happy on February 28, 2017, 08:15:36 PM
ภาคตลาดทุนรวมพลังภาคสังคม
ตั้งกองทุนรวม“ธรรมาภิบาลไทย”
ร่วมยกระดับ“การกำกับกิจการดี”
พร้อมปันเงินลงทุนหนุนงานต้านโกง


ครั้งแรกของประเทศที่ภาคตลาดทุนนำโดย “สภาธุรกิจตลาดทุนไทย” และ “บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน” 14 องค์กร ร่วมมือกับภาคสังคม “มูลนิธิเพื่อคนไทย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เช้นจ์ เวนเจอร์” ประกาศเจตนารมณ์ก่อตั้งโครงการ “กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย” ที่จะลงทุนในหุ้นของบริษัทที่มีการกำกับกิจการที่ดีโดยคัดเลือกเข้ามาอยู่ในตระกร้าหุ้นเดียวกัน (ยูนิเวิร์ส) เพื่อเป็นแรงจูงใจร่วมพัฒนาระบบธรรมาภิบาล พร้อมแบ่งเงินจำนวนหนึ่งไปสนับสนุนงานต่อต้านคอร์รัปชัน นับเป็นนวัตกรรมการลงทุนทางสังคมแบบใหม่ที่มีแนวโน้มเป็นกองทุนรวมธรรมาภิบาลกองแรกของโลกที่มาจากความร่วมมือทุกภาคส่วน


นางวรวรรณ ธาราภูมิ  ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน  เปิดเผยว่า  ภาคตลาดทุนไทยได้สร้างประวัติศาสตร์ใหม่อีกครั้งอย่างมีนัยยะสำคัญ หลังจากมีการเปิดตัว “หลักธรรมาภิบาลการลงทุนสำหรับผู้ลงทุนสถาบัน” (Investment Governance Code: I Code) ไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว วันนี้ (27 ก.พ.) ภาคตลาดทุนและตลาดการเงินร่วมกันก่อตั้งโครงการ “กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย” โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนหรือ บลจ.เกือบทั้งอุตสาหกรรมไม่น้อยกว่า 14 องค์กรจาก 22 บริษัทในอุตสาหกรรมกองทุนรวม  ร่วมกำหนดกติกาการกลั่นกรองหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีคุณสมบัติการกำกับกิจการที่ดี (CG) โดยคัดเลือกเข้ามาอยู่ในตระกร้าหุ้นเดียวกัน หรือยูนิเวิร์สเดียวกัน

ทั้งนี้ แต่ละ บลจ.จะดำเนินงานโดยมีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ นอกจากยกระดับธรรมาภิบาลผ่านการคัดกรองหุ้นในยูนิเวิร์สเดียวกันแล้ว ยังจะแบ่งเงินจำนวนหนึ่งไปสนับสนุนองค์กรหรือโครงการที่มีแนวคิดในการเสริมสร้างธรรมาภิบาลในตลาดทุนและต่อต้านคอร์รัปชัน โดยมีคณะกรรมการกองทุนฯ ทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองอย่างโปร่งใส





“กองทุนนี้เป็นกองทุนหุ้นทั่วไปจะเปิดขายช่วงไอพีโอในปีนี้ นับเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นและน่าสนใจมากเพราะจากหุ้นเหมือนๆ กันในยูนิเวิร์สเดียวกัน เมื่อต่างคนต่างบริหารกองทุนแล้ว ผลการดำเนินงานจะออกมาเป็นอย่างไร เราเชื่อมั่นว่าผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีในระยะยาว ย่อมมาจากกิจการที่มีธรรมาภิบาล นอกจากผลตอบแทนที่เป็นเม็ดเงินแล้ว นักลงทุนและสังคมยังจะได้รับผลตอบแทนด้านอื่นๆ ที่สำคัญอีกด้วย” นางวรวรรณ กล่าว

นายวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย เปิดเผยว่า กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทยนอกจากจะมีจุดเด่นด้านการบริหารจัดการแล้ว ยังนับเป็นกลไกความร่วมมือที่มีส่วนผสมของผู้เกี่ยวข้องสำคัญหลายภาคส่วนอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน  ไม่ว่าจะเป็นภาคตลาดทุน ภาคตลาดการเงิน และภาคสังคม  ที่สำคัญยิ่งสำหรับกองทุนฯ นี้ บทบาทของแต่ละ บลจ.จะทำหน้าที่สำคัญมากกว่าการเป็นผู้จัดการกองทุนและผู้บริจาคเงิน แต่จะเป็น “องค์กรตัวกลาง” ผู้เชื่อมต่อทรัพยากรจากนักลงทุน หรือผู้ถือหน่วยที่ได้รับการจัดสรรจากกองทุนฯ ไปยังผู้รับประโยชน์ อันหมายถึงประชาชนและสังคมไทย ผ่านการขับเคลื่อนโครงการขององค์กรภาคสังคมที่มุ่งเน้นงานด้านนี้

