wmt on January 21, 2017, 10:28:59 PM
สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดึง 2 พันธมิตรหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และ หอศิลป์ซุนดารัม ทากอร์ ร่วมจัดนิทรรศการภาพถ่ายผลงานช่างภาพสารคดีระดับโลก Sebastião Salgado: The World Through His Eyes ครั้งแรกในประเทศไทย เตรียมเปิดให้เข้าชมฟรี 8 กุมภาพันธ์ - 8 มีนาคม 2560



Sundarum Tagore


นิติกร กรัยวิเชียร


นิติกร-ซุนดารัม-มานิตย์



กรุงเทพฯ - สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ หอศิลป์ซุนดารัม ทากอร์ (Sundaram Tagore)เตรียมจัดงานนิทรรศการภาพถ่ายระดับโลก“Sebastião Salgado: The World Through His Eyes”  ซึ่งรวบรวมผลงานภาพถ่ายขาว-ดำของช่างภาพสารคดีระดับโลกชาวบราซิล ผู้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ช่างภาพทั่วโลก เซบาสเทียว ซาลกาโด (Sebastião Salgado) ตั้งแต่ปี 2529 จนปัจจุบัน กว่า 120 ภาพ แสดงในระหว่างวันที่ 8 กุมภาพันธ์ - 8 มีนาคม 2560 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

นายนิติกร กรัยวิเชียร นายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์กล่าวถึงการจัดนิทรรศการแสดงภาพถ่ายระดับโลก “Sebastião Salgado: The World Through His Eyes”ว่า “เซบาสเทียว ซาลกาโด เป็นหนึ่งในช่างภาพสารคดีที่มีฝีมือการถ่ายภาพยอดเยี่ยมที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่ของโลก โดยช่วงกว่า 30 ปีที่ผ่านมา เขาได้เดินทางไปทั่วโลกมากกว่า 100 ประเทศเพื่อบันทึกภาพ ซึ่งในการถ่ายภาพของซาลกาโด เขาไม่แค่เพียงกดชัตเตอร์เพื่อถ่ายภาพเท่านั้น แต่ซาลกาโดได้ใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งที่เขาจะถ่ายภาพเป็นสัปดาห์หรือมากกว่า เพื่อเป็นการทำลายกำแพงต่างๆ และเป็นนำเอาตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วมกับสิ่งแวดล้อมหรือสถานที่เหล่านั้น ทำให้ภาพถ่ายแต่ละภาพของเขานั้นเต็มไปด้วยอารมณ์ร่วมและความเคารพต่อสิ่งที่เขาถ่ายภาพออกมา หากถ่ายภาพคน ก็จะเห็นได้ว่าในภาพถ่ายเพียงหนึ่งภาพของเขาจับได้ถึงความเปราะบางและความแข็งแกร่งของจิตใจมนุษย์ นับว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ซาลกาโดตอบรับคำเชิญที่จะมาจัดแสดงผลงานภาพถ่ายของเขาในประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นครั้งแรกในอาเซียนที่ตัวของเซบาสเทียว ซาลกาโดจะมาร่วมพูดคุยถึงผลงานของเขาด้วยตัวเอง”

ด้าน นายมานิต ศรีวานิชภูมิกรรมการบริหารหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครกล่าวถึงการสนับสนุนการจัดนิทรรศการภาพถ่ายครั้งนี้ว่า “นับเป็นโอกาสอันดีเซบาสเทียว ซาลกาโด ช่างภาพสารคดีระดับโลก ได้นำผลงานภาพถ่ายมาสเตอร์พีซของเขามาจัดแสดงเป็นในประเทศไทย โดยผลงานของซาลกาโดนั้นมีความน่าสนใจ และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่กลุ่มศิลปินถ่ายภาพในประเทศไทยจำนวนมาก ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการส่งเสริมให้มีการจัดแสดงศิลปะร่วมสมัยที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์ให้แก่ประชาชนของหอศิลปฯ และการที่เราได้รับเกียรติจากศิลปินระดับโลกนี้จะทำให้ศิลปินและผู้ที่ชื่นชอบงานศิลปะรวมถึงประชาชนทั่วไปมีโอกาสได้พบปะกันอีกด้วย หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครจึงขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งมอบสิ่งดีดีให้แก่ชาวไทย โดยให้พื้นที่ในการจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายที่จะจัดขึ้นตลอด 1 เดือนในระหว่างวันที่ 8 กุมภาพันธ์ - 8 มีนาคม 2560 เพื่อให้ประชาชนชาวไทย และผู้ที่สนใจได้มีโอกาสชมนิทรรศการแสดงภาพถ่ายชื่อดังระดับโลกด้วยตัวเองที่ในเมืองไทย โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชม”

