news on February 26, 2017, 09:43:46 PM
สวทช.ภาคเหนือ ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน เทศบาลตำบลท่าผา อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ด้วยงานวิจัยอาหารโคต้นทุนต่ำ จากเศษเหลือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อีกหนึ่งแนวทางช่วยลดปัญหาหมอกควันจากการเผาไหม้ในภาคเหนือ



นางปิยะฉัตร ใคร้วานิช เบอร์ทัน ผู้อำนวยการ สวทช.ภาคเหนือ


นายวิเชียร จำปาดี รองนายกเทศมนตรีต.ท่าผา อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่


คุณจอมใจ บุญเทียม เจ้าของฟาร์มบุญสม




ศูนย์เรียนรู้การผลิตอาหารหมักโคจากซังข้าวโพด 1



ฟาร์มบุญสม ของคุณจอมใจ บุญเทียม 2



สวทช.ภาคเหนือ สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้การสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาท้องถิ่นภาคเหนือ โดยในปี พ.ศ. 2556 ได้ให้ทุนวิจัยเพื่อหาแนวทางในการนำวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรโดยเฉพาะเปลือกและซังข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาพัฒนาเป็นอาหารสัตว์ต้นทุนต่ำ เนื่องจากทางภาคเหนือของประเทศไทย มีพืชไร่เศรษฐกิจที่สำคัญ คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในแต่ละปีมีส่วนเหลือทิ้งจากการเก็บเกี่ยวโดยเฉพาะเปลือกและซังข้าวโพดจำนวนมาก และเกษตรกรมักนิยมเผาทำลาย ก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งในฤดูแล้งมักประสบปัญหาการขาดแคลนพืชอาหารสัตว์ ซึ่งผลจากงานวิจัยได้องค์ความรู้ที่เป็นสูตรการผลิตอาหารโคในรูปแบบอาหารหมัก (Silage) โดยนักวิจัย ดร.ขรรค์ชัย ดั้นเมฆ คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา และอาหารผสมครบส่วน (TMR : Total Mixed Ration) เพื่อเลี้ยงโคเนื้อ โดยนักวิจัย ดร.มนตรี ปัญญาทอง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่”

นางปิยะฉัตร ใคร้วานิช เบอร์ทัน ผู้อำนวยการ สวทช.ภาคเหนือ กล่าวว่า “อาหารโคนี้จะมีคุณภาพดีได้มาตรฐานตามเกณฑ์ของกรมปศุสัตว์ และมีปริมาณโปรตีนเพิ่มขึ้นจากเดิมต่ำกว่า 2.0 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มเป็น 4-10 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนที่ใช้ในการผลิตโค พบว่า มีค่าใช้จ่ายในด้านอาหารสัตว์ลดลงจากเดิมมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ และเป็นช่องทางให้กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายเปลือกและซังข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้อีกช่องทางหนึ่ง คือจากเดิมเปลือกและซังข้าวโพดไม่มีราคาจึงต้องเผาทำลาย พบว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา เกษตรกรสามารถตั้งราคาขายเปลือกและซังข้าวโพดแห้งได้อย่างน้อย 10-15 บาทต่อฟ่อน (16-18 กิโลกรัม) ซึ่งได้ราคาเป็นที่พึงพอใจทั้งผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และผู้ซื้อไปใช้ผลิตอาหารหมักเพื่อเลี้ยงโคขุนและโคเนื้อ”

“การขยายผลงานวิจัยไปสู่เกษตรกรเริ่มต้นที่จังหวัดพะเยาก่อน ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี ขยายผลไปสู่เกษตรกรในวงกว้าง จากนั้นในปี พ.ศ. 2558 ได้ขยายผลมายัง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กว่า 1 แสนไร่ มีผลผลิตเป็นจำนวนมากถึง 97,966 ตัน และมีเศษตอซังข้าวโพดเหลืออยู่มากถึงประมาณ 22,400 ตันต่อปี จึงรับการสนับสนุนจากจังหวัดเชียงใหม่ โดยการประสานงานของศูนย์ประสานงานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำภูมิภาคภาคเหนือ (ศวภ.1)  เพื่อจัดสร้างบ่อหมักอาหารโคขนาด 150 ตัน ณ ศูนย์เรียนรู้การผลิตอาหารหมักโคจากซังข้าวโพด ภายใต้การดูแลของเทศบาลตำบลท่าผา อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่”

