MSN on May 17, 2017, 11:24:28 AM
ภาคประชาชนกว่า 80 องค์กร ร่วมจัด “Good Society Expo” 9-11 มิ.ย. ชวนคนไทยทำดี หวังผล กับ “ตัวจริง” ภาคสังคม แก้ปัญหาการศึกษา คนพิการ ต้านทุจริต สิ่งแวดล้อม สุขภาพ17 พ.ค. 2560- กรุงเทพฯ “มูลนิธิเพื่อคนไทย-องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ-สสส.- นวัตกรรมทางสังคม- ยุวพัฒน์ - เอ็นไลฟ” และภาคีเครือข่ายกว่า 80 องค์กร ร่วมกับ “อาร์เอสทีเอ-ซีพีเอ็น - เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป” จัดงาน “Good Society Expo เทศกาลทำดี หวังผล” 9-11 มิ.ย. นี้ ณ เซ็นทรัลเวิลด์และย่านราชประสงค์ ชวนคนไทยเป็น “พลเมืองที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม” (Active Citizen) สนับสนุนการทำงานกับองค์กรภาคสังคม “ตัวจริง” 5 ประเด็นหลัก “การศึกษา คนพิการ ต้านทุจริต สิ่งแวดล้อม สุขภาพ” โดยมีกลไกการให้ที่สร้างผลลัพธ์ ทั้ง“เทใจ ปันกัน ฟู๊ด ฟอร์ กู๊ด โซเชียลกีฟเวอร์ กองทุนรวมคนไทยใจดี” ที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า ประเทศไทยมียอดเงินบริจาคโดยเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 70,000 ล้านบาท เกือบทั้งหมดบริจาคเพื่อการกุศล ขณะที่ผลวิจัย “คนไทยมอนิเตอร์” ระบุว่า คนไทยส่วนใหญ่พร้อมช่วยแก้ปัญหาสังคมแต่ไม่ทราบช่องทางการลงมือทำ อย่างไรก็ตาม ขนาดของปัญหาสังคมนับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นจึงจำเป็นต้องสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน
นี่คือที่มาของงาน “Good Society Expo : เทศกาลทำดีหวังผล” ซึ่งเป็นพัฒนาการที่ต่อเนื่องจากงาน “คนไทยขอมือหน่อย” แนวคิดสำคัญของงานมุ่งสู่การสร้างผลลัพธ์ และร้อยเรียงความร่วมมือของภาคีเครือข่ายที่ขับเคลื่อนสังคมประเด็นต่างๆ มาเพิ่มอัตราเร่งความสำเร็จในโครงการเพื่อสังคมที่กำลังขับเคลื่อน พร้อมกับเชิญชวนประชาชนจำนวนมากเข้ามามีส่วนร่วม เป็น “พลเมืองที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม” หรือ “Active Citizen” นำพาคุณค่าของตัวเองที่มี ร่วมสร้างคุณค่าทางสังคม เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ที่มาจากการมีส่วนร่วม หรือ “Collaboration” ด้วยการสนับสนุน “ทรัพยากร” ด้านต่างๆ ทั้งทุนเงิน ทุนความรู้ ความเชี่ยวชาญ ทุนเครือข่าย และทุนอื่นๆ แก่องค์กรหรือนักปฏิบัติผู้ขับเคลื่อนงานเพื่อสังคมที่มีผลลัพธ์จริงในงานนี้
นายวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย เปิดเผยว่า เพื่อสร้างทัศนคติใหม่ว่าทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสังคมได้ องค์กรตัวกลางภาคสังคมและภาคีเครือข่ายของแต่ละประเด็นที่เป็นผู้นำเสนอในงานนี้ จึงกำหนดเป้าหมายชัดเจนว่า ประชาชนจะมีส่วนร่วมอย่างไรได้บ้าง โดยวัดความสำเร็จของงานจาก “ทรัพยากร” ที่เกิดขึ้น อันได้แก่ “ทุนมนุษย์” ที่หมายถึง อาสาสมัครระดับบุคคล และอาสาสมัครองค์กร ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และ “ทุนเงิน” รวมทั้งการมีพันธสัญญาที่ร่วมทำงานต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ในการขับเคลื่อนงานของภาคสังคมโดยอาศัยพลังทุนมนุษย์ของคนกลุ่มนี้
“พลเมืองที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวมนับเป็นทรัพยากรสำคัญของการสร้างระบบนิเวศการลงทุนทางสังคมในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม เราคงไม่สามารถคาดหวังในเชิงปริมาณ แต่น่าจะคาดหวังคุณภาพได้ เพราะงานนี้นับเป็นการรวมพลังของคนภาคสังคมตัวจริงที่มีผลลัพธ์ทางสังคม จึงเป็นโอกาสของประชาชนที่จะเข้ามาร่วมหรือสนับสนุนการแก้ปัญหาสังคมกับคนเหล่านี้” ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย กล่าว
