happy on May 01, 2017, 07:26:59 PM
เยี่ยม เยือน ยล วิถีผู้คน “นางเลิ้ง”

ศูนย์การเรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)



                    “นางเลิ้ง” หรือ “อีเลิ้ง” ถ้าเป็นคนก็คงเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ที่ผ่านชีวิตมาอย่างโชกโชน ไม่ว่าจะเป็น “ยุครุ่งเรืองสูงสุด” หรือ “ยุคที่แย่จนยากจะผ่านมาได้” เมื่อเวลาผ่านไปความเจริญได้พัดพาให้แสงไฟเริ่มริบหรี่ หากแต่ยังพอมีถ่านครุกรุ่นของทั้งคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ที่หวงแหนวิถีชีวิตและมรดกทางวัฒนธรรม พวกเขาจึงสืบทอดสิ่งเหล่านั้นจากผู้เฒ่า ให้คนรุ่นใหม่ได้นำไปผสานใช้กับวิถีปัจจุบัน ทำให้ “นางเลิ้ง” ยังคงเป็น “นางเลิ้ง” ได้ถึงทุกวันนี้ แบบไม่ตกยุคสมัย




พระราชธรรมวิจารณ์ (หลวงปู่ธูป)


นุ่งโจงเรียนรำ

                    ย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อน “ชุมชนนางเลิ้ง” คือ ศูนย์รวมความเจริญขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของเมืองสยาม มีทั้งสนามม้า โรงหนัง สถานที่สังสรรค์ หน่วยงานราชการ และอารามใหญ่อย่างวัดสุนทรธรรมทาน (วัดแค นางเลิ้ง) ตลาดน้ำคึกคัก และยังเป็นที่ตั้งของตลาดบกแห่งแรกของไทย ศูนย์รวมอาหารไทยตำรับชาววัง และยังเป็นที่อยู่อาศัยของคณะละครชาตรีที่โด่งดังอย่างมากในอดีต แต่การสานต่อลมหายใจของคนรุ่นใหม่ที่เหลือน้อยลงเรื่อย ๆ ก็คงหมดสิ้นลงในสักวันหากขาดการสนับสนุนจากคนภายนอก และนางเลิ้งก็อาจเป็นเพียงภาพในความทรงจำของคนกรุง

                    “SOOK Travel” โดย ศูนย์การเรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงขอเชิญทุกท่านไปลองชื่นชมและร่วมสืบสานศิลปวัฒนธรรม ผ่านการ “เยี่ยม เยือน ยล วิถีผู้คนชุมชนวัดสุนทรธรรมทาน” โหมโรงด้วยการชมละครชาตรี พูดคุยให้ออกรส สองขาตะลุยเดินชม ชิม ชอป แล้วมาทำขนมไทยดั้งเดิม ปิดท้ายด้วยการโยกย้ายส่ายสะโพกเต้นรำ 


คุณสุวรรณ แววพลอยงาม (พี่แดง)

                    “คุณสุวรรณ แววพลอยงาม” หรือ “พี่แดง” ผู้นำชุมชนนางเลิ้งเล่าว่า “..แต่ก่อนย่านนี้เจริญมาก เพราะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุด “คลองผดุงกรุงเกษม” เพื่อขยายอาณาเขตของราชธานีในปี พ.ศ. 2394 ที่นี่จึงเป็นแหล่งค้าขายทางน้ำที่คึกคัก นำพานานาความรุ่งเรือง บันเทิง และมนต์เสน่ห์ต่าง ๆ ทั้งด้านบวกเช่นอาหารเลิศรส ตลาดน้ำ ตลาดบก และด้านลบที่เริ่มซาไปบ้างแล้วอย่างแหล่งการพนัน และสถานเริงรมย์ยามค่ำคืน หลั่งไหลเข้ามา...อย่างไรก็ตามคนที่นี่มี “วัดสุนทรธรรมทาน” และ “พระราชธรรมวิจารณ์ (หลวงปู่ธูป)” เป็นศูนย์กลางของจิตใจให้กระทำการสิ่งที่ดี และมี “มิตร ชัยบัญชา” เป็นพระเอกตลอดกาลยอดดวงใจ ที่เกิดที่นี่ โตที่นี่ และเป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาชุมชนแห่งนี้ให้ไปในทางที่ดีอีกด้วย..”

                    การได้เข้ามาเยือนถึงถิ่นเช่นนี้ คงไม่มีการแสดงใดที่เหมาะแก่การโหมโรงเพื่อเริ่มต้นการเยี่ยม เยือน ยล ได้เท่ากับการรับชม “ละครชาตรี” การแสดงที่อยู่คู่กับชุมชนมานับร้อยปี โดยผู้สืบสานลมหายใจรุ่นสุดท้าย “คุณกัญญา ทิพโยสถ” หรือ “อาจารย์แมว” อาจารย์เล่าว่า “ละครชาตรีเป็นละครที่นักแสดงโนราของภาคใต้ซึ่งติดตามทัพหลวงเข้ามาอยู่กรุง ค่อย ๆ ปรับรูปแบบการแสดงของตนให้เข้ากับรสนิยมของคนเมืองมากขึ้น จนได้รับความนิยมอย่างมากทั้งในวังและในหมู่ราษฎรทั่วไป แต่ยุคหลังการแสดงละครชาตรีแทบไม่มีเหลือแล้ว จนก่อนหน้านี้ไม่กี่ปีชุมชนได้รื้อฟื้นให้กลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้ง เพราะอยากเผยแพร่ให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ และช่วยกันสืบสานต่อไป”


