MSN on June 05, 2017, 08:30:04 AM
สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ชูนโยบาย ‘The World First, Thailand Follows.’ โลกต้องมาก่อน ไทยโตไปด้วยกัน พร้อมเสนอนโยบาย ‘3 ลด’ เพิ่มความเข้มแข็งเศรษฐกิจไทย



ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ท่ามกลางกระแสการเมืองโลกที่ประชาชนโหยหาความยิ่งใหญ่ของประเทศตนในอดีตที่เศรษฐกิจเติบโตได้ดีกว่าในช่วงปัจจุบัน โดยได้โทษกระแสโลกาภิวัตน์โดยเฉพาะนโยบายการค้าเสรีที่ทำให้การผลิตและการจ้างงานในประเทศตกต่ำ จนเป็นที่มาว่าทำไมคนอังกฤษจึงลงประชามติออกจากอียู ทำไมนายโดนัลด์ ทรัมป์ถึงสามารถชูนโยบายอเมริกามาก่อน หรือ America First จนได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ รวมถึงล่าสุดที่นางมารีน เลอ แปนที่ชูนโยบายฝรั่งเศสมาก่อน พร้อมเสนอฝรั่งเศสถอนตัวจากอียูและสกุลเงินยูโรจนสามารถผ่านการชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสรอบแรก ก่อนพ่ายแพ้ไปในรอบตัดสินให้กับนายมาครง

ทั้งนี้ การที่ความเชื่อเรื่องโลกการค้าเสรีกำลังกลับทิศ จึงอาจมีความเป็นไปได้ ว่าในการเลือกตั้งของไทยที่กำลังจะมีขึ้นในช่วงปลายปีหน้า จะมีผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีชูนโยบายหาเสียง Thailand First หรือประเทศไทยต้องมาก่อน โดยอาจมองว่า การที่เศรษฐกิจไทยโตช้าเพียงราว 3.00-3.50% ต่อปี เป็นเพราะเราเปิดเสรีมากเกินไป เอกชนไทยหันไปลงทุนประเทศเพื่อนบ้านไม่ยอมลงทุนในประเทศไทย ผู้สมัครจึงอาจเสนอให้ไทยเก็บภาษีบริษัทเหล่านั้นมากขึ้น หรือเสนอนโยบายสุดโต่งอย่างการถอนตัวจากอาเซียนไปเลย

“ซึ่งผมหวังว่าจะไม่เห็น แต่ความน่ากลัวของลัทธิคลั่งชาติทางเศรษฐกิจนี้อาจเติบโตได้ หากเศรษฐกิจไทยโตต่ำเป็นเวลานานอย่างไร้ทางออก ดังเห็นได้จากการที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF คาดการณ์ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะอยู่ที่ราว 3.00% เท่านั้น หรือนั่นคือศักยภาพของเศรษฐกิจไทยที่จะโตได้แค่นี้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ประเทศไทยคงไม่มีทางหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง หรือ Middle Income Trap ไปได้ เพราะสุดท้ายนอกจากจะรายได้ต่ำแล้ว ประชากรมีแต่จะสูงอายุมากขึ้น และยิ่งทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจช้าลงต่อเนื่อง เรียกว่า แก่ก่อนรวยแน่ๆ” ดร.อมรเทพ กล่าว
 
ชูนโยบาย “3 ลด” เร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในอนาคตภายใต้เศรษฐกิจโลกาภิวัตน์
ดร.อมรเทพ กล่าวว่า หากจะให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน ไทยต้องอยู่ร่วมกับโลกการค้าเสรีพร้อมเปิดกว้างมากขึ้น ไม่ยึดหลักการชาตินิยมอย่างสุดโต่ง สร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอย่างทัดเทียมกับเพื่อนบ้าน เพราะหากประเทศรอบตัวได้ประโยชน์ ไทยเองก็ได้ดีตามมา ไม่จำเป็นต้องให้ประโยชน์เราเป็นอันดับแรก โดยอาศัยนโยบาย ‘3 ลด’ เพื่อสร้างความเข้มแข็ง ดังนี้

