MSN on April 07, 2017, 08:35:15 AM
TMA เชิญกูรูยักษ์ใหญ่เผยประเด็นสำคัญของระบบไอซีที Leading Digital Transformation: From Idea to ActionTMA ผลักดันการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้บริหารจัดการองค์กรให้เกิดประสิทธิภาพ หวังยกระดับมาตรฐานการจัดการด้านไอซีทีสู่ระดับสากล โดยได้มีการจัดงานสัมมนา Leading Digital Transformation : From Idea to Action เปิดมุมมองจากผู้บริหารองค์กรต่างๆ ที่มีประสบการณ์ตรงด้านไอซีที และจัดงานมอบรางวัล Thailand ICT Excellence Awards เชิดชูองค์กรที่มีความเป็นเลิศด้านการนำระบบไอซีทีมาใช้บริหารจัดการภายในองค์กร ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจัดมาอย่างต่อเนื่อง 9 ปีเต็ม
นางสาววรรณวีรา รัชฎาวงศ์ กรรมการบริหาร สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) กล่าวว่า ทีเอ็มเอได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรในประเทศไทยเห็นความสำคัญในเรื่องของการนำไอซีทีเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการตั้งแต่ปี 2551 โดยได้มีการจัดงานสัมมนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ พร้อมทั้งการมอบรางวัลให้แก่องค์กรที่ได้นำไอซีทีเข้ามาพัฒนาระบบการบริหารจัดการภายในองค์กรให้เกิดประสิทธิภาพ เพื่อเป็นการส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานการจัดการด้านไอซีทีที่ดี โปร่งใส มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อองค์กร รวมทั้งผลักดันให้มีการนำไอซีทีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในองค์กรหรือหน่วยงานทั่วไปให้มากขึ้น ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล
"งานสัมมนา "Thailand ICT Management Forum" ปีนี้ทาง TMA ได้เน้นเรื่องของ Leading Digital Transformation: From Idea to Action ซึ่งเน้นประเด็นการบริหารองค์กรในยุคดิจิตอลทั้งหมด 4 มิติ ได้แก่ การปรับใช้เทคโนโลยีที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ายุคปัจจุบัน ด้านการพัฒนาบุคลากรและสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงาน การปรับกระบวนการปฏิบัติงานภายในองค์กร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน รวมถึงการปรับรูปแบบสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน โดยได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารจากองค์กรต่างๆ ที่มีประสบการณ์จริงด้านไอซีที" วรรณวีรากล่าว
ทางด้าน นายโอม. ศิวะดิตถ์ National Technology officer บริษัท ไมโครซอฟท์(ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยมุมมองเรื่องของ Digital Transformation and the Rise of Sharing Economy ว่า ขณะนี้ธุรกิจเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 อย่างเต็มตัว เห็นได้ชัดว่า เส้นแบ่งระหว่างโลกกายภาพและโลกดิจิตอลเริ่มไม่ชัดเจน โดยทุกองค์กรธุรกิจที่ต้องการจะอยู่รอด จำเป็นต้องปรับตัวให้เป็นบริษัททางด้านเทคโนโลยี แม้ว่าเดิมทีธุรกิจจะขายสินค้าที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีก็ตาม แต่องค์กรธุรกิจจำเป็นต้องประยุกต์สินค้าและบริการของตัวเองให้เข้าสู่โลกดิจิตอลให้ได้ ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในยุคนี้คือ บริษัทที่นำเสนอสินค้าและบริการ ที่สามารถทดแทนสินค้าและบริการแบบเดิมๆที่มีอยู่ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ อูเบอร์ ที่นำเสนอบริการร่วมเดินทาง จนสามารถทดแทนธุรกิจรถแท็กซี่ได้
