happy on June 25, 2017, 10:24:31 PM
"ดีแทค – มูลนิธิแพธทูเฮลธ์" ร่วมพัฒนาห้องแชท Stop Bullying

·       วิจัยชี้ ปัญหากลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ไทยพุ่ง รั้งท็อปไฟว์ของโลก

15 มิถุนายน 2560 - "ดีแทค" จับมือ "มูลนิธิแพธทูเฮลท์" (P2H) พัฒนาช่องทางให้คำปรึกษาออนไลน์ห้องแชท Stop bullyingไม่รังแกกัน งานวิจัยเผยเด็ก ม.ต้นเสี่ยงต่อการถูกกลั่นแกล้งทางโลกไซเบอร์มากที่สุด ชี้แนวโน้มและขนาดของปัญหาใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก แนะเร่งให้ความรู้ ครอบครัวหมั่นเอาใจใส่




นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์

นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า ในฐานะผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ดีแทคได้ตั้ง  4 เป้าหมายหลักในการสร้างสภาพแวดล้อมทางอินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยต่อเด็กและเยาวชนไทย ได้แก่ 1. สร้างการรับรู้เกี่ยวกับปัญหาทางอินเทอร์เน็ตที่มีต่อเด็ก 2. ผสานเข้าไปกับผลิตภัณฑ์และบริการ 3. สร้างความร่วมมือทางอินเทอร์เน็ตเพื่อระบบนิเวศที่ดีขึ้น และ 4. ร่วมสร้างนโยบายและการกำกับที่ดีขึ้น

ซึ่งสอดคล้องกับร่างยุทธศาสตร์ 5 ประการในการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการสื่อออนไลน์ของรัฐบาล ซึ่งได้รับทราบไปเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ที่ผ่านมา ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้สังคมไทยมีระบบและกลไกในการขับเคลื่อน ส่งเสริม และปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนให้รู้เท่าทันสื่อออนไลน์และใช้อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งหนึ่งในยุทธศาสตร์คือ การจัดระบบปกป้องคุ้มครองและเยียวยาเด็กและเยาวชน เพื่อดูแลเกี่ยวกับการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ (Cyberbullying) รวมทั้งควบคุมสื่อออนไลน์ที่ไม่เหมาะสมและเป็นอันตรายต่อเยาวชน ซึ่งมีแนวโน้มการบังคับใช้กฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง และมีบทลงโทษชัดเจน นับเป็นพัฒนาการอีกขั้นต่อการตระหนักถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนของไทย

"ความพยายามของดีแทคในการสร้างอินเทอร์เน็ตปลอดภัยเป็นหนึ่งในพันธสัญญาของดีแทค เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายในการลดความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ตามกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDG10)" นางอรอุมา กล่าว

และในปีนี้ถือเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นในการสานต่อพันธกิจด้านการต่อต้านการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ ดีแทคได้ร่วมมือกับมูลนิธิ Path2Health ในการพัฒนาระบบปรึกษาผ่านห้องแชท Stop Bullying โดยจะเปิดให้บริการในช่วงทดลองในวันที่ 16 มิถุนายนนี้  และคาดว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561





นายธวัชชัย พาชื่น

นายธวัชชัย พาชื่น ผู้จัดการโครงการลดการรังแกกันผ่านทางแชท lovecarestation มูลนิธิ P2H กล่าวว่า โครงการ Stop Bullying: เลิฟแคร์ไม่รังแกกัน เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ดีแทคและมูลนิธิแพธทูเฮลธ์ เพื่อให้บริการปรึกษาผ่านห้องแชทออนไลน์ ในการลดการใช้ความรุนแรงและการรังแกกันในกลุ่มเยาวชน เพื่อช่วยเหลือเยาวชนที่กำลังเผชิญหรือได้รับผลกระทบจากการรังแกกันทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์และที่เกิดขึ้นโดยตรงกับเยาวชนเองให้ได้รับข้อมูล แนวทางการจัดการและความช่วยเหลืออย่างเป็นมิตรจากเจ้าหน้าที่มูลนิธิ P2H ที่มีประสบการณ์ในการทำงานในเรื่องนี้

