MSN on May 04, 2017, 10:45:16 PM
สมาคมสถาปนิกสยามฯเปิดกิจกรรมงานสถาปนิก’60 ภายใต้คอนเซ็ปต์ “บ้าน บ้าน :  BAAN BAAN” Reconsidering Dwelling







สมาคมสถาปนิกสยามฯ  เปิดกิจกรรมงานสถาปนิก’60  โชว์ องค์ความรู้ แนวคิด นวัตกรรมการออกแบบหลากมิติ พร้อมเชิญชวนสถาปนิก วิศวกร วิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ประชาชนทั่วไป หาคำตอบ ทุกมุมมองของบ้าน  ภายในงาน พร้อมโชว์สุดยอดเทคโนโลยี ระดับนานาชาติ  เผยผู้ประกอบการ ผู้ผลิต และตัวแทนจำหน่าย ร่วมจัดแสดงสินค้ารวม 93% จากพื้นที่ทั้งหมด ต่างชาติแห่ร่วมจัดแสดงเพิ่มขึ้นกว่า 35% จากปีที่ผ่านมา พิเศษสุด แจกฟรีกล้าไม้ผู้เข้าชมงาน 900 ต้นต่อวัน หวังต่อยอดสร้างพื้นที่สีเขียวให้ชุมชน ระหว่างวันอังคารที่  2 – วันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2560 ณ อาคาร  ชาเลนเจอร์ 1-3 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี
   
นายอัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
กล่าวว่าการจัดงานสถาปนิก เป็นหนึ่งในภารกิจที่สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์  จัดทำขึ้นเป็นประจำทุกปี การจัดงานในปีนี้นับเป็นครั้งที่ 31 ภายใต้คอนเซปต์ “บ้าน บ้าน : BAAN BAAN” Reconsidering Dwelling เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ และเข้าถึง วิชาชีพสถาปนิกมากยิ่งขึ้น การจัดงานสถาปนิกเป็นเวทีสำคัญที่จะเผยแพร่ เสริมสร้าง แลกเปลี่ยน องค์ความรู้ด้านวิชาชีพสถาปัตยกรรม และวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ของสถาปนิกไทยและสถาปนิกต่างประเทศให้รู้จักอย่างแพร่หลายในเวทีนานาชาติ โดยคาดหวังว่าทุกภาคส่วนที่เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับประโยชน์จากการเข้าชมงาน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของสมาคมฯระหว่างปี 2559-2561 ที่ให้ความสำคัญกับทั้งในส่วนของการดูแลสมาชิกสมาคมฯในด้านต่างๆ อาทิ ด้านวิชาชีพ วิชาการ และการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสมาคมสถาปนิกในกลุ่มประเทศอาเซียน มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนบทบาทของสถาปนิก เพื่อสังคมและชุมชนเมือง ฯลฯ รวมทั้งการผลิตสื่อออนไลน์ ออฟไลน์และจัดการข้อมูลเข้าสู่ระบบดิจิตัล เพื่อบริการสมาชิก และผู้สนใจให้สามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก รวดเร็ว


นายนันทพล จั่นเงิน  ประธานจัดงาน สถาปนิก’60  กล่าวว่า งานสถาปนิก’60 ภายใต้ คอนเซ็ปต์ “บ้าน บ้าน :  BAAN BAAN” Reconsidering Dwelling ต้องการที่จะเผยแพร่แนวคิด นวัตกรรมใหม่ๆ ในวงการสถาปัตยกรรม ที่เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย และเปิดเป็นพื้นที่ที่มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และความคิดเห็นต่างๆซึ่งกันและกัน ทั้งในกลุ่มวิชาชีพสถาปนิก วิศวกร ผู้รับเหมา นักธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญที่สุดคือ ประชาชนคนทั่วไปที่มีความต้องการและสนใจเรื่องบ้านในหลากหลายมิติ 

“การจัดงานสถาปนิกในปีนี้ไม่ได้มุ่งเน้นที่กลุ่มสถาปนิกเพียงอย่างเดียวแต่อยากให้เป็นงานของทุกคนทุกเพศวัย มีส่วนร่วม โดยกลุ่มสถาปนิกได้มาเรียนรู้ และอัพเดทความรู้ด้านวิชาชีพ เทรนด์ใหม่ๆทั้งในส่วนของวัสดุก่อสร้าง และงานออกแบบ ส่วนประชาชนทั่วไปก็สามารถมาดูไอเดียการแต่งบ้าน มาปรึกษาสถาปนิกเกี่ยวกับบ้าน และร่วมงานเสวนาต่างๆได้ ซึ่งเรามีกิจกรรมหลากหลายรูปแบบที่สมาชิกในครอบครัวได้เลือก และนำความรู้สิ่งที่ได้รับจากการร่วมกิจกรรมไปปรับใช้ต่อไป”

โดยพื้นที่นิทรรศการจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักคือ บ้าน (Dwelling) องค์ประกอบบ้าน (Dwelling Element) และพื้นที่นอกบ้าน (Dwelling’s Surroundings)

