยากจน
เป้าหมายที่ 2 การยุติความหิวโหย
เป้าหมายที่ 3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
เป้าหมายที่ 4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
เป้าหมายที่ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ
เป้าหมายที่ 6 การมีน้ำและสุขาภิบาลที่ดี
เป้าหมายที่ 7 พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้
เป้าหมายที่ 8 งานที่มีคุณค่าและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
เป้าหมายที่ 9 อุตสาหกรรมนวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน
เป้าหมายที่ 10 การลดความเหลื่อมล้ำ
เป้าหมายที่ 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
เป้าหมายที่ 12 การผลิตและบริโภคที่มีความรับผิดชอบ
เป้าหมายที่ 13 การรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เป้าหมายที่ 14 การอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรทางทะเล
เป้าหมายที่ 15 การอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรบนบก
เป้าหมายที่ 16 สันติภาพความยุติธรรมและองค์กรที่มั่นคง
เป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
« Last Edit: July 18, 2017, 09:43:07 PM by MSN »