happy on February 18, 2017, 06:12:59 PM
นิด้าโพลชี้ร่าง พรบ. ควบคุมยาสูบ สวนทางนโยบายรัฐบาลประยุทธ์ดูแลธุรกิจรายเล็ก
โชห่วยร้อยละ 78 ชี้ตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม หวัง สนช.พิจารณารอบด้าน

15 ก.พ. 60 – สมาคมการค้ายาสูบไทยเผยผลสำรวจนิด้าโพล โดยศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้สำรวจความคิดเห็นของร้านค้าปลีกขนาดเล็ก (โชห่วย) ที่ขายบุหรี่จำนวน 1,030 ร้านทั่วประเทศในประเด็นผลกระทบ “ร่างพ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 13-25 มกราคม 2560 พบร้านค้า โชห่วยร้อยละ 78 มองว่าตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมในการออกกฎหมายควบคุมยาสูบที่ส่งผลต่อการค้าขายแต่ควรให้ความสนใจในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน เช่น เศรษฐกิจ และการปฏิรูปประเทศ และกว่าร้อยละ 64 เห็นว่าสนช. ควรพิจารณาผลกระทบของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งอุตสาหกรรม นอกเหนือจากเหตุผลเรื่องสุขภาพอนามัยของประชาชนเป็นหลักเพียงอย่างเดียว รวมถึงให้ความสำคัญกับมุมมองของหน่วยราชการอื่นทีเกี่ยวข้องด้วย

                   ขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีการนำเสนอข้อบังคับใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับร้านค้า อาทิ กำหนดอายุผู้ขายไม่ต่ำกว่า 18 ปี ห้ามร้านค้าแบ่งขายเป็นมวน ห้ามแสดงป้ายราคา ห้ามแสดงผลิตภัณฑ์ในร้านและข้อกำหนดเรื่อง “ซองเรียบ” โดยซองบุหรี่ทุกยี่ห้อต้องใช้สีเดียวกันหมดและห้ามพิมพ์โลโก้หรือเครื่องหมายการค้าใดๆ สำหรับความเห็นประเด็นต่อร่างพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ผลปรากฏว่า

<a href="http://www.youtube.com/watch?v=hHkozDkFTfk" target="_blank">http://www.youtube.com/watch?v=hHkozDkFTfk</a>

•   เมื่อถามถึงผลกระทบต่อธุรกิจเมื่อรัฐบาลผ่านร่างพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ

o   ร้อยละ 63.11 ระบุเกิดผลกระทบ ร้อยละ 31.65 ไม่กระทบ ร้อยละ 5.24 ระบุไม่แน่ใจ

•   แนวทางการออกนโยบายควบคุมยาสูบของรัฐ

o   ร้อยละ 63.59 ระบุว่าสนช. ควรพิจารณาผลกระทบของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งอุตสาหกรรม นอกเหนือจากเหตุผลเรื่องสุขภาพอนามัยของประชาชนเป็นหลักเพียงอย่างเดียว
o   ร้อยละ 77.67 เห็นว่าตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมในการเพิ่มมาตรการควบคุมยาสูบที่ส่งผลต่อสภาพธุรกิจแต่ควรให้ความสนใจในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน เช่น เศรษฐกิจปากท้อง
o   ร้อยละ 77.67 เห็นว่าสนช. ต้องให้ความสำคัญกับมุมมองของหน่วยงานราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์


•   ต่อประเด็นมาตรการ “ซองเรียบ” ที่จะบังคับให้ซองบุหรี่ทุกยี่ห้อมีสีและรูปแบบซองเหมือนกันหมด

o   ร้อยละ 83.50 มองว่าจะทำให้เกิดบุหรี่ปลอมมากขึ้นเพราะซองปลอมแปลงง่าย
o   ร้อยละ 82.33 มองว่า จะส่งผลเสียเชิงธุรกิจเพราะผู้บริโภคจะไปหาของถูกในตลาดมืดที่ซองบุหรี่ยังมีตราสินค้าและหาซื้อได้ในราคาถูกกว่า
o   ร้อยละ 74.85 มองว่าซองที่เหมือนกันหมดจะทำให้การสั่งสินค้า จัดสต็อคและบริการลูกค้ามีความยุ่งยากซับซ้อนขึ้น 


