Movie Guide: WHAT’S FOR DINNER, MOM? กำหนดฉาย 13 เมษายน 2017
" หลังการจากไป ของแม่ ฉันพบบันทึกเมนูอาหาร
บันทึกที่แม่เขียนทุกเรื่องราว บันทึกทุกเมนูโปรด ของลูก ๆ และ ผู้ชายที่เธอรักที่สุดเอาไว้
เริ่มตั้งแต่วันแรกที่เราพบกัน จน ถึงวันสุดท้าย ของชีวิตแม่ "
นักแสดง ฮารุกะ คินามิ , อิซุมิ ฟุจิโมโตะ , มิชิโกะ คาวาอิ
กำกับการแสดง มิตสึฮิโตะ ชิราฮะ (Kobe Zaiju)
20 ปี หลังการจากไปของแม่ ทาเอะ และ โย เดินทางกลับมาที่บ้านเก่าของพวกเธาซึ่งกำลังจะถูกรื้อถอน เพื่อเก็บของที่แม่เธอสะสมไว้ ทาเอะ พบกล่องสีแดงที่เต็มไปด้วยสูตรอาหาร ที่เขียนด้วยลายมือของแม่ ในสูตรและจดหมายเหล่านี้ บอกเล่าเรื่องราว ความรักระหว่างพ่อกับแม่ การเดินทางจากญี่ปุ่นเพื่อตามสามีไปใช้ชีวิตที่ไต้หวัน และช่วงเวลาสุดท้ายที่ต้องต่อสู้กับโรคมะเร็ง เมื่ออ่านบันทึกจบ ทาเอะ ตัดสินใจทำตามสิ่งที่บันทึกบอกไว้ เธอเดินทางไปไต้หวันเพื่อติดตามวันเวลาและรำลึกถึงความรักของแม่ที่มีให้เธอ
เจาะใจผู้กำกับ มิตสึฮิโตะ ชิราฮะ
ประสบการณ์เกี่ยวกับประเทศไต้หวันที่เป็นรูปธรรมที่สุดสำหรับผม เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์และอาหารครับ
ตอนอยู่เมืองโกเบ ที่นั่นมีร้านอาหารไต้หวันเก่าๆ หลายร้าน ทุกวันนี้ผมก็ยังไปกินบ่อยๆ เพราะมันมีทั้งร้านที่คุณสามารถทานจุกทานจิกได้ในราคาประหยัด และร้านแนว อิซากายะ หรือร้านเหล้าที่มีอาหารเยอะแยะเสิร์ฟพร้อมเบียร์ เวลาได้กลิ่นของอาหารจีน มันชวนให้ผมรู้สึกผ่อนคลายและอยากอาหารอยู่เสมอเลย
สำหรับประสบการณ์ด้านหนังของผม เริ่มต้นจากการดู Dust in the Wind ของผู้กำกับ โหวเสี้ยวเฉียน ที่เข้าฉายในญี่ปุ่นเมื่อปี 1989 ทันทีที่ตกหลุมรักหนังเรื่องนั้น ผมก็ตั้งใจจะตามหาหนังไต้หวันมาดูอยู่เสมอ
เมื่อไหร่ก็ตามที่ผมพบเจอหนังไต้หวันดีๆ ผมจะชอบเกิดความรู้สึกประทับใจแบบแปลกๆ หนังตัดต่ออย่างค่อยเป็นค่อยไป ปล่อยให้เวลาไหลไปอย่างเป็นธรรมชาติ ทำให้คนดูไม่รู้สึกเบื่อ และคนดูจะรู้สึกจมจ่อมไปกับเหตุการณ์ในหนังราวกับว่ามันเกิดขึ้นในชีวิตจริง จนสัมผัสได้ถึงเสียงเต้นของหัวใจอันดังก้อง ผมยึดหลักการเหล่านี้มาใช้ในการทำหนังโดยไม่รู้ตัว จนกระทั่งเมื่อผมมาทำหนังเรื่อง What's For Dinner, Mom? เรื่องนี้เอง