1.   ลดขนาดภาครัฐ – แผนของประเทศต้องชัดเจนว่าเราอยากเห็นภาครัฐมีขนาดใหญ่หรือเล็ก วัดได้จากสัดส่วนการใช้จ่ายภาครัฐต่อ GDP ที่ปัจจุบันอยู่ที่ราว 17% เราทราบกันดีว่าภาครัฐมีความคล่องตัวน้อยกว่าเอกชน บทบาททางเศรษฐกิจของภาครัฐควรลดลงและอยู่ในกรอบการกระจายรายได้ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของสาธารณะ เพื่อให้เอกชนมีบทบาทมากขึ้นในกิจกรรมเศรษฐกิจของประเทศ วิธีการลดบทบาทภาครัฐมีมากมาย ยกตัวอย่าง การเร่งการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การเดินหน้าความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน หรือ PPP และเมื่อรัฐมีรายจ่ายลดลง รัฐก็ไม่มีความจำเป็นต้องมีรายได้มากเช่นในปัจจุบัน รัฐอาจมีความสามารถปรับลดภาษีได้โดยไม่กระทบกับหนี้สาธารณะ อีกทั้ง การลดภาษียังสามารถกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนได้อีกด้วย

2.   ลดกฎระเบียบ – ประเทศไทยยังมีปัญหาความยุ่งยากในการทำธุรกิจ เห็นได้จากอันดับความยาก-ง่ายในการทำธุรกิจของธนาคารโลกที่ให้ไทยอยู่ที่อันดับ 46 แม้ปรับตัวดีขึ้นจากอันดับที่ 49 ในปีก่อน แต่ยังห่างกับมาเลเซียและสิงคโปร์มาก ทั้งนี้ ควรมีการลดกฎระเบียบต่างๆ และเพิ่มความคล่องตัวของส่วนงานราชการให้รองรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเอกชน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจไทยในเวทีโลก ไม่เช่นนั้นแล้ว นักลงทุนต่างชาติอาจยังลังเลที่จะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตได้

3.   ลดกำแพงกั้นเพื่อนบ้าน – เพื่อสร้างความเข้มแข็งของประเทศไทยอย่างยั่งยืน ไทยเองควรเปิดประเทศให้กว้างและลึกขึ้น กว้างขึ้นคือ ควรเปิดเสรีการค้ากับหลากหลายประเทศให้มากขึ้น และลึกขึ้นคือควรเดินหน้าแก้กฎหมายให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจหรือถือครองสินทรัพย์ได้มากขึ้น ที่ผ่านมา การเปิดเสรีค่อนข้างช้า อาจเนื่องจากไทยกังวลว่าจะเสียผลประโยชน์กับประเทศอื่น จึงมีการเจรจาที่ยาวนาน แต่หากเรามองว่า แม้เราจะเสียประโยชน์ให้ประเทศอื่นบ้างเพื่อแลกกับการเติบโตและมีกระบวนการพัฒนาและเรียนรู้ในประเทศ ไทยเองก็น่าจะลองมาพิจารณาการเปิดเสรีบางกลุ่มได้ เช่น การเปิดเสรีภาคบริการในด้านการเงิน

“สุดท้ายแล้ว หากเศรษฐกิจไทยจะรอฟ้ารอฝนให้เป็นใจ หรือหวังให้ตลาดโลกฟื้นตัวเพื่อพยุงการส่งออกให้ดีขึ้นเพียงอย่างเดียว ก็คงไม่พอให้เศรษฐกิจเติบโตได้เหนือ 4% และคงไม่มีหนทางที่จะหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปได้  เพราะต่อให้เศรษฐกิจโลกฟื้น ไทยเองก็ไม่มีอะไรใหม่ๆ ไปขาย เพราะขาดการลงทุนมานาน ไทยติดกับดักการลงทุนมา 4 ปีซ้อน และนับวันยิ่งจะห่างออกไปจากห่วงโซ่อุปทานตลาดโลก คงถึงเวลาที่เราต้องหันมาปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างจริงจัง และที่สำคัญคือ ต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนภาคเอกชนหันกลับมาลงทุนเสียที ไม่เช่นนั้นแล้ว คงเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะโตต่ำยาวเป็นรูปตัว L และจะบ่มเพาะกระแสชาตินิยมให้ใช้นโยบายสุดโต่งเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง เราสามารถใช้นโยบายที่ทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์น้อยกว่าโลก แต่โตไปด้วยกันอย่างยั่งยืนได้ นั่นคือนโยบาย 3 ลด หรือ The World First, Thailand Follows.” ดร.อมรเทพ กล่าว

แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้
สภาพัฒน์ฯ รายงานว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 1 ขยายตัว 3.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือ 1.3% เทียบไตรมาสต่อไตรมาสหลังปรับฤดูกาล ซึ่งนับว่าขยายตัวได้ดีกว่าที่ทางเราคาดไว้ โดยรวมการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ดี จากผลผลิตสินค้าเกษตรที่ออกสู่ตลาดมากขึ้น ประกอบกับราคาที่ดีกว่าปีก่อนมาก (ยกเว้นข้าว) ซึ่งช่วยให้รายได้ภาคเกษตรขยายตัวดี กำลังซื้อเริ่มกลับมา

แต่การจับจ่ายใช้สอยไม่ได้เร่งแรงมากเหมือนในอดีต เพราะปัญหาหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง อีกทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังไม่เร่งตัวเต็มที่ นอกจากนี้ เศรษฐกิจช่วงไตรมาสแรกได้แรงสนับสนุนจากภาคการส่งออกที่เร่งตัวได้ดี ด้วยสาเหตุสำคัญคือการฟื้นตัวของราคาสินค้าเกษตรและปิโตรเลียมที่ปรับขึ้นตามราคาน้ำมัน ประกอบกับความต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นในตลาดโลก

อย่างไรก็ดี มองต่อไปในช่วงที่เหลือของปีนี้ การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มที่จะโตแผ่วลงจากสองปัจจัย คือ ราคาสินค้าเกษตรและปิโตรเลียมจะไม่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อนมากนัก และเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีทิศทางไม่สดใสโดยเฉพาะจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐที่อาจกระทบจีน ซึ่งจะมีผลให้การส่งออกของของไทยไปจีนและไทยไปอาเซียนชะลอลงได้

สำหรับตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยก็คล้ายๆ เดิม นั่นคือการลงทุนภาครัฐ โดยภาครัฐเร่งลงทุนในช่วงไตรมาสแรกต่อเนื่องจากปีก่อน ดังเห็นได้จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ รวมทั้งสนามบินสุวรรณภูมิเฟสสองและมอเตอร์เวย์ภาคตะวันออก รวมทั้งโครงการขนาดเล็กทั่วประเทศ อย่างไรก็ดี รถไฟทางคู่ในภาคต่างๆ และโครงการรถไฟฟ้าในอีกหลายสายยังมีความล่าช้า นอกจากตัวแปรหลักๆ ข้างต้นแล้ว นักเศรษฐศาสตร์ยังให้น้ำหนัก การลงทุนภาคเอกชนที่ยังไม่กระเตื้อง เพราะเอกชนลงทุนต่ำต่อเนื่องมา 4 ปีซ้อน และยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน โดยไตรมาสแรกการลงทุนภาคเอกชนหดตัวราว 1.1% ทั้งๆ ที่ภาครัฐขับเคลื่อนโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ส่วนสำคัญคือความเชื่อมั่นเอกชนยังไม่ฟื้นเต็มที่จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนสูง จากความไม่แน่นอนของมาตรการกีดกันการค้าของสหรัฐ นอกจากนี้ กำลังการผลิตภาคเอกชนยังต่ำ ไม่มีความจำเป็นต้องเร่งลงทุน ประกอบกับอุปทานส่วนเกินยังสูง ขณะที่อุปสงค์หรือความต้องการทั้งในและต่างประเทศขยายตัวช้า โดยรวมเรามองว่าเอกชนน่าจะกลับมาลงทุนได้ดีขึ้นหลังปัญหาความไม่ชัดเจนเหล่านี้คลี่คลาย ประกอบกับการที่ภาครัฐเร่งลงทุนในโครงการต่างๆ ที่สามารถทำให้เอกชนมั่นใจถึงความต่อเนื่องของนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ ที่จะส่งไม้ต่อให้รัฐบาลชุดต่อไปหลังการเลือกตั้งได้

โดยสรุป สำนักวิจัยคงประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ 3.2% แม้มีปัจจัยบวกด้านการส่งออก แต่เป็นห่วงความเสี่ยงด้านการลงทุนภาคเอกชนที่มากขึ้น

สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย สำนักวิจัยมองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.50% ตลอดทั้งปี เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตช้าท่ามกลางความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับภาวะเงินเฟ้อที่แม้จะเร่งขึ้นจากปีก่อน แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำ และเป็นการเพิ่มขึ้นจากสินค้าที่เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมัน มากกว่ามาจากอุปสงค์ที่ขยายตัว จึงจำเป็นต้องอาศัยดอกเบี้ยในระดับที่ผ่อนคลายเช่นนี้ต่อไป โดยเฉพาะในช่วงที่การลงทุนภาคเอกชนยังอ่อนแอ สินเชื่อขยายตัวต่ำ นอกจากนี้ หากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐเพิ่มขึ้นอีก สองครั้งไปสู่ระดับ 1.50% เท่ากับไทยในช่วงปลายปีนี้ก็ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไทยต้องขยับดอกเบี้ยหนีสหรัฐ เพียงแต่เราอาจเลือกให้เงินไหลออก ปล่อยบาทให้อ่อนค่าเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวภาคการส่งออกจะดีกว่า