ส่วนปัจจัยที่จะช่วยให้องค์กรธุรกิจปรับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจยุคใหม่ซี่งเป็นยุคเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน มีด้วยกัน 4 ปัจจัย ประกอบไปด้วย 1. โมบาย เฟิร์ส (Mobile First) ซึ่งคนไทยปัจจุบันมีโทรศัพท์มือถือมากกว่าจำนวนประชากรและคนไทยยังใช้งานเฟซบุ๊คมากกว่า 30 ล้านคน ซึ่งจากข้อมูลตรงนี้แสดงให้เห็นว่าคนไทยสามารถเข้าถึงดิจิตอลตลอดเวลา ดังนั้นธุรกิจจำเป็นต้องปรับช่องทางเข้าสู่ดิจิตอล ปัจจัยที่สองคือ บริการคลาวด์ (Cloud Service) ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีคลาวด์มีส่วนช่วยให้ธุรกิจสามารถประยุกต์การใช้งานในโลกดิจิตอลที่ง่ายขึ้นและมีต้นทุนที่ต่ำ เปิดโอกาสให้องค์กรได้ลองผิดลองถูกได้ เพื่อให้สินค้าและบริการที่ดีที่สุด ปัจจัยที่สามคือ บิ๊กดาต้า (Big data) ซึ่งองค์กรสามารถนำข้อมูลของลูกค้ามาปรับใช้เพื่อสร้างสินค้าและบริการให้โดนใจมากที่สุด และปัจจัยสุดท้ายที่มาแรงมากคือ แมชชีน เลิร์นนิ่ง (Machine Learning) โดยคาดว่าจะเป็นบริการที่นิยม อาทิ บริการแชตบอท ซึ่งธุรกิจสามารถใช้ระบบอัตโนมัติในการสื่อสารกับลูกค้าได้
นายธนา โพธิกำจร ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารสาย Digital Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) กล่าว ปัจจุบันธุรกิจธนาคารให้ความใส่ใจกับการนำเสนอบริการทางการเงินที่ตรงต่อความต้องการของลูกค้าแต่ละคน โดยใช้วิธีการจัดกลุ่มลูกค้าด้วยการติดตามพฤติกรรมการใช้งาน ซึ่งเทคโนโลยีบิ๊กดาต้า สามารถช่วยให้ธนาคารสามารถติดตามการทำธุรกรรมต่างๆ ได้อย่างใกล้ชิด และช่วยให้ธนาคารสามารถนำเสนอแคมเปญหรือสินค้าต่างๆ ที่ตอบสนองความต้องการระดับบุคคล
ด้านนายอานนท์ สันติวิสุทธิ์ Client Partner Facebook Thailand เปิดเผยว่า เฟซบุ๊คให้ความสำคัญในการนำเสนอเนื้อหาที่ตอบสนองการใช้งานกับผู้ใช้งานระดับบุคคล โดยเฉพาะเนื้อหาบนนิวฟีด (News Feed) ที่ต้องสนองต่อผู้ใช้งานมากที่สุด โดยสถิติของผู้ใช้เฟซบุ๊ค เฉลี่ยเข้าใช้งานเฉลี่ยวันละ 2 ชั่วโมง มีการเข้าใช้งานเฉลี่ย 14 ครั้งต่อวันและเฉลี่ยใช้เวลาในการดูโพสต์ เพียง 1.7 วินาทีต่อ 1 โพสต์ ฉะนั้นโจทย์ที่สำคัญของธุรกิจคือจะทำอย่างไรให้ลูกค้าอยู่กับเนื้อหาที่แบรนด์ต้องการจะสื่อมากที่สุด ทั้งนี้เฟซบุ๊คมีเครื่องมือที่ตอบสนองให้กับแบรนด์สินค้าได้สามารถคัดกรองกลุ่มเป้าหมายและวางแผนกลยุทธ์ให้เข้าถึงลูกค้าได้มากที่สุด
ขณะที่ นายอุดมศักดิ์ ดอนขำไพร ผู้ก่อตั้งบริษัทแสนรู้ บริษัทพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ กล่าวว่า บริษัทพัฒนาระบบคัดกรองข้อมูลบนโลกโซเซี่ยลและออนไลน์ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลนำไปใช้ในการวิเคราะห์ทางการตลาด ซึ่งการจะทำตลาดให้ถูกใจลูกค้าและประสบความสำเร็จนั่น แบรนด์หรือองค์กรจำต้องอัพเดทข้อมูลให้ทันสมัยที่สุด เพราะลูกค้าในยุคดิจิตอลมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมาก และความคิดเห็นบนโลกออนไลน์มีความสำคัญมาก เพราะลูกค้าสมัยนี้เชื่อถือความคิดเห็นจากผู้ใช้ออนไลน์ มากกว่าการสื่อสารที่มาจากแบรนด์สินค้าโดยตรง
นางสาววรรณวีรา กล่าวต่อว่า ในส่วนของรางวัล Thailand ICT Excellence Awards 2017 ได้มีองค์กรที่ส่งผลงานเข้าร่วมการประกวด รวมทั้งสิ้น 53 โครงการ จาก 24 องค์กร โดยการพิจารณารางวัลนั้น คณะกรรมการตัดสินใช้ ICT Excellence Maturity Model® ซึ่งเป็นเครื่องมือในการประเมินความเป็นเลิศ เพื่อสะท้อนศักยภาพของการพัฒนาโครงการใน 3 มิติ ได้แก่ กลยุทธ์ การดำเนินโครงการ และผลลัพธ์ โดยจะพิจารณาใน 7 องค์ประกอบ คือ 1) ลักษณะสำคัญตามประเภทโครงการ (Award Specific Criteria) 2) ผลการดำเนินงานเชิงธุรกิจที่บรรลุวัตถุประสงค์โครงการและลักษณะสำคัญตามประเภทโครงการ (Business Result) 3) การปรับเข้ากับธุรกิจและการมุ่งเน้นกลยุทธ์ (Business Alignment & Strategic Focus) 4) การบริหารโครงการ (Project Managements) 5) การบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Managements) 6) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Developments) และ 7) การบริหารความเสี่ยง (Risk Managements) ทั้งนี้โครงการต่างๆ ที่ได้รับรางวัลในแต่ละประเภทจะต้องผ่านการคัดสรรโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านไอซีทีจากองค์กรชั้นนำระดับประเทศ และเป็นที่ยอมรับต่อสาธารณะชนทั่วไป
« Last Edit: April 09, 2017, 09:36:37 PM by MSN »
Logged