happy on February 28, 2017, 09:19:38 PM
CIBA จับมือ อินฟอร์ เร่งเพิ่มศักยภาพด้านเทคโนโลยีนักศึกษาไทย

                       วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์(มธบ.) ผนึก อินฟอร์ ประกาศร่วมมือยกระดับการศึกษาไทยผ่านโครงการพันธมิตรด้านการศึกษา (Education Alliance Program หรือ EAP) หวังส่งเสริมพัฒนาทักษะและขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีของนักศึกษาไทย


                       ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) เปิดเผยว่า วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) ร่วมมือกับ อินฟอร์ ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นเชิงธุรกิจชั้นนำสำหรับอุตสาหกรรมเฉพาะด้านและสำหรับรองรับระบบคลาวด์ เพื่อยกระดับการศึกษาผ่านโครงการพันธมิตรด้านการศึกษา(Education Alliance Program หรือ EAP)  หวังให้นักศึกษาของ CIBA ได้เข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ รวมทั้งแพลทฟอร์มการเรียนรู้การใช้ซอฟต์แวร์อินฟอร์ ซันซิสเต็มส์ ซึ่งครอบคลุมอินฟอร์ ซันซิสเต็มส์ ไฟแนนเชียลส์ (Infor SunSystems Financials) และอินฟอร์ บีไอ คิวแอนด์เอ  (Infor BI Q&A)  อีกทั้งยังได้รับการบริการด้วยซอฟต์แวร์ (SaaS) คลาวด์ ซันซิสเต็มส์ ไฟแนนเชียลส์ของอินฟอร์ นับเป็นความร่วมมือระหว่างอินฟอร์กับสถาบันการศึกษาของไทยเป็นครั้งแรกในภูมิภาคอาเซียน

                       "การจับมือเป็นพันธมิตรกับอินฟอร์ครั้งนี้ จะช่วยให้นักศึกษาของ CIBA มีประสบการณ์ตรงและมีความพร้อมสำหรับการทำงานจริงในอนาคตข้างหน้า อีกทั้งยังช่วยเพิ่มพูนทักษะและขีดความสามารถของบุคคลากรเข้าสู่ตลาดแรงงานทั้งไทยและภูมิภาคอาเซียน ซึ่งขณะนี้มีนักศึกษาระดับปริญญาตรีของ CIBA กว่า 100 คนจะเข้าร่วมโครงการ EAP  นอกจากนี้ผู้ประกอบการในประเทศไทยยังได้รับประโยชน์จากแนวคิดของอินฟอร์ที่ต้องการส่งเสริมทักษะแรงงานให้มีความพร้อมในศตวรรษที่ 21 เพราะในปัจจุบัน อินฟอร์ ซันซิสเต็มส์ มีการใช้งานอย่างกว้างขวางมากกว่า 200 องค์กรทั่วประเทศไทย” ดร.พัทธนันท์กล่าว

                       สำหรับโครงการ EAP ของอินฟอร์ได้รับการเปิดตัวทั่วโลกในปี พ.ศ. 2557 เพื่อให้สถาบันการศึกษาที่เป็นพันธมิตรสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่และแพลทฟอร์มการเรียนรู้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย พร้อมกับเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้สัมผัสประสบการณ์การทำงานจริง ซึ่งช่วยให้นักศึกษาสามารถสั่งสมทักษะและขีดความสามารถเมื่อเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยในปี พ.ศ. 2559 โครงการนี้ฝึกอบรมนักศึกษามากกว่า 1,500 คน และขยายตัวอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคนี้ครอบคลุมมหาวิทยาลัยชั้นนำในจีน เกาหลีใต้ และอินเดีย