อย่างไรก็ดี สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์กังวล คือ อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นเวลานาน อาจเป็นต้นตอของวิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่ ในรูปแบบที่ไม่เหมือนเดิม ที่ไม่ใช่ฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์เหมือนในอดีต แต่อาจเกิดฟองสบู่ในภาคอื่น เช่น การชวนเชื่อหรือหลอกลวงให้ประชาชนไปลงทุนในสิ่งที่ได้ผลตอบแทนสูง ซึ่งอาจสูญเสียรายได้ที่เก็บออมมาทั้งชีวิตมากขึ้น กลายเป็น “มะเร็ง” ที่เพาะอยู่ในตัวและรอวันเติบโตมาทำร้ายเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง หากไม่แก้ไขก่อน และไม่ควรโทษ “ความโลภ” ของผู้บริโภคฝ่ายเดียว แต่ต้องดูบริบทสิ่งแวดล้อมด้วยว่าระบบการเงินเอื้ออำนวยให้เขาต้องเลือกทางนั้น ทั้งนี้ เชื่อในความตั้งใจของรัฐบาลและผู้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ล้วนต้องการใช้ทุกเครื่องมือในการประคับประคองเศรษฐกิจให้เติบโต ซึ่งอัตราดอกเบี้ยต่ำก็เป็นเครื่องมือหนึ่ง แต่การใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานานเกินไป ก็ต้องระวังผลข้างเคียงที่จะติดตามมา กนง.จึงควรมีการทบทวนนโยบายดอกเบี้ยเพื่อจัดสมดุลเศรษฐกิจ ไม่ให้ก่อปัญหาด้านใดด้านหนึ่งที่จะลามเป็นวิกฤติได้ในระยะยาว

สำหรับทิศทางค่าเงินบาท สำนักวิจัยมองว่า เงินบาทที่แข็งค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐในช่วงไตรมาสที่หนึ่งมาจากความไม่ชัดเจนของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีทรัมป์ ส่งผลให้เงินทุนที่เคยออกไปในช่วงปลายปีก่อนเคลื่อนย้ายกลับเข้ามา ทำให้บาทแข็งค่า อีกทั้งเฟดเองไม่ได้มีการส่งสัญญาณเร่งการขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่ตลาดคาด นักลงทุนต่างชาติยังคงมองประเทศไทยมีเสถียรภาพการเงินดี ดังเห็นได้จากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและเงินสำรองระหว่างประเทศที่สูง จึงเข้ามาพักเงินและแสวงหาผลกำไรจากส่วนต่างดอกเบี้ยไทยและสหรัฐ อย่างไรก็ดี ในช่วงที่เหลือของปีนี้ หลังมีความชัดเจนในนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของทรัมป์ที่จะนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อที่เร่งขึ้น ทางเฟดคาดว่าจะมีการส่งสัญญาณการเร่งการขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า และจะทำให้นักลงทุนเตรียมโยกย้ายเงินลงทุนออก ทำให้บาทอ่อนค่าได้ในที่สุด นอกจากนี้ นักลงทุนควรจับสัญญาณของธนาคารแห่งประเทศไทย ในการดูแลการเคลื่อนไหวของเงินบาทให้เป็นไปตามภูมิภาค เพราะการที่เงินบาทแข็งค่ามากกว่าค่าเงินภูมิภาคในช่วงนี้นับว่าไม่ปกติ และอาจมีมาตรการป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินโดยเฉพาะการลดการเข้าซื้อพันธบัตรของนักลงทุนต่างชาติ หรือมาตรการผ่อนคลายทุนเคลื่อนย้ายเพิ่มเติมเพื่อให้นักลงทุนไทยไปลงทุนต่างประเทศได้สะดวกขึ้น โดยในช่วงปลายปีนี้ค่าว่าน่าจะเห็นค่าเงินอยู่ที่ระดับ 35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ.
« Last Edit: June 05, 2017, 03:23:43 PM by MSN »