ทั้งนี้ เกี่ยวกับประเด็นปัญหาสังคมที่จะนำเสนอเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนในงานนี้ มี 5 ประเด็นหลัก แต่ละประเด็นมีองค์กรตัวกลางและภาคีเครือข่ายที่มีผลลัพธ์ทางสังคมร่วมนำเสนอ โดยมีโครงการร้อยพลังเปลี่ยนประเทศ มูลนิธิเพื่อคนไทย เป็นองค์กรประสานความร่วมมือกับภาคีต่างๆ ประกอบด้วย
ประเด็นการศึกษา นำเสนอสารสำคัญ “Limited Education ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” โดย มูลนิธิยุวพัฒน์ เลิร์นเอ็ดดูเคชั่น ทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ อาชีฟ ฯลฯ และช่องทางการมีส่วนร่วมในแก้ไขปัญหา การศึกษา 3 ประการ คือ การได้รับทุนการศึกษา คุณภาพการศึกษา ทักษะการใช้ชีวิต
“เราต้องการทำให้เห็นว่า การขาดการศึกษาที่มีคุณภาพนั้นมีอยู่จริงและตลอดไป แต่เราในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมทำอะไรได้บ้าง” นางสาวสดุดี ชลิตเรืองกุล ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารและพัฒนาสัมพันธ์ มูลนิธิยุวพัฒน์ กล่าว
ประเด็นต่อต้านคอร์รัปชัน นำเสนอสารสำคัญ “พลัง Active Citizen เพื่อลดคอร์รัปชัน” โดย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย โอเพ่นดรีม สุจริตไทย สำนักข่าวอิศรา ฯลฯ พร้อมนำเสนอกิจกรรมเพื่อนำสู่การค้นหาอาสาสมัครเป็นผู้สังเกตการณ์อิสระ โครงการข้อตกลงคุณธรรม (IP-Integrity Pact) ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐ
“เมื่อพูดถึงปัญหาคอร์รัปชันที่ดูเหมือนจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงการแก้ปัญหาที่ประชาชนมีส่วนร่วมได้ ปีนี้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันจะมุ่งทำงานร่วมกับสังคมเพื่อลดปัญหา” นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าว
ประเด็นผู้พิการและผู้สูงอายุ นำเสนอสารสำคัญ “สังคมร่วม รวมเราทุกคน” (Social Inclusion) โดยมีเป้าหมายเพื่อให้สังคมได้เห็นความหลากหลายของศักยภาพของคนพิการ โดยมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม โรงพยาบาลลำสนธิ มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ สภากาชาดไทย มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ ฯลฯ
“เรามุ่งเน้นนำเสนอให้สังคมเห็นศักยภาพของผู้พิการ แทนการคิดว่าเป็นผู้ด้อยโอกาส” นายอภิชาติ การุณกรสกุล ประธานกรรมการ มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม กล่าว
ประเด็นสิ่งแวดล้อม นำเสนอสารสำคัญ “คุณเท่านั้นที่เปลี่ยนโลกได้” มาร่วมกันแสดงพลังอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลงมือปฏิบัติจริง ลงพื้นที่จริง เพื่อ “ดิน น้ำ ป่า เมือง” ในงาน Good Society Expo โซนสิ่งแวดล้อม ร่วมน้อมนำศาสตร์พระราชา มาเป็นแนวทางขับเคลื่อนมุ่งแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ของสหประชาชาติ โดยความร่วมมือของตัวแทนภาคธุรกิจและสังคมทางด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ มูลนิธิเอ็นไลฟ, มูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์, มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติและสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง, มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) และองค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อมอีกมากมาย
