happy on July 13, 2017, 07:08:35 PM
รพ.กรุงเทพ ชูเทคนิคผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม
แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อด้วยเทคนิคซ่อนแผลผ่าตัด
เจ็บน้อย ฟื้นไว เคลื่อนไหวสะดวก


                       หลายคนกังวลใจเกี่ยวกับอาการปวดบริเวณข้อสะโพกทำให้คุณเกิดความทรมานเพราะทุกวันนี้มีผู้ป่วยจำนวนมากที่ยังอายุน้อยและอาจจะต้องเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมจำนวนมากและพบว่าปัจจัยเสี่ยงที่พบบ่อยครั้งมาจากการดื่มแอลกอฮอล์จัดและการใช้ยาสเตียรอยด์อย่างต่อเนื่องเป็นปริมาณมากในคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ตัวเอง SLE โรคไต รูมาตอยด์ ซึ่งสเตียรอยด์จะเป็นตัวไปทำลายกระบวนการทำงานของหลอดเลือดที่เข้าไปเลี้ยงกระดูก ทำให้กระดูกหัวสะโพกตายและพังได้ในที่สุด หรือบางคนมีความผิดปกติของสะโพกเสื่อมผิดรูปมาแต่กำเนิด ฯลฯ ทางศูนย์ข้อสะโพกและข้อเข่ากรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ เล็งเห็นความสำคัญจึงได้แนะนำวิธีการรักษาด้วยเทคนิคการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแนวใหม่แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อด้วยเทคนิคการซ่อนแผลผ่าตัดหรือที่เรียกว่า (Direct Anterior Approach Cosmetic Incision Hip Replacement)


                       นพ.วัลลภ สำราญเวทย์ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อสะโพกและข้อเข่ากรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ในปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยโรคข้อสะโพกมากขึ้น สำหรับประเทศไทยนั้น มีอุบัติการณ์ของการผ่าตัดข้อสะโพกเทียมเทียมปีละกว่า 25,000 ราย  พบได้ทั้งหญิงและชาย พบมากขึ้นในอายุ 40 ปีขึ้นไป โรคข้อสะโพกเสื่อมเกิดจากหลายปัจจัย โดยมักจะเกิดจากการสึกหรอของผิวข้อต่อระหว่างกระดูกเบ้าสะโพกและกระดูกต้นขา รวมไปถึงการทรุดตัวของหัวกระดูกต้นขา กระดูกสะโพกหัก โรคหัวกระดูกสะโพกตาย สำหรับวัยกลางคนจากสถิติ พบว่า มีปัญหากระดูกสะโพกเสื่อมได้เช่นกัน สาเหตุเนื่องมาจากดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป เพราะจะทำให้เลือดที่ไปเลี้ยงข้อสะโพกลดลง ทำให้กระดูกส่วนนั้นยุบหรือตาย กระดูกก็จะอ่อนแอทำให้ผิวเริ่มอักเสบ ขรุขระ ในบางคนทานยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ปริมาณมาก ส่งผลให้เลือดหนืดไหลเวียนไม่ดีไม่สามารถเลี้ยงหัวกระดูกสะโพกได้ เป็นสาเหตุทำให้หัวกระดูกสะโพกตาย อายุที่มากขึ้นทำให้กระดูกผิวข้อสึกกร่อน หรือโรครูมาตอยด์ ฯลฯ สัญญาณเตือนที่รับรู้ได้คือ มีอาการปวดสะโพกเรื้อรัง ปวดง่ามขาด้านหน้า เจ็บที่ข้อสะโพกขณะเดินหรือวิ่ง เจ็บเวลาลงน้ำหนัก ขึ้นลงบันไดและเวลาบิดสะโพก เดินกระเผลก เป็นต้น วิธีการรักษา เริ่มแรกรักษาด้วยการกินยา ฉีดยา กายภาพ แต่บางคนเป็นหนักจนกระทั่งข้อสะโพกไม่มีความเรียบ จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งในการผ่าตัดแบบเดิมจะใช้การผ่าตัดเข้าทางด้านหลังและด้านข้าง และมีการตัดกล้ามเนื้อบริเวณก้น ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวช้า และในบางรายมีอาการข้อสะโพกเทียมหลุด ขาสั้นยาวไม่เท่ากัน สุดท้ายกลายเป็นว่าต้องเข้ามารับการผ่าตัดแก้ไขเพิ่มเติม ที่น่าสนใจอีกประการคือ สำหรับผู้ป่วยสูงอายุที่กระดูกสะโพกหัก กล้ามเนื้อจะอ่อนแอกว่าคนปกติ โอกาสข้อสะโพกหลุดซ้ำจะมีสูง ดังนั้นทางโรงพยาบาลจะเลือกนำเทคนิคการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแบบไม่ตัดกล้ามเนื้อด้วยเทคนิคการซ่อนแผลผ่าตัดนี้มาใช้กับผู้ป่วย เพื่อช่วยลดการหลุดของข้อสะโพกหลังผ่าตัดด้วยเทคนิคเก่า พร้อมทั้งสามารถทำการตรวจเช็กความยาวของขาให้เท่ากัน รวมไปถึงแก้ไขการผ่าตัดที่เกิดจากการหลุดซ้ำอีกด้วย


