ประเทศไทยเตรียมรับมือ “สงครามสี่ทัพ”โดย ดร.อมรเทพ จาวะลา
ประเทศไทยเตรียมรับมือ “สงครามสี่ทัพ” 9กุมภาพันธ์ 2560 โดย ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโสสำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย
ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคสงคราม เป็นสงครามเศรษฐกิจที่ก่อตัว ทวีความรุนแรงและเตรียมปะทุขึ้นในปีนี้ ประเทศไทยควรติดตามใกล้ชิดเพื่อเตรียมตัวตั้งรับให้ดี เพราะสงครามรอบนี้ ประเทศมหาอำนาจมีกลไกหลายรูปแบบในการชิงความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง มีความเสี่ยงที่ประเทศไทยรวมถึงประเทศเกิดใหม่ทั้งหลายจะตกเป็นเหยื่อหรือหากเคราะห์ร้ายอาจถึงขั้นตกเป็นเชลยของสงครามในช่วงที่มหาอำนาจอย่างสหรัฐ และจีนรบพุ่งกันสงครามสี่ทัพ ประกอบด้วย
ทัพที่ 1 – สงครามการค้า (Trade War)
มีความเป็นไปได้สูงมาก ที่สหรัฐจะนำเข้าน้อยลง ส่งผลให้จีนส่งออกไปสหรัฐยากขึ้น ทำให้ไทยและอาเซียนส่งออกไปจีนส่งออกได้ลดลงชนวนเหตุของการที่ทรัมป์หรือสหรัฐถูกบีบให้เล่นเกม‘สงครามการค้า’ เพราะสหรัฐขาดดุลการค้าอย่างมโหฬารกับประเทศอื่นทั่วโลก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยสหรัฐเองไม่สามารถแข่งขันได้ในสถานการณ์ปกติหรือในโลกเสรี ดังนั้นทรัมป์จึงต้องหันมาบีบบริษัทสหรัฐให้ย้ายฐานการผลิตกลับมาในประเทศ เพื่อลดการนำเข้า ไม่เช่นนั้นแล้วจะคิดภาษีบริษัทที่ใช้สินค้าจากต่างประเทศในกระบวนการผลิต (Border Adjustment Tax) ในขณะเดียวกัน ทรัมป์ก็มีแรงจูงใจด้วยการเตรียมลดภาษีนิติบุคคลลงจาก 35% ให้เหลือ 15% เพื่อให้บริษัทอเมริกันย้ายกลับมาประเทศ ในช่วงนี้ ทรัมป์น่าจะเจรจากับประเทศคู่ค้าให้สหรัฐสามารถแข่งขันได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าให้สหรัฐนำเข้าลดลงและหันมาใช้ของที่ผลิตในประเทศ หรือบีบให้ประเทศเหล่านั้นนำเข้าสินค้าจากสหรัฐให้มากขึ้น จีนซึ่งเป็นประเทศที่สหรัฐขาดดุลการค้ามากที่สุดคงหนีไม่พ้นที่ทรัมป์จะใช้มาตรการสงครามการค้าด้วย ซึ่งจะทำให้จีนส่งออกไปสหรัฐลำบากมากขึ้น จีนจะนำเข้าลดลง และนั่นก็ทำให้ไทยและอาเซียนส่งออกไปจีนน้อยลงเช่นกัน
ทัพที่ 2 – สงครามค่าเงิน (Currency War)
ทรัมป์มองว่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าจนเกินไป ทำให้บริษัทอเมริกันแข่งขันกับประเทศอื่นไม่ได้ ในขณะเดียวกัน หลายๆ ประเทศเช่นเยอรมนีและญี่ปุ่นก็ดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพื่อให้ค่าเงินยูโรและเงินเยนอ่อนค่า เพื่อหวังกระตุ้นภาคการผลิตและจะได้ส่งออกได้มากขึ้น จีนเคยปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าเพื่อประคองการชะลอตัวของภาคการบริโภคและการลงทุน ซึ่งสุดท้ายกระทบค่าเงินในภูมิภาคอาเซียนให้อ่อนค่าตาม ในที่สุด ‘สงครามค่าเงิน’ที่ทรัมป์กำลังพยายามให้ดอลลาร์อ่อนค่าจะทำให้ค่าเงินในภูมิภาคอาเซียนรวมทั้งเงินบาทที่เคยมีแนวโน้มอ่อนค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐในช่วงปลายปีก่อนก็พลิกกลับมาแข็งค่า ซึ่งจะกระทบความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอีกทอดหนึ่ง โดยเฉพาะในช่วงที่สงครามการค้ากำลังปะทุ เมื่อค่าเงินแข็งค่าเช่นนี้ โอกาสในการขึ้นดอกเบี้ยตามสหรัฐคงไม่เกิด ธนาคารกลางในภูมิภาคน่าจะปล่อยให้เงินไหลออก ปล่อยให้เงินอ่อนค่าภายหลังแล้วใช้ดอกเบี้ยต่ำมาพยุงเศรษฐกิจดีกว่า ทั้งนี้ เรายังเชื่อว่าเฟดน่าจะสามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ในเดือนมิถุนายนหลังตัวเลขการจ้างงาน เงินเฟ้อ และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสหนึ่งออกมาดี ซึ่งจะทำให้ดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่าได้อีกรอบ
ทัพที่ 3 – สงครามราคา (Price War)
ในช่วงที่เงินเฟ้อเร่งขึ้นตามราคาน้ำมันและต้นทุนต่างๆ แต่บริษัทกลับยังลังเลที่จะผลักภาระต้นทุนให้ผู้บริโภคและกลับมาแบกรับภาระนี้ไว้ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าเรากำลังเข้าสู่ ‘สงครามราคา’ที่ผู้ผลิตกำลังเล่นเกมนี้อยู่ ผลร้ายคือหากไม่สามารถขึ้นราคาได้หรือซ้ำร้ายต้องลดราคาลงเพื่อแข่งขันกับคู่แข่งแล้ว กำไรก็จะลดลง การลงทุนใหม่ๆ ก็จะไม่เกิดเพราะผู้ผลิตจะคอยห่วงด้านต้นทุนจนไม่เห็นคุณค่าของการสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่จริงๆ แล้วกลับจะมีมูลค่าสูงขึ้นและแข่งขันได้ดีขึ้นในช่วงครึ่งแรกปีนี้เราอาจเห็นสงครามราคาที่ทำให้กำไรหด หนี้เสียยังเพิ่ม โดยเฉพาะในกลุ่ม SMEs ที่สายป่านสั้นกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ จึงมีผลกระทบแรงกว่า
ทัพที่ 4 – สงครามจิตวิทยา (Psychological War)
ตำราพิชัยสงครามซุนวูกล่าวว่า “การทำศึกสงครามที่ดีที่สุด คือการเอาชนะข้าศึกศัตรูโดยไม่ต้องสู้รบ”ลองดูว่าอาวุธที่มีอานุภาพร้ายแรงที่สุดของทรัมป์คืออะไร ไม่ใช่ระเบิดนิวเคลียร์ ไม่ใช่ขีปนาวุธ ไม่ใช่เครื่องมือทางการเงิน ลดดอกเบี้ย อัดฉีด QE หรือลดภาษี แต่อาวุธที่ทำให้ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งและสามารถมีแต้มต่อประเทศคู่แข่งได้ก็คือ ทวิตเตอร์ หรือการสื่อสารที่ทำให้คู่แข่งไม่รู้ว่าเขาคิดอะไร จะทำอะไร ในปีนี้เราคงจะเห็นทรัมป์ขู่หรือออกมาตรการที่ดูแปลกๆ แหวกแนว แต่แท้จริงคือ ‘สงครามจิตวิทยา’ที่ทำให้คู่แข่งคาดเดาทรัมป์ไม่ได้ และจะทำให้ทรัมป์มีไพ่เหนือกว่า ดำเนินกลยุทธ์ได้เฉียบคมกว่า ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าโดยไม่ต้องลงแรงหรือเสียไพร่พลใดๆ
ไทยจะรอดพ้นจาก ‘สงครามสี่ทัพ’ ได้หรือไม่
ถ้าเราหลงทาง มุ่งแต่ขายของถูก หวังกดราคาสินค้า ใช้ค่าเงินอ่อน ไม่ลงทุนหาอะไรใหม่ๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มหรือมีนวัตกรรมมาผลิต ผมห่วงว่าเราจะถูกดูดเข้าไปเป็นเหยื่อของสงครามรอบนี้ ประเทศไทยต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า สร้างนวัตกรรมการผลิตซึ่งจะมาพร้อมกับการลงทุน และปัญหาสำคัญที่เราเน้นย้ำมาตลอดคือ ไทยติดกับดักการลงทุน ภาครัฐต้องสร้างแรงจูงใจให้เอกชนเข้ามาลงทุนได้ในปีนี้ หากเอกชนเชื่อมั่น ตัดสินใจลงทุน สร้างความเข้มแข็งจากภายใน ไทยจะสู้กับสงครามสี่ทัพนี้ได้ หากทำไม่ได้แล้ว ผมก็ห่วงว่าประเทศไทยจะตกเป็นเหยื่อของสงครามสี่ทัพนี้ อันมีผลให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 3 ได้