ผมมีความคิดอยากสร้างหนังเกี่ยวกับไต้หวันมานานแล้ว ด้วยความหลงใหลในประเทศนี้ ผมอยู่ในช่วงลองผิดลองถูกซ้ำไปซ้ำมาก่อนจะได้อ่านบทความของคุณ ทาเอะ ฮิโตโตะ เรื่อง Watashi no Shanzu และ Moma Gohan Mada? เมื่อผมได้อ่าน ผมได้พบเรื่องราวของชาวญี่ปุ่นและไต้หวัน เรื่องครอบครัว รวมถึงเรื่องของอาหารไต้หวันที่ผมรัก ผมตื่นเต้นมากที่เจองานที่เข้ากับใจความสำคัญในหนังของผม ช่วงเดือนกันยายน 2014 ผมไปหาคุณทาเอะ ฮิโตโตะ ซึ่งเป็นอาจารย์ที่โตเกียวโดยไม่ได้นัดหมายเธอไว้ก่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่เคยทำมาก่อน ช่วงนั้นผมกำลังทำหนังเรื่อง Kobe Zaiju อยู่ในช่วง Post-Production แต่สุดท้ายทุกอย่างก็ผ่านไปได้ด้วยดี
จู่ๆ ผมก็บอกเขาว่า "ผมอยากเอาผลงานของคุณไปดัดแปลงเป็นหนัง" ซึ่งเธอก็ตอบตกลงทันที ผมจึงเริ่มปั่นบทในช่วงที่กำลังวุ่นอยู่กับ Kobe Zaiju เหตุผลที่งานเขียนของคุณทาเอะ ฮิโตโตะ นั้นลงตัวอย่างดีเพราะคุณทาเอะถือเป็นบุคคลสำคัญของเรื่องนี้ คุณแม่ของเขาก็รู้จักกับคนในเมืองโนโตะ จังหวัดอิชิคาว่า และมีเมืองที่ชื่อว่า 'ฮิโตโตะ' ในเมืองนาคาโมโต้ จังหวัดอิชิคาว่าอีกด้วย แม้ผมจะเคยไปนาคาโมโต้หลายครั้ง แต่ก็เพิ่งรู้นี่แหละว่าครอบครัวของคุณฮิโตโตะมีความเกี่ยวข้องกับเมืองนี้จริงๆ ผมคิดว่าผมสามารถนำประสบการณ์ของตนเองสมัยทำ Noto no Hanayome ในปี 2008 มาใช้ในหนังเรื่องนี้ได้
ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2015 เราไปตามรอยเรื่องราวของคุณฮิโตโตะ ในนาคาโมโต้ เราได้รับความช่วยเหลือจากหลายๆ คนรวมทั้งท่านผู้ว่าซูกิโมโต้ แล้วยังได้ทุนจากโปรเจ็คงานครบรอบ 10 ปีของเมืองด้วย (Nakanoto 10th Anniversary Project) ซึ่งถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ตอนผมกับผู้อำนวยการสร้างบินไปไต้หวัน ด้วยการช่วยเหลือของคุณทาเอะ ฮิโตโตะ เราเลยได้รับการช่วยเหลือจากคนในชุมชนและคนในวงการหนังอีกเยอะมากด้วยครับ
