happy on July 16, 2017, 07:19:15 PM
สถาบันอาหาร จับมือ สศอ. ติวเข้มเชฟร้านอาหารไทย นำร่องที่แรก จ.ภูเก็ต โปรโมท “รสไทยแท้” มาตรฐานรสชาติอาหารไทย


                       จ.ภูเก็ต//สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) เดินหน้าโปรโมท “มาตรฐานรสชาติอาหารไทย” พร้อมประชาสัมพันธ์เครื่องหมาย “รสไทยแท้”(Rod Thai Tae)อาหารคาวหวานรวม 14 เมนู ตั้งเป้าปีหน้าเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 5 เมนู จัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้เชฟร้านอาหารไทย 80 ราย นำร่องจ.ภูเก็ตเป็นที่แรก เตรียมโรดโชว์ในประเทศต่อเนื่อง เน้นเมืองท่องเที่ยวใหญ่ อาทิ เชียงใหม่ พัทยา หวังเชื่อมโยงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ เพื่อเผยแพร่สู่ชาวต่างชาติ ส่วนต่างประเทศเตรียมจับมือกับกระทรวงการต่างประเทศไปญี่ปุ่น  อังกฤษ และประเทศในโซนยุโรปที่มีร้านอาหารไทยจำนวนมาก 

                       กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้สถาบันอาหารดำเนิน“โครงการการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยด้วยระบบมาตรฐานเพื่อเป็นครัวอาหารของโลก” โดยจัดกิจกรรมส่งเสริมมาตรฐานด้านรสชาติอาหาร พร้อมประชาสัมพันธ์เครื่องหมาย “รสไทยแท้” (Rod Thai Tae) ไปยังเมืองท่องเที่ยวใหญ่ๆทั่วประเทศ โดยเริ่มที่จังหวัดภูเก็ตเป็นที่แรก เพื่อเป็นจังหวัดนำร่องในการประชาสัมพันธ์มาตรฐานอาหารไทย “รสไทยแท้” รวม 14 เมนูอาหารคาวหวานที่ได้ผ่านการทดสอบรสชาติมาตรฐานอาหารไทยตามกระบวนการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วยเมนู ผัดกะเพราหมู แกงเขียวหวานเนื้อ ต้มข่าไก่ มัสมั่น แกงเลียง ผัดไทย ต้มยำกุ้ง พะแนงเนื้อ ส้มตำไทย ลาบหมู สะเต๊ะไก่ ผัดเปรี้ยวหวาน ข้าวเหนียวมะม่วง และทับทิมกรอบ


ส้มตำไทย


ผัดเปรี้ยวหวานกุ้ง




                       โดยเป็นการจัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานอาหารไทย เทคนิควิธีการประกอบอาหาร และการใช้วัตถุดิบทดแทน พร้อมสาธิตการปฏิบัติเมนูอาหารตามมาตรฐานอาหารไทย ให้กับผู้ประกอบการและผู้ปรุงอาหาร(เชฟ)จากภัตตาคาร ร้านอาหารในจังหวัดภูเก็ต จำนวน 80 ราย เมื่อวันที่ 13 – 14 ก.ค. 2560 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ซึ่งได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านอาหารไทย และวิทยากรจากมหาวิทยาลัยสวนดุสิต นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ที่มุ่งหวังจะเห็นจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่องในการประชาสัมพันธ์มาตรฐานอาหารไทย “รสไทยแท้” ให้ชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตได้รับทราบ และเข้าใจในเรื่องราวของอาหารไทย ทั้งรสชาติ ส่วนผสม คุณประโยชน์ จนนำไปถ่ายทอดได้อย่างถูกต้อง

                       นายยงวุฒิ กล่าวต่อว่า “ในปีหน้านี้สถาบันอาหารตั้งเป้าจะเพิ่มเมนูอาหาร “รสไทยแท้” อีกไม่ต่ำกว่า 5 เมนู และจัดทีมโรดโชว์เพื่อประชาสัมพันธ์มาตรฐานรสชาติอาหารไทยภายใต้เครื่องหมาย “รสไทยแท้” โดยในประเทศเน้นเมืองท่องเที่ยวใหญ่ อาทิ เชียงใหม่ พัทยา เพื่อเชื่อมโยงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ เผยแพร่สู่ชาวต่างชาติ ส่วนต่างประเทศเตรียมจับมือกับกระทรวงการต่างประเทศไปจัดกิจกรรมที่ประเทศญี่ปุ่น  อังกฤษ และประเทศในโซนยุโรปที่มีร้านอาหารไทยจำนวนมาก ทั้งนี้มีเป้าหมายยกระดับผู้ประกอบการให้ได้ 500 รายต่อปี และส่งเสริมให้ร้านอาหารไทยทั่วโลก มีการเลือกใช้วัตถุดิบที่ถูกต้องครบถ้วนตามสูตรต้นแบบการปรุงอาหารของไทย และมีรสชาติอาหารไทยที่มีความเป็นเอกลักษณ์ตามมาตรฐานที่กำหนด ซึ่งการรับรองมาตรฐานอาหาร “รสไทยแท้” (Rod Thai Tae) จากสถาบันอาหาร จะเป็นเครื่องหมายหนึ่งที่ช่วยการันตีว่า ผลิตภัณฑ์เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและระดับสากลเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก

                       ผู้ประกอบการร้านอาหารที่สนใจสามารถนำอาหารที่ปรุงสำเร็จแล้ว หรือผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปเฉพาะ 14 เมนูที่สถาบันอาหารได้กำหนดมาตรฐานรสชาติอาหารไทยไว้แล้ว เข้ารับการทดสอบหาค่ามาตรฐานเพื่อขอรับเครื่องหมายมาตรฐาน “รสไทยแท้” ได้ที่สถาบันอาหาร ติดต่อฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ โทร. 02 422 8688”

                       อนึ่ง กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้สถาบันอาหาร ดำเนินการจัดกิจกรรมส่งเสริมมาตรฐานด้านรสชาติอาหาร ภายใต้“โครงการการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยด้วยระบบมาตรฐานเพื่อเป็นครัวอาหารของโลก” (Authenticity of Thai Food for the World) ขึ้น ด้วยการนำเครื่องมือและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ประยุกต์ร่วมกับองค์ความรู้ของผู้เชี่ยวชาญอาหารไทย ซึ่งมีศิลปะในการปรุง การชิม มากำหนดมาตรฐานอาหารไทย เป็นการนำเอาหลักการสากลด้านกระบวนการรับรองมาตรฐานมารองรับ ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ และสร้างอัตลักษณ์อาหารไทยให้ต่างชาติได้รับรู้ว่ารสชาติอาหารไทยที่แท้จริงควรเป็นอย่างไร โดยใช้ข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ ผนวกกับด้านประสาทสัมผัสในการสร้างมาตรฐานให้อยู่ในช่วงค่าที่ยอมรับได้ เนื่องจากผู้บริโภคในแต่ละประเทศอาจจะมีรสนิยมในด้านรสชาติที่แตกต่างกันบ้าง ก็สามารถนำไปปรับตามความต้องการได้ โดยยังคงอยู่ในช่วงมาตรฐานก็ไม่ถือว่าผิดกติกา