สำหรับนิทรรศการ บ้าน (Dwelling)  มีนิทรรศการและกิจกรรมที่สำคัญ เช่น นิทรรศการสถาปนิกแห่งแผ่นดิน (THE ARCHITECT OF THE KINGDOM) เป็นนิทรรศการที่แสดงความรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯที่ท่านได้ทรงพระราชกรณียกิจเพื่ออาณาประชาราษฎร์, นิทรรศการ บ้าน บ้าน รูปเล่าเรื่อง (BAAN BAAN Photo Essay) นำเสนอเรื่องราวของการอยู่อาศัย โดยมี “คน” เป็นโจทย์สำคัญ พร้อมกับเปิดประเด็นให้ ชวนขบคิดเกี่ยวกับบทบาทของสถาปนิก และสถาปัตยกรรม ฯลฯ, นิทรรศการ บ้าน บ้าน จำลอง (BAAN BAAN Mockup) เป็นนิทรรศการในรูปแบบของหุ่นจำลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนคนทั่วไปสามารถรับรู้และง่ายต่อการเข้าใจในผลงานสร้างสรรค์ของสถาปนิก, นิทรรศการ บ้าน บ้าน ตัวอย่าง (BAAN BAAN Case Study)  เป็นนิทรรศการที่แสดงความคิดสร้างสรรค์ของสมาชิกสมาคมสถาปนิกสยามฯ ในการออกแบบบ้านเดี่ยวทั้งบ้านที่สร้างใหม่ (NEW HOUSE) และบ้านที่ได้รับการออกแบบปรับปรุงจากบ้านเก่า (ADAPTIVE REUSED HOUSE) ซึ่ง นิทรรศการนี้จะทำให้ประชาชนคนทั่วไปที่เข้าชมงานได้เห็นถึงรูปแบบบ้านที่แตกต่างกันไปตามขนาดพื้นที่ใช้สอยและงบประมาณของบ้านเดี่ยวรูปแบบต่างๆ, นิทรรศการในส่วนขององค์ประกอบบ้าน (Dwelling Element) เช่น นิทรรศการชิ้นส่วนของบ้าน (Dwelling Element) โดยเปิดโอกาสให้นักออกแบบ 12 ทีมได้ทบทวน (Reconsidering) หน้าที่ของชิ้นส่วน อาทิ ประตู หน้าต่าง ฯลฯเหล่านั้นใหม่อีกครั้งว่า ชิ้นส่วนของบ้านที่ดีจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร และสร้างออกมาเป็นชิ้นส่วนของจริงในขนาดจริงสำหรับจัดแสดงนอกจากนี้ผลงานบางส่วนยังถูกแสดงออกมาภายใต้แนวคิดของ Universal Design, นิทรรศการในส่วนของพื้นที่นอกบ้าน (Dwelling’s Surroundings) เช่น นิทรรศการบริบทรอบบ้าน  (Dwelling’s Surroundings) นิทรรศการพูดถึงบริบทที่อยู่รอบๆบ้าน เริ่มต้นจากภายในรั้วบ้านตลอดจนพื้นที่สวนนอกบ้าน พื้นที่ชุมชนรอบบ้าน ซึ่งมีองค์ประกอบและความสัมพันธ์เชิงสังคมของการอาศัยในชีวิตประจำวันที่แสดงออกถึงความเป็นสาธารณะมากขึ้นบริเวณพื้นที่นิทรรศการแสดงถึงความเป็นไปได้ในการออกแบบพื้นที่บริบทรอบบ้าน ประกอบไปด้วย พื้นที่สวน พื้นที่ตลาด และพื้นที่กิจกรรมสาธารณะ ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ส่งเสริมกิจกรรมและสันทนาการ อาทิ ASA Sketch เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมสำหรับเยาวชนและผู้ที่สนใจในการวาดเขียน, ลานกิจกรรม เป็นลานที่เพิ่มเติมจากตัวนิทรรศการ เช่นการโชว์การทำงานของเครื่องกลจากนิทรรศการศิลปะก่อสร้าง, ASA Guide (หมอบ้าน) เป็นพื้นที่ให้คำปรึกษาปัญหาต่างๆเกี่ยวกับบ้าน เช่น หลังคาบ้านรั่ว ผนังเกิดรอยร้าว ฯลฯ โดยทีมงานสถาปนิกผู้เชี่ยวชาญ และมีพื้นที่ให้ความรู้ผ่านสื่อมัลติมีเดียให้กับผู้ที่สนใจรับชมเพื่อเข้าใจปัญหาต่างๆของบ้านได้



ในส่วนของงานสัมมนาวิชาการ ได้แก่ ASA Forum 2017 งานสัมมนาวิชาการโดยนักออกแบบและผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมทั้งในและต่างประเทศ อาทิ Studiomake / David Schafer, UID Architects / Keisuke Masuda, Architect of Sri Lanka / ฯลฯ

นายนันทพล กล่าวต่อไปว่า พิเศษสุดสำหรับการจัดงานในปีนี้คือ การ Reuse ของที่ใช้ในการจัดงานกลับมาใช้อีก อาทิ ต้นไม้ยืนต้นเมื่อเสร็จงานจะนำส่วนหนึ่งไปบริจาคให้กับ กทม. เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวให้กับประชาชนต่อไป ในส่วนของอุปกรณ์ต่างๆ ที่ยังใช้งานได้จะนำไปบริจาคให้กับโรงเรียนที่ยากไร้ และสำหรับประชาชนทั่วคณะกรรมการจัดงานร่วมกับกรมป่าไม้จะมีการแจกกล้าไม้กว่า 5,000 ต้น ให้กับประชาชนที่ไปร่วมงานทุกวันวันละ 900 ต้น ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับที่อยู่อาศัยและชุมชนต่อไป