วันหนึ่งขณะอยู่ในสตูดิโอถ่ายหนังชื่อ Modern Film เรากำลังทดลองถ่ายและตัดต่อหนังอยู่ จู่ๆ เราก็ค้นเจอฟุตเตจที่ไม่รู้ว่าเป็นของหนังเรื่องอะไร มันมีทั้งหนังและซีรี่ส์ รวมถึงภาพภูมิประเทศด้วย แต่ถึงจะไม่รู้บริบทของภาพเหล่านี้ ผมยังสัมผัสได้ถึงเรื่องราวเกี่ยวกับ 'การเดินทางของกาลเวลา' แบบเดียวกับในหนังไต้หวันที่ผมเคยดู ผมดูฟุตเตจทั้งหมดแล้วจู่ๆ ผมก็สามารถไขปริศนาลึกลับที่ติดอยู่ในหัวผมมานานแสนนาน มันเป็นภาพที่บทกลอนภาษาจีนทับซ้อนกับภาพของชายคนหนึ่งที่อยู่ในท่าเรือ โอ้โห คนไต้หวันช่างมีอารมณ์สุนทรีย์อยู่ในสายเลือด พวกเขาเข้าใจสัจธรรมของกาลเวลา และยังเห็นแจ้งถึงชีวิต มีหนังไต้หวันเรื่องเยี่ยมอย่าง Yuyu ซึ่งสร้างมาจากบทกวีคลาสสิคของจีนซึ่งเต็มไปด้วยแนวคิดปรัชญาด้วย ผมจึงตัดสินใจว่าอยากสร้างหนังเรื่องนี้โดยดึงจุดนั้นมาเป็นจุดเด่นของหนังเรื่องนี้บ้าง
อาหารไต้หวัน ถือเป็นโครงสร้างที่สำคัญมากในหนังเรื่องนี้
ผมขอคำแนะนำจากเพื่อนผม คุณ O จากสถาบันอาหารสึจิ (Tsuji Culinary Institute) เขาช่วยผมไว้ได้เยอะเลยครับในการทำหนังเรื่องนี้ เขาเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารจีนมาให้ และเราก็ร่วมมือการปรุงอาหารจากสูตรของครอบครัวฮิโตโตะขึ้นมา
ขั้นตอนนี้ถือว่าท้าทายมากทีเดียวเพราะในสูตรระบุถึงวัตถุดิบที่หากไม่มีอยู่ในญี่ปุ่น ก็เป็นของที่แพงเอามากๆ คุณ S จากสถาบันอาหารสึจิ มอบรายชื่อวัตถุดิบให้ผมแล้วบอกให้ไปหาที่ไต้หวัน ผมเลยต้องบินไปตะลุยตลาดและซูเปอร์มาร์เก็ตกับทีมงานซึ่งเป็นคนท้องถิ่น ถือเป็นประสบการณ์ล้ำค่ามากๆ ครับ และมันแสดงให้เห็นถึงความหลงใหลอันแรงกล้าของชาวไต้หวันที่มีต่ออาหารเหล่านี้
เราเริ่มถ่ายทำหนังในวันที่ 21 มกราคม 2016 ที่เมืองโชฟุ ในโตเกียว ช่วงนั้นมีแดดจ้าทีเดียว ทีมงานในกองถ่ายส่วนใหญ่แล้วอายุน้อยกว่าผมแต่เราก็ร่วมทีมกันได้เข้าขาดี และสามารถถ่ายทำทุกอย่างได้เป็นระเบียบเรียบร้อย
พอเสร็จจากโตเกียว ผมเดินทางไปเมืองไถหนัน ที่ไต้หวันต่อเลย ผมเคยมาบ่อยจึงรู้ว่าที่นี่มีช่วงฤดูร้อนยาวนาน ในหนังสือคู่มือระบุว่า เดือนมกราคมนั้นจะมีบรรยากาศใกล้เคียงกับช่วงฤดูใบไม้ร่วงของญี่ปุ่น แต่ว่าตอนนั้นจู่ๆ อากาศหนาวก็เข้าปกคลุมไต้หวันเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี แม้กระทั่งที่ไถหนันก็มีอุณหภูมิอยู่ที่ 0 องศาเซลเซียส แถมโรงแรมที่นี่ก็ไม่มีเครื่องทำความร้อน ทีมงานทุกคนจึงต้องอดทนฟันฝ่าคืนอันยาวนานไปให้ได้
