MSN on January 17, 2017, 09:16:57 AM
ก.ล.ต. รับ "ไฟลิ่ง" กองทุนโรงไฟฟ้าน้ำตาลบุรีรัมย์ BRR เดินหน้าตั้ง "กองทุนโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้าน้ำตาลบุรีรัมย์" รวม 19.8 เมกกะวัตต์ ล่าสุด ก.ล.ต. ตอบรับไฟลิ่งแล้ว หวังเป็นทางเลือกลงทุน ชี้จุดเด่นต้นทุนต่ำ ให้ผลตอบแทนระยะยาวมั่นคง พร้อมเตรียมนำเงินระดมทุน สร้างโรงงานแปรรูปน้ำตาลทราย ตามแนวทางการเติบโตอย่างต่อเนื่องของบริษัท
นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ตอบรับคำยื่นเอกสารคำขอจัดตั้งและจัดการ (ไฟลิ่ง) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลที่ผลิตจากกากอ้อย กำลังการผลิตรวม 19.8 เมกะวัตต์ โดยมีรายละเอียดโครงการจัดการกองทุนรวม ร่างหนังสือชี้ชวน พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานประกอบถูกต้องครบถ้วนตามคู่มือสำหรับประชาชน (ไฟลิ่ง)
สำหรับ ขั้นตอนต่อจากนี้ไป ก.ล.ต. จะดำเนินการสอบทานข้อเท็จจริงตามขั้นตอนและวิธีการที่ระบุในไฟลิ่ง รวมไปถึงการเยี่ยมชม และรับฟังระบบงานในการจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานกลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ ซึ่งการตอบรับของ ก.ล.ต. ครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญ ที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนมีทางเลือกในการลงทุนที่มีความมั่นคง มีรายได้สม่ำเสมอ และมีผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวจากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล โดยเฉพาะท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ จะทำให้กองทุนนี้ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างดี
นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เปิดเผยว่า บริษัทพร้อมดำเนินการตามกฎเกณฑ์ของ ก.ล.ต. เพื่อจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานกลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ โดยบริษัทจะโอนสิทธิรายได้จากการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าของบริษัทในเครือ 2 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จำกัด (BEC) และ บริษัทบุรีรัมย์เพาเวอร์ จำกัด (BPC) เข้า กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ ซึ่งโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่ง มีกำลังการผลิตรวม 19.8 เมกกะวัตต์ และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ (COD) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ปริมาณรับซื้อพลังงานไฟฟ้าสูงสุดรวม 16 เมกะวัตต์
โดยบริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จำกัด มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟภ. จำนวน 8 เมกะวัตต์ ในรูปแบบ Freed-in Tariff (FiT) ที่กำหนดราคาซื้อขายไฟฟ้าอยู่หน่วยละ 4.54 บาท ขณะที่ บริษัท บุรีรัมย์ เพาเวอร์ จำกัด ที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า กับ กฟภ.จำนวน 8 เมกะวัตต์ ในรูปแบบ FiT เช่นกัน
สำหรับจุดเด่นของโรงไฟฟ้าในกลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ คือ การใช้กากอ้อยซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาลมาเป็นวัตถุดิบจึงมีต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำ ทำให้ผลตอบแทนจากโรงไฟฟ้าที่ผ่านมาสูงในระดับที่น่าพอใจ และลดความเสี่ยงด้านปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ
หลังจากจัดตั้งกองทุนแล้ว บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) จะเข้าไปถือหน่วยลงทุนเป็นจำนวนไม่เกิน 1 ใน 3 ของจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมดของกองทุน ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ ยังคงได้รับส่วนแบ่งเงินปันผลตามสัดส่วนการถือหน่วยลงทุน
ในส่วนเม็ดเงินที่ได้จากการระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) มีเป้าหมายนำไปใช้ในโครงการก่อสร้าง โรงงานแปรรูปน้ำตาลทราย หรือ Refinery เพื่อผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์เกรดสูงที่จะช่วยเพิ่มยอดขายต่อหน่วยได้สูงกว่าน้ำตาลทรายดิบ ซึ่งจะส่งผลดีต่อผลประกอบการของบริษัทในอนาคต
« Last Edit: January 17, 2017, 09:52:37 PM by MSN »
Logged