นายศุภแมน มรรคา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีทีเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เปิดเผย ในปีนี้มีผู้แสดงสินค้านานาชาติให้ความสนใจเข้าร่วมโดยรวมมากขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 4% รวมกว่าพันตารางเมตร โดยเฉพาะบริษัทต่างชาติที่มาจัดแสดงเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 35% ซึ่งแต่ละบูธก็ได้มีการนำเอาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมและเทคโนโลยีเกี่ยวกับวัสดุก่อสร้างที่น่าสนใจมาเสนอมากมาย มีทั้งที่ทันสมัยสวยงาม อำนวยความสะดวกสบาย เพิ่มประสิทธิภาพและความหลากหลายในการใช้ประโยชน์ ช่วยลดต้นทุนการผลิตและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ นวัตกรรมการดูแลรักษาคุณภาพน้ำ แบบปราศจากสารเคมีที่เป็นอันตราย กับการสร้างระบบสระน้ำแร่แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย โดย เจ.ดี.พูลส์ (J.D.POOLS), การออกแบบบ้านประหยัดพลังงาน จาก อเรย์ คอนสทัคท์ชั่น (ARRAY CONSTRUCTION) ซึ่งได้รับรางวัลจากโครงการประกวดบ้านอนุรักษ์พลังงาน ของสำนักงานการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน, สวิตซ์ไฟพกพาแบบไร้สาย นวัตกรรมในการเปิดปิดไฟอย่างง่ายดาย จาก ดีไอ คอนเซ็ปต์ สโตร์ (DI CONCEPT STORE), ผนังกันกระสุน ทางเลือกสำหรับผู้ต้องการความปลอดภัยในอีกระดับ จาก กรีนแลม (GREENLAM) และที่สุดแห่งกาวปูกระเบื้องใหญ่ยักษ์ รองรับการใช้งานเป็นรายแรกและรายเดียวในประเทศไทย กับกาวซีเมนต์เอ็กซ์ตรีม จาก จระเข้ คอร์ปอเรชั่น เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีบริษัทผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่ายชั้นนำในแวดวงออกแบบสถาปัตยกรรมและการก่อสร้างมาร่วมจัดแสดงสินค้าอีกมากมาย อาทิ เค เดคอร์ (K-DECOR) ทัพวัสดุก่อสร้างจากเกาหลี, เอสซีจี (SCG) ผู้นำธุรกิจการผลิตและจำหน่ายสินค้าและวัสดุก่อสร้างครบวงจร, ไทยเส็ง เทรดดิ้ง ผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าชั้นนำจากญี่ปุ่น, เฮเฟเล่ (HAFELE) ผู้เชี่ยวชาญพิเศษในการให้คำแนะนำปรึกษาและบริการด้านอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านและครัวเรือน พร้อมทั้งอุปกรณ์สุขภัณฑ์มาตรฐานจากประเทศเยอรมนี เป็นต้น โดยมีการจัดโปรโมชั่นราคาและส่วนลดพิเศษ, ของสมนาคุณและบริการฟรีต่างๆ อีกทั้งสิทธิประโยชน์มากมายเพื่องานสถาปนิก’60 โดยเฉพาะอีกด้วย

ในส่วนของกิจกรรมต่างๆ มีนับเป็นสีสันที่น่าสนใจของงานเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็น “การประกวดบูธแสดงสินค้า” (Booth Design Awards) ซึ่งจัดขึ้นเพื่อผลักดันให้ผู้แสดงสินค้าได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบพื้นที่แสดงสินค้าของตนให้มีความโดดเด่นน่าสนใจและดึงดูดผู้เข้าชมงานภายใต้แนวคิด “บ้าน บ้าน : BAAN BAAN” Reconsidering Dwelling โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 30 ราย และ “การประกวดนวัตกรรม” (Innovative Product Award) เวทีแห่งการแข่งขันแนวคิดผลิตภัณฑ์นวัตกรรม ซึ่งป็นการส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันพร้อมร่วมผลักดันผลิตภัณฑ์ไทยไปสู่เวทีโลก ซึ่งมีผู้เข้าร่วม 5 ราย โดยปีนี้ได้รับเกียรติจาก ผู้ทรงคุณวุฒิจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้แก่ คุณทวิตีย์ วัชราภัย เทพาคำ คุณอภิชาติ ศรีโรจนภิญโญ และคุณรติวัฒน์ สุวรรณไตรย์ มาร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสินในทั้งสองรายการ

อีกหนึ่งการประกวดที่เปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปได้แสดงฝีมือด้านศิลปะกับ “การประกวดเพ้นท์สุขภัณฑ์ ครั้งที่ 7” (The 7th Sanitary Ware Painting Competition) โดยในการประกวดทั้ง 3 ประเภท มีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมมากถึง 45 ทีม โดยสุขภัณฑ์ทั้งหมดจากการประกวดเพ้นท์สุขภัณฑ์จะมีการนำไปมอบให้กับมูลนิธิกระจกเงา, ศูนย์พัฒนาสมรรถภาพคนตาบอด และมูลนิธิสงเคราะห์คนพิการในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ต่อไป

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม ดีไซเนอร์ หับ พาวิลเลี่ยน (Designer Hub Pavilion) การจัดแสดงผลงานสร้างสรรค์ของเหล่านักออกแบบทั้งหลายที่ขนไอเดียดีๆ มันส์ๆ มาร่วมแชร์และประชันกันทุกปี นอกจากจะมีผลงานเด็ดๆ มาให้ดู ก็ยังมีการให้คำปรึกษา และแนะนำบริการจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพต่างๆ เรียกได้ว่าเป็นตัวเชื่อมระหว่างนักออกแบบและผู้ที่กำลังมองหานักออกแบบเพื่อสร้างผลงานที่ถูกใจ