มร.ซุนดารัม ทากอร์ ผู้ก่อตั้งหอศิลป์ซุนดารัม ทากอร์ (Sundaram Tagore) กล่าวถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า “สำหรับนิทรรศการภาพถ่าย “Sebastião Salgado: The World Through His Eyes” ที่จะจัดขึ้นในกรุงเทพฯ ครั้งนี้ ได้รวมเอาผลงานภาพถ่ายชิ้นมาสเตอร์พีซที่ได้รับการคัดสรรภาพโดยตัวของซาลกาโดเองเพื่อมาจัดแสดงในประเทศไทยโดยเฉพาะเป็นจำนวนถึง 120 ภาพ ภาพถ่ายที่จะนำมาจัดแสดงมาจากชุดผลงานที่เคยจัดแสดงมาแล้วทั่วโลก ได้แก่ Workers (พ.ศ. 2529 – 2536) และ Genesis (พ.ศ. 2547 – 2554) และงานนี้ยังได้จัดแสดงผลงานของภาพพิมพ์ที่มีเทคนิคการล้าง-อัดภาพขาว-ดำ (Silver Gelatin) ในชื่อชุด Other Americas (พ.ศ. 2540 – 2547)”



SS042_Southern Right Whale


SS062_Chinstrap Penguins


SS088_Worker Resting


SS091_Churchgate Station



“ผลงาน เวิร์คเกอร์ส (Workers) นั้นซาลกาโดเริ่มต้นถ่ายภาพงานชิ้นสำคัญในช่วงกลางทศวรรษ 1980 (พ.ศ. 2523 – 2532) เกี่ยวกับผู้คนที่ใช้แรงงานในทุกอุตสาหกรรม เป็นผลงานที่ทำให้ซาลกาโดต้องเดินทางไปทุกมุมโลก ตั้งแต่ประเทศจีน บังคลาเทศ ไปถึงคิวบา ในส่วนของผลงานชุด Exodusหรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ Migrationsผลงานชุดนี้ของเขาเปิดเผยให้เห็นถึงช่วงเวลาที่เปล่าเปลี่ยวที่สุดของประวัติศาสตร์ยุคใหม่เป็นการบันทึกข้อมูลการขับไล่ครั้งใหญ่ของประชาชนใน 35 ประเทศทั่วโลก อันเป็นผลมาจากความแตกต่างทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ในผลงานชุดนี้ซาลกาโดได้จับถึงความเปราะบางและความแข็งแกร่งของจิตใจของมนุษย์ ผสานกับเข้ากับความรู้สึกร่วมและความเคารพในหัวข้อเรื่องของเขา และในงานชุด Genesisเป็นผลงานที่เขาใช้เวลาทำถึง 8 ปี ประกอบไปด้วยภาพถ่ายที่สวยงามของทิวทัศน์ที่ยิ่งใหญ่ สัตว์ป่าที่สงบและเยือกเย็น และอารยธรรมโบราณ ที่ยังคงไม่ถูกบุกรุกโดยเทคโนโลยี ในผลงานชุดนี้ซาลกาโดต้องเดินทางถึง 32 ครั้งเพื่อถ่ายภาพสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ห่างไกลและแสดงความเคารพต่อธรรมชาติที่ยังไม่ถูกทำให้เสียไป”

