MSN on March 29, 2017, 08:15:02 AM
ทรีนีตี้ ชี้ Q2 ฟันด์โฟลว์เข้า ดันหุ้นไทยมีโอกาสทะลุ 1,600 จุดบล.ทรีนีตี้ ประเมินไตรมาส 2 หุ้นไทยทะยานแตะ 1,620-1,640 จุด เหตุเม็ดเงินไหลเข้าตลาดหุ้นเกิดใหม่หลังไม่มั่นใจนโยบายทรัมป์กดค่าเงินสหรัฐอ่อนค่าสุดนับตั้งแต่ พ.ย. 59 ย้อนสถิติตั้งแต่ปี 2000 พบไตรมาส 2 ให้ผลตอบแทนสูงสุดกว่าทุกไตรมาส แนะถือหุ้นรอขายปลายมิถุนายน
ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยช่วงไตรมาส 2 นี้มีโอกาสปรับตัวขึ้นไปแตะในระดับ 1620-1640 จุด ได้ จากความกังวลในการบังคับใช้นโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐ ภายหลังรัฐสภาไม่สามารถผ่านร่างกฎหมายประกันสุขภาพใหม่หรืออเมริกันเฮลธ์แคร์ได้ ทำให้อัตราผลตอบแทน (Yield) ของพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงจาก 2.5% มาอยู่ที่ราว 2.38% ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้อ่อนค่าสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ซึ่งจะทำให้นักลงทุนขายสินทรัพย์เสี่ยงในตลาดที่พัฒนาแล้ว และโยกเม็ดเงินเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทย เรียกได้ว่า ขณะนี้ตลาดหุ้นเกิดใหม่ (EM equity market) กำลังเข้าสู่ช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจมีปริมาณเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้น รวมทั้งค่าเงินของตลาดเกิดใหม่ เช่น ค่าเงิน Rand ของ South Africa และค่าเงิน Real ของ Brazil
โดยตลาดพันธบัตรไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีเงินทุนไหลเข้าจากนักลงทุนต่างชาติสูงถึง 1.2 หมื่นล้านบาทโดยเฉพาะตราสารหนี้ระยะยาว ส่งผลให้อัตราผลตอบแทน (Yield) ของพันธบัตรไทยรุ่นอายุ 10 ปี ปรับตัวลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 2.8%
สำหรับตลาดหุ้นสหรัฐนั้น ในช่วงสั้น 1-2 เดือน คาดว่า จะพักฐาน แต่ตลาดหุ้นไทยจะมีโอกาสปรับตัวบวกได้ดีกว่าสหรัฐ แม้ว่าประธานาธิบดีทรัมป์ จะยังคงผลักดันการปฏิรูปภาษี ซึ่งครอบคลุมทั้งภาษีนิติบุคคลและภาษีบุคคลธรรมดาโดยภาษีนิติบุคคลอาจจะลดลงมาที่ 20% จาก 35% คาดว่าสามารถเข้าสู่สภาคองเกรสในเดือนสิงหาคมเป็นอย่างเร็วหรือเดือนตุลาคมเป็นอย่างช้า และเมื่อนำดัชนีหุ้นไทยมาเทียบกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ สามารถบ่งชี้ได้ว่า ตลาดหุ้นไทยในช่วง 3 เดือนข้างหน้ายังมีโอกาสปรับขึ้นอีก (upside) 6% ซึ่งก็จะอยู่ในระดับ 1620-1640 จุด
"เป็นมุมมองที่อาจจะขัดแย้งความรู้สึกของผู้คนส่วนใหญ่ เพราะหุ้นสหรัฐ ยุโรป อาจจะไม่ดี แต่เมื่อเม็ดเงินไหลเข้าตลาดหุ้นเกิดใหม่ นักลงทุนก็กล้าที่จะเข้าลงทุนและสามารถยอมรับความเสี่ยงจากราคาหุ้นที่ปรับตัวสูงขึ้นได้ และจากสถิตินับตั้งแต่ปี 2000 พบว่า ตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนในไตรมาส 2 สูงกว่าทุกไตรมาส โดยให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 3.8% ไม่นับรวมเงินปันผล รองลงมาคือไตรมาส 1 ให้ผลตอบแทน 2.9% ไตรมาส 4 ให้ผลตอบแทน 2.4% และไตรมาส 3 ให้ผลตอบแทน 0.7% โดยเป็นไตรมาสที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง" ดร.วิศิษฐ์กล่าว
ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนในไตรมาส 2 นั้นยังคงถือหุ้นได้ต่อเนื่อง ซึ่งตลาดจะแกว่งตัวขึ้น โดยมีปัจจัยบวกคือ การที่ตลาดได้คาดการณ์โอกาสในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) เป็น 1.25-1.50% ในปี 2017 ไปเรียบร้อยแล้ว ราคาหุ้นในตลาดเกิดใหม่ยังถูกกว่าตลาดพัฒนาแล้ว 30% และการประชุมของโอเปกวันที่ 25 พฤษภาคม ซึ่งมีโอกาสที่โอเปกและรัสเซียที่จะเดินหน้าลดกำลังการผลิตต่อไป
รวมไปถึงปัจจัยบวกในประเทศคือการฟื้นตัวของรายได้เกษตรกรและการผลิตรถยนต์ และการปรับประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนไทยดีขึ้นหลังประกาศงบไตรมาส 1 ส่วนปัจจัยลบให้จับตาปัญหาชายแดนสหรัฐ และ ภาษีต่างๆ
ทั้งนี้กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์จะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ดีกว่าค่าเฉลี่ย (outperform) จากการที่ราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิดมีแนวโน้มเข้าสู่ช่วง backwardation หรือ ช่วงที่บริษัทจะได้กำไรจากปรับสัญญาซื้อขายน้ำมัน ด้วยการปิดสัญญาตัวใกล้ที่ราคาสูง และเปิดสัญญาตัวใหม่ที่ราคาถูกลง นอกจากนี้ยังแนะนำเลือกซื้อหุ้นปันผลดี ราคาประเมินยังถูก มีการเติบโต และกลุ่ม Turnaround แต่ต้องระมัดระวังไตรมาส 3 ซึ่งจะเข้าสู่ช่วงตลาดหมี ดังนั้นจึงแนะนำให้ขายหุ้นในช่วงปลายเดือนมิถุนายน
ส่วนช่วงครึ่งปีหลังมีโอกาสเห็นปรากฏการณ์นโยบายดอกเบี้ยที่มีความตึงตัวมากขึ้น เนื่องจากี่ธนาคารกลางของหลายประเทศมีแนวโน้มที่จะขึ้นดอกเบี้ยพร้อมกัน เช่น ธนาคารกลางสหรัฐ ธนาคารกลางจีน ขณะที่ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ก็จะหยุดการใส่เม็ดเงินเข้าสู่ระบบ (QE) ในไตรมาส 4 และจะต้องระมัดระวังตัวเลขที่ลดลงในงบดุลธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งจะเป็นตัวผลักดันให้ค่าเงินสหรัฐกลับมาแข็งค่าขึ้นมาก รวมไปถึงการขึ้นดอกเบี้ย 2-3 ครั้งใน 12 เดือนข้างหน้า ของธนาคารกลางสหรัฐ และการออกกฎหมายการเก็บภาษีเพื่อผลักดันแรงงานต่างด้าว (Repatriation Tax) ที่จะส่งผลให้เงินไหลกลับเข้าสู่สหรัฐมากขึ้น
« Last Edit: March 29, 2017, 02:14:21 PM by MSN »
Logged