ด้าน นายวิเชียร จำปาดี รองนายกเทศมนตรีตำบลท่าผา อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า “ศูนย์เรียนรู้การจัดการเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ตามแนวพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียง ตั้งอยู่ ณ พื้นที่โรงเรียนบ้านยางหลวง ตำบลท่าผา อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้การดูแลของเทศบาลตำบลท่าผา อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ โดยศูนย์ดังกล่าวเป็นศูนย์เรียนรู้หรือสถานที่ศึกษาดูงานเทคโนโลยีการกำจัดวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เช่น ซังข้าวโพด เปลือกข้าวโพด ฟางข้าว ฯลฯ โดยนำมาเป็นอาหารหมักสำหรับเลี้ยงโค มีบ่อขนาด 150 ตัน ใช้เวลาหมัก 21วัน/รอบการผลิต นอกจากนี้ เกษตรในพื้นที่ได้นำองค์ความรู้ไปขยายผลโดยผลิตอาหารหมักโคในระดับครัวเรือน โดยขยายผล ณ ฟาร์มบุญสม ของคุณจอมใจ บุญเทียม สำหรับการเลี้ยงโค 95 ตัว ผลิตอาหารหมัก 15ตัน/เดือน เพื่อขยายเป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบในระดับเกษตรกรต่อไป ซึ่งนับเป็นการขยายผลงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาท้องถิ่น ด้วยเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขและใช้ประโยชน์ทรัพยากร และเป็นอีกหนึ่งแนวทางช่วยลดปัญหาหมอกควันอย่างยั่งยืน ปัจจุบันมีหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจากพื้นที่อื่นๆ เข้ามาศึกษาดูงาน ณ ศูนย์ฯ แห่งนี้อย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งยังได้ขยายผลกิจกรรมผลิตอาหารหมัก เพื่อลดการเผาไปยังตำบลอื่นๆ ของอำเภอแม่แจ่มอย่างต่อเนื่อง”

ทั้งนี้ การผลิตอาหารหมักโคจากเปลือกข้าวโพด เป็นการนำเปลือกข้าวโพดมาหมักในภาชนะที่มีฝาปิดโดยหัวเชื้อประกอบด้วยส่วนผสมจากลูกแป้งจุลินทรีย์ รำกลาง กากน้ำตาล และน้ำ ทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง โดยเปลือกข้าวโพดควรชุ่มน้ำหรือแช่ก่อนใส่ถังหมัก เมื่อรดหัวเชื้อให้ทั่วเปลือกข้าวโพดและผสมให้เข้ากันแล้ว ให้ทำการอัดไล่อากาศหรือเหยียบให้แน่นและปิดให้สนิท หมักไว้ 21 วัน จึงนำไปใช้ ผลการทดสอบการกินของโค พบว่า โคจะกินอาหารหมักดีกว่าฟางข้าว ขณะที่ อาหารผสมครบส่วนจากเปลือกข้าวโพด สำหรับโคเนื้อ เป็นการนำเปลือกข้าวโพดซึ่งเป็นวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมาใช้เป็นวัตถุดิบแหล่งอาหารหยาบในสูตรอาหารผสมครบส่วน (TMR : Total Mixed Ration) โดยมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่เป็นแหล่งอาหารข้น ได้แก่ ข้าวโพดบด มันสำปะหลังหรือมันเส้นบด ยูเรีย กากน้ำตาล แร่ธาตุ วิตามิน และเกลือ เมื่อนำมาเลี้ยงโคเนื้อ พบว่า ต้นทุนค่าอาหารต่อการเพิ่มน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมลดลง

“ในปี พ.ศ. 2560 นี้ สวทช.ภาคเหนือ ตั้งเป้าหมายสนับสนุนการผลิตอาหารโคต้นทุนต่ำ เพื่อลดการเผาเปลือกข้าวโพด จำนวน 200 ตัน อีกทั้งได้ประสานงานกับหน่วยงานพันธมิตรเพื่อขยายโครงการเพื่อ “ผลิตอาหารโคลดการเผา” ในปี พ.ศ. 2561 ต่อไป ซึ่งอาหารหมักที่ได้จะเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์สำหรับทดแทนการนำเข้ากากเบียร์และอาหารสัตว์อื่นๆ จากจังหวัดแถบภาคกลางที่มีราคาสูง และนำไปสู่การลดการเผาเปลือกและซังข้าวโพดในพื้นที่เกษตรกรรมและปัญหาหมอกควันในภาคเหนือได้อย่างยั่งยืน” ผู้อำนวยการ สวทช.ภาคเหนือ กล่าว
« Last Edit: February 27, 2017, 07:58:34 AM by news »