“ตัวเลขพื้นที่ป่าประเทศไทยโดยเฉลี่ยหายไปปีละ 1 ล้านไร่ เราจะนำเสนอวิธีการดูแลสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ ป่า เมืองที่คนเมืองมีส่วนร่วมได้” นายสุรเดช บุณยวัฒน รองประธานกรรมการ มูลนิธิเอ็นไลฟ กล่าว
และประเด็นสุขภาพ นำเสนอสารสำคัญ ”คนไทยทุกคนเปลี่ยนแปลงตนเองได้” โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและกว่า 16 องค์กรเครือข่าย จากปัญหาพฤติกรรมสุขภาพของประชาชนปัจจุบันมีความเสี่ยงทุกด้าน
“สสส. จะชวนคนไทยสร้างการตระหนักใหม่ว่าสุขภาพดีในมุมมองใหม่สร้างได้จากตัวเรา” นายณัฐพันธุ์ ศุภกา ผู้อำนวยการสำนักภาคีสัมพันธ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าว
อีกเนื้อหาสำคัญของงาน เป็นการนำเสนอ “เครื่องมือส่งเสริมการให้” อย่างมีนวัตกรรม นำเสนอสารสำคัญ “Lifestyle of Giving” หรือ “ทุกเวลาของการใช้ชีวิตเราเป็นผู้ให้ตลอด 1 วัน” ประกอบด้วย เทใจ ปันกัน ฟู๊ด ฟอร์ กู๊ด โซเชียลกีฟเวอร์ กองทุนรวมคนไทยใจดี และเครือข่ายจิตอาสา ทุกเครื่องมือถือได้ว่าเป็นเครื่องมือที่ร่วมสร้างสังคมแห่งการแบ่งปันในระบบนิเวศงานพัฒนาสังคมไทย และมีผลลัพธ์ที่จับต้องได้
จากการดำเนินงานปี 2559 “เวบไซต์เทใจ” มียอดสนับสนุนโครงการจากประชาชนทั่วไปจำนวน 6.72 ล้านบาท จำนวน 32 โครงการ และเข้าถึงผู้รับประโยชน์ 1.8 แสนคน กองทุนรวมคนไทยใจดี (BKIND) สามารถแบ่งปันเงินจากนักลงทุนผู้ถือหน่วยร้อยละ 0.8 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน สู่ผู้รับประโยชน์จำนวน 13,683 คน สนับสนุนโครงการเพื่อสังคม 32 โครงการเป็นเงิน 25.50 ล้านบาท ส่วน “ปันกัน” มีผู้ร่วมปันสิ่งของ 16,061 ราย มีผู้บริจาคเงินรับสินค้าแบ่งปัน จำนวน 2.08 แสนราย มีเครือข่ายนักปันอาสา 3,176 ราย สามารถระดมทุนการศึกษาให้นักเรียนทุนยุวพัฒน์ได้ 35.4 ล้านบาท เปลี่ยนเป็นทุนการศึกษาต่อเนื่อง 6 ปี ส่งน้องเรียนจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า ได้ 848 คน “ฟู๊ด ฟอร์ กู๊ด” สามารถระดมเงินบริจาคจากร้านอาหารที่ร่วมโครงการจำนวน 3.02 ล้านบาท ช่วยเยาวชนได้ 976 คน “เครือข่ายจิตอาสา” สามารถสร้างการมีส่วนร่วมงานอาสาสมัครให้กับองค์กรภาคสังคม 135 องค์กร และในแต่ละปีสามารถสร้างโอกาสให้ประชาชนเป็นอาสาสมัคร 500-600 คน
งาน Good Society Expo เทศกาลทำดีหวังผล ยังได้รับการสนับสนุนทรัพยากรด้านต่างๆ จากภาคธุรกิจ ประกอบด้วย บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา สมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ และบมจ. เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป ผู้บริหารศูนย์การค้า เดอะ แพลทินัม แฟชั่น มอลล์ ด้านสถานที่จัดกิจกรรม ช่องทางการประชาสัมพันธ์ ตลอดจนเชิญชวนคู่ค้า ผู้บริโภค มีส่วนร่วมในงานนี้ โดยจะมีกิจกรรมเปิดงานอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 มิถุนายน เวลา 10.30 -12.00 น. ณ ลานเซ็นทรัลคอร์ต ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
สามารถติดตามความเคลื่อนไหว รายละเอียดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องที่ www.khonthaifoundation.org หรือ facebook.com/khonthaifoundation ชมหนังสั้นแนะนำงาน ได้ที่ https://goo.gl/4CdTVc ลงทะเบียนร่วมงานได้ที่ www.goodsocietyexpo.com
« Last Edit: May 18, 2017, 08:14:33 AM by MSN »
Logged