happy on May 28, 2017, 09:13:35 PM
อพท. จับมือนิด้าจัดหลักสูตรท่องเที่ยวยั่งยืนปั้นคนรุ่นใหม่

อพท. ผนึกนิด้าจัดทำองค์ความรู้ด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอนสาขาการท่องเที่ยว การโรงแรม และการบริการ ตอกย้ำเป็นองค์กรแห่งองค์ความรู้


                      พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า เพื่อยกระดับการดำเนินงานของ อพท. ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง อพท. จึงได้ร่วมมือกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จัดทำกรณีศึกษา (Case Study) ด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของ อพท. ที่สอดคล้องตามแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนภายใต้เกณฑ์ GSTC และจัดฝึกอบรมคณาจารย์ผู้สอนในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการท่องเที่ยวทั่วประเทศ ในการนำกรณีศึกษาของ อพท. ไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน เป็นการเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในกลุ่มคนรุ่นใหม่ และแวดวงวิชาการได้อย่างดียิ่งขึ้น

                      กิจกรรมการฝึกอบรมครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนภายใต้เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) ซึ่งทำให้ประเทศไทยมีต้นแบบการบริหารจัดการและการพัฒนาการท่องเที่ยวที่เทียบเคียงได้กับมาตรฐานสากล และที่สำคัญคือ เป็นการพัฒนาการท่องเที่ยวที่นำไปสู่ความ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ตามนโยบายของรัฐบาล 

                      ทั้งนี้ “สภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก” หรือ Global Sustainable Tourism Council (GSTC) เป็นองค์กรระดับโลกที่ได้กำหนดเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria: GSTC) ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในระดับนานาชาติ โดยองค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) ได้นำเอาเกณฑ์ของ GSTC ไปปรับใช้กับประเทศสมาชิก เนื่องจากเป็นเกณฑ์ที่จะช่วยยกระดับการพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศสมาชิกให้เกิดความยั่งยืนได้อย่างเป็นระบบ โดยแหล่งท่องเที่ยวจะต้องบริหารจัดการอย่างบูรณาการและมองภาพรวมที่ครอบคลุมทั้ง 4 มิติ คือ 1) การบริหารจัดการอย่างยั่งยืน 2) การเพิ่มผลประโยชน์และลดผลกระทบเชิงลบ ทางสังคม-เศรษฐกิจแก่ชุมชนท้องถิ่น 3) การเพิ่มผลประโยชน์และลดผลกระทบเชิงลบ ทางวัฒนธรรมแก่ชุมชนและนักท่องเที่ยว และ 4) การเพิ่มผลประโยชน์และลดผลกระทบด้านลบทางสิ่งแวดล้อม








                      สำหรับ อพท. ได้นำแนวทางของเกณฑ์ GSTC มาปรับใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานในพื้นที่พิเศษทั้ง 6 แห่ง ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2556 โดยปี 2559 อพท. ได้จัดสัมมนาและนิทรรศการ “Grow Green Together, Travel Forever” เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2559 เพื่อเผยแพร่ผลการดำเนินงาน อพท. ที่สอดคล้องกับเกณฑ์ GSTC ทั้ง 4 ด้าน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของ อพท. ภายใต้เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) ให้เป็นที่ยอมรับ สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ทั้งบุคคลทั่วไปและในวงการวิชาการ ซึ่งจะสามารถยกระดับภาพลักษณ์การดำเนินงานของ อพท. ให้เป็นที่รู้จักในฐานะคลังความรู้ชั้นนำด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่สำคัญของประเทศ และยังเป็นการเพิ่มศักยภาพในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การปฏิรูปการท่องเที่ยวไทยให้อยู่ในระดับสากลได้อีกทางหนึ่ง

                      อย่างไรก็ตาม GSTC ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ อพท. เมื่อปี 2558 และได้พัฒนาผู้ฝึกสอนที่ได้รับอนุญาต (Authorized Trainers) ให้กับบุคลากรของ อพท. รวมทั้งมอบสิทธิให้ อพท. นำเนื้อหาหลักสูตรระดับโลกนี้มาแปลเป็นภาษาไทย ซึ่งในปี 2559 อพท. ได้มีการจัดการฝึกอบรมในพื้นที่พิเศษของ อพท. ก่อน จากนั้น อพท. กับ GSTC ได้ทำการประเมินและปรับปรุงหลักสูตรเพื่อให้เข้ากับบริบทของประเทศไทยมากที่สุด และเปิดการฝึกอบรมให้กับบุคคลทั่วไปในระยะต่อไป

                      ดังนั้นในการร่วมมือกับนิด้าเพื่อจัดทำชุดองค์ความรู้ที่อยู่ในรูปแบบกรณีศึกษา (Case Study) ด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของ อพท. จึงเป็นการขยายผล และต่อยอดองค์ความรู้ด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนภายใต้เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) ของ อพท. ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องในวงกว้าง สามารถเข้าถึงได้ง่าย โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ บุคลากรในวงการด้านการพัฒนาการท่องเที่ยว หน่วยงานผู้กำหนดนโยบายและหน่วยงานปฏิบัติ กลุ่มคนรุ่นใหม่ และผู้สนใจทั่วไป สามารถใช้เป็นต้นแบบการบริหารจัดการและการพัฒนาการท่องเที่ยวที่เทียบเคียงกับมาตรฐานสากลได้