MSN on February 06, 2017, 07:46:02 AM
ทนายชี้กรมศุลฯเข้าข่ายกลั่นแกล้ง เรียกค่าปรับ 2 เท่ารถเอ็นจีวี

นาย คณิสสร์ ศรีวชิระปะภา ประธาน บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด ผู้ชนะการประมูลโครงการจัดหารถโดยสารที่ใช้ก๊าชธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง (รถเมล์เอ็นจีวี) ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) เปิดเผยว่า ตามที่บริษัท ซุปเปอร์ซาร่าฯ  นำเข้ารถเมล์โดยสารใหม่จากประเทศมาเลเซีย เข้ามาในราชอาณาจักร 99 คัน ตามใบขนเลขที่ A0020591200783 โดยเรือ GLOVISPRIME  เที่ยววันที่ 1 ธ.ค.59 ได้สำแดงรายการเสียภาษีในประเภทพิกัด 8702.90.94 อัตรา 0% เป็นการใช้สิทธิลดอัตราอากรตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องการยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากรสำหรับของที่มีกำเนิดจากอาเซียน ฉบับประกาศใน พ.ร.บ. ราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 6 ม.ค.55 แต่กรมศุลกากรต้องการให้บริษัทฯวางประกันค่าภาษีในอัตรา 40%และวางประกันค่าปรับ 2 เท่าของค่าภาษี บริษัทฯยินยอมจะวางประกันค่าภาษี โดยขอไม่ต้องวางเงินประกันค่าปรับจำนวน 2 เท่า เนื่องจากว่าไม่เป็นไปตามประมวลระเบียบปฏิบัติที่กรมศุลกากรกำหนดไว้ พ.ศ. 2556 ข้อ 4 03 06 05  เรื่องการยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากร สำหรับสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดจากอาเซียน (ATIGA)เป็นการทั่วไป

โดยขณะนี้กรมศุลกากรยังไม่ได้แสดงหลักฐานพิสูจน์ว่า รถเมล์ดังกล่าวไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นถิ่นกำเนิดมาเลเซีย (เพียงมีข้อสงสัย) ว่ารถบัสประกอบสำเร็จรูปทั้งคันและส่งจากประเทศจีน ทั้งนี้บริษัทฯได้แสดงเอกสารจากทางการมาเลเซีย(From D) เพื่อขอยกเว้นภาษีนำเข้าแล้วและต้องการให้กรมศุลกากรเร่งสรุปผลและนำหลักฐานต่างๆ มาเปิดเผยยืนยันว่ารถเอ็นจีวีไม่ได้มีถิ่นกำเนิดจากประเทศมาเลเซีย เพราะที่ผ่านมาเป็นเพียงการกล่าวอ้างว่า สงสัยว่า ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อบริษัทฯ ขณะที่คนกรุงเทพฯก็เสียโอกาสในการใช้บริการรถเมล์ใหม่ นายคณิสสร์ กล่าว

นายปัญญ์ เกษมทรัพย์ หรืออาจารย์ปัญญ์ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายศุลกากร ให้ความเห็นเรื่องดังกล่าวว่า ตามประมวลระเบียบปฏิบัติศุลกากร พ.ศ.2556 ข้อ 4 03 06 05 การยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากร สำหรับของที่มีถิ่นกำเนิดจากอาเซียน ( ATIGA)กำหนด

ข้อ (3.2.5) “กรณีรายการข้อมูลในใบขนสินค้าขาเข้า เอกสารประกอบและต้นฉบับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (From D) ไม่ถูกต้องตรงกันและมีเหตุอันควรสงสัยหรือจำเป็นต้องสอบถามไปยังหน่วยงานที่ออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าและหากสินค้านั้นมิได้เป็นสินค้าต้องห้ามหรือต้องกำกัดในการนำเข้าและไม่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการฉ้อฉล อาจสั่งการให้ปล่อยสินค้านั้นไปก่อนและชักตัวอย่างไว้โดยวางประกันให้คุ้มค่าภาษีอากรตามอัตราปกติ โดยไม่ต้องวางประกันค่าปรับ”

แต่ในทางปฏิบัติพบว่าการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอนุญาตให้รับของไปก่อนไม่เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติของการศุลกากรที่กำหนดให้วางประกันค่าภาษีอากรในอัตรา 40% และวางประกันค่าปรับในอัตราสองเท่าของราคารวมค่าอากร จึงเกรงว่าอาจเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติของกรมศุลกากร ดังนั้นตามข้อเท็จจริงและระเบียบปฏิบัติดังกล่าวข้างต้น ยืนยันว่าบริษัทซุปเปอร์ซาร่าจำกัดยังมิได้ถูกเพิกถอนสิทธิตามหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าจากหน่วยงานที่ออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าของทางการมาเลเซียแต่อย่างใด จึงยังคงได้รับสิทธิลดอัตราอากรตามประกาศกระทรวงการคลัง

สำหรับการกล่าวหาว่ากระทำผิดศุลกากรโดยการแจ้งข้อกล่าวหาไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดๆยืนยันว่ามีการกระทำผิดจริง ดังจะเห็นได้จากกรมศุลฯ มีหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาสำหรับการนำเข้ารถเอ็นจีวีจำนวน 145 คันว่า “เชื่อได้ว่ารถบัสมีกำเนิดประเทศเป็นประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน”อันอาจมีการสำแดงเมืองกำเนิดสินค้าเป็นเท็จ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กรมศุลฯ ยังไม่มีหลักฐานในเรื่องดังกล่าว การเรียกให้บริษัทฯต้องวางประกันค่าปรับ 2 เท่า จึงเกรงว่าอาจจะไม่ได้รับความเป็นธรรมและเห็นว่าการกระทำดังกล่าวน่าจะเป็นการกลั่นแกล้งการประกอบกิจการธุรกิจทำให้ไม่สามารถส่งมอบรถยนต์โดยสารเอ็นจีวีได้ทันตามกำหนดเวลาในสัญญา ดังที่กรมศุลฯ ได้เพิ่มหมายเหตุในใบขนสินค้าฉบับที่กล่าวหาที่บริษัทฯสำแดงรายการ “ขอสงวนสิทธิ์การขอคืนอากรภายหลังการนำเข้าโดยใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า(Form D)”แต่เจ้าหน้าที่ของกรมศุลฯ ได้เพิ่มข้อความ “มีปัญหาถิ่นกำเนิดเนื่องจาก คกก.ตรวจปล่อยรถยนต์ตรวจพบว่ารถยนต์ฯมีถิ่นกำเนิดจากประเทศจีน เรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี ตามแฟ้มคดีที่ ล.119/11.1.60 ซึ่งข้อความที่เจ้าหน้าที่เพิ่มเติมเข้ามาเองมุ่งประสงค์ว่าเป็นบริษัทฯรับรองรายการในใบขนฯและทำให้เกิดปัญหาในการส่งมอบรถให้กับ ขสมก.

และบริษัทฯ เห็นว่า การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายถือว่าไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของเขตการค้าเสรีอาเซียนที่ต้องการให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้าอย่างเสรีภายใต้อาเซียน จึงเกรงว่าการบังคับใช้กฎหมายโดยการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมอาจเป็นการกีดกันทางการค้าที่อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียน