happy on March 11, 2017, 09:06:38 PM
ประเทศไทยประกาศความพร้อมเป็นเจ้าภาพ การแข่งขันเรือใบออพติมิสต์ชิงแชมป์โลก 2017
11-21 กรกฎาคม 2560 ณ สมาคมสโมสรเรือใบราชวรุณ ในพระบรมราชูปถัมภ์ พัทยา

บรรยายภาพ: แถลงข่าวเตรียมความพร้อมประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเรือใบออพติมิสต์ชิงแชมป์โลก 2017 นำโดย มร. ธอมัส วิทคร๊าฟท์ (ที่ 5 จากซ้าย) ประธานคณะกรรมการจัดงานแข่งขัน พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ (ที่ 6 จากซ้าย) ประธานกิตติมศักดิ์ และนายกสมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย ร่วมด้วย สมเกียรติ พูนพัฒน์ โค้ชทีมชาติไทย (ที่ 1 จากซ้าย), พลเรือตรีวิพันธุ์ ชมโชติ (ที่ 2 จากซ้าย) ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ สมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, มาร์ก ฮามิลล์ สจ็วร์ต (ที่ 3 จากซ้าย) นายกสโมสรเรือใบราชวรุณ ในพระบรมราชูปถัมภ์, พล.ร.ท. ธานี ผุดผาด (ที่ 4 จากซ้าย)  กรรมการและเลขาธิการ สมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, พล.ร.ท. อารักษ์ แก้วเอี่ยม (ที่ 7 จากซ้าย) ผู้จัดการทีมเรือใบทีมชาติไทย, พล.ร.ต. อะดุง พันธุ์เอี่ยม (ที่ 8 จากซ้าย) ผู้ช่วยเลขาธิการ สมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, อัลเบอร์ต แชนด์เล่อร์ (ที่ 9 จากซ้าย) อดีต ประธานสมาพันธ์เรือใบออฟติมิสต์นานาชาติ, นฤมล ประภาวงษ์ (ที่ 10 จากซ้าย) คณะกรรมการจัดงานแข่งขัน, นพเก้า พูนพัฒน์ (ข้างล่าง ที่ 3 จากซ้าย) แชมป์โลกเรือใบออฟติมิสต์ ปี 2009 และ 2010 พร้อมเหล่านักกีฬาเรือใบออพติมิสต์ทีมชาติไทย ณ สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) เมื่อเร็วๆ นี้

กรุงเทพฯ 7 มีนาคม 2560 –  ประเทศไทยประกาศความพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเรือใบออพติมิสต์ชิงแชมป์โลก 2017 (Optimist World Championship 2017) ระหว่างวันที่ 11-21 กรกฎาคม 2560 ณ สมาคมสโมสรเรือใบราชวรุณ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี งานครั้งนี้จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง สมาคมสโมสรเรือใบราชวรุณ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมเรือใบออพติมิสต์นานาชาติ โดยได้รับการสนับสนุนหลักจาก การกีฬาแห่งประเทศไทย  การแข่งขันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทยหันมาเล่นกีฬาเรือใบมากยิ่งขึ้น และเพื่อยกระดับวงการเรือใบออพติมิสต์ของไทยให้เทียบเท่ามาตรฐานระดับสากล โดยขณะนี้ มีประเทศที่ตอบตกลงส่งนักกีฬาตัวแทนทีมชาติเพื่อร่วมชิงชัยในการแข่งขันแล้ว 59 ประเทศ