มร.ซุนดารัม ทากอร์ ยังกล่าวอีกว่า “หลังจากที่นิทรรศการชุด Genesis เริ่มออกแสดงที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติ กรุงลอนดอนเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2556 และเป็นหนึ่งในงานแสดงที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดในปีนั้น จากนั้นนิทรรศการนี้ก็ได้ถูกจัดแสดงขึ้นที่สถานที่ทางวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงอีกหลายที่ทั่วโลก รวมถึงพิพิธภัณฑ์แห่งชาติแห่งสิงคโปร์ ซึ่งนิทรรศการนี้ถูกขยายการจัดเป็น 4 เดือน เนื่องจากมีผู้คนให้ความสนใจอย่างล้นหลาม นอกจากนี้ “Sebastião Salgado: The World Through His Eyes” ยังได้จัดแสดงแฟ้มผลงานพิเศษของภาพพิมพ์ที่มีเทคนิคการล้าง-อัดภาพขาว-ดำ (Silver Gelatin) จำนวน 20 ภาพ เป็นผลงานชุด Other Americas ที่ใช้เวลาถึง 7 ปีในการถ่ายภาพในบราซิล ชิลี โบลิเวีย เปรูเอกวาดอร์ กัวเตมาลา และเม็กซิโก” มร.ทากอร์กล่าวในตอนท้าย

นิทรรศการ “Sebastião Salgado: The World Through His Eyes” ไม่เพียงเป็นแค่การจัดแสดงผลงานศิลปะภาพถ่ายชุดสำคัญของซาลกาโดเท่านั้น แต่ยังได้รับเกียรติจากตัวเซบาสเทียว ซาลกาโดมาร่วมพูดคุยถึงประสบการณ์การถ่ายภาพชุดสำคัญของเขาด้วยตัวเองพร้อมกับยังจะได้ชมภาพยนตร์ The Salt of the Earthซึ่งเป็นภาพยนตร์สารคดีที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับผลงานการถ่ายภาพของซาลกาโด โดยภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับโดยวิม เวนเดอร์ส ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ที่ได้รับเสนอชื่อเข้าชิงราลวัลออสการ์ และจูเลียโดน ริเบย์โร ซาลกาโด บุตรชายของเซบาสเตียว ซาลกาโดนั่นเอง ซึ่ง The Salt of the Earth ได้รับรางวัลชนะเลิศจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ และถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาสารคดีด้วย จึงนับว่าเป็นโอกาสอันดีที่คนไทยจะได้ทั้งชมนิทรรศการผลงานของศิลปินระดับโลก ร่วมรับฟังประสบการณ์ตรงจากศิลปินที่สร้างผลงานและแรงบันดาลใจให้แก่ช่างภาพสารคดีทั่วโลก และชมภาพยนตร์สารคดีรางวัลระดับโลกภายในงานเดียว โดยผู้สนใจร่วมฟัง "Salgado's Talk"ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2560สามารถสำรองที่นั่งได้ที่ สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ชั้น 2 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครถ.พระราม 1 หรือโทร. 091-115-7575 บัตรราคาใบละ 500 บาท สำหรับสมาชิกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยฯ และนักเรียนนักศึกษา และ 1,000 บาท สำหรับผู้สนใจทั่วไป (ที่นั่งมีจำนวนจำกัดเพียง 200 ที่นั่งเท่านั้น)

สำหรับนิทรรศการ “Sebastião Salgado: The World Through His Eyes” จัดแสดงในระหว่างวันที่ 8 กุมภาพันธ์ - 8 มีนาคม 2560 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์หรือทาง www.rpst.or.th หรือ rpst.info@gmail.com

เกี่ยวกับสมาคมภาพถ่ายแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
สมาคมภาพถ่ายแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นสมาคมถ่ายภาพที่เก่าแก่และทรงเกียรติที่สุดในประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2502 โดยกลุ่มช่างภาพที่ต้องการสนับสนุนส่งเสริมศิลปะการถ่ายภาพ ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 ได้ขอจดทะเบียนแก้ไขชื่อของสมาคมฯ เป็น “สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์” ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า The Royal Photographic Society of Thailand” ใช้ชื่อย่อภาษาไทยว่า “ส.ภ.ท.” ใช้ชื่อย่อภาษาอังกฤษว่า “RPST” โดยมีตราสมาคมฯ เป็นรูปราหูอมจันทร์ ภายใต้มงกุฎครอบเช่นเดิม ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 50 ปี สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีผลงานออกมาอย่างสม่ำเสมอ ทั้งในการสร้างบุคลากร และการกระตุ้นให้เกิดมาตรฐานในวิชาชีพภาพถ่าย โดยการจัดสอบเกียรตินิยมภาพถ่าย การประกวดภาพถ่าย การจัดอบรมเสวนาให้ความรู้เชิงเทคนิค วิชาการ การจัดนิทรรศการภาพถ่ายในหลากหลายวาระ รวมถึงการจัดกิจกรรมในเชิงสันทนาการ เช่น การจัดกิจกรรมพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การจัดทริปถ่ายภาพตามสถานที่ต่างๆ และการช่วยเหลืองานสังคมทั้งของหน่วยงานรัฐ และเอกชน ซึ่งผลงานเหล่านี้ล้วนเป็นกระบวนการที่สมาคมฯ ให้ความสำคัญ ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่เป้าหมายในการขับเคลื่อนพัฒนาวงการถ่ายภาพไทย