ในด้านของกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ทางผู้จัดงานก็ได้มีการรวบรวมผลิตภัณฑ์ก่อสร้างสีเขียว ซึ่งมีคุณสมบัติด้านการประหยัดพลังงานและเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม มาจัดแสดงในโซน กรีน บิวดิ้ง แมททีเรียล (Green Building Materials) เพื่อให้ผู้ชมงานและประชาชนได้มีความรู้ ความเข้าใจ พร้อมตระหนักถึงการใช้ผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีของวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“สถาปนิก’60” “บ้าน บ้าน : BAAN BAAN” Reconsidering Dwelling ระหว่างวันที่ 2-7 พฤษภาคม 2560 เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี สำหรับผู้เข้าชมงานสามารถใช้บริการรถตู้รับส่งฟรีได้ที่บริเวณสถานการบินพลเรือน สถานีรถไฟฟ้า (BTS) หมอชิต ทางออก 2 หรือสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) ทางออก 4
« Last Edit: May 04, 2017, 10:59:53 PM by MSN »

MSN on May 04, 2017, 10:55:17 PM
โครงการงานสถาปนิก ’60  “บ้าน บ้าน :  BAAN BAAN” Reconsidering Dwelling ระหว่างวันอังคารที่  2 – วันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2560 ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 1- 3  ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี

ความเป็นมา
สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์  ได้จัดงานเพื่อเผยแพร่วิชาชีพสถาปัตยกรรมมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2529  โดยใช้ชื่องานว่า “สถาปนิก ’29” และได้จัดเป็นประจำทุกปี ( ยกเว้นปีพุทธศักราช 2533 ) จนถึงปัจจุบัน ได้จัดไปแล้ว 30 ครั้ง โดยมีผู้เข้าชมปีละประมาณ 350,000 คน ในแต่ละปี  สำหรับปีพุทธศักราช 2560 นี้ คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ปีพุทธศักราช 2559-2561   มีมติเห็นชอบในการจัดงานสถาปนิก’60 ซึ่งจัดเป็นครั้งที่ 31 ในระหว่างวันอังคารที่  2 – วันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2560  ณ อาคาร  ชาเลนเจอร์ 1-3 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ถนนแจ้งวัฒนะ ตำบลบ้านใหม่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

วัตถุประสงค์ของการจัดงาน
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กิจกรรมของสมาคมฯ ผลงานทางวิชาชีพสถาปัตยกรรม วัสดุก่อสร้าง นวัตกรรมทางด้านสถาปัตยกรรม การส่งเสริมวิชาชีพทางสถาปัตยกรรมแก่สมาชิก และสังคม ตลอดจนให้บริการทางวิชาการ แก่ประชาชน นิสิต นักศึกษา และส่วนของงานแสดงวัสดุผลิตภัณฑ์ ที่เกี่ยวเนื่องกับงานสถาปัตยกรรม งานตกแต่งภายในและการก่อสร้าง

แนวคิดหลักในการจัดงาน งานสถาปนิก ’60 “บ้าน บ้าน : BAAN BAAN” Reconsidering Dwelling

“บ้าน” เป็นปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีวิตของคนทุกคน ในทุกสังคมและวัฒนธรรม  ในขณะเดียวกัน บ้าน ก็ถือว่าเป็นสถาปัตยกรรมหน่วยเล็กๆหน่วยหนึ่งที่เมื่อมีการขยายจำนวน หรือรวมตัวกันของบ้านหลายๆหลัง ก็สามารถเติบโตเป็นชุมชน และเมือง ที่มีความซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ “บ้าน” ยังเป็นจุดเริ่มต้นที่จะเป็นพื้นที่ที่ก่อรูปความสัมพันธ์ที่ดีของคนในครอบครัว ขยายตัวเป็นความสัมพันธ์ระดับเพื่อนบ้าน สังคมระดับชุมชน และเมืองที่ดีในมิติต่างๆยิ่งขึ้นต่อไป

สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของสถาปัตยกรรมดังกล่าว จึงได้จัดงานสถาปนิก’60 ภายใต้หัวข้อ “บ้าน บ้าน :  BAAN BAAN” Reconsidering Dwelling ซึ่งทางสมาคมฯ ต้องการที่จะเผยแพร่แนวคิด นวัตกรรมใหม่ๆ ในวงการสถาปัตยกรรม ที่เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย และเปิดเป็นพื้นที่ที่มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และความคิดเห็นต่างๆซึ่งกันและกัน ทั้งในกลุ่มวิชาชีพสถาปนิก วิศวกร ผู้รับเหมา นักธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญที่สุดคือ ประชาชนคนทั่วไปที่มีความต้องการและสนใจเรื่องบ้านเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต

พื้นที่นิทรรศการ “บ้าน บ้าน : BAAN BAAN” Reconsidering Dwelling แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ บ้าน, องค์ประกอบบ้าน และพื้นที่นอกบ้าน โดยทั้งสามหมวดนิทรรศการที่เข้าใจง่ายๆ ดังกล่าว จะมีการพูดถึง ประเภทลักษณะของกลุ่มต่างๆ (Typology) เทคนิคการก่อสร้าง (Tectonic) และ แนวความคิดต่างๆ (Thought) แสดงอยู่ในหัวข้อนิทรรศการนั้นๆ