เรือใบออพติมิสต์เป็นเรือใบขนาดเล็กที่เหมาะสำหรับการแนะนำให้เยาวชนใช้ฝึกฝนในเบื้องต้นเพื่อก้าวสู่การเล่นเรือใบใหญ่ในอนาคต เนื่องจากมีขนาดลำเรือเล็กและง่ายต่อการบังคับสำหรับเด็กๆ โดยสามารถเริ่มเล่นได้ตั้งแต่อายุ 7-8 ปี ไปจนถึงอายุ 15 ปี ทั้งนี้มากกว่า 85% ของ นักกีฬาเรือใบระดับโลกที่ร่วมแข่งขันโอลิมปิก ต่างเริ่มเล่นกีฬาเรือใบตั้งแต่อายุน้อยๆ ด้วยเรือใบแบบออพติมิสต์ทั้งสิ้น

มร. ธอมัส วิทคร๊าฟท์ ประธานคณะกรรมการจัดงานแข่งขันเรือใบออพติมิสต์ชิงแชมป์โลก 2017  ประเทศไทย กล่าวว่า “ประเทศไทย เป็น หนึ่งใน 118 ประเทศสมาชิกทั่วโลกในสมาพันธ์เรือใบออพติมิสต์นานาชาติ  สมาคมสโมสรเรือใบราชวรุณ ในพระบรมราชูปถัมภ์ รู้สึกภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้รับเลือกให้เป็นสถานที่จัดการแข่งขันเรือใบออพติมิสต์ชิงแชมป์โลก 2017 อันทรงเกียรติ เนื่องจากการได้จัดการแข่งขันระดับโลกเช่นนี้ เราจะสามารถประชาสัมพันธ์ประเทศไทยในฐานะสถานที่จัดการแข่งขันเรือใบระดับสากลให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์ของไทยที่ได้รับเกียรติให้เป็นสถานที่จัดการแข่งขันระดับโลกรายการนี้ โดยครั้งแรกเป็นการจัดรายการแข่งขันเรือใบออพติมิสต์ชิงแชมป์โลก


เมื่อปี ค.ศ. 1979 ที่สมาคมสโมสรเรือใบราชวรุณ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นี่จึงเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ทางสโมสรฯ ได้รับเกียรติให้เป็นสถานที่จัดงานครั้งสำคัญอีกวาระหนึ่ง ”

“ประเทศไทยมีสภาพอากาศที่ดีเยี่ยมเหมาะสำหรับการเล่นเรือใบด้วยกระแสลมดีและสม่ำเสมอตลอดปี นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีชื่อเสียง เปี่ยมด้วยอัธยาศัยไมตรี ทั้งอาหารและวัฒนธรรมรวมทั้งทัศนียภาพของท้องทะเลที่งดงาม  ซึ่งทำให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางเพื่อการเล่นเรือใบชั้นเยี่ยมของโลก  สิ่งที่สำคัญ เราอยากให้ทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญของเรือใบออพติมิสต์ ในฐานะเรือใบดิงกี้ที่เป็นรากฐานสู่การแข่งขันเรือใบใหญ่ในอนาคต” ธอมัส วิทคร๊าฟท์ กล่าวเสริม   

พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ประธานกิตติมศักดิ์ การแข่งขันเรือใบออพติมิสต์ชิงแชมป์โลก 2017 และนายกสมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ประเทศไทย ยินดีต้อนรับนักกีฬาเยาวชนเรือใบออพติมิสต์จากทั่วโลกที่จะเดินทางมาร่วมแข่งขันเรือใบออพติมิสต์ชิงแชมป์โลก 2017 ครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นกิจกรรมที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทยหันมาเล่นกีฬาเรือใบมากยิ่งขึ้น และเพื่อยกระดับวงการเรือใบออพติมิสต์ของไทยให้เทียบเท่ามาตรฐานระดับสากล โดยทีมนักกีฬาเยาวชนไทยมีการฝึกฝนเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่เพื่อชิงความเป็นหนึ่งในรายการนี้ ซึ่งเราคาดหวังว่าจะเป็นอีกหนึ่งปีแห่งความสำเร็จของทีมเรือใบไทย” 

<a href="http://www.youtube.com/watch?v=TRFgnZrBGKk" target="_blank">http://www.youtube.com/watch?v=TRFgnZrBGKk</a>

“การแข่งขันครั้งนี้ยังถือเป็นโอกาสดีสำหรับนักกีฬาไทยในการพัฒนาวงการกีฬาเรือใบของประเทศและมอบโอกาสให้เยาวชนในประเทศไทยได้เรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์จากการแข่งขันบนเวทีระดับสากล ผ่านการประชันฝีมือกับนักกีฬาเรือใบจากนานาประเทศที่เดินทางมาจากทั่วทุกมุมโลก” พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ กล่าวเสริม

นับตั้งแต่ประเทศไทยได้เป็นสมาชิกของสมาคมเรือใบออพติมิสต์นานาชาติ (International Optimist Dinghy Association : IODA) เมื่อปี ค.ศ. 1977 ในนาม  หมวดเยาวชนเรือใบไทย ก่อตั้งโดย มร. อัลเบิร์ต แชนด์เลอร์ อดีตนายกสมาคมเรือใบออพติมิสต์นานาชาติ ในช่วงปี ค.ศ. 1984 – 1989. ประเทศไทย สามารถสร้างนักกีฬาแชมป์โลกเรือใบออพติมิสต์ได้เป็นจำนวนมาก โดยในปี ค.ศ. 2009 นพเก้า พูนพัฒน์ ได้เป็นแชมป์โลกหญิงคนแรกของไทย และสามารถสร้างผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมต่อเนื่องถึงปี ค.ศ. 2010 เมื่อคว้าแชมป์ประเภทรวมในการแข่งขันที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งในปีนั้น ประเทศไทยสามารถคว้าถ้วยรางวัลหมดทั้ง 4 ประเภทที่จัดขึ้นในรายการ ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ทำลายสถิติของการแข่งขันเรือใบออพติมิสต์ชิงแชมป์โลกเลยทีเดียว

มร.ปีเตอร์ บาร์เคลย์ นายกสมาคมเรือใบออพติมิสต์นานาชาติ ซึ่งเป็นสมาคมที่ดูแลสมาคมเรือใบออพติมิสต์ในประเทศต่างๆ กล่าวว่า “สมาคมเรือใบออพติมิสต์นานาชาติมีหน้าที่ในด้านการสร้างระเบียบปฏิบัติและการพัฒนาการแข่งขันเรือใบเล็กออพติมิสต์ในแต่ละประเทศ นับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1947 เราทำงานมาตลอด 70 ปีในการพัฒนาวงการเรือใบออพติมิสต์ทั่วโลก และมุ่งมั่นยกระดับมาตรฐานของกีฬาชนิดนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเราได้จัดการแข่งขัน อินเตอร์เนชั่นแนล ออพติมิสต์ ดิงกี้ คลาส โดยใช้มาตรฐานเดียวกับการแข่งขัน เวิลด์ เซลิ่ง โดยมีการตรวจสอบกฎกติกาการแข่งขันอย่างเข้มงวด”

“เราต้องการประชาสัมพันธ์จัดการแข่งขันรายการอินเตอร์เนชั่นแนล ออพติมิสต์ ดิงกี้ คลาส และสร้างชื่อเสียงให้การแข่งขันรายการนี้เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาวงการกีฬาเรือใบต่อไป ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มผู้นำจากสมาชิกทั้ง 118 ประเทศของสมาคมเรือใบออพติมิสต์นานาชาติ ซึ่งหลังจากได้รับเลือกเป็นสถานที่จัดการแข่งขันเรือใบออพติมิสต์ชิงแชมป์โลกเมื่อ 38 ปีก่อน เรารู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่กลับมาจัดการแข่งขันรายการนี้ที่ประเทศไทยอีกครั้ง ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าประเทศไทยและคณะผู้จัดงานได้วางแผนเตรียมงานอย่างดีเยี่ยม เพื่อให้งานครั้งนี้ประสบความสำเร็จและมอบประโยชน์สูงสุดแก่นักกีฬาเรือใบเยาวชนจากทั่วโลก ทำให้เรารอคอยการแข่งขันซึ่งจะจัดขึ้นที่สมาคมสโมสรเรือใบราชวรุณ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ครั้งนี้ด้วยความตื่นเต้นเป็นอย่างมาก”