เกี่ยวกับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (The Bangkok Art and Culture Centre (BACC)) สร้างขึ้นเพื่อจัดแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัย สามารถจัดงานแสดงศิลปะ ดนตรี ละคร ภาพยนตร์ งานออกแบบ และงานทางด้านวัฒนธรรม/การศึกษา ในบรรยากาศที่เป็นกันเองและให้ความรู้สึกบันเทิง โดยมีร้านกาแฟ ร้านอาหาร ร้านหนังสือ และห้องสมุดศิลปะรวมไว้ด้วยกัน หอศิลป์ฯ มุ่งหวังที่จะสร้างให้เป็นสถานที่พบปะสำหรับศิลปิน ที่จัดให้มีการแสดงทางวัฒนธรรมสำหรับกลุ่มคนที่ให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมจากอดีตสู่ร่วมสมัย ทางหอศิลป์ฯ ยังตั้งใจเปิดให้มีการสนทนาแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การสร้างเครือข่าย และสร้างทรัพยาการทางวัฒนธรรมใหม่ขึ้นจากทั้งภาครัฐและเอกชน และมุ่งหวังให้เป็นสถานที่สำหรับการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมในแง่ของเนื้อหา การบริหารจัดการด้านภัณฑารักษ์และวัฒนธรรม โดยมีกรุงเทพมหานครเป็นฐานการปฏิบัติการในส่วนศิลปะนานาชาติ

เกี่ยวกับหอศิลป์ซุนดารัม ทากอร์ (SUNDARAM TAGORE)
หอศิลป์ซุนดารัม ทากอร์ ก่อตั้งขึ้นในนครนิวยอร์กเมื่อ พ.ศ. 2543 เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างวัฒนธรรมตะวันตกและวัฒนธรรมที่ไม่ใช่วัฒนธรรมตะวันตก โดยมีพื้นที่จัดแสดงทั้ง ในนครนิวยอร์ก (ถนนเชลซีและถนนแมดิสัน) สิงคโปร์ และฮ่องกง หอศิลป์เน้นที่การจัดแสดงนิทรรศการและการจัดงานที่ไม่หวังผลกำไรที่ส่งเสริมการสนทนาแลกเปลี่ยนด้านความรู้สึกนึกคิด สังคม และศิลปะอีกทั้งยังมีพันธมิตรอยู่รอบโลกความสนใจของหอศิลป์ในการแลกเปลี่ยนข้ามวัฒนธรรมจึงขยายเพิ่มจากทัศนศิลป์ไปยังศิลปะแขนงอื่นๆมากมาย รวมถึง กวีนิพนธ์ วรรณกรรม ศิลปะการแสดง ภาพยนตร์ และดนตรี
« Last Edit: January 21, 2017, 10:35:22 PM by wmt »

wmt on January 21, 2017, 10:29:37 PM
Fact Sheet

เซบาสเทียว ซาลกาโด (Sebastião Salgado)



