news on June 06, 2017, 02:53:14 PM
สวทช. ติวเข้มเกษตรกรรุ่นใหม่สู่ “ผู้ประกอบการเมล็ดพันธุ์”หนุนไทยสู่ศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ของโลก







สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับสถาบันการศึกษาและบริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ ริเริ่ม“โครงการผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์รุ่นใหม่” ติวเข้มเสริมความรู้ พัฒนาทักษะ และสร้างแรงบันดาลใจในการก้าวสู่อาชีพผู้ประกอบการเมล็ดพันธุ์ เพื่อสร้างรายได้ให้ครอบครัวและชุมชนอย่างยั่งยืน มุ่งสู่ศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ของโลก (Seed Hub)


นางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) กล่าวว่าประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์
ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ปัจจุบันไทยส่งออกเมล็ดพันธุ์เป็นอันดับ 1 ของอาเซียน มีมูลค่าการส่งออกไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งไทยมีความได้เปรียบเรื่องสภาพภูมิอากาศที่หลากหลาย สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี อีกทั้งเกษตรกรไทยมีทักษะฝีมือในการผลิตเมล็ดพันธุ์ซึ่งเป็นงานเกษตรปราณีต ประเทศไทยจึงมีศักยภาพที่จะเป็น “ศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ของโลก” (Seed Hub) ได้

สวทช. ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ และบริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ 6 แห่ง จัดทำ “โครงการพัฒนาทักษะผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์รุ่นใหม่” รุ่นที่ 1 เมื่อปี 2559 (ระยะเวลา 3 ปี) เพื่อสร้างผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์รุ่นใหม่ เกิดเครือข่ายผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์หรือการบ่มเพาะผู้ประกอบการด้านเมล็ดพันธุ์รุ่นใหม่โดยผ่านการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ในด้านธุรกิจเมล็ดพันธุ์  เทคนิคการผลิตเมล็ดพันธุ์จากภาคเอกชน เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ความรู้ด้านกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเมล็ดพันธุ์

“การผลิตเมล็ดพันธุ์เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ที่ดีให้กับเกษตรกร การผลิตเมล็ดพันธุ์ต้องอาศัยความรู้ ทักษะ ความปราณีต ผู้ที่เข้ารับการอบรมจากโครงการจะได้รับความรู้ด้านธุรกิจเมล็ดพันธุ์อย่างครบวงจร ซึ่งในปีแรกได้คัดเลือกผู้จบการศึกษาระดับ ปวส.-ปริญญาตรีเข้าร่วมโครงการจำนวน 27 คน ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับความรู้และฝึกปฏิบัติในพื้นที่ของบริษัทอย่างเข้มข้น หลังจากนี้ก็นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับกลับไปผลิตเมล็ดพันธุ์ที่บ้านเกิดของแต่ละคน จากนั้นในปีที่สามของโครงการ คาดหวังว่าจะสามารถขยายผลและสร้างเครือข่ายการผลิตเมล็ดพันธุ์ในชุมชนได้อย่างยั่งยืนต่อไป” นางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ กล่าว


ผศ.ฉันทนา วิชรัตน์ อาจารย์ประจำสาขาพืชผัก คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า โครงการนี้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากบริษัทเมล็ดพันธุ์ 6 บริษัท ได้แก่ ลัคกี้ซีดส์อโกร นิยมไทยการเกษตร สามเหลี่ยมเมล็ดพันธุ์  เชียงใหม่ซีดส์ ไทยนอร์ทเทิร์นซีดส์ และสุพรีม โกลด์ ซึ่งได้ถ่ายทอดความรู้และคำแนะนำการผลิตเมล็ดพันธุ์ทุกกระบวนการให้กับผู้เข้าร่วมโครงการได้นำความรู้ที่ได้รับไปปฏิบัติจริงในพื้นที่ของแต่ละคนเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ส่งบริษัทที่ร่วมโครงการ โดยความดูแลอย่างใกล้ชิดของผู้เชี่ยวชาญจาก สวทช. มหาวิทยาลัยแม่โจ้และบริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ ตลอดจนแนะนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมเข้าไปช่วยแก้ปัญหา

“ประเทศไทยมีความสามารถที่จะเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ในระดับสากลได้ ปริมาณความต้องการเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีในตลาดมีอีกจำนวนมาก ปัจจุบันยังไม่สามารถที่จะผลิตได้เพียงพอกับความต้องการ ผู้เข้าร่วมโครงการจึงไม่มีความเสี่ยงเรื่องตลาด เพียงแต่ผลิตเมล็ดพันธุ์ให้ได้คุณภาพ ดังนั้นเมื่อเขากลับไปเริ่มต้นที่บ้านเกิด เขามีตลาดรองรับ มีความรู้ที่บริษัทถ่ายทอดให้ มีเทคโนโลยีที่ สวทช. สนับสนุน และเมื่อเขาสร้างเมล็ดพันธุ์ได้ด้วยตัวเอง สามารถเป็นพี่เลี้ยงให้คนรอบตัว และกลายเป็นชุมชนผลิตเมล็ดพันธุ์ สิ่งสำคัญนอกจากการเป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์แล้ว การที่พวกเขากลับบ้านยังได้ความเป็นครอบครัวและได้นำความรู้ที่เรียนมาไปปรับใช้กับการทำเกษตรของพ่อแม่ให้ดียิ่งขึ้น” ผศ.ฉันทนา วิชรัตน์ กล่าว

สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.)
เป็นหน่วยงานภายใต้ สวทช. ดำเนินงานให้บริการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรแบบครบวงจร ทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิด “การปฏิรูปภาคเกษตรด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนาความเข้มแข็งของชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ เชื่อมโยงสู่เศรษฐกิจชีวภาพ” โดยนำผลงานวิจัยจาก สวทช. และพันธมิตรสู่การใช้งานจริงในพื้นที่ ผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนอย่างทั่วถึง พร้อมทั้งพัฒนาบุคลากรด้านการเกษตรและชุมชนให้ก้าวทันเทคโนโลยี ตลอดจนเป็นแหล่งความรู้ที่เข้าถึงได้ง่ายและตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรและชุมชน
« Last Edit: June 06, 2017, 03:11:51 PM by news »