การแข่งขันเรือใบออพติมิสต์ชิงแชมป์โลก 2017 ประเทศไทย ได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ ได้แก่ การกีฬาแห่งประเทศไทย และ สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) และผู้สนับสนุนร่วม ได้แก่ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, บริษัท น้ำมันอพอลโล (ไทย) จำกัด, การบินไทย, ทรู คอร์ปอเรชั่น และ ข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.2017worlds.optiworld.org

บุคคลในภาพ
แถวบน (จากซ้าย)
•   พล.ร.ท. ธานี ผุดผาด กรรมการและเลขาธิการ สมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
•   พล.ร.ท. อารักษ์ แก้วเอี่ยม ผู้จัดการทีมเรือใบทีมชาติไทย
•   สกล วรรณพงษ์ ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย
•   พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ประธานกิตติมศักดิ์ และนายกสมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย
•   มร. ธอมัส วิทคร๊าฟท์ ประธานคณะกรรมการจัดงานแข่งขัน
•   อัลเบอร์ต แชนด์เล่อร์ อดีตประธานสมาพันธ์เรือใบออฟติมิสต์นานาชาติ
แถวล่าง (จากซ้าย)
•   ศรัณวงค์  พูนพัฒน์ นักกีฬาเรือใบออฟติมิสต์ ปี 2017
•   เจตวีร์  ยงยืนนาน นักกีฬาเรือใบออฟติมิสต์ ปี 2017
•   พันวา  บุนนาค นักกีฬาเรือใบออฟติมิสต์ ปี 2017
•   ปาลิกา  พูนพัฒน์ นักกีฬาเรือใบออฟติมิสต์ ปี 2017
•   อินทิรา  ภารพิบูลย์ นักกีฬาเรือใบออฟติมิสต์ ปี 2017
•   นพเก้า พูนพัฒน์ แชมป์โลกเรือใบออฟติมิสต์ ปี 2009 และ 2010
•   สมเกียรติ พูนพัฒน์ โค้ชทีมชาติไทย
•   มาร์ก ฮามิลล์ สจ็วร์ต นายกสโมสรเรือใบราชวรุณ ในพระบรมราชูปถัมภ์


ทีมนักกีฬาเรือใบออฟติมิสต์ ปี 2017 (จากซ้าย)
•   ศรัณวงค์  พูนพัฒน์ นักกีฬาเรือใบออฟติมิสต์ ปี 2017
•   อินทิรา  ภารพิบูลย์ นักกีฬาเรือใบออฟติมิสต์ ปี 2017
•   พันวา  บุนนาค นักกีฬาเรือใบออฟติมิสต์ ปี 2017
•   ปาลิกา  พูนพัฒน์ นักกีฬาเรือใบออฟติมิสต์ ปี 2017
•   เจตวีร์  ยงยืนนาน นักกีฬาเรือใบออฟติมิสต์ ปี 2017


###

เกี่ยวกับ การแข่งขันเรือใบออพติมิสต์ชิงแชมป์โลก
เรือใบออพติมิสต์ ถูกคิดค้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1947 โดย คลาร์ก มิลส์ ในเมืองเคลียร์วอเตอร์ มลรัฐฟอริด้า โดยเป็นเรือไม้อัดกันน้ำขนาด 8 ฟุตซึ่งเรียกว่า ออพติมิสต์ พราม ใช้ในกิจกรรมการแข่งขันของสโมสรเรือใบออพติมิสต์ท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมให้เด็กๆ หันมาเล่นกีฬาเรือใบ