งานสถาปนิก ’60 “บ้าน บ้าน : BAAN BAAN” Reconsidering Dwelling สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ คาดหวังการเผยแพร่แนวคิด แนวทางการออกแบบที่อยู่อาศัยที่ดีในมิติต่างๆ ของสถาปนิกในวงการวิชาชีพสถาปัตยกรรม ทั้งจากสถาปนิกรุ่นใหม่ และรุ่นปัจจุบัน สู่ประชาชนคนทั่วไป และแสดงให้เห็นความก้าวหน้าแนวคิด นวัตกรรม ในการออกแบบของวงการวิชาชีพสถาปัตยกรรมในระดับประเทศ และความเป็นผู้นำในระดับนานาชาติ

นิทรรศการและกิจกรรมสำคัญปีนี้
นิทรรศการ
1.   บ้าน :
•   นิทรรศการ สถาปนิกแห่งแผ่นดิน ( THE ARCHITECT OF THE KINGDOM ) แบ่งออกเป็น 2 นิทรรศการหลัก ได้แก่
1.   นิทรรศการสถาปนิกแห่งแผ่นดิน "บ้าน" บ้านในพระราชานิยม  (Architect of the land)
เป็นนิทรรศการที่แสดงความรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ท่านได้ทรงพระราชกรณียกิจเพื่ออาณาประชาราษฎร์ ซึ่งภายในนิทรรศการนี้จะจัดแสดงถึงพระปรีชาญาณ และพระราชนิยมในเรื่องที่อยู่อาศัย หลักคิดทฤษฎีเรื่องความพอเพียง ที่พระองค์ท่านได้มอบไว้ ผ่านสื่อมัลติมีเดีย  ในรูปแบบใหม่  เพื่อให้ผู้ที่เข้าชมสามารถเข้าใจและรับรู้เรื่องราวต่างๆได้ ผ่านวิธีการที่แตกต่างออกไป

2.   นิทรรศการน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ
เป็นนิทรรศการที่แสดงถึงความรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ที่ท่านได้ทรงพระราชกรณียกิจเพื่ออาณาประชาราษฎร ผ่านสื่อศิลปะภาพ 2 มิติ จัดทำโดยสถาปนิก โดยมีแนวทางการนำเสนอที่แตกต่างกันออกไป

•   นิทรรศการ บ้าน บ้าน จำลอง (BAAN BAAN Mockup)
เป็นนิทรรศการที่แสดงโครงการที่พักอาศัยในรูปแบบต่างๆ ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งงานสร้างจริง (Built Project) งานที่ไม่ได้สร้าง (Unbuilt Project) และงานเชิงทดลอง (Experimental Project) ในรูปแบบที่เกี่ยวกับที่พักอาศัย  โดยเปิดโอกาสให้สถาปนิกสมาชิกสมาคมสถาปนิกสยามฯ จากทั่วประเทศ สามารถนำส่งผลงานของตัวเองประเภทที่อยู่อาศัยมาเพื่อรับการคัดเลือก และแสดงในนิทรรศการในรูปแบบของหุ่นจำลอง และรายละเอียดแนวความคิดในการออกแบบ ทั้งนี้ รูปแบบการจัดแสดงผลงานโดยหุ่นจำลองมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนคนทั่วไปสามารถรับรู้และง่ายต่อการเข้าใจในผลงานสร้างสรรค์ของสถาปนิก

•   นิทรรศการ บ้าน บ้าน ตัวอย่าง (BAAN BAAN Case Study)
เป็นนิทรรศการที่แสดงความคิดสร้างสรรค์ของสมาชิกสมาคมสถาปนิกสยามฯ ในการออกแบบบ้านเดี่ยวทั้งบ้านที่สร้างใหม่ (NEW HOUSE) และบ้านที่ได้รับการออกแบบปรับปรุงจากบ้านเก่า (ADAPTIVE REUSED HOUSE) ซึ่ง นิทรรศการนี้จะทำให้ประชาชนคนทั่วไปที่เข้าชมงานได้เห็นถึงรูปแบบบ้านที่แตกต่างกันไปตามขนาดพื้นที่ใช้สอยและงบประมาณของบ้านเดี่ยวรูปแบบต่างๆ

•   นิทรรศการ บ้าน บ้าน (Reconsidering Dwelling)
นิทรรศการแสดงให้เห็นถึงลักษณะสำคัญของที่อยู่อาศัยประเภทต่างๆ (Dwelling Typology) ซึ่งมีกรอบในการคิดทบทวน คือ ความเป็นบ้านประเภทต่างๆ พื้นที่ภายในบ้าน และพื้นที่นอกบ้านโดยภายในนิทรรศการมีการแสดงผ่านกรณีศึกษาที่น่าสนใจโดยจำแนกเป็นหมวดหมู่ความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะการครอบครองพื้นที่ของที่อยู่อาศัยประเภทต่างๆ กับคนที่ถือเป็นผู้ใช้สอยจริง ซึ่งประกอบด้วย
1)   ลักษณะการอยู่อาศัยแบบชั่วคราวทั้งผู้ที่อยู่อาศัยและตัวสถาปัตยกรรม (Temporary User / Temporary Site)
2)   ลักษณะการอยู่อาศัยแบบวนเปลี่ยนผู้อาศัย แต่ตัวสถาปัตยกรรมนั้นมีความถาวร (Temporary User / Permanent Site)
3)   ลักษณะการอยู่อาศัยที่พบเห็นได้ทั่วไป ผู้อยู่อาศัยและตัวสถาปัตยกรรมนั้นมีความถาวรทั้งคู่ (Permanent User / Permanent Site)
โดยกรณีศึกษาประเภทที่อยู่อาศัยต่างๆที่ถูกคัดเลือกมาจัดแสดงภายในงานจะถูกอธิบายผ่านกิจกรรมการใช้ชีวิตของผู้อยู่อาศัย