วันที่ 27 มกราคม เราเดินทางจากไถหนันกลับมาคานาซาว่าที่ญี่ปุ่น พอทีมงานไปถึงคานาซาว่าแล้วอุทานออกมาเลยว่า "มันโคตรอุ่นเลย" แล้วตอนเราไปที่นาคาโนโต้ ภารกิจแรกที่เราต้องทำคือเก็บภาพหิมะ ก่อนที่เราจะลงเอยด้วยการได้ภาพของเมืองที่สวยงามมากๆ ครับ
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ เรากลับไปที่โชฟุอีกครั้ง เราเริ่มถ่ายฉากครัวของบ้านฮิโตโตะ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของหนังเรื่องนี้ ทีมงานจากสถาบันอาหารสึจิได้ทีแผลงอิทธิฤทธิ์ พวกเขาจัดสรรพื้นที่ทำครัวเพื่อทำอาหารหลากหลายแบบให้กับหนัง พวกเขาขะมักเขม้นกับการทำขาหมู เกี๊ยว หัวไชเท้า และอื่นๆ อีกมากมาย มีฉากนึงที่ต้องทำซุปอกไก่ เมื่อถ่ายเสร็จแล้ว คุณคิมูระของสถาบันสึจิก็ไปซื้อหมี่เตี๊ยวเพื่อเอามารับประทานคู่กับซุป ทุกวันนี้ผมยังไม่ลืมรสชาติของอาหารมื้อนั้นเลย
ในวันสุดท้ายของการถ่ายทำ เราต้องใช้เกี๊ยวในปริมาณที่เยอะมาก ทีมกล้องและทีมแสงทำงานได้ดีมาก พวกเขาสามารถขับเน้นให้เห็นภาพของไอร้อนออกมาจากเกี๊ยวได้งดงามมาก
การถ่ายทำเป็นไปอย่างยาวนานจนถึงวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ พวกเราฉลองปิดกล้องด้วยการซดเบียร์พร้อมกับกินเกี๊ยวเป็นกับแกล้มจนอิ่มหนำทีเดียว
ในเมื่อตอนนี้หนังก็ถ่ายทำเสร็จสิ้นแล้ว ผมจะสามารถแสดงให้คนดูได้เห็นถึง 'ช่วงเวลาอันละเมียดละไมของชีวิต' ได้ไหม? อันนี้คงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคนดูในการพิสูจน์แล้วล่ะครับ...
อาหารไต้หวันสูตรเด็ดฝีมือแม่
มีอาหารไต้หวันหลายชนิดปรากฏอยู่ในหนังเรื่อง What's For Dinner, Mom? เราทำงานร่วมกับสถาบันอาหารสึจิ เพื่อทำให้สูตรอาหารที่คุณคาซูเอะ ฮิโตโตะ จดไว้ในสมุดโน้ตกลายเป็นจริงขึ้นมา จะว่าไปทำไมคุณถึงไม่ลองเอาสูตรพวกนี้ไปทำเองบ้างล่ะ?
ขอขอบคุณการสนับสนุนจากคุณ โมโมฮิสะ โอกาว่า, คาสุฮิเดะ สึสึมิ, มิกะ คิมูระ และ มาโกโตะ นากาชิม่า จากสถาบันอาหารสึจิ มา ณ ที่นี้
ขาหมูต้ม (สำหรับ 6 ที่)
วัตถุดิบ
*ขาหมู 3 ขา (ขาละ 430 กรัม)
ซอสถั่วเหลือง 240 มิลลิลิตร
สาเกญี่ปุ่น 200 มิลลิลิตร
