happy on June 12, 2017, 08:15:52 PM
สถาบันอาหาร เผยส่งออกทุเรียนผลสดบูมต่อเนื่อง
เร่งหนุนคลัสเตอร์ผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม


                    สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เผยส่งออกผลิตภัณฑ์ผลไม้ปี 2559 มูลค่าสูงถึง 119,630 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19 ผลิตภัณฑ์ผลไม้สดมาแรง สัดส่วนส่งออกมากที่สุดร้อยละ 27 ที่มูลค่า 32,412 ล้านบาท ในจำนวนนี้ร้อยละ 52 มีทุเรียนเป็นพระเอก สร้างมูลค่าส่งออกราว 16,800 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ ลำไย มังคุด เงาะ และลองกอง คาดปี 2560 ผลไม้สดจะส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 40,000 ล้านบาท ส่วนผลิตภัณฑ์ผลไม้อบแห้งแนวโน้มส่งออกโตแบบก้าวกระโดด ปัจจุบันเพิ่มขึ้นมากที่สุดร้อยละ 53 ที่มูลค่าราว 10,910 ล้านบาท ชี้ผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้ ในอนาคตจะปรับเป็นแบบผง หรือพร้อมชงมากยิ่งขึ้น หนุนพื้นที่ชายฝั่งตะวันออก ระยอง จันทบุรี และตราด ใช้จุดแข็งเป็นพื้นที่ผลิตผลไม้ที่มีคุณภาพ พัฒนาคลัสเตอร์ผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปสู่ตลาดส่งออกควบคู่ไปด้วยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปอย่างยั่งยืน


นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์

                    นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่า ในปี 2559 ที่ผ่านมา ประเมินว่าไทยมีปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์ผลไม้ทั้งหมด 2.8 ล้านตัน มูลค่า 119,630 ล้านบาท มีอัตราเติบโตร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับปี 2558 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13 ของมูลค่าส่งออกอาหารไปต่างประเทศทั้งหมด โดยมีตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหรัฐฯ จีน เวียดนาม และฮ่องกง ตามลำดับ ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าส่วนใหญ่ของสหรัฐกว่าร้อยละ 80 เป็นการนำเข้าน้ำผลไม้ และสับปะรดกระป๋อง แตกต่างจากจีนและฮ่องกง ที่การนำเข้าส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 60 และร้อยละ 80 ตามลำดับ เป็นการนำเข้าผลไม้สดจากไทย โดยเฉพาะทุเรียน ซึ่งเป็นผลไม้ที่ชาวจีนนิยมบริโภคอย่างมาก ส่วนเวียดนามมีอัตราการนำเข้าเพิ่มขึ้นสูงที่สุดถึงร้อยละ 65 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เป็นการนำเข้าในลักษณะเพื่อไปขายต่อให้กับประเทศจีนซึ่งมีพรมแดนติดกับเวียดนาม

                    “หากพิจารณาตามผลิตภัณฑ์การส่งออกจะพบว่า ผลิตภัณฑ์ผลไม้สดมีสัดส่วนการส่งออกสูงที่สุด คือมีมูลค่า 32,412 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 27 ของการส่งออกผลิตภัณฑ์ผลไม้ทั้งหมด  ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 21 โดยการส่งออกส่วนใหญ่เป็นการส่งออกทุเรียนสดกว่าร้อยละ 52 ของมูลค่าการส่งออกผลไม้สดทั้งหมด หรือในราว 16,800 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ ลำไย มังคุด เงาะ และลองกอง เป็นต้น โดยในปี 2560 นี้ คาดว่าจะมีมูลค่าส่งออกถึง 40,000 ล้านบาท โดยทุเรียนเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในขณะนี้

                    สำหรับผลิตภัณฑ์ผลไม้อื่นๆที่มีสัดส่วนการส่งออกรองจากผลไม้สด ได้แก่ น้ำผลไม้ คิดเป็นร้อยละ 23 มีมูลค่าราว 27,256 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 28  สับปะรดกระป๋อง สัดส่วนร้อยละ 18  มูลค่า 21,074 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 และผลไม้อบแห้ง สัดส่วนร้อยละ 9 มีมูลค่าราว 10,910 ล้านบาท โดยขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดคือร้อยละ 53 เนื่องจากผู้ประกอบการมีการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้ในการผลิต ทำให้สินค้ามีความหลากหลายมากขึ้น ขณะเดียวกันผู้บริโภคในต่างประเทศหันมานิยมบริโภคผลไม้อบแห้งเป็นขนมคบเคี้ยวเพื่อสุขภาพ ส่งผลให้การส่งออกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันไทยมีการส่งออกผลไม้อบแห้ง เป็นอันดับที่ 3 ของโลก รองจากตุรกี และสหรัฐฯ ตลาดส่งออกส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเทศอาเซียน จีน และฮ่องกง เป็นต้น”




                    นายยงวุฒิ กล่าวต่อว่า อุตสาหกรรมผลไม้มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น และเอกลักษณ์ของผลไม้เขตร้อนของไทยที่มีความหลากหลาย โดยคาดว่าในอนาคตตลาดผลไม้แปรรูปที่มีลักษณะเป็นขนมคบเคี้ยวที่ทานได้ง่าย เช่น ผลไม้ทอด ทอฟฟี่ผลไม้ และผลไม้อบแห้ง จะมีการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ตอบโจทย์กระแสการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพที่กำลังมาแรง ทั้งนี้ในส่วนของน้ำผลไม้ คาดว่าในอนาคตจะปรับไปในรูปแบบของผลิตภัณฑ์แบบผง หรือพร้อมชงมากยิ่งขึ้นเพื่อให้เข้ากับวิถีชีวิตของผู้บริโภค และยังเป็นการลดต้นทุนค่าขนส่งของผู้ประกอบการอีกด้วย