                   “การจัดทำสำรวจความคิดเห็นของร้านค้านี้เป็นการสำรวจปีที่สามติดต่อกันและเป็นสิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าร้านค้ามีความกังวลอย่างแท้จริงต่อร่างกฎหมายที่มีความสุดโต่งนี้ โดยเฉพาะเรื่องซองเรียบที่คนค้าขายมองว่าจะทำให้เกิดบุหรี่ปลอมมากขึ้น ผลชี้ชัดว่าการออกกฎหมายที่สุดโต่ง สร้างภาระร้านค้าสวนทางกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการดูแลธุรกิจขนาดเล็ก โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ที่ภาคธุรกิจขนาดเล็กยังมองว่าไม่เหมาะสมเพราะปัญหาเรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รอการแก้ไข ร้านค้าสมาชิกได้แต่หวังว่าสนช. จะมีการรับฟังปัญหาและผลกระทบนี้อย่างจริงจังและแก้ไขกฎหมายไม่ให้มาสร้างภาระกับร้านค้าโชห่วยเล็กๆ ในตอนนี้อีก แล้ววันนี้เราก็จะไลฟ์ผ่านเฟสบุ้ค ‘NO TPCA เราคัดค้านร่างพรบ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ’ เพื่อแจ้งให้สมาชิกของเราทราบผลสำรวจอีกทางด้วย” นางวราภรณ์ นะมาตร์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมการค้ายาสูบไทยกล่าว

                   ด้านผู้ประกอบการร้านค้าขนาดเล็ก เจ้าของร้านขายของชำย่านลาดพร้าว นายสุวิทย์ จิตต์เนื่อง กล่าวเสริมว่า “ปัจจุบันร้านโชห่วยได้รับผลกระทบหนักจากสภาพเศรษฐกิจและต้องแข่งขันสูงกับร้านสะดวกซื้อ ถ้ามองสินค้าที่ทำรายได้ให้กับร้านอย่างมากคือบุหรี่แบ่งขาย ซึ่งร้านสะดวกซื้อไม่มีขาย ลูกค้ามาซื้อของเราก็ทำให้สามารถขายสินค้าอื่นได้ด้วย ผมค้าขายมากว่า 20 ปี เห็นข้อห้ามนี้แล้วนึกถึงเพื่อนร่วมอาชีพโชห่วยเล็กๆ ตายแน่ เหมือนเจตนาฆ่าร้านเล็กๆ การอ้างว่าต้องการควบคุมไม่ให้เยาวชนเข้าถึงง่าย แต่ปัจจุบันเราก็มีการห้ามขายบุหรี่ให้เยาวชนอยู่แล้ว ซึ่งถ้าบังคับใช้อย่างจริงจัง ก็คงไม่ต้องออกข้อห้ามที่ซับซ้อนและบีบคั้นร้านค้าแบบนี้” 

* * * * * * * * * *

เกี่ยวกับสมาคมการค้ายาสูบไทย

สมาคมการค้ายาสูบไทย หรือ Thai Tobacco Trade Association (TTTA) เป็นสมาคมที่ก่อตั้งขึ้นในเดือนมกราคม พ.ศ. 2555 มีจุดประสงค์ในการสะท้อนมุมมองและความคิดเห็นของผู้ค้าปลีก ผู้ค้าส่ง ผู้จัดจำหน่าย และผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสูบ โดยมุ่งเน้นเสนอการแก้ไขปัญหาและข้อกังวลที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจค้าปลีกยาสูบ ทั้งในด้านกฎหมายและกฎระเบียบ การจัดเก็บภาษี การต่อต้านการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบผิดกฎหมาย การรณรงค์ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับยาสูบ เช่น การป้องกันเยาวชนจากการสูบบุหรี่ และกิจกรรมเพื่อสังคมในชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งเพื่อเป็นศูนย์กลางในการสื่อสารระหว่างผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการค้ายาสูบและภาครัฐกับสื่อมวลชน
« Last Edit: February 18, 2017, 06:15:22 PM by happy »