•   นิทรรศการ ARCASIA (Arcasia Social Housing)
นิทรรศการนี้จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของสมาชิก ARCASIA 19 ประเทศ มีหัวข้อในการจัดแสดงคือ “ที่อยู่อาศัยเพื่อสังคม” (Social Housing)  ซึ่งจะแสดงให้เห็นแนวทางการพัฒนา และออกแบบอย่างสร้างสรรค์ของที่อยู่อาศัยในบริบทวัฒนธรรมของประเทศต่างๆในเอเชียในทุกมิติความสัมพันธ์

•   นิทรรศการ บ้านไทย บ้านใคร (Traditional and Vernacular Thai Dwelling)
นิทรรศการนี้จะแสดงให้เห็นถึงรูปแบบที่พักอาศัยต่างๆของคนไทยในอดีตจากหลากหลายช่วงเวลาที่มีพัฒนาการมาเรื่อยๆ โดยนำเสนอรูปแบบของบ้านไทยประเพณี และบ้านไทยพื้นถิ่น แบบต่างๆ ผ่านผู้ใช้สอยจากหลากหลายกลุ่ม เช่นเรือนเจ้านาย เรือนคหบดี เรือนห้องแถวพ่อค้าชาวจีน และเรือนชาวเขา เป็นต้น โดยลักษณะนิทรรศการจะถูกจัดแสดงด้วยหุ่นจำลองทางสถาปัตยกรรม ซึ่งมีความงดงาม และเห็นลายละเอียดของวิถีชีวิตความเป็นอยู่ภายในบ้านได้อย่างชัดเจน

•   นิทรรศการ บ้าน บ้าน รูปเล่าเรื่อง (BAAN BAAN Photo Essay)
นิทรรศการภาพถ่าย “บ้าน บ้าน รูป เล่า เรื่อง” เป็นพื้นที่ที่เปิดให้นิสิตนักศึกษา สถาปนิก รวมถึงบุคคลทั่วไป ร่วมตั้งคำถามความหมายของ “บ้าน” “ความเป็นบ้าน” และ “การอยู่อาศัย” นำเสนอเรื่องราวของการอยู่อาศัย โดยมี “คน” เป็นโจทย์สำคัญ บอกเล่าเรื่องราว ขอบเขต และมิติอันหลากหลายของ “บ้าน” พร้อมกับเปิดประเด็นให้ชวนขบคิดเกี่ยวกับบทบาทของสถาปนิก และสถาปัตยกรรม

•   นิทรรศการคบหุ่นสร้างบ้าน (Tectonic and Technology)
นิทรรศการศิลปะการก่อสร้างและเทคโนโลยี ประกอบด้วยส่วนจัดแสดง 3 ส่วน ได้แก่
1.   ซ่อม x สร้าง :     เป็นพื้นที่ให้คนทั่วไปเข้ามาเรียนรู้กระบวนการการก่อสร้างและผลิต ในรูปแบบ digital \fabrication ซึ่งประกอบด้วย 3D scanner และ 3D printer ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น โดยในพื้นที่ ซ่อม x สร้าง จะนำเสนอในรูปแบบ open source joinery ที่คนสามารถdownload จาก internet และผลิตด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ เพื่อนำไปใช้ในการประกอบกับวัสดุที่มีความหลากหลายในท้องตลาด
2. มนุษย์ x หุ่นยนต์ :    เมื่อหุ่นยนต์เริ่มถูกนำมาใช้แทนแรงงานมนุษย์ บทบาทของสถาปนิกและหุ่นยนต์ในงานสถาปัตยกรรมจะเป็นอย่างไร? พื้นที่นี้เป็นนิทรรศการที่เปรียบเทียบการทำงานระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์ และแนวทางการทำงานร่วมกันในอนาคตตลอดจนชมการทำงานของหุ่นยนต์แบบ real time
3. โลก x เสมือน :    มาร่วมสร้างประสบการณ์สถาปัตยกรรมใหม่กับเทคโนโลยี Virtual Reality (VR) ผู้เข้าชมสามารถเลือกเดินเที่ยวงานสถาปัตยกรรมฝีมือคนไทยที่ชื่นชอบหรือเข้ามาร่วมเล่นเกมส์บ้านผีสิงสัญชาติไทยได้ที่นี่

•   นิทรรศการนิสิต นักศึกษา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ (Student Exhibition)
เป็นนิทรรศการที่แสดงศักยภาพและแนวทางการศึกษาที่แตกต่างกันของแต่ละสถาบันการศึกษาทั้ง 35 สถาบัน โดยผลงานที่นำมาจัดอาจเป็นผลงานวิทยานิพนธ์ ผลงานนักศึกษาแต่ละชั้นปี หรือผลงานที่ได้รับรางวัลต่างๆของนักศึกษาสถาบันนั้นๆ ซึ่งผลงานทุกชิ้นที่นำมาแสดงล้วนนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยในแง่มุมต่างๆผ่านผลงานนิสิต และนักศึกษา

•   นิทรรศการประกวดแบบเชิงแนวความคิดระดับนานาชาติ (ASA International IDEAS Competition)
นิทรรศการแสดงผลงานของผู้เข้าร่วมประกวดออกแบบที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจากผู้ส่งเข้าประกวดทั่วโลก ภายใต้หัวข้อการประกวดคือ “บ้าน บ้าน/ HOME.LY” ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างในแนวความคิดของที่อยู่อาศัยจากทั่วทุกมุมโลก และเข้าใจความหมายของคำว่าที่อยู่ที่แตกต่างกัน