เช่น โครงการข้อตกลงคุณธรรม (IP-Integrity Pact) โดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โครงการนี้จำเป็นต้องมีเงินทุนมาใช้ในการพัฒนางานวิชาการ สร้างเครือข่ายการทำงาน ตลอดจนผลักดันนโยบายสื่อสารต่อสาธารณชน ผลงานในปี 2558 มีโครงการของรัฐลงนามข้อตกลงฯ  13 โครงการ มูลค่า 41,458 ล้านบาท ปี 2559 มี 7 โครงการ มูลค่า 13,978 ล้านบาท ปี 2560 มีโครงการเข้าร่วม 9 โครงการและลงนามแล้ว 3 โครงการ มูลค่า 79,861 ล้านบาท เช่นเดียวกับโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน (CAC) นำโดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ปัจจุบันมีบริษัทร่วมประกาศเจตนารมณ์ 807 บริษัท และผ่านการรับรอง 200 บริษัท โครงการนี้จำเป็นต้องใช้เงินทุนในการพัฒนาเนื้อหาวิชาการ การฝึกอบรมเพื่อสนับสนุนการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติ ตลอดจนงานตรวจสอบรับรอง การเผยแพร่และรณรงค์สร้างกระแสขยายเครือข่ายความร่วมมืออีกมาก







นอกจากนั้นยังมีโครงการด้านหลักสูตรที่ปลูกฝังคุณธรรมด้านธรรมาภิบาลให้กับเยาวชน เช่น โตไปไม่โกง หรือโครงการด้านการผลิตข่าวสืบสวนสอบสวนที่องค์กรสื่อต่างๆ ดำเนินการ ฯลฯ และอีกมากมาย หลายรูปแบบ
“ผมคิดว่าด้วยแนวคิดการจัดการแบบนี้ย่อมเท่ากับว่า นักลงทุนทั้งบุคคลและนักลงทุนสถาบันได้มีส่วนร่วมในการพัฒนายกระดับธรรมาภิบาลพร้อมต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน และเชื่อว่ากองทุนรวมนี้สามารถสร้างผลลัพธ์ทางสังคมจึงนับเป็นการลงทุนทางสังคมที่เกินคุ้มเมื่อเทียบกับมูลค่าความเสียหายของประเทศจากการทุจริตคิดเป็นมูลค่าเงินสูงถึงหลักแสนล้านบาท” ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทยกล่าว

นายณัฐนันท์ วิจิตรอักษร นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย นับเป็นนวัตกรรมทางสังคมใหม่ของไทยและของโลกซึ่งอาจสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้แก่ภาคเอกชนโดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนได้ ดังนั้น จำเป็นต้องมีกลไกการตรวจสอบที่ดีและต้องสร้างความไว้ใจเพื่อก่อให้เกิดความน่าเชื่อถือและการยอมรับ

สำหรับการประชุมประกาศเจตนารมณ์รวมพลังภาคตลาดทุน ตลาดการเงิน  ร่วมก่อตั้งโครงการ “กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย” ครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงจากภาคตลาดทุนและภาคการเงินจำนวนกว่า 10 องค์กร จากองค์กรกำกับ โดยนางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และนายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมนำเสนอหัวข้อ “การยกระดับธรรมาภิบาลเพิ่มความยั่งยืนตลาดทุน” นอกจากนั้น ยังมีผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรภาคสังคมกว่า 10 องค์กร รวมทั้งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และวิสาหกิจเพื่อสังคม บริษัท เช้นจ์เวนเจอร์ จำกัด ที่มีส่วนร่วมในการพัฒนายกร่างแนวคิดกองทุนมาก่อนหน้านี้ โดยมีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานงานและร่วมแสดงความคิดเห็น


#####

บรรยายใต้ภาพ

1.      นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานงานและร่วมแสดงความคิดเห็น
2.      นางวรวรรณ ธาราภูมิ  ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ดำเนินการประชุมและร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการพัฒนาโครงการกองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย
3.      นายวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย นำเสนอความสำคัญของการสร้างเครื่องมือเช่นกองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย ซึ่งจะทำให้คนจำนวนมากได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นปัญหาขนาดใหญ่ของสังคม
4.      คุณเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และคุณรพี สุจริตกุล ร่วมแสดงความคิดเห็นในด้านการยกระดับธรรมาภิบาลเพิ่มความยั่งยืนของตลาดทุน
5.      บรรยากาศการประชุมซึ่งมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จากผู้เข้าร่วมงานหลากหลายทั้งภาคตลาดทุน ภาคการเงิน และภาคสังคม
6.       ผู้ร่วมงานจากภาคตลาดทุนและภาคการเงินและภาคสังคมบันทึกภาพร่วมประกาศเจตนารมณ์รวมพลังภาคตลาดทุน ตลาดการเงิน ร่วมก่อตั้ง โครงการกองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย
« Last Edit: February 28, 2017, 08:18:24 PM by happy »