                       นพ.พนธกร พานิชกุล [ศัลยแพทย์ออโธปิดิกส์ เฉพาะทางด้านการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแนวใหม่แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อด้วยเทคนิคการซ่อนแผลผ่าตัด โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า เทคนิคการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแนวใหม่แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อนั้น โดยปกติแล้วแนวแผลผ่าตัดจะอยู่บริเวณหน้าต้นขา ซึ่งอาจจะเห็นแผลได้ง่าย แต่ด้วยเทคนิคการลงแผลแบบใหม่ จะมีการการซ่อนแผลผ่าตัดใต้ต่อขาหนีบหรือที่เรียกว่า BIKINI Incision  ซึ่งก่อนจะทำการผ่าตัด แพทย์จะใช้ Digital Template Surgical Planning วางแผนถึงตำแหน่งการตัดกระดูกและการวางข้อสะโพกเทียมในตำแหน่งที่ถูกต้อง เลือกขนาดของข้อเทียมให้เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคล มีทั้งข้อโคบอลโครเมียม (Cobalt Chromium) หรือข้อเซรามิก (Ceramic) เพื่อการใช้งานที่ยาวนานขึ้น และใช้แกนกระดูกข้อเทียมรุ่นใหม่ (STEM) เพื่อแก้ไขปัญหาข้อสะโพกเทียมจมเมื่อใช้ไปนานๆ จากนั้นแพทย์จะทำการผ่าตัดแบบแผลเล็ก แบบซ่อนแผลผ่าตัด (Minimally Invasive Surgery: MIS) โดยเข้าจากด้านหน้าข้อสะโพก (Direct Anterior Approach) ที่สำคัญการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมแนวใหม่ แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ ด้วยเทคนิคซ่อนแผลผ่าตัด แนบเนียน เพราะแผลผ่าตัดจะอยู่ด้านหน้าบริเวณขาหนีบซ่อนใต้แนวกางเกงใน (Bikini Incision) ทำให้ไม่เห็นรอยแผลเมื่อใส่กางเกงขาสั้นหรือชุดว่ายน้ำ เพราะเป็นการผ่าตามทิศทางธรรมชาติของผิวหนัง (Langer's line) ตามแนวเส้นใยคอลลาเจนของผิวหนังชั้น dermis ซึ่งเป็นแนวที่ขนานไปกับแนวเส้นมัดกล้ามเนื้อ การผ่าตามแนวทิศทางธรรมชาติของผิวหนังจะทำให้การสมานตัวของแผลผ่าตัดดีขึ้น จึงลดการเกิดแผลเป็นหรือคีรอยด์ (Keloid) โดยขนาดของบาดแผลผ่าตัดนั้นจะมีความยาวประมาณ 3-4 นิ้ว ใต้ต่อขาหนีบตามแนวกางเกงในของผู้ป่วย และยังมีขนาดเล็กกว่าการผ่าตัดแบบดั้งเดิม (แบบเดิมแผลยาวประมาณ 6-8 นิ้ว เพราะจะทำการผ่าตัดจากทางด้านหลังหรือด้านข้าง ซึ่งต้องมีการตัดกล้ามเนื้อรอบสะโพก อาจทำให้เจ็บปวดเพิ่มขึ้น กล้ามเนื้อรอบสะโพกอ่อนแรง เดินกระเผลก (Limping) และมีอัตราการหลุดของข้อสะโพกหลังผ่าตัดเพิ่มขึ้น)






                       การผ่าตัดแนวใหม่นี้มีความแม่นยำในการเช็กความยาวขาและตำแหน่งของข้อสะโพกเทียมได้ดีขึ้นเพราะเป็นการผ่าตัดในท่านอนหงาย สามารถใช้เครื่องเอกซเรย์แบบ C-arm ช่วยวางตำแหน่งข้อเทียมให้ถูกต้องมากขึ้น ตรวจความยาวขาทั้งสองข้างให้เท่ากันได้ง่ายในขณะผ่าตัด จึงลดปัญหาขาสั้นยาวไม่เท่ากันหลังผ่าตัด และสามารถผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกพร้อมกัน 2 ข้างได้ในครั้งเดียว อีกทั้งระหว่างผ่าตัดมีระบบป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนขณะผ่าตัด แพทย์จะใส่ชุดผ่าตัดพิเศษเหมือนชุดมนุษย์อวกาศ ช่วยลดอัตราการติดเชื้อหลังผ่าตัดได้อีกด้วย

                       ข้อดีของการผ่าตัดแบบไม่ตัดกล้ามเนื้อนั้นจะทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว เจ็บปวดน้อยลง ลดอัตราการเกิดข้อสะโพกหลุดหลังการผ่า ไม่ต้องกังวลเรื่องข้อสะโพกจะหลุด (No Hip Precaution) สามารถลุกเดินได้โดยไม่มีการเอียงของลำตัว (No Limping) กลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น  นอกจากนี้ ยังมีการฟื้นฟูร่างกายหลังการผ่าตัด ด้วยเครื่องหัดเดินในสภาวะไร้น้ำหนัก Alter G (Anti-Gravity Treadmill) ซึ่งเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยหลังการผ่าตัดข้อสะโพกและข้อเข่า ช่วยให้ฟื้นฟูร่างกายหลังการผ่าตัดได้รวดเร็วขึ้นโดยไม่ต้องกังวลถึงความเจ็บปวด