•   นิทรรศการรางวัลสถาปัตยกรรมรุ่นใหม่ “บ้าน บ้าน” (ASA Emerging Architecture Awards “BAAN BAAN”)
เป็นนิทรรศการที่มุ่งเน้นแสดงผลงานที่อยู่อาศัยของสถาปนิกรุ่นใหม่สมาชิกสมาคมสถาปนิกสยามฯ เพื่อเปิดเป็นเวทีและพื้นที่โชว์ผลงานสำหรับสถาปนิกรุ่นใหม่ที่มีผลงานที่สร้างสรรค์ และมีคุณภาพ ซึ่ง ASA Emerging Architecture Awards 2017 ในปีนี้มีกระบวนการคัดเลือกและตัดสินที่เข้มข้นจากกรรมการที่เป็นสถาปนิกที่เป็นที่ยอมรับทั้งจากสถาปนิกไทย และสถาปนิกรับเชิญต่างประเทศ โดยนิทรรศการนี้จะแสดงผลงานผู้ที่ผ่านการคัดเลือกรอบสุดท้ายและผลงานผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้รับรางวัล

•   นิทรรศการสถาปัตยกรรมภูมิภาค
เป็นนิทรรศการที่ประกอบไปด้วยกรรมาธิการสถาปนิกภูมิภาค ได้แก่ กรรมาธิการสถาปนิกล้านนา กรรมาธิการสถาปนิกอีสาน และกรรมาธิการสถาปนิกทักษิณ ซึ่งเนื้อหาจะแสดงให้เห็นถึงบ้านในรูปแบบต่างๆของแต่ละภูมิภาคทั้งในอดีตและปัจจุบันที่เป็นสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าโดยผ่านการสื่อสารทางแผนที่พร้อมภาพประกอบ

•   นิทรรศการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมและภาคีเครือข่าย (ASA Conservation & Network)
เป็นนิทรรศการสำหรับผู้ที่สนใจในด้านการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมโดยมีกรณีศึกษามานำเสนอใน
3 นิทรรศการย่อย
1.    นิทรรศการรางวัลอนุรักษ์ ที่รวบรวมอาคารบ้านเรือนเก่าที่มีคุณค่าทางศิลปะสถาปัตยกรรม
2.    นิทรรศการผลงานการสำรวจรังวัดมรดกสถาปัตยกรรมด้วยวิธี Vernadoc ในแนวคิดบ้านไพร่+ฟ้า ได้แก่ บ้านไม้โบราณชุมชนป้อมมหากาฬ เรือนร้านค้าชุมชนท่าวัง และพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ซึ่งเป็นผลงานของอาสาสมัครจากทั้งประเทศไทยและต่างประเทศ
3.    นิทรรศการภาคีเครือข่าย อาทิ สถาบันสถาปนิกสยาม อิโคโมสไทย ตลอดจนนักวิชาการ และช่างฝีมืออิสระที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์

•   นิทรรศการ เออบ้าน เออเบิ้น (URBA(A)N)
นิทรรศการ เออบ้าน เออเบิ้น มีแนวคิดให้ผู้เข้าชมได้รู้สึกมีส่วนร่วมในนิทรรศการ แบ่งเนื้อหาในนิทรรสการเป็น 2 ส่วน ส่วนของเนื้อหาหลักจะเป็นการออกแบบโดยการใช้กระบวนการมีส่วนร่วม (participatory design framework)เป็นส่วนสำคัญ เพื่อให้สอดคล้องกับการทำงานของกลุ่มสถาปนิกเพื่อสังคมและเมือง ที่ทำงานโดยการใช้กระบวนการมีส่วนร่วมเป็นหลัก เนื้อหาส่วนนี้จะเป็นการให้ข้อมูลพื้นฐานของการทำงานของสถาปนิกชุมชนผ่านทางเครื่องมือที่ใช้ในกระบวนการทำงาน รวมทั้งการจำลองการมีส่วนร่วมผ่านจอกราฟฟิค Interactive ส่วนเนื้อหาสนับสนุนจะเป็นการแนะนำโครงการตัวอย่างของกลุ่มสถาปนิกสังคมและเมืองที่กำลังดำเนินการเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์รวมทั้งมีกิจกรรมให้ผู้เข้าชมนิทรรศการได้มีส่วนร่วมผ่านโครงการตัวอย่าง

•   นิทรรศการอื่นๆ
นิทรรศการนี้จะแสดงถึงผลงานต่างๆของทางสมาคมสถาปนิกสยามฯ และหน่วยงานต่างๆที่บทบาททางสังคมและวงการวิชาชีพสถาปัตยกรรมในช่วงระยะเวลา 1 ปี ที่ผ่านมา

2.   องค์ประกอบบ้าน :
•   นิทรรศการชิ้นส่วนของบ้าน (Dwelling Elements)