ต่อมา เรือใบออพติมิสต์เริ่มมีการพัฒนาในเดนมาร์ก โดยถูกเปลี่ยนแปลงรูปร่างจนกลายมาเป็นเรือใบ
ออพติมิสต์สากลในปัจจุบัน โดยเรือรุ่นแรกผลิตขึ้นจากไม้ และเริ่มมีการใช้วัสดุไฟเบอร์กลาสมาทดแทนในปี ค.ศ. 1970 ทุกวันนี้ถือเป็นเรือประเภทหลักมีที่ผู้ผลิตมากกว่า 30 รายทั่วโลก สำหรับสมาคมเรือใบออพติมิสต์นานาชาติ ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมกลุ่มประเทศสมาชิก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1965 ที่เมืองออร์ฮูส ประเทศเดนมาร์ก ปัจจุบันมีสมาชิกราว 120 ประเทศทั่วโลก   และการแข่งขันรายการของสมาคมเรือใบออพติมิสต์นานาชาติถือเป็นการแข่งขันกีฬาเรือใบเยาวชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีนักกีฬาเรือใบออพติมิสต์ มากกว่า 165,000 คน เท่าที่มีการบันทึกสถิตินับจากทศวรรษที่ 1960 จวบจนปัจจุบัน 

สมาคมเรือใบออพติมิสต์นานาชาติเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร จดทะเบียนที่เมืองออลบอร์ ประเทศเดนมาร์ก โดยบริหารงานจากเมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา ทำหน้าที่ควบคุมกลุ่มประเทศสมาชิก รวมถึงการสร้างระเบียบปฏิบัติและการพัฒนาการแข่งขันเรือใบเล็กออพติมิสต์ในประเทศสมาชิกกว่า 120 ประเทศทั่วโลก

เกี่ยวกับสมาคมสโมสรเรือใบราชวรุณ ในพระบรมราชูปถัมภ์
สมาคมสโมสรเรือใบราชวรุณ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1957 โดย หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี และ วอลเตอร์ เจ. เมเยอร์ และสมาชิกคนอื่นๆ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และพระราชธิดาองค์ใหญ่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนฯ เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ทรงโปรดการเล่นกีฬาเรือใบอย่างมาก ทั้งสองพระองค์จึงทรงเสด็จยังสมาคมสโมสรเรือใบราชวรุณฯ บ่อยครั้ง โดยทั้งสองพระองค์ยังทรงนำความปลาบปลื้มอันหาที่เปรียบมิได้มาสู่ปวงชนชาวไทย เมื่อทรงคว้าชัยชนะในการแข่งขันเรือใบในรายการกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 ปี ค.ศ. 1967 (ซึ่งในปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นกีฬาซีเกมส์)

สมาคมสโมสรเรือใบราชวรุณ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นสโมสรเรือใบชั้นสูงและถือเป็นศูนย์กลางของกีฬาเรือใบในประเทศไทย ตั้งอยู่บนพื้นที่ระหว่างเขตพัทยาและจอมเทียน ดำเนินงานในรูปแบบองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมกีฬาเรือใบในประเทศไทย

ปัจจุบัน สมาคมสโมสรเรือใบราชวรุณ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีสมาชิกราว 500 คน รวบรวมเหล่านักกีฬาเรือใบที่เปี่ยมด้วยความสามารถทุกระดับชั้นนับตั้งแต่ผู้ฝึกหัดไปจนถึงนักกีฬาระดับอาชีพ โดยสโมสรมีโปรแกรมการฝึกซ้อมทั้งเรือใบประเภทเรซิ่งและครูซิ่งตลอดทั้งปี โดยเฉพาะโปรแกรมการฝึกซ้อมแบบเข้มข้นสำหรับผู้ใหญ่ ที่มีการควบคุมมาตรฐานโดยสมาคมเรือใบอังกฤษแห่งสหราชอาณาจักร[/size]
« Last Edit: March 11, 2017, 09:14:18 PM by happy »