ทั้งนี้ ห้องแชทเลิฟแคร์ไม่รังแกกัน เป็นการต่อยอดจากโครงการไม่รังแกกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เด็กได้รับความคุ้มครองจากการรังแกกันในทุกรูปแบบ เพื่อทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กทุกคน กล่าวคือ มาเรียนแล้วต้องมีความสุข รู้สึกอยากเรียน

สำหรับการใช้บริการเว็บไซต์ http://stopbullying.lovecarestation.com/ สามารถประเมินตัวเองได้ก่อนว่ารูปแบบไหนที่เข้าใจว่าถูกรังแก ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย วาจาหรือออนไลน์ โดยมีทั้งข้อมูลและวิดีโอคลิปให้ศึกษา กระทู้ตั้งคำถามหรือแชร์ประสบการณ์ ตลอดจนการไลฟ์แชทในเรื่องการถูกกลั่นแกล้ง

"บางครั้งน้องๆ อาจจะต้องการเพียงแค่คนรับฟัง แต่หากต้องการความช่วยเหลือ เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ จะถามว่าเขาบอกใครแล้วหรือยัง  โดยจะช่วยประเมินสถานการณ์ในเบื้องต้น หรือหากอยากแชทกับเจ้าหน้าที่ก็สามารถอินบ็อกซ์มาคุยได้ จะมีเจ้าหน้าที่ประจำตั้งแต่เวลา 16.00-24.00 น. ซึ่งเราให้คำปรึกษาในเบื้องต้น หากเคลียร์ได้ก็จบ แต่หากเคลียร์ไม่ได้ อย่างเช่นเครียด อยากฆ่าตัวตาย หรือมีภาวะซึมเศร้า เราจะส่งต่อไปที่คลินิกวัยรุ่นของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กับที่คอลเซ็นเตอร์ของสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข" นายธวัชชัย กล่าว





รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล

ปัญหาขนาดใหญ่รั้งท็อปไฟว์ของโลก

ด้าน รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล หัวหน้าสาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เปิดเผยว่า จากผลการวิจัยขั้นต้น (preliminary) เรื่อง "ความชุกและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์ ในระดับชั้น ม.1-3" โดยเป็นความร่วมมือในระดับนานาชาติ 14 ประเทศทั่วโลก ระบุว่า เด็กไทยเกือบ 80% มีประสบการณ์ถูกกลั่นแกล้งในชีวิตจริง โดย 66% ถูกแกล้งอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และอีก 12% ที่ถูกแกล้งทุกวัน ขณะที่เด็กไทย 45% มีประสบการณ์เกี่ยวกับการกลั่นแกล้งทางโลกไซเบอร์อย่างน้อย 1 ครั้ง ซึ่งมากกว่าประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่นถึง 4 เท่า

โดยรูปแบบที่ถูกกระทำมากที่สุด คือ การโดนล้อเลียนและการถูกตั้งฉายาที่ 79.4% ตามด้วยถูกเพิกเฉย ไม่สนใจ 54.4%และคนอื่นไม่เคารพ 46.8% ตามด้วยการถูกปล่อยข่าวลือ การถูกนำรูปไปตัดต่อ ถูกข่มขู่ และการถูกทำให้หวาดกลัว ตามลำดับ ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า คนที่เด็กจะไปปรึกษาด้วยมากที่สุดคือ เพื่อนถึง 89.2% ตามด้วยผู้ปกครอง 59% พี่น้อง 41.2%โดยครูเป็นลำดับสุดท้าย

นพ.ชาญวิทย์ กล่าวว่า จากข้อมูลข้างต้นสะท้อนได้ว่า "เพื่อน" เป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลมากที่สุดต่อเด็กวัยรุ่นตอนต้น (early adolescence) อายุระหว่าง 13-15 ปี  โดยเฉพาะเด็กนักเรียนชั้น ม.ต้น ที่ต้องการการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน (peer acceptance) และเริ่มออกห่างจากพ่อแม่ เมื่อเด็กถูกกลั่นแกล้งและไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อนฝูง เด็กจะมีอาการโดดเดี่ยว แยกตัวออกสังคม เริ่มไม่อยากไปโรงเรียน โดดเรียน หนีเรียน ขาดสมาธิ ผลการเรียนตกลง มีอาการซึมเศร้า ใช้สารเสพติด และอาจถึงขั้นทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายได้ ดังเช่นที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ประเทศทางยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งมีอัตราการฆ่าตัวตายจากการกลั่นแกล้งทางโลกไซเบอร์เพิ่มขึ้น จนปัจจุบันมีการพัฒนาการถึงขั้นตราเป็นกฎหมาย

