happy on May 09, 2017, 05:09:16 PM
“เที่ยวบุ่งสิบสี่ ชิมส้มโอพันธุ์พื้นเมือง”
เรียนรู้วิถีชุมชนอย่างลึกซึ้ง




                  การออกเดินทางท่องเที่ยวถือเป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่บางครั้งทำให้ได้ทั้งความรู้และความสนุกสนานไปพร้อมกัน ตัวอย่างการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่บ้านบุ่งสิบสี่ ตำบลโนนทอง อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิที่ชาวบ้านทุกคนพร้อมใจกันมาบริหารจัดการท่องเที่ยวด้วยตนเองโดยมีกิจกรรมบริการนักท่องเที่ยวที่หลากหลายและให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชนด้วยน้ำใจ ผลลัพธ์ที่ได้จึงเป็นความประทับใจของผู้มาเยือนอย่างมิรู้ลืม


นายอัครวิทย์ หมื่นกุล(คนซ้ายสุด)

                  นายอัครวิทย์  หมื่นกุล ผู้ดำเนินงานโครงการศึกษาและพัฒนาสินค้าและบริการท่องเที่ยวบ้านบุ่งสิบสี่และโครงการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรบ้านบุ่งสิบสี่ ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาเครือข่ายท่องเที่ยวเชิงเกษตรลำน้ำพรมหรือในนาม อาจารย์จัมโบ้ ที่ชาวบ้านทุกคนคุ้นเคย เปิดเผยว่า จังหวัดชัยภูมิได้กำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพได้มาตรฐานโดยพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแบบครบวงจรและท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปีในทุกฤดูกาล

                  “โครงการนี้เป็นโครงการของเกษตรสหกรณ์จังหวัดชัยภูมิและได้งบประมาณของจังหวัดชัยภูมิมาทำเรื่องท่องเที่ยวโดยชุมชนภายใต้นโยบายประชารัฐและได้ร่วมกันออกแบบโครงการโดยการมีส่วนร่วมกับชาวบ้านในชุมชนอย่างเป็นระบบ โดยดำเนินการในพื้นที่บ้านบุ่งสิบสี่ เนื่องจากมีจุดเด่น คือ  เป็นพื้นที่ที่อยู่ติดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว(ทุ่งกระมัง)และมีการดำเนินโครงการซึ่งเกี่ยวข้องเรื่องคนกับป่า อยู่กันยั่งยืนมาแล้วหลายโครงการด้วยกัน อีกทั้งยังมีภูมิประเทศที่สวยงามเหมาะสมที่จะส่งเสริมเรื่องท่องเที่ยวและจุดเด่นที่สำคัญของที่นี่ คือ เป็นแหล่งปลูกส้มโอขนาดใหญ่ที่มีเนื้อที่กว่า   600 ไร่ ”

                  นายอัครวิทย์ กล่าวกว่า ส้มโอที่บ้านบุ่งสิบสี่ เป็นแหล่งปลูกพันธุ์พื้นเมืองที่มีอายุไม่น้อยกว่า 150 ปี ทำให้มีตำนานส้มโอแลกข้าวเกิดขึ้นเนื่องจากในอดีตพื้นที่ทำนาไม่ให้ผลผลิตที่เพียงพออาจเป็นเพราะภูมิประเทศไม่เหมาะกับการทำนาทำให้ชาวบ้านหันมาปลูกส้มโอและเมื่อได้ผลผลิตที่ดีจึงนำส้มโอไปแลกข้าวอันเป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและงดงาม ต่อมาเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป หน่วยงานภาครัฐได้เข้ามาส่งเสริมการปลูกส้มโอสายพันธุ์ส่งเสริม เช่น ทองดี ขาวแตงกวา ฯลฯ เป็นต้น ส่งผลให้ส้มโอพันธุ์พื้นเมืองเริ่มถูกตัดโค่นต้นทิ้งเนื่องจากพันธุ์พื้นเมืองมีต้นและทรงพุ่มขนาดใหญ่ต้องใช้พื้นที่ในการปลูกมาก ทำให้อยากส่งเสริมให้ทุกคนเห็นคุณค่า เห็นความสำคัญของส้มโอพันธุ์พื้นเมืองก่อนที่จะถูกทำลายหมดไปเนื่องจากส้มโอพันธุ์พื้นเมืองของที่นี่เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมซึ่งมีรสชาติดีไม่แพ้ที่ใด


