news on February 09, 2017, 03:50:08 PM
ก.วิทย์ สวทช. และ สทอภ. ผนึก JAXA แชร์ความรู้เทคโนโลยีอวกาศญี่ปุ่น พร้อมชวนคนไทยส่ง “งานวิจัย” ทดลองบน “สถานีอวกาศนานาชาติ”



(ขวา)ดร.อัมรินทร์ พิมพ์หนู รับของทะระลึกจาก นายจุน โกมิ ผอ.ฝ่ายการจัดการและบูรณาการเทคโนโลยีอวกาศ องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ JAXA (Custom)


(ซ้าย) ดร.กฤษฎ์ชัย สมสมาน รับมอบของที่ระลึก (Custom)


นายจุน โกมิ ผู้อำนวยการฝ่ายการจัดการและบูรณาการเทคโนโลยีอวกาศ องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ JAXA รับมอบของที่ระลึก จากนายอนุสรณ์ รังสิพานิช รักษาการอธิการสถาบันวิทยาการอวกาศและภูมิสารสนเทศ (Custom)


บรรยากาศการสัมนา (Custom)



(9 กุมภาพันธ์ 2560) ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ: กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. ร่วมกับ องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (Japan Aerospace Exploration Agency: JAXA) ภายใต้การดำเนินการของ Space Environment Utilization Working Group (SEUWG) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “SPACE ENVIRONMENT AND KIBO UTILIZATION WORKSHOP” ระหว่างวันที่ 9 - 10 กุมภาพันธ์ 2560 เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานและประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีอวกาศกับผู้เชี่ยวชาญ จากหน่วยงานด้านอวกาศ ประเทศญี่ปุ่น   

ดร.กฤษฎ์ชัย สมสมาน ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อวิทยาศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า การจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการนี้ เป็นส่วนหนึ่งในงานประชุมวิชาการเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศแห่งชาติ : geoinfotech 2017 มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนงานวิจัยด้านอวกาศในสาขาต่างๆ โดยเฉพาะการทดลองทางวิทยาศาสตร์ในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำที่สามารถดำเนินการในคิโบะโมดูล (Kibo module) สถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station : ISS) รวมทั้งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการวิจัยและพัฒนาด้านการทดลองวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทย

“โดยการประชุมในครั้งนี้ มีวิทยากรผู้มีความรู้และความเชี่ยวชาญหลากหลายสาขาในด้านเทคโนโลยีอวกาศ ทั้งในและต่างประเทศ มาบรรยายให้ความรู้ เช่น วิทยากรจากองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น นำเสนอในเรื่องการเตรียมการทดลองทางวิทยาศาสตร์บนคิโบะโมดูล โมดูลสำหรับทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ทางอวกาศโดยมนุษย์แห่งแรกของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งที่ผ่านมา JAXA ได้นำงานวิจัยขึ้นไปทดลองแล้วหลายชิ้น เช่น การทดลองปลูกผลึกโปรตีนชนิดต่างๆ ภายใต้เงื่อนไขต่างๆ เพื่อให้ได้โปรตีนที่มีโครงสร้างสมบูรณ์ เพื่อประโยชน์ในด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยใช้ศึกษาเพื่อหาทางป้องกันและรักษาโรคที่เกิดจากความผิดปกติของโปรตีน เป็นต้น พร้อมกันนี้ยังมีวิทยากรจากประเทศไทย

นำเสนอการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจสำหรับทำการทดลองบนอวกาศ, การพัฒนาดาวเทียมขนาดเล็กเพื่อการศึกษา รวมไปจนถึงโอกาสที่จะพัฒนามนุษย์อวกาศชาวไทยด้วย”