คุณกัญญา ทิพโยสถ (อาจารย์แมว)


นุ่งโจงเรียนรำ

                    หลังจากการยลจึงเป็นช่วงของการเยือน เดินชมสองข้างทางที่คราคร่ำด้วยสิ่งยืนยันความเจริญในยุคเก่า ทั้งโรงหนังศาลาเฉลิมธานี ซึ่งเปิดฉายภาพยนตร์สร้างปรากฏการณ์ให้ชาวตลาดร้านรวงหันมาเสพมหรสพตามแบบนอกกันอย่างคึกคัก ตึกรามบ้านช่องรูปแบบโบราณช่วงเริ่มรับเอารูปแบบสถาปัตยกรรมจากตะวันตก และพลาดไม่ได้สำหรับนักชิม คือ “ตลาดนางเลิ้ง” ที่ตั้งของร้านอาหารคาวหวานต้นตำรับสูตรชาววังมากมาย ซึ่งยังเปิดค้าขายอย่างรุ่งเรืองจนถึงปัจจุบัน

                    หลังจากได้ดื่มด่ำไปกับวิถีร้านรวง ขอแนะนำให้เที่ยวให้สุด สวมบทบาทเป็นแม่ศรีเรือนทำ “ขนมเรไร” เพราะขนมชนิดนี้หารับประทานได้ยากเต็มทีในยุคนี้ กดแป้ง นึ่งในลังถึง โรยงาปะหน้า กันให้เต็มที่ ณ “บ้านนางเลิ้ง” หรือ “บ้านศิลปะ” ซึ่งพี่แดงสร้างขึ้นเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตและศิลปะให้กับเด็กที่ขาดโอกาสทางการศึกษาและสภาพแวดล้อมที่ดี มีปัญหาครอบครัว ความรุนแรง และยาเสพติดในชุมชน อีกทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาสัมผัสวิถีนางเลิ้งอีกด้วย


ขนมเรไร


ขนมไทยตลาดนางเลิ้ง


ไส้กรอกปลาแนม ตลาดนางเลิ้ง

                    อรรถรสของชุมชนยังไม่จบเท่านี้ ความสนุกส่งท้ายที่อยากชวนกันไปทำกันคือ “การเต้นรำ” โยกย้ายส่ายสะโพก ออกท่าทางเคล้าคลอไปกับเสียงดนตรีอันไพเราะที่ “บ้านเต้นรำ” และเมื่อมาถึงถิ่นสิ่งที่พลาดไม่ได้คือการเยี่ยมถามสารทุกข์สุขดิบ รำลึกถึงบรรยากาศเมืองกรุงในยุค “โก๋หลังวัง” วัยรุ่นกำลังตามกระแสนิยมการเต้นลีลาศ ที่นี่ก็เป็นหนึ่งในสถานที่นั้น รับฟังเรื่องราวความเก๋าผ่านเจ้าของบ้านรุ่นหลาน “คุณธาริณี ตามรสุวรรณ” หรือ “พี่เอ้ย” นอกจากนั้นที่นี่ยังใช้จัดแสดงและทำกิจกรรมทางศิลป์ร่วมสมัยอีกด้วย
 
                    หลังจบการเยี่ยม เยือน ยล เรื่องราวชีวิตของผู้คนนางเลิ้งยังไม่จบ เช่นเดียวกับผู้ที่มีโอกาสได้เดินทางไปกับกิจกรรม “SOOK Travel” ซึ่งผู้เข้าร่วมท่านหนึ่งได้บอกกับเราว่า “ที่นี่จุดประกายให้อยากกลับไปสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนของตน เพื่อจะได้ไม่ต้องเผชิญการมาถึงของวาระสุดท้าย เหมือนกับที่หลายชุมชนได้ไปถึงจุดนั้นแล้ว” นอกจากนั้นยังมีอีกหลายเสียงที่บอกว่า “กิจกรรมการเยี่ยม เยือน ยล ครั้งนี้ทั้งสนุก ได้ออกกำลังกาย ได้ความรู้ และยังได้แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขยิ่งขึ้นไปอีกด้วย” SOOK Travel โดย สสส. ขอขอบคุณชุมชนนางเลิ้ง ผู้ร่วมเดินทาง และขอเชิญชวนทุกท่านมาลองสัมผัสประการณ์การเรียนรู้ผ่านการท่องเที่ยวแหล่งเรียนรู้ แล้วคุณจะรู้ว่ายังมีความงดงามซ่อนอยู่ในอีกหลายต่อหลายแห่งของไทย ติดตามกิจกรรมของชุมชนนางเลิ้งได้ที่ Facebook: BaanNanglerng และติดตามกิจกรรมของ SOOK Travel ได้ที่ Facebook: Sookcenter


มิตร ชัยบัญชา


ศาลาเฉลิมธานี


เต้นรำ


เต้นรำ
« Last Edit: May 01, 2017, 07:30:34 PM by happy »