น้ำเปล่า 1200 มิลลิลิตร
โป๊ยกั้ก (จันทร์แปดกลีบ) 2 ชิ้น
น้ำมันพืช 30 มิลลิลิตร
เครื่องปรุง
ต้นหอม 1 ต้น (หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ)
ขิง ฝานบางๆ 60 กรัม
กระเทียม ปอกเปลือกแล้ว 60 กรัม
ขั้นตอนการทำ
1.นำขาหมูมาขัดและล้างด้วยน้ำเปล่าให้สะอาด ผ่าครึ่งเอาเล็บออก จากนั้นเอาไปต้มเป็นเวลา 20 นาที (เพื่อกำจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์)
2.เทน้ำมันและเครื่องปรุงลงในหม้อแล้วทอดจนกระทั่งเป็นสีน้ำตาลอ่อน แล้วเติมซอสถั่วเหลืองลงไปเพื่อให้เกิดกลิ่นหอม
3.นำขาหมูลงไปทอดในหม้อในข้อ 2 เป็นเวลาประมาณ 2-3 นาที จากนั้นเติมสาเกญี่ปุ่นและใส่โป๊ยกั๊ก ก่อนนำไปต้มทิ้งไว้ 5 นาที
4.เติมน้ำปริมาณพอสมควรลงไปในข้อ 3 จากนั้นก็ต้มขาหมู ตั้งไฟอ่อนๆ แล้วตุ๋นให้ค่อยๆ เดือด
5.ต้มเป็นเวลา 1 ชั่วโมง 10 นาที จากนั้นจึงปิดแก็สแล้วทิ้งไว้อีก 20 นาทีเพื่อให้รสชาติซึมลึกลงไปในขาหมู
*สำหรับเนื้อที่ได้มาจากร้านขายเนื้อเมืองฮิดะ ให้หั่นออกเป็น ¼ ชิ้น
ขนมโมจิหัวไชเท้า
ส่วนผสม
หัวไขเท้า 1500 กรัม 1 หัว
*แป้งข้าวเจ้า หรือแป้งข้าวเหนียว 250 กรัม
น้ำเปล่า 300 มิลลิลิตร
น้ำมันหมู 2 ช้อนโต๊ะ
ของโรยหน้า
กุ้งแห้ง (แช่น้ำแล้ว) 75 กรัม
แฮมจีน หรือ ไส้กรอกซาลามี่ 40 กรัม
เห็ดชิทาเกะแห้ง (แช่น้ำแล้ว) 2 ชิ้น
เครื่องปรุง
เกลือ 7.5 กรัม
เครื่องปรุงรสอูมามิ 3 กรัม
น้ำตาล 10 กรัม
ขั้นตอนการทำ
1.นำหัวไชเท้ามาหั่นครึ่งแล้วฝานเป็นชิ้นเล็กๆ นำอีกครึ่งที่เหลือไปขูดให้บางที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
2.นำหัวไชเท้าชิ้นเล็กๆ ไปทอดพร้อมใส่น้ำมันหมู 1 ช้อนโต๊ะ นำไปผสมกับหัวไชเท้าที่ขูดจนบางแล้วเคี่ยว จากนั้นนำกากที่ลอยอยู่เหนือน้ำออกไป
3.หากมีน้ำเหลือไม่พอ ให้เติมน้ำไป 100 มิลลิลิตร จากนั้นเคี่ยวจนกว่าจะนุ่มแล้วเติมเครื่องปรุงลงไป
4.นำวัตถุดิบที่หั่นเตรียมไว้นำไปทอดในกระทะพร้อมกับใส่น้ำมัน 1 ช้อนโต๊ะในหม้ออีกใบ จากนั้นนำไปผสมกับข้อ 3
5.ผสมแป้งลงในน้ำ 200 มิลลิลิตร แล้วนำไปใส่ในหม้อในข้อ 4 ขณะที่ยังร้อนแล้วนวดแป้ง
6.นำข้อ 5 ไปพักในถาดอาหาร แล้วนึ่งเป็นเวลา 40 นาที