ส้มโอพันธุ์พื้นเมือง


ชาวบ้านบุ่งสิบสี่

                  “ส้มโอพันธุ์พื้นเมือง จะมีกุ้ง 2 สี หากมีสีแดงจะเรียกว่า แดงและต่อท้ายตามตำแหน่งที่เกิด เช่น แดงภูคิ้ง  แดงโรงสี แดงผาพัง หรืออื่นๆ หากส้มโอมีเนื้อสีขาวจะใส่คำว่า หอม ลงไปเพราะนอกจากจะมีรสชาติอร่อยแล้วยังมีความหอมเหมือนมะนาวเมล่อน บางต้นมีเปลือกบางและปอกเปลือกได้ง่ายอีกด้วยเช่น ขาวหอม ขาวหล่อน(ขาวจัมโบ้) ฯลฯ. แต่ความหลากหลายของสายพันธุ์ส้มโอเหล่านี้กลับไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายเหมือนสายพันธุ์อื่นๆ จึงอยากให้มีการอนุรักษ์พันธุ์พื้นเมืองนี้ไว้ก่อนที่จะสูญหายหมดไป” 

                  การประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรบ้านบุ่งสิบสี่จึงมีกลยุทธ์และแนวทางในการส่งเสริมการตลาดส้มโอและการประชาสัมพันธ์ร่วมกับการท่องเที่ยวเชิงเกษตรไปด้วยอีกทั้งพยายามส่งเสริมให้ชุมชนนำทรัพยากรทางเกษตรในพื้นที่มาใช้ประโยชน์ เพื่อให้เกิดรายได้โดยตรง ทั้งจากการจำหน่ายสินค้าเกษตรและการให้บริการตลอดจนสามารถดำเนินงานบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้อยู่ในรูปแบบของการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน (วิถีเกษตร วิถีวัฒนธรรมและธรรมชาติ)


ผู้ใหญ่เก๋ต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยส้มโอ

                  ด้านนายนันทวิทย์ ดวงมณี ผู้ใหญ่บ้านบุ่งสิบสี่หรือผู้ใหญ่เก๋ กล่าวเพิ่มเติมว่า บ้านบุ่งสิบสี่ มีศักยภาพในการจัดการท่องเที่ยวและเป็นการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน รับฟังทุกฝ่ายเพื่อจัดทำโปรแกรมการท่องเที่ยวให้เหมาะสมกับชุมชนและทุกคนที่มาเยือน โดย การสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับชุมชนอย่างเป็นระบบ เช่น การเรียนรู้/ศึกษาดูงานเรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชน/การจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการท่องเที่ยวโดยชาวบ้านเอง ไม่ขัดแย้งกันภายในชุมชนรวมถึงชุมชนใกล้เคียง ทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งและชาวบ้านพร้อมใจกันทำงาน

                  “ถ้ามาเที่ยวบ้านบุ่งสิบสี่ เริ่มแรกจะต้องถามแขกที่มาเยือนว่าต้องการแบบไหน บางคณะต้องการมาอบรมเรียนรู้เรื่องการปลูกส้มโอหรือบางคนมาเที่ยวชมธรรมชาติก็จะมีการพูดคุยกันจัดการท่องเที่ยวให้เหมาะสมกับความต้องการซึ่งจุดเด่นของที่นี่ คือ เป็นแหล่งปลูกส้มโอพันธุ์พื้นเมืองที่มีรสชาติอร่อย ราคาไม่แพงและสามารถมีให้ชิมได้ทั้งปี ทุกฤดูกาล”