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการกลั่นแกล้งทางโลกไซเบอร์ พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรให้การดูแลเอาใจใส่เด็กในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเป็นพิเศษ โดยสังเกตจากอาการที่จะเกิดจากการถูกกลั่นแกล้ง เช่น อาการซึมเศร้า พูดน้อยลง แยกตัว เก็บตัว ผลการเรียนตก ไม่อยากไปโรงเรียน

 "การถูกกลั่นแกล้งทางออนไลน์ร้ายแรงกว่าในรูปแบบในอดีตมาก เพราะ เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะปรากฏอยู่นาน และสามารถแชร์การกลั่นแกล้งนี้ให้ขยายวงกว้างอย่างไรขีดจำกัดในเวลาอันรวดเร็ว" รศ.นพ.ชาญวิทย์ กล่าว

รศ.นพ.ชาญวิทย์ กล่าวเสริมว่า จากตัวเลขงานวิจัยพบว่า เด็กไทยยังไม่ตระหนักรู้ถึงพฤติกรรมเสี่ยงที่นำพาพวกเขาเข้าไปอยู่ในวงจรการการกลั่นแกล้งทางโลกไซเบอร์ โดยการตกเป็นเหยื่อและการเป็นผู้แกล้งเสียเอง ทั้งนี้ เป็นเพราะระดับความรุนแรงอาจยังไม่เท่าต่างประเทศที่ถึงขั้นฆ่าตัวตาย แต่กรณีเด็กไทยอาจเกิดอาการไม่สบายใจ เครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า ไม่มาโรงเรียน แยกตัว เก็บตัว ซึ่งในผู้ใหญ่อาจไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องสำคัญเท่าใดนัก

ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน สังคมควรตระหนักและสร้างวัฒนธรรมใหม่สังคมไทยให้เป็นสังคมที่ปราศจากการกลั่นแกล้งกัน ให้เกียรติและเคารพซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ผู้ปกครองควรเสริมสร้างความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง (self-esteem) ให้กับเด็ก ด้วยพลังแห่งความรัก ความอบอุ่นของครอบครัวนั้นเป็นปัจจัยสำคัญยิ่ง







พญ.ทิพาวรรณ


####

เกี่ยวกับดีแทค

บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค เป็นหนึ่งในผู้นำให้การบริการโทรศัพท์มือถือของประเทศไทยทั้ง 4G, 3G และ 2G แก่ผู้ใช้บริการประมาณ 25 ล้านเลขหมายในปัจจุบัน ดีแทค ก่อตั้งขึ้นในเดือนสิงหาคม ปี 2532 ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ดีแทคได้ใช้งบประมาณในการลงทุนไปมากกว่า 130,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจ โดยการพัฒนาเทคโนโลยี และเพิ่มคุณภาพของบริการอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ดีแทคยังได้มุ่งเน้นกิจกรรมเพื่อสังคมด้วยการนำอินเทอร์เน็ตและบริการดิจิทัลต่างๆ ยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยการพัฒนาด้านการศึกษา เยาวชน ตลอดจนการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรต่างๆ  สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ดีแทค (บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทย: DTAC) ชมข้อมูลได้ที่ www.dtac.co.th

เกี่ยวกับมูลนิธิ

มูลนิธิแพธทูเฮลท์ หรือ Path2Health (P2H) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนสาธารณประโยชน์ที่จดทะเบียน ในประเทศไทยเมื่อปี 2556 แต่ได้ดำเนินงานตั้งแต่ปี 2528 ในนามขององค์การแพธ (PATH) ประเทศไทย ตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปี องค์การแพธได้ร่วมมือกับภาครัฐ สถานศึกษา องค์การพัฒนาเอกชน เสริมสร้างศักยภาพความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีและวิชาการสาธารณสุข เพื่อพัฒนาสุขภาพและคุณภาพชีวิตของ ประชากรกลุ่มต่างๆแม้อยู่ในสถานะใหม่ แต่มูลนิธิแพธทูเฮลท์ก็ยังคงสานต่อการทำงานเพื่อส่งเสริมและสนับสนุน การสร้างสุขภาวะที่ดีให้แก่บุคคล ชุมชน และสังคมดังเดิม