เซบาสเทียว ซาลกาโด (Sebastião Salgado) เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2487 ในเมืองไอมอเรส(Aimorés) รัฐมินาส เจอเรส ประเทศบราซิล ในยุคที่ประเทศบราซิลกำลังพัฒนาทางอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ เขาเติบโตในฟาร์มและปศุสัตว์ขนาดใหญ่ที่พื้นที่เกินครึ่งเป็นป่าเขตร้อน รายล้อมไปด้วยพืชพรรณและสัตว์ที่น่าอัศจรรย์หลายชนิด จนเมื่อมัธยมปลายเขาได้เข้าเรียนต่อในเมือง เขาเรียนรู้เรื่องการเมืองและเศรษฐศาสตร์ ทั้งปริญญาตรีและปริญญาโท พร้อมกับมีแนวคิดหัวเอียงซ้าย จนเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการปกครองในบราซิล ซาลกาโดได้เลือกที่จะลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส และเข้าเรียนต่อระดับปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ จากนั้นก็เข้าทำงานเกี่ยวกับโครงการพัฒนาด้านการเงินให้แก่ธนาคารโลก

จนกระทั่งช่วงพ.ศ. 2512 – 2513 หลังจากที่ภรรยาของเขาให้เขายืมกล้องถ่ายรูป เขาจึงได้เริ่มต้นอาชีพช่างภาพ ซาลกาโดได้กล่าวว่า เนื่องจากเขามีชีวิตวัยเด็กและความรู้พื้นฐานในเศรษฐศาสตร์ จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่เขาจะเป็นช่างภาพที่มุ่งสนใจประเด็นหรือแนวมนุษยนิยม ที่ผ่านมาซาลกาโดได้จัดแสดงผลงานเดี่ยวที่หอศิลป์บาร์บิแคน (the Barbican Art Gallery) กรุงลอนดอน ศูนย์ภาพถ่ายระหว่างประเทศ (the International Center of Photography) นครนิวยอร์ก หอศิลป์คอร์โครัน (the Corcoran Gallery) กรุงวอชิงตัน ดี.ซี., พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและหอศิลป์ the Photographers’ Gallery กรุงลอนดอน และพิพิธภัณฑ์รอยัล ออนตาริโอ (the Royal Ontario Museum) เมืองโตรอนโต

ผลงานศิลปะของเขาถูกจัดแสดงอยู่ตลอดที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ (the Museum of Modern Art) นครนิวยอร์ก สถาบันศิลปะแห่งชิคาโก (the Art Institute of Chicago) สถาบันสมิธโซเนียน (the Smithsonian Institution) เมืองวอชิงตัน ดี.ซี. และพิพิธภัณฑ์ศิลปะเขตลอสแองเจลลิส(the Los Angeles County Museum of Art) ในปี พ.ศ. 2558 ผลงานของซาลกาโดถูกรวมใน ฟรองเทียร์สรีอิมเมจินด์(Frontiers Reimagined)ซึ่งงานส่วนเสริมของงานศิลปะนานาชาติ เดอะ เวนิส เบียนนาเล่(the Venice Biennale) ที่ได้รับการดูแลและจัดขึ้นโดยซุนดารัม ทากอร์ ด้วยประสบการณ์และผลงานมากมายทำให้ซาลกาโดได้รับแต่งตั้งให้เป็นทูตสันถวไมตรีของยูนิเซฟ และเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสถาบันศิลปะและวิทยาศาสตร์อเมริกัน ในเมืองแคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซ็ท ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2533

ผลงานด้านสิ่งแวดล้อม ซาลกาโดและภรรยาของเขาเลเลีย วานิค ซาลกาโด ได้ร่วมกันฟื้นฟูพื้นที่ฟาร์มของครอบครัวเขาที่ถูกทำลายลงจากการพัฒนาอุตสาหกรรมของบราซิลกว่า 4,200 ไร่ ให้ฟื้นกลับมาด้วยการปลูกต้นไม้เขตร้อนมากกว่า 200สายพันธุ์ จำนวนกว่า2ล้านต้น  และในปี พ.ศ. 2541 พวกเขาได้ก่อตั้งสถาบันเทอร์รา (Instituto Terra) ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่หวังผลกำไร มุ่งเน้นการฟื้นฟูสภาพป่าและการศึกษาทางสิ่งแวดล้อม และซาลกาโดเองก็ไม่ได้หยุดเพียงแค่พื้นที่ป่าส่วนนี้ เขาออกเดินทางไปทั่วโลกเพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจใหม่ๆ ในการปลูกป่าที่ถูกทำลายจากการพัฒนาในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก
« Last Edit: January 21, 2017, 10:36:41 PM by wmt »