                  สำหรับการจัดโปรแกรมการท่องเที่ยวบ้านบุ่งสิบสี่คร่าวๆนั้น ผู้ใหญ่เก๋ เล่าอีกว่า เริ่มจากการกล่าวต้อนรับนักท่องเที่ยวที่ศูนย์ประสานงานของหมู่บ้าน (วัดศักดิ์งอย) และพาชมสวนส้มโอพันธุ์พื้นเมืองในแต่ละสวนจะมีการให้ชิมน้ำส้มโอปั่นและส้มโอชนิดต่างๆรวมทั้งพาล่องเรือหรือจะพายเรือเอง ในลำน้ำพรม ซึ่งมีทัศนียภาพอันงดงาม โดยจะมีการแบ่งกลุ่มชาวบ้านในการบริหารจัดการ อาทิ ใครรับผิดชอบเรื่องเรือก็อยู่กลุ่มเรือ กลุ่มรถ กลุ่มอาหารพื้นบ้าน กลุ่มโฮมสเตย์ เป็นต้น และมีผู้ใหญ่บ้านเป็นประธานเครือข่ายฯคอยให้แนะนำในการจัดการท่องเที่ยวของชุมชน 

                  “กลุ่มของเรามีทั้งเรือพายขนาดเล็กและเรือขนาดใหญ่ใช้เครื่องยนต์ นักท่องเที่ยวบางคนอยากพายเรือเองเราก็จะมีเรือที่ได้มาตรฐานกรมเจ้าท่าไว้บริการ มีทั้งหลังคาและชูชีพเพื่ออำนวยความสะดวกและปลอดภัย เมื่อพายเรือชม ชิม ช้อปที่สวนส้มโอของสมาชิกกลุ่มของพวกเราแต่ละสวนก็จะมีความหลากหลายของสายพันธุ์ รสชาติ ความมีน้ำใจของเจ้าของสวนที่เป็นเสน่ห์ของกลุ่มเรา หรือถ้านักท่องเที่ยวพักค้างที่โฮมสเตย์ของชุมชน ช่วงค่ำมีกิจกรรมพาแลง พร้อมพิธีบายศรีสู่ขวัญตามประเพณี มีการแสดงพื้นบ้าน และมีอาหารพื้นบ้านไว้บริการ เช่น แกงตาว นึ่งปลา ไก่อ้อแอ้ ไก่ดำนึ่ง ไข่ใส่ร่อน ผัดหมี่โบราณ ฯลฯ ตื่นเช้า ใส่บาตรตามประเพณี การร่วมเรียนรู้กับชุมชนตามวิถี เช่น การหาปลาลำน้ำพรม เข้าสวน หรือนั่งเกวียนเทียมวัวเที่ยวชมบรรยากาศรอบๆชุมชน ซื้อสินค้าของฝากตามชอบใจ ฯลฯ

                  โดยอาหารก็จะปรับให้เหมาะสมไปตามฤดูกาลของบ้านเรา  เช่น ฤดูไหนมีเห็ด ฤดูไหนมีหน่อไม้ ก็จะมีให้ชิมอย่างเต็มที่ หรือหากมาในช่วงเทศกาลประเพณี เช่น สงกรานต์ งานบุญต่างๆก็จะให้นักท่องเที่ยวทำกิจกรรมร่วมกันกับชาวบ้านอีกด้วย”

                  สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ผ่านมาจะมีทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่มาเยือนและบางกลุ่มมาแล้วก็กลับมาอีกรอบด้วยความประทับใจในรสชาติของส้มโอ ทัศนียภาพลำน้ำพรม และอัธยาศัยไมตรีอันดีงามของชาวบ้าน

                  การเดินทางท่องเที่ยวจึงมิใช่ความหมายของการไปเพียงแค่ถ่ายภาพแล้วกลับมาอวดกันแต่ยังได้เรียนรู้ทั้งด้านการเกษตร วิถีชีวิตของชาวบ้าน  และย่อมทำให้การเดินทางในครั้งนี้มีความหมายขึ้นอย่างลึกซึ้ง ติดต่อได้ที่ ผญ.นันทวิทย์ ดวงมณี  โทรศัพท์ 099  783 2597