                    “เมื่อพิจารณาผลไม้จำแนกตามวัตถุดิบที่สำคัญทางเศรษฐกิจของไทย พบว่าที่มีแนวโน้มการส่งออกดี ได้แก่ สับปะรด ลำไย ทุเรียน มังคุด มะพร้าว และมะม่วง โดยสับปะรด ร้อยละ 68 ส่งออกในรูปสับปะรดกระป๋อง รองลงมาได้แก่ น้ำสับปะรดร้อยละ 20 ส่วนที่เหลือได้แก่ สับปะรดกวน และสับปะรดอบแห้ง ร้อยละ12 ขณะที่ลำไย ร้อยละ 62 ส่งออกในรูปลำไยสด รองลงมาได้แก่ ลำไยอบแห้งร้อยละ 34 ส่วนที่เหลือได้แก่ ลำไยกระป๋องและลำไยแช่แข็ง ตามลำดับ เช่นเดียวกับทุเรียน ที่ส่วนใหญ่ร้อยละ 86 ส่งออกในรูปทุเรียนสด รองลงมาได้แก่ ทุเรียนแช่แข็งร้อยละ 13 ส่วนที่เหลือได้แก่ทุเรียนอบแห้งร้อยละ 2 และทุเรียนกวนอีกเพียงเล็กน้อย โดยมังคุดร้อยละ 99 ส่งออกในรูปมังคุดสด และมีเพียงร้อยละ 1 ส่งออกเป็นมังคุดแช่แข็ง สำหรับมะพร้าวร้อยละ 82 ส่งออกในรูปของกะทิสำเร็จรูป ส่วนที่เหลือเป็น มะพร้าวผลสด และมะพร้าวฝอยตามลำดับ และมะม่วงร้อยละ 80 ส่งออกในรูปมะม่วงสดและมะม่วงกระป๋อง รองลงมาได้แก่ มะม่วงอบแห้งร้อยละ 15 และมะม่วงแช่แข็งร้อยละ 6 ตามลำดับ”

                    นายยงวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า อุตสาหกรรมผลไม้จัดเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สร้างรายได้ให้ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก เพราะนอกจากจะส่งออกเป็นผลไม้สดเกรดพรีเมียมไปจำหน่ายยังต่างประเทศแล้ว ผลไม้ส่วนที่เหลือจากความต้องการ ยังสามารถนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นสินค้าแปรรูปต่าง ๆ ได้มากมายหลายประเภท โดยเมื่อเร็วๆนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้สถาบันอาหารรับเป็นหน่วยร่วมดำเนินการ เพื่อ  คัดสรรผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูประดับคุณภาพดีเยี่ยมชายฝั่งตะวันออก ทั้งในหมวดผลไม้แปรรูป และเครื่องดื่ม โดยเปิดโอกาสให้สมาชิกคลัสเตอร์กลุ่มแปรรูปผลไม้คุณภาพชายฝั่งตะวันออกที่มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด ส่งผลิตภัณฑ์เข้าร่วม ทั้งนี้ต้องใช้วัตถุดิบหลักเป็นผลไม้หรือพืชท้องถิ่นคุณภาพดีที่มีแหล่งเพาะปลูกอยู่ในพื้นที่ กระบวนการผลิตสินค้าต้องผ่านการรับรองมาตรฐาน หรือได้รับอนุญาตผลิตอาหารตามที่กฎหมายกำหนด






                    โดยได้มีการมอบเครื่องหมาย “ผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูประดับคุณภาพดีเยี่ยม” (East coast quality fruit products : ECF) ให้แก่ผู้ประกอบการ 11 ราย รวม 16 ผลิตภัณฑ์ ที่ได้รับการคัดสรรโดยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ทุเรียนหมอนทองอบกรอบตราแม่ลี้, ทุเรียนทอดตราป้าแกลบ, ทุเรียนกวน ทุเรียนสุกกรอบตราจ๊าบ, ทุเรียนฟรีซดรายตรา Fruitural, กล้วยหอมทองอบกรอบ ทุเรียนอบกรอบ ขนุนทองประเสริฐอบกรอบตราฟรุ๊ตคิง, ทุเรียนอบกรอบ ขนุนอบกรอบตรา KTV, ทุเรียนอบกรอบ ฟรีซดราย ตราบีฟรุ๊ต, น้ำสำรองผสมดอกคำฝอย ตราต้นตำรับ, น้ำมังคุดสูตร Extra สูตร Balance ตรา Xanberry, น้ำมังคุดสูตร 33% ตราไทยสโนว์ และเนื้อลูกสำรองชนิดแห้งพร้อมชงดื่ม ตรา J House

                    ทั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาคลัสเตอร์ ในการสร้างภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์ผลไม้คุณภาพและขยายช่องทางการจำหน่าย โดยสมาชิกได้มีความสนใจร่วมกันในความพยายามที่จะสร้างแบรนด์ท้องถิ่น สินค้าคุณภาพของคลัสเตอร์ให้เป็นที่รู้จักแก่ลูกค้าเป้าหมาย เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ของสมาชิกให้แข่งขันกันพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่ม สามารถสร้างรายได้และความเข้มแข็งให้แก่สมาชิกคลัสเตอร์และเครือข่ายอย่างยั่งยืน นับเป็นกิจกรรมที่เกิดจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน