รมว.ท่องเที่ยวปักธงลุยพัฒนาท่าเรือคลองเตย แหลมฉบัง ภูเก็ต ชูเศรษฐกิจการท่องเที่ยวทางน้ำ (Maritime Tourism) เน้นเพิ่มมูลสินค้าท้องถิ่นไทยควบ สร้างโมเดลไทยเป็นศูนย์กลางเรือสำราญแห่งอาเซียน
นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่าขณะนี้มีสัญญาณข่าวดีจากผลที่ได้เข้าร่วมนำเสนอประเทศไทย ในงาน SeatradeCruise Global 2017 ที่เมือง Fort Lauderdale รัฐฟลอริด้า เมื่อวันที่ 15-17 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา โดยไทยได้แสดงความตั้งใจของรัฐบาลไทยในการขยายการท่องเที่ยวเรือสำราญในประเทศไทย ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางน้ำในภูมิภาคเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน โดยจะมีการเพิ่มท่าเรือสำราญให้รับเรือสำราญได้พร้อมกันมากขึ้นและปรับปรุงสาธารณูปโภคที่ท่าเรือคลองเตย แหลมฉบัง และท่าเรือมะขาม จ. ภูเก็ต มีการแนะนำแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆและกิจกรรมนักท่องเที่ยวใหม่ๆให้นักท่องเที่ยวได้ Local Experience วิถีถิ่นวิถีไทย ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมประชุมในงานนี้
นางกอบกาญจน์ กล่าวว่า ทั้งนี้ มีผลหารือกับ Mr. Neil Duncan, General ManagerTrading&Planning,ThomsonCruises และคณะฯผู้บริหารบริษัท TUI ซึ่งประกอบธุรกิจด้านการท่องเที่ยวยักษ์ใหญ่ของยุโรป เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวทางน้ำ โดย TUI มีความสนใจที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวทางเรือสำราญของคนอังกฤษในประเทศไทยและอาเซียน โดยสนใจการพัฒนาท่าเรือสำราญทั้งที่คลองเตย แหลมฉบัง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งท่าเรือจังหวัดภูเก็ต ซึ่งการพูดคุยในครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่จะพัฒนาให้จังหวัดภูเก็ตเป็น Turnaround Port ต่อไป โดยมีแผนการปรับปรุงท่าเรือให้เสร็จทันภายในระยะเวลา18 เดือน เพื่อรองรับการท่องเที่ยวทางเรือสำราญในเอเซียที่เติบโตมากกว่า 22% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
นางกอบกาญจน์ กล่าวว่า เชื่อมั่นไทยมีศักยภาพสูง เศรษฐกิจไทยดีขึ้นในสายตานักธุรกิจนานาชาติ ธุรกิจ Cruise Liners ขนาดใหญ่สนใจย้ายฐานมา และสร้างฐานใหม่ในประเทศไทยพร้อมผลักดัน การท่องเที่ยวทางน้ำ สร้างประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเรือสำราญในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยข้อดำเนินการจากนี้คือ หลังจากนี้จะเร่ง ดูการจัดการความพร้อมด้าน Supply Chain Logistics การกระจายสินค้าและการบริหารโกดังคลังสินค้าหลัก ของบริษัท Holland America Group ซึ่งเป็นผู้ส่งของใช้ให้เรือสำราญรายใหญ่ๆ ให้แก่ 4 บริษัทเรือสำราญ อาทิ Princess Cruises, Holland America Line, Seabourn และ P&O ทั้งหมด 44 ลำ โดยเชื่อมั่นว่า ประเทศไทย มีธุรกิจอีกมาก ที่ขายของใช้ในเรือสำราญได้ เช่นธุรกิจขายผ้าปูเตียง ผ้าปูโต๊ะ ผ้าห่ม ผ้าเช็ดตัว อุปกรณ์ของใช้ในเรือสำราญ อุปกรณ์สร้างและซ่อมเรือ และธุรกิจที่ต่อเนื่องจากการท่องเที่ยวเรือสำราญ เพราะตลาดมีความต้องการสูง
นางกอบกาญจน์ กล่าวว่า ในการประชุมดังกล่าวไทยได้กล่าวถึงจุดขายที่สำคัญที่สุดของประเทศไทยคือ "คนไทย" และวิถีความเป็นคนไทย "Thainess" ความโดดเด่นของการท่องเที่ยวไทยคือความยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 การนำเสนอเมืองใหม่ๆ เมีองรอง การแบ่งปันรายได้สู่ชุมชน ให้นักท่องเที่ยวใช้ชีวิตแบบชุมชน (eat like a local....live like a local) สินค้าท้องถิ่น อาหารและของดีของไทยจากทั่วทุกจังหวัดที่สามารถนำไปขายและโรดโชว์ เพื่อเพิ่มออร์เดอร์การส่งออก จากการทำการตลาดบนเรือสำราญได้