7.เมื่อข้อ 6 เริ่มเย็น ให้ตัดแบ่งออกมาแล้วนำไปย่างในกระทะ หากว่ามันติดกระทะให้เติมแป้งลงไป
* แป้งข้าวเจ้าที่ระบุไว้คือแป้งจากไต้หวัน ถ้าหาไม่ได้ให้ใช้แป้งข้าวเหนียวแทน
ขนมบ๊ะจ่างญี่ปุ่น จำนวน 12 ชิ้น (Chimaki)
วัตถุดิบ
ถั่วลิสง (ทั้งแบบที่ปอกและยังไม่ปอกเปลือก) 50 กรัม
ไข่เค็ม (เฉพาะไข่แดง) 6 ฟอง
เกาลัดดิบ หรือเกาลัดเทียนจิน 6 ลูก
ขิง (ฝานบางๆ) 1 ช้อนโต๊ะ
แตงกวาดองไต้หวัน หรือแตงกวาดองเสฉวน 30 กรัม
เม็ดแปะก๊วย (กระป๋อง) 24 ลูก
เห็ดชิทาเกะแห้ง (แช่น้ำแล้ว) 3 ชิ้น
กุ้งแห้ง (แช่น้ำแล้ว) 150 กรัม
หอยเชลล์แห้ง (แช่น้ำแล้ว) 150 กรัม
*หอมเจียว (หอมแดงเจียว) 45 กรัม
เนื้อหมู 3 ชั้น 300 กรัม
แป้งโมจิ 1.2 กิโลกรัม
เครื่องปรุงรสที่ต้องใช้ตอนต้ม
ซอสถั่วเหลือง 6 ช้อนโต๊ะ
น้ำสต็อกไก่ 750 มิลลิลิตร
เกลือ 1 ช้อนโต๊ะ
พริกไทย
ซอสหอยนางรม 2 ช้อนโต๊ะ
น้ำตาล 1 ½ ช้อนโต๊ะ
ผงแปะก๊วย
โชหยุจีน หรือซีอิ๊วญี่ปุ่น ¾ ช้อนโต๊ะ
น้ำมันงา 1 ช้อนโต๊ะ
ขั้นตอนการทำ
1.ต้มถั่วลิสงในน้ำเกลือ 2% เป็นเวลา 2 ชั่วโมง นำไข่เค็มและลูกเกาลัดดิบมาผ่าครึ่ง ก่อนนำไปต้มในน้ำเกลือ
2.ฝานแตงกวาดองบางๆ ต้มเห็ดชิทาเกะอย่างรวดเร็วแล้วตัดออกเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ขนาด 7 มิลลิเมตร
3.นำเนื้อหมู 3 ชั้นมาหั่นให้เป็นทรงสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ขนาด 1.5 มิลลิเมตร แล้วคลุกกับซอสถั่วเหลืองจนชุ่ม นำไปทอดในน้ำมันที่ร้อน 180 องศา
4.นำเครื่องปรุง (ซอสถั่วเหลืองจนถึงผงแปะก๊วย) ใส่ลงไปในหม้อ แล้วตามด้วยหมู 3 ชั้นจากข้อ 3 เมื่อเนื้อหมูนุ่มแล้วให้ยกออกมาแยกจากน้ำซุป (ต้มให้เหลือปริมาณครึ่งหม้อ)
5.นำขิง หอมแดงเจียว และแตงกวาดองมาทอดในกระทะที่มีน้ำมันหอมระเหย แล้วนำไปใส่ในน้ำซุปข้อ 4 พร้อมกับใส่กุ้งแห้ง หอยเชลล์และเห็ดชิทาเกะแห้ง ต้มด้วยไฟไม่แรงเป็นเวลา 1 นาที จากนั้นค่อยเติม โชหยุจีน หรือซีอิ๊วญี่ปุ่นลงไป
6.นำแป้งโมจิไปหุงในหม้อหุงข้าว เติมน้ำ 470 กรัมผสมกับข้าว 1.7 กิโลกรัมที่แช่ทิ้งไว้ข้ามคืนแล้ว
7.นำแป้งโมจิมาผสมกับข้อ 4 และ 5
8.นำเปลือกไม้ไผ่มาห่อเกาลัด ไข่เค็ม เม็ดแปะก๊วย ถั่วลิสงเค็ม และเนื้อหมู 3 ชั้น แล้วมัดด้วยเชือก