ประตู หน้าต่าง กำแพง บันได โต๊ะ เก้าอี้ หรือชิ้นส่วนของบ้าน เป็นองค์ประกอบสถาปัตยกรรมที่ใกล้ชิดกับผู้อยู่อาศัยเป็นอย่างมาก นิทรรศการ “ชิ้นส่วนของบ้าน (Dwelling elements)”ต้องการแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของชิ้นส่วนบ้านที่ถูกออกแบบอย่างสัมพันธ์กับผู้อยู่และบริบทอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยการจัดแสดงชิ้นส่วนที่มีความเฉพาะในบริบทที่แตกต่างกันออกไป โดยเปิดโอกาสให้นักออกแบบ 12 ทีมได้ทบทวน(Reconsidering) หน้าที่ของชิ้นส่วนเหล่านั้นใหม่อีกครั้งว่า ชิ้นส่วนของบ้านที่ดีจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร และสร้างออกมาเป็นชิ้นส่วนของจริงในขนาดจริงสำหรับจัดแสดง นอกจากนี้ผลงานบางส่วนยังถูกแสดงออกมาภายใต้แนวคิดของ Universal Design อีกด้วย

3.   พื้นที่นอกบ้าน :
•   นิทรรศการบริบทรอบบ้าน (Dwelling’s Surroundings)

1. นิทรรศการบริบทรอบบ้าน นิทรรศการพูดถึงบริบทที่อยู่รอบๆบ้าน เริ่มต้นจากภายในรั้วบ้านตลอดจนพื้นที่สวนนอกบ้าน พื้นที่ชุมชนรอบบ้าน ซึ่งมีองค์ประกอบและความสัมพันธ์เชิงสังคมของการอาศัยในชีวิตประจำวันที่แสดงออกถึงความเป็นสาธารณะมากขึ้น บริเวณพื้นที่นิทรรศการแสดงถึงความเป็นไปได้ในการออกแบบพื้นที่บริบทรอบบ้าน ประกอบไปด้วย พื้นที่สวน พื้นที่ตลาด และพื้นที่กิจกรรมสาธารณะ เช่น การจัดเวิร์คช็อป ลานกิจกรรมและเปลี่ยนความคิด เป็นต้น
2. พื้นที่ส่งเสริมกิจกรรมและสันทนาการ เป็นอีกส่วนหนึ่งของภาพรวมนิทรรศการที่สำคัญของพื้นที่สาธารณะ เป็นพื้นที่ที่ทำให้คนสามารถพบปะพูดคุยกันได้และสามารถนั่งพักผ่อนตามอัธยาศัยเสมือนเป็นพื้นที่สาธารณะในเมือง
1. ASA Shop    ร้านค้าขายของที่ระลึกของสมาคมสถาปนิกสยามฯ ลวดลายสวยงามตามธีมงานของปีนี้ เช่น เสื้อยืด สมุด หนังสือ
2. Book Shop     ร้านหนังสือทางสถาปัตยกรรมจากสถาบันการศึกษาและหน่วยงานทางสถาปัตยกรรมที่ จำนวนกว่า 9 ร้าน
3. ASA Club     พื้นที่สังสรรค์พบปะของสมาชิกสมาคมสถาปนิกสยามฯ ซึ่งมีอาหาร เครื่องดื่ม และดนตรี  คอยให้บริการตลอดวัน
4. Market     จำลองพื้นที่สาธารณะของเมืองมาไว้ท่ามกลางนิทรรศการอื่นๆ โดยจัดให้มีต้นไม้       รายล้อมพื้นที่  มีร้านค้า และที่นั่งพักผ่อนไว้สำหรับผู้ที่เข้ามาชมนิทรรศการต่างๆ
5. ASA Sketch     พื้นที่จัดกิจกรรมสำหรับเยาวชน และผู้ที่สนใจในการวาดเขียนโดยจะมีช่วงเวลาของการจัดกิจกรรมในแต่ละวัน เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้
6. ลานกิจกรรม     เป็นลานกิจกรรมที่เพิ่มเติมจากตัวนิทรรศการ เช่น การโชว์การทำงานของเครื่องกลจาก นิทรรศการศิลปะการก่อสร้าง
พิธีมอบรางวัลจากนิทรรศการประกวดแบบพื้นที่เสวนาของสถาปนิกผู้ออกแบบแต่ละนิทรรศการ ซึ่งพื้นที่จะถูกปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการของกิจกรรม
7. หมอบ้านอาษา     พื้นที่ให้คำปรึกษาปัญหาต่างๆเกี่ยวกับบ้าน เช่น หลังคาบ้านรั่ว ผนังเกิดรอยร้าว เป็นต้น โดยทีมงานสถาปนิกผู้เชี่ยวชาญ อีกทั้งยังมีพื้นที่ให้ความรู้ผ่านสื่อมัลติมีเดียแก่ผู้คนให้สามารถรับชมเพื่อเข้าใจปัญหาต่างๆของบ้านได้
8. ลานกิจกรรมภายนอก     เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ซึ่งอยู่บริเวณโถงก่อนทางเข้าตัวนิทรรศการ เพื่อทำหน้าที่เป็นทั้งที่นั่งพักผ่อน ที่นั่งพูดคุยเสวนา และเป็นลานกิจกรรมในบางเวลา โดยพื้นที่นี้จะทำให้บริเวณภายนอกเกิดความเปลี่ยนแปลงของกิจกรรมเรื่อยๆ เพื่อเพิ่มความน่าสนใจและความหลากหลายของกิจกรรมในบริเวณนี้

งานสัมมนาวิชาการ
•   ASA Forum 2017 งานสัมมนาวิชาการ โดยนักออกแบบและผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมทั้งใน-ต่างประเทศ     
     
งานอาษาไนท์
•   ASA Night  งานสังสรรค์ตามประเพณีของเหล่าสมาชิกอาษาทุกรุ่นทุกสมัยทุกสถาบัน
« Last Edit: May 04, 2017, 11:05:05 PM by MSN »