ในการประชุมครั้งนี้ยังได้ถือโอกาสเปิดตัวโครงการ National Space Experiment โอกาสครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ที่เปิดโอกาสให้คนไทยได้ร่วมส่งข้อเสนองานวิจัยขึ้นไปทดลองบนคิโบะโมดูล สถานีอวกาศนานาชาติ โดยงานวิจัยที่สมัครเข้ามาจะต้องเป็นงานวิจัยที่ไม่สามารถทดลองได้บนโลก ไม่ต้องการแรงดึงดูดของโลก และสามารถสร้างนวัตกรรมและต่อยอดอุตสาหกรรมอวกาศไทยในอนาคตได้ ทั้งนี้เปิดรับสมัครผู้ที่สนใจร่วมเสนองานวิจัยไปทดลองในอวกาศ ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 มีนาคม 2560 เพื่อร่วมกันสร้างนวัตกรรมอวกาศสัญชาติไทย ให้ก้าวไกลสู่เวทีเทคโนโลยีอวกาศของโลกอย่างเต็มภาคภูมิ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.nstda.or.th/jaxa-thailand/nse/ หรือ อีเมล : nse@nstda.or.th

อย่างไรก็ดีนอกจากโครงการวิจัยในสถานีอวกาศนานาชาติแล้ว สวทช. และ สทอภ. ได้มีความร่วมมือกับ JAXA ในการจัดกิจกรรมและโครงการเพื่อส่งเสริมกระตุ้นความสนใจและเพิ่มพูนศักยภาพเยาวชนไทยในการวิจัยทางด้านเทคโนโลยีอวกาศมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ

•   โครงการ The Student Zero-gravity Flight Experiment Contest เปิดโอกาสให้เยาวชนไทยนำงานวิจัยขึ้นไปทดลองในสภาวะไร้น้ำหนัก โดยใช้เครื่องบินที่ทำการบินแบบ Parabolic จำลองสภาพไร้น้ำหนัก ประมาณ 20 วินาที ซึ่งจะเป็นการทดลองร่วมกับเยาวชนจากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และเวียดนาม

•   โครงการ SPACE SEEDS FOR ASIAN FUTURE 2013 เป็นโครงการเชิญชวนเยาวชนที่สนใจร่วมกัน ค้นหาคำตอบด้วยการทดลองปลูกถั่วแดงญี่ปุ่นในอวกาศ เปรียบเทียบกับถั่วแดงญี่ปุ่นที่ปลูกบนโลก ซึ่งตลอดระยะเวลาการทดลอง มนุษย์อวกาศได้บันทึกภาพวิดีโอส่งตรงจากสถานีอวกาศนานาชาติ มาถึงประเทศไทยและประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อให้เยาวชนผู้ร่วมทำการทดลองได้ติดตามข้อมูล เปรียบเทียบผลการทดลองเฝ้าดูการเจริญเติบโตของเมล็ดถั่วแดงบนสถานีอวกาศนานาชาติ

•   โครงการ ASIAN TRY ZERO G เปิดรับความคิดสร้างสรรค์จากเยาวชนไทยและคนรุ่นใหม่ (อายุไม่เกิน 27ปี) เสนอโครงการทดลองในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง เพื่อส่งให้กับมนุษย์อวกาศญี่ปุ่นทำการทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ซึ่งจะต้องเป็นการทดลองที่ไม่เคยทำมาก่อน และใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที โดยผู้ที่เป็นเจ้าของโครงการที่ได้รับคัดเลือกจะได้รับเกียรติบัตรจาก JAXA และของที่ระลึกจาก สวทช. พร้อมโอกาสเดินทางไปชมการทดลองของมนุษย์อวกาศแบบสด ๆ ผ่านห้องบังคับการที่ Tsukuba Space Center ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

ทั้งนี้สำหรับประชาชนและเยาวชนที่สนใจงานด้านเทคโนโลยีอวกาศ สามารถติดตามรายละเอียดกิจกรรมและโครงการทางด้านอวกาศต่างๆ ได้ที่ www.nstda.or.th/jaxa-thailand
« Last Edit: February 09, 2017, 10:06:05 PM by news »