9.นำไปนึ่งเป็นเวลา 15 นาที ถือเป็นอันเสร็จสมบูรณ์
*หอมเจียวที่กล่าวถึง คือหอมแดงเจียวไต้หวัน แต่อาจใช้หอมเจียวธรรมดาแทนก็ได้
ข้าวกล่องซี่โครงหมู (สำหรับ 3 ที่)
วัตถุดิบ
ซี่โครงหมูย่าง (หั่นแต่ละชิ้นบางๆ ชิ้นละ 1 เซนติเมตร) 100 กรัม 3 ชิ้น
ไข่ต้ม (ต้มในน้ำซุปขาหมู) 3 ฟอง
ซุปขาหมู
*เครื่องเคียง
กะหล่ำปลีจีน
แตงกวา
ผักกาดดอง
เครื่องปรุง
ซอสถั่วเหลือง 5 ช้อนโต๊ะ
สาเกญี่ปุ่น 1 ช้อนโต๊ะ
พริกไทยจำนวนหยิบมือ
ผงพะโล้ 5 ½ ช้อนโต๊ะ
น้ำมันงา 1 ช้อนโต๊ะ
ต้นหอมและขิง
ส่วนผสมที่เป็นของเหลวข้น
แป้งเทมปุระ 100 กรัม
น้ำเปล่า 60 กรัม
น้ำมัน 1 ช้อนโต๊ะ
เกลือ
ขั้นตอนการทำ
1.แยกซี่โครงหมูออกจากกันจากนั้นนำไปแช่กับเครื่องปรุงเป็นเวลา 2 ชั่วโมง
2.นำแป้งเทมปุระ มาผสมกับน้ำและน้ำมัน
3.ทำให้ซี่โครงหมูในข้อ 1 หายชื้นแล้วเติมแป้งลงไป (ไม่ใช่แป้งเทมปุระ 100 กรัมในข้อ 2) จากนั้นนำส่วนผสมในข้อ 2 มาเติมที่ละน้อย แล้วนำไปทอดในน้ำมันที่ร้อน 170 องศา
4.หั่นผักกาดดองเป็นชิ้นเล็กๆ ใส่น้ำตาลนิดและซอสถั่วเหลืองหน่อย จากนั้นนำไปผัดแล้วเติมน้ำมันงาลงไป
5.นำไข่ต้มและกะหล่ำปลีจีนไปใส่ไว้จานที่ใส่ข้าว แล้ววางไว้บนข้อ 4 จากนั้นนำซี่โครงหมูมาหั่นแล้วนำไปวางไว้ แล้วเติมน้ำซุปขาหมู เป็นอันเสร็จสมบูรณ์
* ในหมวดเครื่องเคียง ท่านสามารถใช้ไข่และหัวไชโป๊ หรืออะไรอย่างอื่นแทนก็ได้แล้วแต่ความชื่นชอบส่วนตัวของแต่ละท่าน
เกร็ดภาพยนตร์
1. สร้างจากเรื่องสั้นสุดประทับใจของนักเขียนชื่อดัง ทาเอะ ฮิโตโตะ ฮิโตโตะ เป็นลูกครึ่งไต้หวัน ญี่ปุ่น เธอ มี แม่ เป็นคนญี่ปุ่น มีพ่อเป็นคนไต้หวัน ฮิโตโตะโตที่ไต้หวันจนถึงอายุ 11 เธอย้ายกลับมาญี่ปุ่น และเรื่มต้นอาชีพนักเขียนอย่างจริงจัง งานเขียนที่เธอถนัดคืองานเขียนเรื่องสั้นจากประสบการณ์ชีวิตจริงของเธอ
2. " Sorane "เพลงประกอบภาพยนตร์ แต่งและขับร้องโดย โย ฮิโตโตะ น้องสาวคนสวยของ ทาเอะ
3. โย ฮิโตโตะ คือนักร้องเจ้าของเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ เธอเป็นที่จดจำจากการร้องเพลง " Hanamizuki " และคว้ารางวัลนักร้องยอดนิยมมาได้ในการออกอัลบั้มที่ 5 และ เพลงของเธอถูกใช้เป็น OST ในภาพยนตร์ดัง อย่าง " Hanamizuki " & " Hana Miso Soup "