news on February 28, 2017, 08:40:02 AM
สวทช. ผนึก กรมวิชาการเกษตร มก. มข. มทร.ล้านนา สร้างความร่วมมือบริหารเชื้อพันธุกรรมพืชในระดับชาติ ดันไทยสู่ Seed hub ในระดับสากล



ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผอ.สวทช.


ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร



Mou Seed Hub



27 กุมภาพันธ์ 2560 – ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค เขตบางนา กรุงเทพฯ- สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. พร้อมด้วย ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) และ รศ.ดร.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (มทร.ล้านนา)  ลงนามความร่วมมือการบริหารเชื้อพันธุกรรมพืชในระดับชาติ เพื่อผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ (Seed hub) ในระดับสากล พร้อมตั้งเป้ามูลค่าการส่งออกเมล็ดพันธุ์เป็น 1 หมื่นล้านบาทภายใน 5 ปี (พ.ศ. 2565)

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “สวทช. หน่วยงานวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ที่ได้สนับสนุนส่งเสริมการวิจัยพัฒนาพันธุ์พืช การผลิตเมล็ดพันธุ์ การถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่ง สวทช. ได้ดำเนินงานคลัสเตอร์เมล็ดพันธุ์มาตั้งแต่ปี 2549 มุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกเมล็ดพันธุ์ไทย และเพิ่มมูลค่าในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ไทย ให้สอดคล้องตามเป้าหมายของประเทศในการขับเคลื่อนให้ไทยเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ หรือ Seed hub ในระดับสากล โดยมีเป้าหมายคือ เพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกให้เป็น 10,000 ล้านบาท ภายในปี 2565 และร้อยละ 50 ของมูลค่าการส่งออก เป็นเมล็ดพันธุ์ที่พัฒนาในประเทศ โดยเน้นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และเมล็ดพันธุ์ผัก และมีเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีให้เพียงพอต่อความมั่นคง ความยั่งยืนของประเทศ ในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ในระดับสากลนั้นยังสอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 ด้านการพัฒนานวัตกรรมกลุ่มเกษตรและอาหารในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน อีกด้วย

สำหรับหน่วยเชื้อพันธุกรรมพืชในระดับชาติเป็นแผนยุทธศาสตร์หนึ่งในห้าแผนยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ในระดับสากล ซึ่ง สวทช. สนับสนุนให้มีการดำเนินงานร่วมกับกรมวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) และสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานการบริหารเชื้อพันธุกรรมพืช ได้แก่ พริก มะเขือเทศ ข้าวโพด และพืชวงศ์แตง เพื่อการจัดการและประเมินเชื้อพันธุกรรมพืช การศึกษาลักษณะประจำพันธุ์ที่สำคัญ เช่น ความต้านทานต่อโรคแมลง หรือลักษณะเชิงคุณภาพอื่นๆ ที่มีผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจ ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้นักปรับปรุงพันธุ์พืชเลือกเชื้อพันธุกรรมเพื่อทำการปรับปรุงพันธุ์ให้ได้พันธุ์ใหม่ๆ ที่ตรงตามความต้องการของตลาดได้ง่าย และรวดเร็วขึ้น

“ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกเมล็ดพันธุ์ผักเป็นอันดับที่ 3 ในเอเชีย รองจากประเทศจีนและญี่ปุ่นตามลำดับ โดยปีที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกเมล็ดพันธุ์ของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นมูลค่า 5,551 ล้านบาท ซึ่งร้อยละ 70 มาจากเมล็ดพันธุ์ผัก และร้อยละ 30 มาจากเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทั้งนี้ตลาดส่งออกครึ่งหนึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศอาเซียน ทั้งเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ นอกจากนั้นแล้วประเทศไทยยังมีศักยภาพในการสร้างตลาดใหม่ๆ เช่น ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ด้วย” ผอ. สวทช. กล่าว

อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือระหว่าง สวทช. กรมวิชาการเกษตร มก. มข. และ มทร.ล้านนา ในการบริหารเชื้อพันธุกรรมพืชในระดับชาติ เพื่อผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ในระดับสากล โดยในระยะแรกมุ่งเน้นกลุ่มพืชเป้าหมาย 4 กลุ่ม คือ ข้าว ข้าวโพด พืชผัก และพืชไร่ตระกูลถั่ว พืชอาหารสัตว์และพืชบำรุงดิน เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ไทย สร้างความมั่นคงในด้านอาหาร สร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเอกชน สร้างรายได้ให้เกษตรกรโดยการใช้เมล็ดพันธุ์คุณภาพดี เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสร้างผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง
« Last Edit: February 28, 2017, 09:16:12 AM by news »