happy on May 30, 2017, 03:11:55 PM
Work – Life Balance แก้นิสัยบ้างาน ปรับชีวิตสู่สมดุล



มึนหัว อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ หิวของหวาน อยากของเค็ม ฯลฯ  ใครมีอาการเหล่านี้ยกมือขึ้นแล้วแนะนำว่าให้รีบไปหาคุณหมอจะดีกว่า เพราะอาจจะไม่ใช่แค่การเหนื่อยล้าจากการทำงานธรรมดา แต่เป็นกลุ่มอาการที่บ่งบอกว่า คุณหักโหมเกินไปจนร่างกายเริ่มเครียดแล้ว แต่ถ้าก้มหน้าก้มตาอดหลับอดนอนจนร่างกายรวนและทรุด อนาคตเงินที่หาได้คงต้องใช้รักษาร่างกายแทนการหาความสุขแล้วละ

ในช่วงเศรษฐกิจขาลงแบบทุกวันนี้ ทุกอาชีพล้วนมีความเครียดไม่ต่างกัน นอกจากปัญหาเรื่องเศรษฐกิจที่ค่าครองชีพสูงขึ้นทุกวันจนรายได้วิ่งตามรายจ่ายไม่ทัน ยังจะมีปัญหาสังคมและครอบครัวให้ต้องกังวลเพิ่มขึ้นไปอีก พอต้องเจอกับงานกองท่วมหัวก็ยิ่งเครียดเข้าไปแบบคูณสอง และยิ่งความเครียดรุมล้อมมากเท่าไร โอกาสที่โรคร้ายจะรุมเร้าก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น


นายแพทย์ธรณัส กระต่ายทอง อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ และเวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน เตือนมาว่า ความเครียดไม่เพียงทำให้สูญเสียพลังงาน แต่ยังนำมาซึ่งโรคร้าย เช่น โรคหัวใจ โรคความดัน โรคกระเพาะอาหาร และไมเกรน ซึ่งหากพูดกันตามหลักวิชาการแล้ว ความเครียดเป็นปฏิกิริยาของสมองที่แต่ละคนจะมีปฏิกิริยาตอบสนองไม่เหมือนกัน หรืออีกนัยหนึ่งคือ แต่ละคนทนต่อความเครียดได้ไม่เท่ากัน ดังนั้น ร่างกายก็จะแสดงอาการออกมาแตกต่างกันไป โดยมากมักจะปวดหัวหรือปวดท้อง ส่วนเรื่องอันตรายก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของความเครียดว่ามากน้อยแค่ไหน และความอดทนของแต่ละบุคคล

ปกติแล้วในออฟฟิศทั่วไปมักจะมีคนที่เครียดจนเป็นโรคซึ่งเกี่ยวเนื่องจากความเครียดอยู่ประมาณ ร้อยละ 20 และอีกกว่าร้อยละ 10 เป็นพนักงานที่ไม่เครียด แต่ที่ยังไม่ค่อยทราบกันคือ กว่าร้อยละ 60-70 ของพนักงานออฟฟิศมีอาการเจ้าปัญหาที่แฝงมากับความเครียดโดยไม่รู้ตัว นั่นคือ ปัญหาต่อมหมวกไตล้า(Adrenal fatigue)

ปัญหาต่อมหมวกไตล้าเกิดจากอาการเครียดที่มากเกินไปจนต่อมหมวกไตสร้างฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) หรือฮอร์โมนเครียดขึ้นมามากหรือน้อยผิดปกติ ซึ่งหากร่างกายเรามีฮอร์โมนตัวนี้มากไปจะเป็นฮอร์โมนทำลายล้าง แต่ถ้ามีน้อยจะทำให้รู้สึกไม่มีแรง ดังนั้น เวลามีคนมาปรึกษาเรื่องความเครียด คุณหมอจึงประเมินจากฮอร์โมนตัวนี้เป็นหลัก ถ้ามีอาการอ่อนเพลีย เวียนศีรษะ นอนไม่พอ หิวของหวาน อยากของเค็ม ส่วนใหญ่จะเป็นเพราะฮอร์โมนคอร์ติซอลต่ำ สามารถแก้ไขได้ด้วยการให้ฮอร์โมนหรือให้สารบางอย่างที่ช่วยปรับให้ความเครียดต่ำลงและทำให้ต่อมหมวกไตทำงานได้ดีขึ้น แต่หากตรวจแล้วฮอร์โมนปกติ ทางด้านร่างกายไม่มีอะไรผิดเพี้ยนเลย นั่นอาจจะบอกได้ว่าคุณมีอาการเครียดจากจิตใจ บางคนจิตใจเครียดจนเกิดความผิดปกติทางพฤติกรรม เช่น ย้ำคิดย้ำทำ ระแวงเกินไป หรือมีปัญหาที่รบกวนคุณภาพชีวิตอย่างการนอนไม่หลับ ทำงานไม่ได้ จนกลายเป็นอาการทางประสาทหรือโรคทางจิตเวช ซึ่งต้องไปพบจิตแพทย์เพื่อรักษาโดยการใช้ยาหรือจิตบำบัดตามแต่อาการ

ไม่ว่าจะเครียดทางกายหรือทางจิตใจ เราก็สามารถป้องกันไม่ให้หนักเกินไปจนกลายเป็นโรคได้ด้วยการปรับสมดุลให้ชีวิต โดยเบื้องต้นให้ลองสังเกตดูว่าคุณทำงานเยอะไปจนรบกวนนาฬิกาชีวิตของตัวเองหรือเปล่า สัญญาณที่สังเกตได้ง่ายที่สุดคือการนอน โดยทั่วไปแล้วคนเราต้องทำงานเช้าถึงเย็น กลางคืนคือเวลาพักผ่อน แต่หากยังฝืนทำงานต่อจนดึกดื่นจะรบกวนระบบร่างกาย ทำให้ฮอร์โมนผิดปกติ และมีความเครียด จนเกิดอาการนอนหลับไม่สนิท ฝันร้าย หลับ ๆ ตื่น ๆ นอนเท่าไรก็ไม่พอ หากมีอาการเหล่านี้จำเป็นต้องรีบปรับเปลี่ยนตัวเองโดยด่วน ให้รู้จักแบ่งเวลา วางแผนชีวิตในแต่ละวันว่าจะทำอะไรแค่ไหน ให้เวลากับการทำงานแล้วก็ต้องมีเวลาส่วนตัว รวมถึงเวลาออกกำลังกาย นอกจากนี้ ควรวางแผนรวมไปถึงเรื่องอาหารการกินด้วย เพื่อปรับสมดุลทั้งทางร่างกายและจิตใจ

หากเกิดอาการเครียดแล้ว แนะนำให้สวดมนต์และทำสมาธิ หรือออกกำลังกายแบบ Breathing Exercise ได้แก่ โยคะ ไทชิ เพราะมีผลการศึกษาวิจัยแล้วว่าช่วยให้หายเครียดได้จริง แต่ไม่ควรออกกำลังกายแบบหักโหม เช่น วิ่งมาราธอน ต่อยมวย เพราะยิ่งทำให้ระดับความเครียดสูงขึ้นอยากให้คนทำงานทุกคนเข้าใจไว้ว่า งานไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต ทำงานหนักได้ แต่ต้องดูแลและใส่ใจทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจของตัวเองให้ดีด้วย ถึงจะเป็นชีวิตที่สมดุลอย่างแท้จริง

ที่มา: บริษัท เจนเนอราลี่ ไทยแลนด์ และ นายแพทย์ธรณัส กระต่ายทอง อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ และเวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน